เตรียมตัวพบกับการประชุมวิชาการมานุษยวิทยา 68 “พหุปฏิสัมพันธ์: มนุษย์กับสิ่งไม่ใช่มนุษย์(Interactive Pluralism: Human-Nonhuman)”
โลกที่ดำรงอยู่ เปลี่ยนแปลง และเหลื่อมซ้อนกันของมนุษย์และสิ่งไม่ใช่มนุษย์ เป็นความท้าทายต่อการพัฒนาและแก้ไขชีวิตให้ดีขึ้นในบริบทที่เต็มไปด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและโลก การตระหนักถึงการมีอยู่ของสิ่งอื่นทั้งวัตถุ สภาพแวดล้อม และสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น จำเป็นต้องเห็นปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อทบทวนตรวจสอบสถานะและการกระทำของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งอื่น ขณะเดียวกันเพื่อตั้งคำถามว่าปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นนั้นวางอยู่บนโลกทัศน์และระบอบอำนาจแบบไหน มนุษย์สามารถตัดสินใจในเชิงศีลธรรมที่ปรากฏอยู่ในความสัมพันธ์ที่หลากหลายได้อย่างไร ภายใต้การพัฒนาของรัฐและแนวโน้มของการผูกขาดเชิงเศรษฐกิจและการเมืองในระดับโลก มนุษย์กระทำต่อสิ่งไม่ใช่มนุษย์ในรูปแบบใด ผลกระทบจากการกระทำนั้นเป็นอย่างไร ใครและสิ่งใดบ้างที่เป็นกลไกของการสร้าง รื้อทำลาย และฟื้นฟูโลก
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ขอเชิญผู้สนใจเตรียมตัวมาพบกับการประชุมวิชาการมานุษยวิทยา 68 หัวข้อ “พหุปฏิสัมพันธ์: มนุษย์กับสิ่งไม่ใช่มนุษย์(Interactive Pluralism: Human-Nonhuman)” ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 7-9 กรกฎาคม2568 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
โดยมีประเด็นในการอภิปรายกลุ่ม ดังนี้
1) การซึมผ่านและการบรรจบกันของมนุษย์กับสิ่งอื่น (permeability & intersectionality) อภิปรายเกี่ยวกับประสบการณ์ ปฏิบัติการ ปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อสิ่งอื่นที่มิใช่มนุษย์ และทำให้เกิดการสลายเส้นแบ่ง และความคลุมเครือของสิ่งที่เชื่อมต่อ ซึมผ่าน และบรรจบกัน ทำให้เกิดสภาวะที่ต่างไปจากบรรทัดฐานที่คุ้นชิน ทำให้เห็นการสถาปนาความจริงแบบใหม่
2) ข้อสงสัยและความคลุมเครือเกี่ยวกับ autonomy และ agency อภิปรายให้เห็นความผันผวน ปรวนแปร และความไม่คงที่ของตัวตนของผู้กระทำการ ความหมายและคุณค่าเกี่ยวกับอำนาจในตัวของมนุษย์และสิ่งไม่ใช่มนุษย์ที่ไม่เป็นไปตามกฎระเบียบที่เคยชื่อถือกันมา รวมถึงการมีตัวตนในรูปแบบใหม่ที่ไม่มีฟอร์มที่ชัดเจน
3) การแปรสภาพและความรีบเร่งของเทคโนโลยี (transformation & immediacy) อภิปรายให้เห็นพลังอำนาจของดิจิทัล, ปัญญาประดิษฐ์, เทคโนโลยีอัจฉริยะ ที่ถูกใช้ในพรมแดนสังคม และกลายเป็นความแปลกแยก ความเร่งรีบ ความปั่นป่วนวุ่นวาย ความไร้ระเบียบ ทำให้เกิดความเพ้อฝัน จินตนาการ และการตกเป็นเหยื่อในเวลาเดียวกัน
4) ปฏิสัมพันธ์กับความรับผิดชอบ (accountability) อภิปรายให้เห็นว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งไม่ใช่มนุษย์ ทำให้เห็นรูปแบบเชิงศีลธรรม จริยธรรม ความรับผิดชอบ และความขัดแย้งที่เปลี่ยนไป มนุษย์มิได้เป็นผู้กำหนดความถูกต้องดีงาม แต่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขที่ซับซ้อนที่มนุษย์กระทำต่อสิ่งอื่น เช่น ระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
5) การสูญเสียการควบคุม (lost control) อภิปรายให้เห็นว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งไม่ใช่มนุษย์ มีความไม่เท่าเทียมเชิงอำนาจเกิดขึ้น และอำนาจแอบแฝงและอำพรางตนเองอยู่ในกลไกที่ซับซ้อนของการเมือง เศรษฐกิจ และการพัฒนา รวมถึงมนุษย์มิใช่ผู้ควบคุมโลกทางวัตถุอีกต่อไป แต่สิ่งที่มิใช่มนุษย์กลายเป็นผู้กระทำที่มีบทบาทสำคัญต่อการดำรงอยู่ของสังคมและโลก เช่น ภัยพิบัติ และโรคอุบัติใหม่
6) ความเปราะบางและความอ่อนแอ (fragility and vulnerability) อภิปรายเกี่ยวกับมิติอารมณ์ ผัสสะ และสุนทรียะที่เกิดขึ้นในปฏิสัมพันธ์และการหลอมรวมระหว่างมนุษย์และสิ่งไม่ใช่มนุษย์ ชี้ให้เห็นตัวละครใหม่ ๆ ที่สร้างความอ่อนไหว ความเปราะบาง และความอ่อนแอให้กับรูปแบบของการมีชีวิตที่ต่างไปจากเดิม
โดยรายชื่อหัวข้ออภิปรายเป็นหมู่คณะที่ได้รับการคัดเลือกให้นำเสนอในงานประชุมวิชาการมานุษยวิทยา 68 หัวข้อ “พหุปฏิสัมพันธ์: มนุษย์กับสิ่งไม่ใช่มนุษย์(Interactive Pluralism: Human-Nonhuman)” มีดังต่อไปนี้
1) จาก ‘แอฟริกา’ ถึง ‘แม่น้ำโขง: ใช่ว่าจะสูญสิ้นการควบคุมไปทั้งหมด (คน สัตว์ ลมฟ้าอากาศ ผืนดินและผืนน้ำ)
2) ทัศนา อัตตาณัติ และผัสสะ: เครือข่ายอันคลุมเครือของหนังสือศักดิ์สิทธิ์
3) Becoming with: ชาติพันธุ์วรรณนาข้ามสปีชีส์ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งอื่น
4) ความหนืดพรุนและพหุปฏิสัมพันธ์ของของไหลในเมือง
5) แคมปิ้ง สุสาน เชื้อโรค: ‘เส้นแบ่ง’ อันคลุมเครือระหว่างมนุษย์และ ‘พื้นที่โพ้นมนุษย์’ บริเวณ ชายแดน
6) ศิลปะการจัดวางจากแนวคิดพหุปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งไม่ใช่มนุษย์
7) ซึมผ่านและแผ่ขยาย: วัตถุภาวะของหนังสือข้ามกาลเวลา
8) เสียงในพหุปฏิสัมพันธ์: มนุษย์ สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ และเทคโนโลยีดิจิทัล
9) พิพิธภัณฑ์ในฐานะที่เป็นชานชาลาแห่งความรับผิดชอบชั่วดีของมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์
10) นิเวศสังคมและสัตวมานุษยวิทยา (1): นิเวศสังคม (socio-ecology) การเกษตร สันทนาการและศิลปะ
11) นิเวศสังคมและสัตวมานุษยวิทยา (2): สัตวมานุษยวิทยา (zooanthropology)ชุมชน ภาษาและเสียงแวดล้อม
12) มนุษย์กับเทคโนโลยี: บทเรียนจากนวนิยายวิทยาศาสตร์ดาวซานถี่ อุบัติการณ์สงครามล้างโลกของหลิวฉือซิน
13) ช ช้างวิ่งหนี … ซ โซ่ล่ามที … ฌ เฌอ คู่กัน
14) ผี คน หมอเหยา และภูเขาศักดิ์สิทธิ์: การบรรจบกันของมนุษย์กับสิ่งอื่น
15) วัฒนธรรมของการ (ไม่) ตรวจตรา: ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน รัฐ และธรรมชาติ
16) อุทกภัยในลุ่มเจ้าพระยา: ความผันผวนไม่แน่นอนของผู้คน สายน้ำ และวัตถุ
17) AI กับมนุษย์: อัตตาณัติ อำนาจกระทำการ การไว้วางใจ และความรับผิดชอบทางจริยธรรม
18) เทคโนกสิกรรม วัดร้าง ทัณฑสถาน และธนาคารหุ่นยนต์: บทบาทผู้กระทำการของเทคโนโลยี เครื่องจักรกลเกษตร ธรรมชาติ และอสังหาริมทรัพย์
19) มานุษยวิทยาเสียง: เสียงหนังโป๊ เสียงกระซิบ เสียงห้องนอน การซึมผ่านและการบรรจบกันระหว่างมนุษย์กับเสียงในพื้นที่ส่วนตัว
20) ดอกไม้ มาสคอต คลื่นลม ละคอนหุ่น ความเป็นมนุษย์ในความไม่ใช่มนุษย์: ทบทวนขอบเขตการซึมผ่านและการบรรจบกัน
21) ความเป็นชายขอบของความตาย และความตายของคนชายขอบ
22) โลกอมนุษย์ เพศ ชราภาพ น้ำโคลน: ชีวิตเปราะบาง และการเคลื่อนย้ายไร้พรมแดน
23) จากผู้ควบคุมสู่ผู้ถูกคุกคาม: เขื่อนราษีไศล ภัยพิบัติปัตตานี และเหมืองทองคำ
24) มหาอุทกภัย: ความเปราะบางและการสูญเสียความสามารถในการจัดการภัยพิบัติของมนุษย์
25) มีม แฮชแท็ก และกระดาษ: วัตถุภาวะการเมืองไทยร่วมสมัย
26) เสียง เพลงและดนตรี กับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ในวิถีมนุษย์ไทยร่วมสมัย
27) บ้านร้าง วัตถุพยาน และสื่อศิลปะ
ทั้งนี้ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จะเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมการประชุมวิชาการมานุษยวิทยา 68 เป็น 2 ช่วง ได้แก่
1) Early Bird วันที่ 1-20 มิถุนายน 2568 ค่าลงทะเบียนคนละ 800 บาท
2) วันที่ 21-30 มิถุนายน 2568 ค่าลงทะเบียนคนละ 1,000 บาท
สำหรับนักศึกษา ค่าลงทะเบียนคนละ 500 บาท ตลอดงาน (โปรดแสดงหลักฐานบัตรนักศึกษาหรือเอกสารที่ทางมหาวิทยาลัยออกให้เพื่อยืนยันสถานะนักศึกษาในวันเข้าร่วมงาน)