เปิดรับสมัครเข้าร่วมกิจกรรม Field Trip: ตามรอยแขกแพ: การเคลื่อนย้าย ความทรงจำ และวิถีมุสลิมแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา
วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม 2567
จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้ภาคสนาม Field Trip ตามรอยแขกแพ: การเคลื่อนย้าย ความทรงจำ และวิถีมุสลิมแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อส่งเสริมความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของ “แขกแพ” หนึ่งในกลุ่มชาวมุสลิมแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และโยกย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากอยู่ในเมืองบางกอก อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญทั้งด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจการค้า และการศาสนา ในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์
ทั้งนี้ ศมส. จะพาผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านลงพื้นที่สัมผัสชุมชนและเยี่ยมชมสถานที่ประวัติศาสตร์ของชุมชนแขกแพในกรุงเทพมหานครจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1) มัสยิดต้นสน 2) มัสยิดบางหลวง 3) มัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะห์ และ 4) มัสยิดบางอ้อ พร้อมกับเปิดประสบการณ์ลิ้มรสอาหารมุสลิมสำรับบางกอกน้อย ที่มีเอกลักษณ์และหาทานได้ยาก
นอกจากนี้ ท่านจะได้ร่วมรับฟังการบรรยายจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ศิลปะอิสลาม ภาษาศาสตร์ และวัฒนธรรมอาหาร ที่จะมาช่วยทุกท่านพินิจรากเหง้าและอัตลักษณ์ของชาวมุสลิมแขกแพแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาตลอดทั้งกิจกรรม
วัตถุประสงค์
เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และมนุษยวิทยา เพื่อสร้างประสบการณ์ภาคสนามและความเข้าใจพลวัตและความหลากหลายทางชาติพันธุ์และศาสนาในกรุงเทพมหานคร
คุณสมบัติผู้เข้าร่วม
1. ไม่จำกัดเพศและอายุ
2. มีความสนใจด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และมานุษยวิทยา ฯลฯ
3. ผู้สมัครต้องไม่เป็นโรคประจำตัวหรือโรคติดต่อร้ายแรงที่เป็นอุปสรรคต่อการร่วมกิจกรรมเรียนรู้ภาคสนาม
ผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 20 คน
เปิดรับสมัคร วันที่ 8 – 20 พฤษภาคม 2567
กรอกใบสมัครผ่าน google form: https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSdbt65oE49nQTAJeHIWEkMFIAd3EjxwDygfluNQBDUSJwYb1Q/viewform?usp=sf_link
ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรม
วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ทางเว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร www.sac.or.thและ Facebook Fanpage: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-SAC เวลา 13.00 น.
ค่าใช้จ่ายเข้าร่วมกิจกรรม จำนวนเงิน 2,000 บาท (สองพันบาทถ้วน)
โดยชำระหลังจากประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม ระหว่างวันที่ 21-24 พฤษภาคม 2567 ซึ่งผู้ประสานงานจะแจ้งช่องทางการชำระเงินไปยังอีเมลของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ค่าใช้จ่ายนี้ประกอบไปด้วยค่าของที่ระลึก ค่าพาหนะเดินทาง (รถมินิบัส-รถตู้รับส่ง) ค่าอาหารกลางวัน อาหารว่างและเครื่องดื่ม ตลอดกิจกรรม
กรณีผู้สมัครเข้าร่วมกิจกรรมท่านใดสละสิทธิ์ ศมส. จะให้สิทธิ์ผู้สมัครลำดับถัดไปในการเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งผู้ประสานงานจะแจ้งไปยังผู้ได้รับสิทธิ์นั้นภายหลัง
สถานที่นัดพบ
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมพร้อมกัน ณ มัสยิดต้นสน เขตบางกอกใหญ่ วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม 2567 เวลา 07.30 น.
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่นำรถยนต์ส่วนตัวมาเอง สามารถจอดที่ลานจอดรถมัสยิดต้นสน กลับรถใต้สะพานอนุทินสวัสดิ์ ถนนอรุณอมรินทร์ หลังจากเสร็จกิจกรรมในตอนเย็น ศมส. จะจัดรถตู้ไปส่งที่ลานจอดรถมัสยิดต้นสน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและติดต่อผู้ประสานงาน
คุณนพพล เมฆมาก E-mail: nopphon.m@sac.or.th ในวัน-เวลาทำการ
กำหนดการ
กิจกรรม Field Trip: ตามรอยแขกแพ:
การเคลื่อนย้าย ความทรงจำ และวิถีมุสลิมแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา
วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม 2566 เวลา 07.30-18.00 น.
ณ มัสยิดต้นสน มัสยิดบางหลวง มัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะห์ และ มัสยิดบางอ้อ กรุงเทพฯ
ช่วงเช้า
07.30 น.
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมพบกัน ณ มัสยิดต้นสน
08.00-10.15 น.
กุฎีใหญ่ต้นสน: รากเหง้าบรรพชนและมรดกความทรงจำของมุสลิมแขกแพแห่งบางกอก
เยี่ยมชมกุฎีใหญ่ หรือ มัสยิดต้นสน ศาสนสถานของชาวมุสลิมที่เก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพมหานคร ที่มีประวัติความเป็นมาย้อนกลับไปถึงเมืองบางกอก สมัยกรุงศรีอยุธยา อีกทั้งเป็นศูนย์รวมของชาวมุสลิม “แขกแพ” และมุสลิมกลุ่มอื่น ๆ ที่ลี้ภัยมาจากคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ปูพื้นฐานความเข้าใจการตั้งถิ่นฐานและการกระจายตัวของชุมชนมุสลิมแขกแพในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตลอดจนทำความเข้าใจพัฒนาการด้านสถาปัตยกรรมของมัสยิด ศาสนวัตถุ และสุสานของบรรดาขุนนางมุสลิมและบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกมากมาย ซึ่งถือได้ว่าเป็นมรดกที่สะท้อนถึงการก่อร่างสร้างเมืองบางกอกโดยผู้คนหลากหลายศาสนาและวัฒนธรรม
วิทยากร ผศ.ดร.อาดิศร์ อิดรีส รักษมณี / ดร.วสมน สาณะเสน / คุณสุนิติ จุฑามาศ
10.15-11.30 น.
มัสยิดบางหลวง (กุฎีขาว) มัสยิดทรงไทยหนึ่งเดียวของไทยและโลก
เดินทางต่อไปเยี่ยมชมชุมชนมัสยิดบางหลวง (กุฎีขาว) อีกหนึ่งชุมชนมุสลิมเก่าแก่ที่มีความผสมผสานด้านชาติพันธุ์ระหว่างชาวมุสลิมเชื้อสายจาม มลายู และกลุ่มแขกแพ ที่เข้ามาตั้งรกรากอยู่ริมคลองบางหลวง อนึ่ง มัสยิดบางหลวง หรือ กุฎีขาว เป็นมัสยิดสถาปัตยกรรมทรงไทยประเพณีสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งเดียวในประเทศไทยและในโลก ที่ยังคงรักษารูปแบบดั้งเดิมไว้ได้จนถึงปัจจุบัน
วิทยากร ผศ.ดร.อาดิศร์ อิดรีส รักษมณี / ดร.วสมน สาณะเสน
ช่วงเที่ยง
11.30-13.45 น.
พักรับประทานอาหารกลางวัน
เดินทางไปมัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะห์เพื่อรับประทานอาหารกลางวัน ชวนล้อมวงเปิดประสบการณ์ลิ้มรสสำรับอาหารถาด (ตับซี) ของชุมชนบางกอกน้อย อันประกอบด้วยเมนูอาหารคาวหวานรสโอชาและหายาก พร้อมรับฟังประสบการณ์ตรงจากก้นครัวจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กุสุมา รักษมณี ผู้เขียนหนังสือ “อาหารในสำรับมุสลิมบางกอกน้อย” ร่วมกันถอดรหัสวัฒนธรรมอาหารที่มีความผสมผสานทางวัฒนธรรมที่สะท้อนความเป็นชุมชนพ่อค้า รสมือผ่านปลายจวักของเหล่าบรรพชนที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน จนกลายเป็นหนึ่งในชุมชนมุสลิมที่มีวัฒนธรรมอาหารเป็นเอกลักษณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร
วิทยากร ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กุสุมา รักษมณี
13.45-14.45 น.
มัสยิดหลวง และอัล-อิศลาห์สมาคม: แหล่งรวมนักวิชาการและการก่อร่างกระบวนการปฏิรูปศาสนาอิสลามแห่งสยาม
ทำความเข้าใจชุมชนมุสลิมบางกอกน้อย จากปากคลองบางกอกน้อยฝั่งใต้ สู่การย้ายมัสยิดและชุมชนเพื่อสร้างสถานีรถไฟในสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงการก่อตั้งมัสยิดหลวงและโรงเรียนหลังใหม่ และการก่อตั้งอัล-อิศลาห์สมาคม แหล่งบ่มเพาะนักวิชาการศาสนามุสลิมสยามแนวหน้าที่เปิดรับเทคโนโลยีการพิมพ์ผลิตตำรา ซึ่งส่งอิทธิพลให้กับการเปลี่ยนแปลงแนวคิดศาสนาอิสลามในประเทศไทยนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
14.45-16.00 น.
มัสยิดบางอ้อ: ท่องถิ่นแขกแพและคหบดีมุสลิมขายซุง
เดินทางต่อจากคลองบางกอกน้อย สู่ย่านบางอ้อ-บางพลัด เยี่ยมชมชุมชนมัสยิดบางอ้อ เรียนรู้เข้าใจถิ่นฐานของชาวมุสลิมแขกแพ และการก่อร่างสร้างตัวของบรรดาตระกูลคหบดีมุสลิมที่ดำเนินกิจการค้าซุง โรงเลื่อย และเรือเมล์ในยุคเฟื่องฟู
วิทยากร คุณอดุลย์ โยธาสมุทร
ช่วงเย็น
16.00-16.20 น.
พักรับประทานอาหารว่าง
พักรับประทานอาหารว่างชิมขนมและจิบน้ำชาแบบชาวบางอ้อริมแม่น้ำเจ้าพระยา
16.20-17.45 น.
มัสยิด โรงเรียน และเรือนไม้เก่า: มรดกทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมของชุมชนบางอ้อ
เยี่ยมชมมัสยิดบางอ้อ อายุกว่าร้อยปี ที่มีสถาปัตยกรรมผสมผสานแบบยุโรปอันสวยงามโดดเด่น ตั้งตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดจนโรงเรียนเจริญวิทยาคาร ซึ่งเป็นอาคารไม้เก่าแก่ประดับไม้ฉลุและกระจกสี บนยอดจั่วมีไม้แกะสลักเลียนแบบลวดลายทูรา (Tugra) ซึ่งเป็นพระปรมาภิไธยของสุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมัน นอกจากนี้ ในชุมชนยังมีหมู่เรือนไม้ริมน้ำที่สวยงามสะท้อนตัวตนของชุมชนคณบดีมุสลิมย่านบางอ้อได้เป็นอย่างดี
วิทยากร ผศ.ดร.อาดิศร์ อิดรีส รักษมณี / ดร.วสมน สาณะเสน
18.00 น.
สรุปกิจกรรม ผู้ร่วมกิจกรรมถ่ายรูปรวม และเดินทางกลับบ้านโดยสวัสดิภาพ
หมายเหตุ: กำหนดการอาจเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม
หมายเหตุ: กำหนดการอาจเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม