พื้นที่คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

 |  ข่าวประชาสัมพันธ์
ผู้เข้าชม : 627

พื้นที่คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

           ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ขับเคลื่อนงานนโยบายชาติพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง จนสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ.... เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา โดยขณะนี้อยู่ในห้วงของการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยการขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองถือเป็นหนึ่งในสาระสำคัญของพระราชบัญญัตินี้ เราจึงอยากชวนคุณมาทำความรู้จักพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ให้มากยิ่งขึ้น


1. พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์คืออะไร?

           พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นแนวทางในการคุ้มครอง “สิทธิทางวัฒนธรรม” ของกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยการสนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนชาติพันธุ์ในฐานะ "ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม" มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืน ได้รับการคุ้มครองและยอมรับสิทธิทางกฎหมายในฐานะพลเมือง ส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์มีความมั่นคงในชีวิต มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี พึ่งตนเองได้ ด้วยการดำรงชีวิตและวิถีการทำมาหากินบนฐานภูมิปัญญา ควบคู่กับการผสานองค์ความรู้ใหม่ เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์มีคุณภาพชีวิตที่ดีบนฐาน เศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตมีความสำคัญในฐานะเป็น “พื้นที่จิตวิญญาณ” ครอบคลุม 5 พื้นที่ทางกายภาพของชุมชน ดังนี้

           1) พื้นที่อยู่อาศัย เป็นพื้นที่ตั้งถิ่นฐานชุมชน ที่กลุ่มชาติพันธุ์สามารถสืบประวัติศาสตร์และหลักฐานให้เห็นว่าเป็นชุมชนดั้งเดิมที่อยู่อาศัยมาอย่างต่อเนื่อง

           2) พื้นที่ทำกิน เป็นพื้นที่ที่ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูก ทำการเกษตรหรือแหล่งทำมาหากิน ตามวิถีวัฒนธรรมและภูมิปัญญา มาอย่างต่อเนื่อง

           3) พื้นที่พิธีกรรม เป็นพื้นที่ที่ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ใช้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ จารีต และประเพณี โดยถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน

           4) พื้นที่ใช้ประโยชน์ เป็นพื้นที่ที่ชุมชนเข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากร เพื่อดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรม โดยยึดหลักการรักษาทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืน

           5) พื้นที่อนุรักษ์ เป็นพื้นที่ที่ชุมชนกำหนดให้เป็นพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมตามวิถีวัฒนธรรมและจารีตประเพณีของชุมชน


2. สามหลักการ พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

           1. หลักการมีส่วนร่วม ยึดหลักจัดการแบบมีส่วนร่วม ระหว่างชุมชนท้องถิ่น หน่วยงานรัฐ และภาคประชาสังคม เปลี่ยนแนวรบเป็นแนวร่วม โดยใช้ความรู้และภูมิปัญญาทางวัฒนรรม ในการจัดการ รักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

           2. หลักสิทธิทางวัฒนธรรม ส่งเสริมและฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรม ให้กลุ่มชาติพันธุ์ภาคภูมิใจและเห็นความสำคัญของวัฒนธรรม อยู่อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีเสรีภาพในการดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรม ให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองการแสดงออกทางวัฒนธรรมอย่างเสมอภาค

           3. หลักสิทธิชุมชนดั้งเดิม ยอมรับสิทธิของชุมชนชาติพันธุ์ในฐานะ “ดินแดนบรรพบุรุษ” สนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์เข้าถึงสิทธิในการบริหารจัดการพื้นที่ชุมชนในฐานะสมบัติร่วมของชุมชน


3. สี่หลักเกณฑ์ พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

           1. สร้างความเข้มแข็งชุมชน ชุมชนต้องยึดหลัก “สิทธิทางวัฒนธรรม” และ “สิทธิชุมชนดั้งเดิม” ยอมรับหลักการของเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยแสดงเจตนาที่จะมีส่วนร่วมบริหารจัดการพื้นที่อย่างสมดุลและยั่งยืน

           2. สร้างแนวร่วมการทำงาน ยึดหลักการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน เปลี่ยน “คู่ขัดแย้ง” เป็น “แนวร่วม” สร้าง “หุ้นส่วนการทำงาน” และสร้าง “สำนึกความเป็นเจ้าของ” เพื่อขับเคลื่อนชุมชนร่วมกันอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดตั้งคณะทำงานชุมชนให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ของชุมชน

           3. สร้างรูปธรรม ชุมชนต้องแสดงความพร้อมและศักยภาพของชุมชน โดยจัดทำข้อมูลชุมชน ที่มีข้อมูลขอบเขตพื้นที่ทางกายภาพข้อมูลประวัติศาสตร์และวิถีชีวิต และจัดทำแผนบริหารพื้นที่ที่แสดงให้เห็นถึงการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน

           4. สร้างองค์ความรู้ ชุมชนต้องมีการสำรวจองค์ความรู้ท้องถิ่น และเปิดรับปรับประยุกต์ใช้ความรู้สมัยใหม่อย่างเท่าทัน เพื่อขยายขอบเขตความรู้ของชุมชน รวมทั้งใช้ให้เป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิต เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างยั่งยืน


4. ห้าความสำคัญ พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

           1. ส่งเสริมความเข้าใจ เป็นการส่งเสริมความเข้าใจและยอมรับวิถีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ ดำรงอยู่ได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีความเสมอภาคในฐานะพลเมืองของชาติ

           2. รักษาจิตวิญญาณชาติพันธุ์ วิถีชาติพันธุ์สัมพันธ์กับ “พื้นที่” ในฐานะ “บ้าน” ที่ใช้อยู่อาศัยและทำกิน และในฐานะ “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” ของบรรพบุรุษ พื้นที่คุ้มครองจึงสำคัญมากกว่ากายภาพแต่เป็นจิตวิญญาณของชุมชน

           3. ส่งเสริมทุนวัฒนธรรมของชาติ เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มชาติพันธุ์มั่นใจในศักยภาพ เห็น “คุณค่า” ของวิถีวัฒนธรรมและสามารถใช้เป็น “ทุนวัฒนธรรม” สร้าง “มูลค่า” บนฐานเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมให้เป็นพลังสร้างสรรค์ชาติ

           4. วิถีแห่งความสมดุลและยั่งยืน สนับสนุนให้กลุ่มชาติพันธุ์มีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุลระหว่าง “การรักษา” และ “การใช้ประโยชน์” จากทรัพยากรอย่างยั่งยืนบนหลักการ "อยู่ร่วมและอยู่รอด"

           5. สร้างความมั่นคงในชีวิต ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ “พึ่งตนเอง” ได้บนฐานวัฒนธรรม มีความเสมอภาค ในการดำรงชีวิตตามวิถีอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เติบโตอย่างมั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีภูมิรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
 


ฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

Share