เชิญชมนิทรรศการ “จากคุชราตสู่สยาม: ตามรอยนายห้างอับดุลราฮิมแลชาวมุสลิมดาวุดีโบห์รา”

 |  ข่าวประชาสัมพันธ์
ผู้เข้าชม : 1476

เชิญชมนิทรรศการ “จากคุชราตสู่สยาม: ตามรอยนายห้างอับดุลราฮิมแลชาวมุสลิมดาวุดีโบห์รา”

ศมส. ชวนชมนิทรรศการ “จากคุชราตสู่สยาม: ตามรอยนายห้างอับดุลราฮิมแลชาวมุสลิมดาวุดีโบห์รา”สะท้อนความหลากหลายของชุมชนมุสลิมในกรุงเทพฯ

           ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)(ศมส.) เปิดนิทรรศการ “จากคุชราตสู่สยาม: ตามรอยนายห้างอับดุลราฮิมแลชาวมุสลิมดาวุดีโบห์รา” เพื่อบอกเล่าความเป็นมาของพ่อค้าชาวมุสลิมดาวุดีโบห์รา (Dawoodi Bohra) จากแคว้นคุชราต ประเทศอินเดียที่เข้ามาตั้งรกรากในแผ่นดินสยามซึ่ง นับว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ทางศาสนา (Ethnoreligious group) กลุ่มหนึ่งที่มีบทบาททางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังเป็นภาพสะท้อนความหลากหลายของกรุงเทพมหานคร ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจทางวัฒนธรรมของประเทศไทยอีกด้วย

           ภายในนิทรรศการประกอบด้วย 3 ส่วน ส่วนที่หนึ่ง ตัวตนและความหลากหลายของชาวมุสลิมในกรุงเทพฯ ที่จะพาไปทำความรู้จักประชากรชาวมุสลิมในกรุงเทพฯ อาทิ ชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่สุด ตั้งชุมชนอยู่ทั่วไปและหนาแน่นในพื้นที่ตะวันออกตามแนวคลองแสนแสบ สอดคล้องกับบริบทของประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้ายจากหัวเมืองมลายูทางใต้ ส่วนชาวมุสลิมเชื้อสายจามเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเป็นมาเก่าแก่ได้ตั้งชุมชนอยู่ในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ในขณะที่ชาวมุสลิมเชื้อสายชวาจากหมู่เกาะอินโดนีเซีย ที่เดินทางเข้าแสวงหาสัมมาอาชีพในช่วงรัชกาลที่ 5 มียังคงรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สามารถกลมกลืนไปกับชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูกลุ่มใหญ่ได้ ชาวมุสลิมเชื้อสายเปอร์เซียและอาหรับซึ่งเคยมีบทบาทด้านการปกครองและการค้าขายมาตั้งแต่สมัยอยุธยามักตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณฝั่งธนบุรีพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนมุสลิมเชื้อสายอินเดียที่เดินทางเข้ามาประกอบธุรกิจค้าขายในช่วงหลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่งมักจะตั้งถิ่นฐานในย่านการค้าอาทิย่านคลองสานและถนนเจริญกรุง นอกจากนี้ ในบริบทของสังคมปัจจุบัน กรุงเทพฯ ยังโอบรับชาวมุสลิมต่างชาติอื่นๆ ที่เข้ามาประกอบอาชีพหรือแม้แต่การพึ่งพิงทางมนุษยธรรม โดยใช้ชุมชนของชาวมุสลิมดั้งเดิมในกรุงเทพฯ เป็นศูนย์รวมในการประกอบศาสนกิจ กิจกรรมทางสังคม และการพักอาศัย

           ส่วนที่สอง วิถีแห่งศรัทธาชน ชาวมุสลิมดาวุดีโบห์รา ทำความรู้จักชาวมุสลิมดาวุดีโบห์รา (Dawoodi Bohra) ซึ่งเป็นกลุ่มทางศาสนาอิสลามในแนวทางชีอะฮ์อิสมาอีลียะฮ์ (Ismaili Shi’a) ที่สืบทอดแนวทางปฏิบัติจากบรรดาอิหม่าม (ผู้นำ) แห่งราชวงศ์ฟาฏิมียะฮ์ (Fatimids) ในประเทศอียิปต์ช่วงศตวรรษที่ 10-12 ซึ่งสืบสายเลือดมาจากท่านนบีมุฮัมมัด ศาสดาแห่งศาสนาอิสลาม ผ่านท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ บุตรีของท่านนบีมุฮัมมัด (Fatimah bint Muhammad) คำว่า ดาวุดีโบห์รา มีที่มาจากดาอีย์ มุฏลัค ลำดับที่ 27 นามว่า ไซยิดนา ดาวุด บิน กุฏุบชาห์ (ค.ศ.1539-1612) นับตั้งแต่นั้นมากลุ่มชาวมุสลิมที่ยอมรับการเป็นผู้นำและดำเนินแนวทางตามคำสั่งสอนของท่านจึงถูกเรียกว่า ดาวุดี (Dawoodi) ส่วนคำว่า โบห์รา (Bohra) เป็นคำภาษาคุชราตแปลว่า พ่อค้าวาณิช ซึ่งบ่งบอกอัตลักษณ์ทางด้านอาชีพของชาวมุสลิมดาวุดีโบห์ราที่ทำมาค้าขายสุจริตเป็นหลักมาตั้งแต่สมัยโบราณนั่นเอง

           ชาวมุสลิมดาวุดีโบห์ราเดินทางเข้าสู่ประเทศสยามตั้งแต่ในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 หลังจากสนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty) เพื่อเปิดการค้าเสรีระหว่างประเทศสยามและสหราชอาณาจักร ชาวมุสลิมดาวุดีโบห์ราถือเป็นคนในบังคับอังกฤษ ส่วนใหญ่เข้ามาประกอบอาชีพค้าขาย มีการตั้งห้างร้านนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศหลากหลายประเภทอยู่ในย่านธุรกิจของเมืองบางกอกทั้งเขตพระนครและฝั่งธนบุรี ทั้งนี้ชาวมุสลิมดาวุดีโบห์รามีความสามารถสูงทั้งในด้านธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงในด้านความซื่อสัตย์ ยุติธรรม และความน่าเชื่อถือ และได้ลงหลักปักฐานเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการสังคมไทยมาเป็นเวลาช้านาน ปัจจุบันมีชาวมุสลิมดาวุดีโบห์ราอาศัยอยู่ในประเทศไทยจำนวนราว 500 คน ธำรงอัตลักษณ์ทางศาสนาและประเพณีวัฒนธรรมในด้านต่างๆ ได้เหนียวแน่น โดยชุมชนจะรวมตัวในวันสำคัญทางศาสนาต่างๆ นอกจากนี้ยังมีภาษาเฉพาะกลุ่มที่เรียกว่า ลิซานุดดาวัต (Lisan ul-Dawat) ที่ผสมระหว่างภาษาคุชราตี (Gujarati) ภาษาอาหรับ (Arabic) ภาษาเปอร์เซีย (Farsi) และภาษาอูรดู (Urdu) ผู้ที่สามารรถสื่อสารด้วยภาษานี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ใฝ่รู้ทางศาสนาและศึกษาในระดับสูง และเป็นส่วนสำคัญในการรักษาประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอีกด้วย รวมถึงมีรูปแบบการแต่งกาย (Dress code) ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผู้ชายสวมชุดกูรตะ (Kurta) คลุมยาวสีขาว และในอดีตหมวกผ้าสีทองดูสะดุดตา เป็นที่มาของคำเรียกของคนไทยในอดีตที่เรียกชาวมุสลิมดาวุดีโบห์ราว่า แขกสะระบั่นทอง อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันจะมักนิยมสวมหมวกถัดตกแต่งด้วยลวดลายขลิบทองแทน ส่วนผู้หญิงจะสวมชุดริดา (Rida) เป็นชุดคลุมปกปิดตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เว้นเปิดเพียงใบหน้าและมือมีสีสันสวยงาม

           ส่วนที่สาม อับดุลราฮิมในสยาม พบกับสายสกุลอับดุลราฮิม เป็นสายสกุลของพ่อค้าชาวมุสลิมนิกายชีอะห์สายดาวุดีโบห์รา (DAWOODI BOHRA) โดยซรัฟอาลี อับดุลราฮิม ซึ่งเป็นต้นตระกูลอับดุลราฮิมได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากเมืองท่าสุรัต (SURAT) แคว้นคุชราต ประเทศอินเดีย เข้ามาตั้งกิจการห้างในกรุงสยาม ตั้งแต่ พ.ศ. 2415 โดยใช้ชื่อว่า “ห้างอับดุลราฮิม” ห้างอับดุลราฮิม คือ ห้างขายของของตระกูลที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศหลากหลายชนิด ตั้งอยู่ถนนเฟื่องนคร ย่านการค้าสำคัญของกรุงสยาม ค้ายเครื่องแก้วเจียระไน เครื่องแต่งกาย และของใช้เบ็ดเตล็ด และต่อมาได้ปรับปเลี่ยนมาขายและซ่อมเครื่องวิทยุตามความนิยมตามกาลสมัย บ้านอับดุลราฮิม เป็นบ้านสถาปัตยกรรมแบบบังกะโล แต่เดิมเป็นบ้านพักตากอากาศของครอบครัวอับดุลราฮิมท่ามกลางไร่นานและคลอง กาลเวลาผ่านไป ย่านศาลาแดงได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นศูนย์กลางธุรกิจที่คับคั่ง มีถนน ตึกสูงระฟ้า และรถไฟฟ้า ปรากฏขึ้นโดยรอบ ตามเจตนารมณ์ของคุณประชุม อับดุลราฮิม บุตรสามนายห้างเอช.อับดุลราฮิม คือ การมอบที่ดินและบ้านอับดุลราฮิมให้กลับคืนสู่แผ่นดินและเป็นสาธารณประโยชน์สืบต่อไป บ้านหลังนี้ยังคงต้องรักษาดูแลไว้ให้คนรุ่นหลัง และเจตนารมณ์ของท่านวันนั้นยังนำไปสู่การจัดตั้งมูลนิธิเอช.อับดุลราฮิม และ มูลนิธิคุณแม่เชย อับดุลราฮิม ในวันนี้อีกด้วย

ศมส. เชิญชวนผู้สนใจเยี่ยมชมนิทรรศการ “จากคุชราตสู่สยาม: ตามรอยนายห้างอับดุลราฮิมแลชาวมุสลิมดาวุดีโบห์รา” จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ - 30 มิถุนายน 2566 วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30 – 16.30 น. วันเสาร์ เวลา 09.00-16.00 น. หยุดวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ ณ พื้นที่เรียนรู้ชั้น 2 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ

Share