เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... (ฉบับปรับปรุง)

 |  ข่าวประชาสัมพันธ์
ผู้เข้าชม : 2367

เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... (ฉบับปรับปรุง)

           ดาวน์โหลดร่าง พรบ. ฉบับปรับปรุง

           ดาวน์โหลดตารางเปรียบเทียบการปรับแก้

           ดาวน์โหลดแบบรับฟังความเห็นร่างพระราชบัญญัติ คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... สำหรับประชาชน ที่ลิงค์นี้ หรือสแกน QR Code

https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSe99-6bha3jwltw1nlrldjv5WBjH5PETagOKzMJH4uyVBhaYA/viewform

 

แบบรับฟังความเห็นร่างพระราชบัญญัติฯ

 

           ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กระทรวงวัฒนธรรม จัดทำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ซึ่งเป็นไปตามหลักการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 70 และเป็นการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเข้าใจ เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่จะได้รับการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมอย่างเสมอภาคกัน

           การดำเนินงานที่ผ่านมา ศูนย์ฯ ได้ดำเนินการจัดทำร่างพระราชบัญญัติฯ และเปิดรับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้นแล้ว จึงเสนอร่างพระราชบัญญัติฯ ต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งในกระบวนการดังกล่าวมีการสอบถามความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในกระบวนการนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมีความเห็นเกี่ยวกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติฯ ที่สมควรพิจารณาให้ได้ข้อยุติก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

           ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ได้พิจารณาและมีคำสั่งให้ดำเนินการ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน 2565 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติ โดยได้ปรับปรุงแก้ไขเนื้อความในร่างมาตรา 3, 5, 7, 13, 15, 27, 30, 33, 34 และ 38 (รายละเอียดปรากฏตามตารางเปรียบเทียบการปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ)

           นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องการใช้ถ้อยคำในร่างมาตรา 32 วรรคท้าย ซึ่งมีความเห็นแบ่งออกเป็นสองแนวทาง ได้แก่ แนวทางที่หนึ่ง เห็นควรให้คงเนื้อความตามเดิมเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของร่างพระราชบัญญัติฯ ที่มุ่งให้ความคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ และแนวทางที่สอง เห็นควรให้ตัดเนื้อความตามข้อเสนอของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแนวนโยบายของรัฐในการส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 70 จึงมีมติให้คงเนื้อความตามเดิมเพื่อให้ประเด็นดังกล่าวได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบในขั้นต่อไป

           ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติฯที่ปรับปรุงแก้ไขใหม่ประกอบด้วย 5 หมวด 39 มาตรา ซึ่งยังคงยึดเจตนารมณ์และหลักการสำคัญเช่นเดิม ดังนี้

           เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติ

           การจัดทำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... มีเจตนารมณ์ให้เป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 70 มุ่งให้ความคุ้มครองสิทธิของชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีสิทธิเสมอภาคอย่างไม่เลือกปฏิบัติ เป็นพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยวางหลักการและแนวทางในการสร้างการมีส่วนร่วมและส่งเสริมศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความความต้องการของกลุ่มชาติพันธุ์

           หลักการของพระราชบัญญัติ

           ตามเจตนารมณ์ข้างต้นการจัดทำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ กำหนดหลักการสำคัญไว้ 3 ประการ ดังนี้

           ประการที่หนึ่ง หลักการ “คุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม” พระราชบัญญัติฉบับนี้มุ่งให้ความคุ้มครอง
กลุ่มชาติพันธุ์ในการเลือกดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมของตน โดยไม่ถูกคุกคามหรือถูกเลือกปฏิบัติจากความไม่เข้าใจวิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ถูกละเมิดสิทธิในด้านต่าง ๆ เป็นผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางวัฒนธรรมที่เป็นรากฐานความรุนแรงในสังคมไทย การให้การคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการรักษาดุลยภาพทางสังคม และการส่งเสริมทุนทางวัฒนธรรมที่จะเป็นต้นทุนในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

           ประการที่สอง หลักการ “ส่งเสริมศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์” โดยปรับกระบวนทัศน์ในการมองกลุ่มชาติพันธุ์จากเดิมที่พิจารณากลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะผู้ด้อยโอกาส มาเป็นการมองกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยทัศนะที่มองเห็นและเข้าใจถึงศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ และปรับแนวทางในการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เป็นแนวทาง “เสริมศักยภาพ” ให้กลุ่มชาติพันธุ์เข้ามามีส่วนร่วม พระราชบัญญัตินี้จึงวางกลไกให้กลุ่มชาติพันธุ์มีส่วนร่วมในการวางแผนและกำหนดแนวทางในการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ทางสังคมและสภาพปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ บนหลักการที่เชื่อมั่นในความรู้และศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์เป็น “พลัง” ในการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านความมั่นคงในประเด็นการสร้างกลไกภาคประชาชนในการเสริมความมั่นคงของชาติ

           ประการที่สาม หลักการ “สร้างความเสมอภาคบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม” พระราชบัญญัติฉบับนี้มุ่งลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากปัญหาอคติทางวัฒนธรรมที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ และทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาที่หลากหลายในปัจจุบัน พระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงถือเป็นแนวที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติในเป้าหมายที่ 10 การลดความเหลื่อมล้ำ ภายใต้หลักการของความเสมอภาคในการจัดสรรทรัพยากรให้สอดคล้องกับศักยภาพของคนที่มีความหลากหลาย

องค์ประกอบของพระราชบัญญัติ

           ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ได้ให้คำนิยาม “กลุ่มชาติพันธุ์”ไว้ในมาตรา 3 ว่า “กลุ่มชาติพันธุ์ หมายความว่า กลุ่มคนที่อาศัยอยู่เป็นกลุ่มเดียวกันหรือหลายกลุ่ม ซึ่งมีอัตลักษณ์และการสั่งสมทางวัฒนธรรม ภาษา วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และความเชื่อตามจารีตประเพณีร่วมกัน” และมีสาระสำคัญแบ่งเป็น 5 หมวดดังนี้

           หมวดที่หนึ่ง ว่าด้วยเรื่องหลักการคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งบัญญัติไว้ มาตรา 5 โดยกำหนดหลักการให้ความคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์

           หมวดที่สอง ว่าด้วยเรื่องกลไกการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ประกอบด้วยกลไกเชิงนโยบาย บัญญัติไว้ใน มาตรา 7 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน และประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานรัฐ และผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีหน้าที่กำหนดนโยบายในการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

           หมวดสาม ว่าด้วยเรื่องกลไกการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยบัญญัติไว้ใน มาตรา 14 ให้มีการจัดตั้งสมัชชากลุ่มชาติพันธุ์แห่งประเทศไทย ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ มีหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างความเข้าใจอันดี และเสนอนโยบาย มาตรการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ต่อคณะกรรมการ

           หมวดสี่ ว่าด้วยเรื่องการจัดทำข้อมูลวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ โดยบัญญัติมาตรา 28 ให้มี “คณะกรรมการจัดทำข้อมูลวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์” มีบทบาทสำคัญในการกำหนดแนวทางจัดทำฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงเชิงวิชาการในการคุ้มครองและส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์

           หมวดห้า ว่าด้วยเรื่องการกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยบัญญัติไว้ใน มาตรา 30 ความว่า เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองวิถีชีวิตและวัฒนธรรม การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน การส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีบนฐานเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม และการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนตามภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

           ทั้งนี้ เนื่องจากมีการปรับปรุงแก้ไขเนื้อความในร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ศูนย์ฯ จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติฯ สำหรับประชาชนอีกครั้ง โดยเปิดให้ความเห็นตั้งแต่บัดนี้จนถึง วันที่ 8 ธันวาคม 2565


ฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

Share