ศมส. ร่วมประชุมการศึกษาพื้นที่เพื่อจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง

 |  ข่าวประชาสัมพันธ์
ผู้เข้าชม : 538

ศมส. ร่วมประชุมการศึกษาพื้นที่เพื่อจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง

           ศมส. ร่วมประชุมการศึกษาพื้นที่เพื่อจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านขุนแม่เหว่ย (แม่ปอคี) อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

           วันที่ 10-11 มิถุนายน 2565 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก และภาคีเครือข่าย ประชุมการศึกษาพื้นที่เพื่อจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ณ บ้านขุนแม่เหว่ย (แม่ปอคี) อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

           “บ้านแม่ปอคีมีกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ราว 400 ปี มาแล้ว ในชุมชนมีวิถีชีวิตการทำไร่หมุนเวียนแบบแปลงรวม หมุนเวียน 5 ปี โดยมีปราชญ์ชาวบ้านนำชุมชนในการดำเนินชีวิตตามวิถีภูมิปัญญา อยากให้ที่นี่ได้ประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อดำรงการทำไร่หมุนเวียน ฟื้นฟู รักษาป่า ต่อไปได้”

           เสียงสะท้อนหนึ่งจากเยาวชนบ้านขุนแม่เหว่ยที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ฯ เพื่อให้ได้ใช้ชีวิตตามวิถีภูมิปัญญาของตนและรักษาไว้ไม่ให้สูญหาย พร้อมทั้งเป็นแกนนำที่ชักชวนเยาวชนและคนในหมู่บ้านให้ช่วยกันเก็บข้อมูลโดยใช้เครื่องมือทางมานุษยวิทยาซึ่งมี ศมส.และวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ เป็นพี่เลี้ยง ประกอบด้วยประวัติศาสตร์ชุมชน ปฏิทินชุมชน และปฏิทินวัฒนธรรม เป็นข้อมูลเตรียมพร้อมสำหรับการประกาศพื้นที่คุ้มครองฯ

           “พิธีการปักไร่และพิธีกรรมการทำไร่หมุนเวียน เป็นระบบการเกษตรแบบสุนทรียะ smile farmer ที่มีระบบภูมิปัญญาอยู่ในทุกอณู”

           อาจารย์จากวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พูดถึงการทำไร่หมุนเวียนซึ่งในวันที่เข้าพื้นที่จะประจวบเหมาะกับการปักไร่ผืนสุดท้ายของการทำไร่หมุนเวียนปีนี้ โดยภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนได้ร่วมพิธีปักไร่ดังกล่าวพร้อมเรียนรู้วิถีภูมิปัญญาที่มีคุณค่านี้ด้วย

           นอกจากการเรียนรู้วิถีการทำไร่หมุนเวียนแล้ว ผู้ร่วมประชุมยังได้เรียนรู้วิถีการทอผ้าของกลุ่มสตรีบ้านขุนแม่เหว่ยที่รวมกลุ่มกันทอผ้า และกลุ่มผู้ชายที่ร่วมกันจักสานทำเครื่องดนตรี ซึ่งวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาทอผืนผ้าและจักสานนี้ เป็นผลผลิตจากไร่หมุนเวียนทั้งสิ้น

           หลังจากได้เรียนรู้ภาคปฏิบัติแล้ว ตัวแทนจาก ศมส. ได้แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้เห็นภาพและทำความเข้าใจพร้อมกันเพื่อเห็นวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายในการจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดขึ้น ได้กล่าวถึงแนวคิดพื้นที่คุ้มครองฯ ว่า หนึ่ง คุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมและสิทธิในฐานะเป็นกลุ่มชุมชนดั้งเดิมที่อยู่มาก่อน (ดูแลทรัพยากรและดูแลคน) สอง หลักการรักษาสมดุล ฟื้นฟูวิถีชีวิตบนฐานทุนทางวัฒนธรรม จะต้องเป็นประโยชน์ในการจัดการทรัพยากรและการพัฒนาคุณภาพชีวิตบนทรัพยากรของตนเอง (ภูมิปัญญาในการพัฒนาคุณภาพชีวิต) สาม ใช้กระบวนการแบบมีส่วนร่วม ชุมชน หน่วยงานราชการ และองค์กรต่าง ๆ ให้เกิดความร่วมมือกัน ซึ่งกระบวนการสามส่วนนี้บรรจุเป็นหลักการใน ร่าง พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่กำลังรอผลบังคับใช้ ดังนั้นก่อนกฎหมายดังกล่าวจะบังคับใช้จึงชวนชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ฯ ให้รองรับการขับเคลื่อนการเป็นพื้นที่คุ้มครองฯ และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำงานร่วมกันในพื้นที่บูรณาการกันเป็นองคาพยพ เกิดเป็นแผนที่มีพลวัตบนฐานศักยภาพชุมชน และเพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้มีส่วนร่วมกันให้เกิดความมั่นคงในทุก ๆ ด้าน ทั้งเศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข วัฒนธรรม พร้อมทั้งให้เห็นผลกระทบชุมชนที่มีความเสี่ยงหรือความเปราะบาง กลายเป็นความเข้มแข็งและสร้างให้บ้านขุนแม่เหว่ยเป็นโมเดลต้นแบบให้กับชุมชนใกล้เคียงได้

           “จังหวัดตากมีกะเหรี่ยง 90 เปอร์เซ็นต์อยู่ในพื้นที่ป่า จากการประชุมวันนี้มีความหวังมาก ๆ ว่าหน่วยงานต่าง ๆ ที่มาร่วมประชุมจะช่วยกันผลักดันให้เราทำไร่หมุนเวียนดั้งเดิมได้ ที่อื่น ๆ ใกล้เคียงเริ่มทำไร่ข้าวโพด ไร่มันสำปะหลัง ซึ่งเรียกว่าไร่ถาวร มีปัญหาน้ำท่วมทุกปีและมีพันธะสัญญาติดหนี้กับบริษัท หรือมีคดีความบุกรุกพื้นที่ป่า”

           เสียงสะท้อนจากผู้แทนประสานงานเครือข่ายกะเหรี่ยง ได้เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงและทุนนิยมที่คืบ

           คลานเข้าใกล้ชุมชน หากมีการประกาศพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมและมีการจัดทำแผนบริหารจัดการที่ดีจากทุกภาคส่วนก็จะสามารถรักษาวิถีภูมิปัญญาพร้อมการรักษาดูแลป่าได้อย่างยั่งยืนต่อไปได้

           “เรารู้สึกขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้สะท้อนสิ่งที่จะขับเคลื่อนร่วมกัน และพวกเราต้องการพัฒนาผลผลิตจากไร่หมุนเวียนมาเพิ่มมูค่าขึ้น เช่น ข้าวไร่ หรือ ใบฮ่อวอ ให้เป็นแบรนด์จากไร่หมุนเวียนของชุมชนเรา”

           ตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่มีแนวคิดพัฒนาต่อยอดผลผลิตจากไร่หมุนเวียนให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ จากฐานทุนทางวัฒนธรรมกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนได้ จากการจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ฯ และการพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนไปพร้อมกันต่อไป

 

 

ฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

Share