ศมส. กับการจัดการเอกสารโบราณวัดโคก อ.เมือง จ.เพชรบุรี
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 ภายใต้โครงการสำรวจ รวบรวม และศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นภาคตะวันตก มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจ และเก็บข้อมูลเอกสารโบราณโดยการทำสำเนาดิจิทัลในเขตพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศไทย เมื่อได้ข้อมูลสำเนาดิจิทัลเอกสารโบราณจำนวนหนึ่ง ศมส. จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาเว็บไซท์ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทยเพื่อเผยแพร่ข้อมูลสำเนาดิจิทัลของเอกสารโบราณ ให้บริการแก่บุคคลทั่วไปในปี 2558 เป็นต้นมา
เมื่อวันที่ 21-23 ธันวาคม 2564 ศมส. ได้ดำเนินการจัดการเอกสารโบราณวัดโคก อ.เมือง จ.เพชรบุรี ซึ่งวัดโคกเป็นวัดทีี่ในอดีตเป็นแหล่งเรียนรู้การแพทย์แผนไทยของหมอยาพื้นบ้านหลายท่าน นอกจากนี้ยังมีตำรับตำราการแพทย์แผนไทยเป็นจำนวนมากที่ใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งบันทึกไว้ในเอกสารโบราณทั้งประเภทคัมภีร์ใบลานและหนังสือสมุดไทยเป็นจำนวนมาก คณะทำงานด้านการจัดการเอกสารโบราณของ ศมส. ได้เข้าไปสำรวจเอกสารโบราณภายในวัด พบว่าเอกสารโบราณได้สูญหายและได้รับความเสียหายไปมาก โดยเฉพาะเอกสารตำรายาที่เคยมีมากในอดีต
พระสรศักดิ์ จันทโร พระผู้ดูแลเอกสารโบราณของวัดโคกให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันหาคนที่อ่านเอกสารโบราณเหล่านี้แทบจะไม่ได้แล้ว จึงทำให้ขาดการดูแลรักษาที่ดี ทำให้เอกสารโบราณส่วนใหญ่นั้นโดนความชื้นและเชื้อราทำลายไปมาก อย่างไรก็ดีเอกสารโบราณที่ยังหลงเหลือรอดมาได้ก็มีความสำคัญและมีเนื้อหาที่น่าสนใจไม่น้อย
จากการสำรวจพบว่า เอกสารโบราณส่วนใหญ่ที่พบนั้นเป็นเอกสารประเภทหนังสือสมุดไทย เนื้อหาส่วนใหญ่ที่พบมักเป็นตำราเวชศาสตร์ ตำราไสยศาสตร์ และตำราโหราศาสตร์ นอกจากนี้ยังพบเอกสารในหมวดกฏหมาย ตำราคณิตศาสตร์ ที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก แต่น่าเสียดายที่เอกสารโบราณต่างๆ เหล่านี้อยู่ในสภาพที่ไม่ค่อยสมบูรณ์มากนัก โดยรวมมักเป็นหนังสือสมุดไทยที่ขาดออกจากเล่ม แตกพลัดกระจัดกระจายไป
เอกสารที่ชำรุดพลัดพรากขาดหายไปนี้หากเป็นตำรายาก็ยังถือว่าเป็นประโยชน์อยู่เน่องจากเอกสารตำรายามีวิธีการบันทึกเป็นตำรับๆ แต่ละตำรับมีเนื้อหาไม่ยาวมากนัก จึงทำให้แม้ว่าเอกสารจะพลัดออกจากกันแต่ก็ยังคงเนื้อหาตำรายาเป็นตำรับๆ ไว้ได้
ในลำดับขั้นตอนการจัดการเอกสารโบราณวัดโคกนั้น คณะทำงาน ศมส. ได้รับความกรุณาจากท่านเจ้าอาวาสวัดโคก ต.คอลงกระแชง อ.เมือง จ.เพชรบุรี อนุญาตให้จัดการเอกสารโบราณของวัดได้ตามสะดวก คณะทำงานได้นำเอกสารโบราณของวัดมาจำแนกประเภทของเอกสาร จัดทำการอนุรักษ์เอกสารโบราณเบื้องต้นโดยการทำความสะอาดเอกสารโบราณแต่ละประเภทอย่างเหมาะสม จากนั้นจึงได้จัดทำทะเบียนเอกสารโบราณแต่ละชิ้น ให้เลขรหัสเอกสาร ชื่อเรื่อง (หากเอกสารชำรุดแตกพลัดก็จะต้องอ่านเนื้อหาเพื่อกำหนดชื่อเรื่อง) หมวด ประเภทของเอกสาร อักษร ภาษา ขนาด เป็นต้น
เมื่อจัดทำทะเบียนเอกสารโบราณแต่ละชิ้นแล้วจึงนำไปทำสำเนาดิจิทัลด้วยการถ่ายภาพจากกล้องดิจิทัลความละเอียดสูง เมื่อเสร็จแล้วจึงได้จัดทำป้ายทะเบียนเอกสาร (TAG) และเก็บรักษาเอกสารในห่อผ้าดิบขาว และจัดเก็บไว้ในที่ปลอดภัยจากแสงแดดและความชื้น (หากต้องการศึกษาวิธีการจัดการเอกสารโบราณในรูปแบบดิจิทัล สามารถเข้าถึงได้ที่ https://www.sac.or.th/databases/manuscripts/main.php?m=article&p=item&id=87 )
ผู้สนใจสามารถเข้าไปสืบค้นเอกสารโบราณเรื่องอื่น ๆ ได้ที่ ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย https://www.sac.or.th/databases/manuscripts/main.php?m=document&p=index