ทฤษฎีเควียร์ จากทศวรรษ 1990-2010

 |  Gender and Queer Anthropology
ผู้เข้าชม : 1336

ทฤษฎีเควียร์ จากทศวรรษ 1990-2010

ในหนังสือรวมบทความของอีฟ โคเซฟสกี้ เซดจ์วิค เธอเคยเขียนบทนำในชื่อ “เควียร์และเวลาปัจจุบัน” (Queer and Now) บทความนี้ทำให้คิดถึงช่วงเวลาเมื่อ 20 ปีก่อนที่ความคิดเรื่องเควียร์เพิ่งปรากฎ เซดจ์วิคเขียนบทนำนี้ด้วยสายตาที่มองโลกในแง่บวกแต่ไม่ไร้เดียงสา เช่นเดียวกับบทนำที่เธอเขียนถึงการรักษาโรคมะเร็งเต้านมของเธอ ซึ่งเธอต้องมีชีวิตอยู่กับมันและต่อสู้มันจนวาระสุดท้ายที่เธอจากโลกนี้ไปในปี 2009 หนังสือเล่มสุดท้ายจากชุดเควียร์ได้นำบทความที่เธอเคยเขียนไว้มาตีพิมพ์หลังจากที่เธอเสียชีวิต บทความนั่นคือ The Weather in Proust 

ความตายของเซดจ์วิค เสมือนเป็นการเดินทางของเวลามาบรรจบพบเจอกับหนังสือที่ตีพิมพ์โดย สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยดุ๊ก ก่อนที่จะมีการตีพิมพ์ นักวิชาการเควียร์หลายคนกำลังรำลึกถึงชีวิตของเซดจ์วิค หนังสือก่อนหน้านั้นคือ After Sex? On Writing Since Queer Theory เชิญชวนให้นักวิชาการเควียร์ย้อนมองอดีตเพื่อมองดูความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ชื่อของหนังสือเหมือนจะทำให้เควียร์เป็นเรื่องของอดีต แต่บรรณาธิการ เจเน็ต ฮัลลีย์ และ แอนดรูว์ ปาร์คเกอร์ ตั้งคำถามในบทนำว่าทฤษฎีเควียร์ในปัจจุบันนี้คืออะไรหลังจากที่มันเคยมีประวัติศาสตร์

คำตอบขึ้นอยู่กับว่าเราจะนิยามทฤษฎีเควียร์ว่าอย่างไรหลังจากที่มันถูกเผยแพร่ออกไปในทศวรรษ 1990 การทำให้เควียร์เท่ากับทฤษฎีจะเกิดขึ้นในวงวิชาการซึ่งเป็นผลมาจากความคิดสำคัญๆของมิเชล ฟูโก้, เกล รูบิ้น, ลีโอ เบอร์ซานี่, เซดจ์วิค, จูดิธ บัตเลอร์ และนักวิชาการอีกหลายคน นักวิชาการเหล่านี้ต่างนำเสนอการวิเคราะห์เพศวิถีซึ่งเกี่ยวข้องกับอำนาจมากกว่าจะเป็นเรื่องเชิงจิตวิทยาหรือสำนึกของอารมณ์ทางเพศ พวกเขาได้ชี้ให้เห็นว่าเซ็กส์ อารมณ์ทางเพศ และแบบแผนทางวัฒนธรรมทางเพศคือสิ่งที่ท้าทายความคิดตามบรรทัดฐาน โดยที่เซ็กส์บางลักษณะจะถูกรับรองและถูกสถาปนาว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง นักเขียนบางคนในหนังสือ After Sex? ได้ชี้ว่าความคิดแบบเควียร์ทำให้เกิดการศึกษาแบบใหม่และกฎระเบียบใหม่

เมื่อเทเรซ่า เดอ ลอเรติสและเพื่อนร่วมงานของเธอที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แห่งซานตา ครูซ ได้จัดงานประชุมภายใต้ชื่อว่า Queer Theory ในปี 1990 ได้สร้างความตื่นเต้นอย่างมาก คำว่า “เควียร์” ในสมัยนั้นยังไม่ใช่คำเรียกสำหรับเกย์ที่มีอยู่ในเคเบิลทีวี ซึ่งได้สร้างภาพตัวแทนและการเย้ยหยันอย่างมาก คำว่าเควียร์ถูกนำมาใช้เพราะจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการตระหนักถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้น และมองเห็นบริบททางการเมืองและอำนาจของประชาชนซึ่งเกิดขึ้นนอกวงวิชาการ มันจึงเป็นการเริ่มต้นแบบที่คาดเดาไม่ได้ ในปี 1991 มีการประชุมเลสเบี้ยนและเกย์ศึกษาที่มหาวิทยาลัยรัตเกอร์ ที่นิว บรันสวิค เป็นการประชุมครั้งที่ 5 หลังจากที่จอห์น บอสเวลล์ริเริ่มขึ้นในปี 1987 ที่มหาวิทยาลัยเยล การประชุมในปี 1991 นั้นมีการขยายตัวมากกว่าเดิม การพูดถึงเควียร์ในครั้งนั้นค่อนข้างมีชีวิตวีชาเหมือนการล่องเรือไปอย่างช้าๆ

พวกเราส่วนใหญ่ในเวลานั้นใช้คำว่าเควียร์แบบหลวมๆ การอธิบายในเชิงทฤษฎีในระยะแรกๆ เช่นในเรื่อง Fear of a Queer Planet (1993) จะระมัดระวังการมองแบบเพ้อฝันและการมีอคติ ถึงแม้ว่า “เควียร์” จะเป็นคำที่ครอบคลุมถึงคนทุกคนภายใต้การเมืองสีรุ้ง ในปี 1994 เดอ ลอเรติสออกมาวิจารณ์ว่าคำว่าเควียร์กำลังกลายเป็นตัวอะไรสักอย่างหนึ่งในอุตสาหกรรมหนังสือ

เมื่อดูประวัติศาสตร์ของการพิมพ์หนังสือในชุด Q จะพบการเกิดขึ้นของสิ่งที่ยังไม่ถึงเวลาเกิด ปัจจุบันนี้ทฤษฎีเควียร์มีไว้เพื่อการค้นหาและก็ยังเป็นการพูดที่ไม่มีข้อยุติ มีการสร้างกิ่งก้านสาขาออกไปมากมาย บางกลุ่มก็คิดต่างไปจากกลุ่มอื่น เรารู้ว่าสิ่งที่เดอ ลอเรติสวิจารณ์คืออะไร มีการพูดเกินความจริงเกี่ยวกับเควียร์ เมื่อย้อนมองดูการอธิบายของเควียร์ที่ผ่านมา เรื่องที่ประหลาดก็คือมีคนจำนวนมากคิดว่าตัวเองเป็นเควียร์และเชื่อว่าได้สร้างสติปัญญาจากทฤษฎีเควียร์

สิ่งที่ถูกลืมไปในช่วงประวัติศาสตร์ของเควียร์ก็คือ คำว่าเควียร์เกิดจากการต่อสู้ในระดับรากหญ้าก่อนที่มันจะกลายเป็นทฤษฎี องค์กร Act Up ได้เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อลบล้างความอับอายและการตกอยู่ใต้บรรทัดฐานที่สังคมกำหนด องค์กรนี้ต้องการให้ประชาชนตื่นตัวมากไปกว่าที่จะแคร์เรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ การเคลื่อนไหวนี้นำไปสู่การก่อตั้งกลุ่มทางสังคมหลายกลุ่ม รวมทั้งกลุ่ม Queer Nation ซึ่งชื่อนี้ทำให้รู้สึกตลกขบขันในหมู่นักวิชาการเควียร์

การเมืองจากรากหญ้าที่กล่าวมานั้นไม่มีฉายา เป็นการโต้เถียงในหนังสือที่เผยแพร่ในช่วงปี 1992 (ผู้เขียนคือซู เลียวนาร์ด สมาชิกในกลุ่ม Fierce Pussy ซึ่งเป็นกลุ่มเลสเบี้ยนเฟมินิสต์ในองค์กร Act Up) มีการประกาศเจตนารมย์ที่คล้ายๆกับการต่อสู้ของเลสเบี้ยน “ฉันต้องการหญิงรักหญิงเป็นประธานาธิบดี” (ในวิชาเควียร์ศึกษา เรียกการประกาศเจตนารมย์แบบนี้ว่า homonationalism) แต่ในเวลาอันรวดเร็ว คำประกาศนี้ก็ถูกเปลี่ยนเป็นความต้องการ จากสาเหตุหนึ่งไปสู่อีกสาเหตุหนึ่ง กลายเป็นอำนาจที่เกิดขึ้นในขณะที่การต่อสู้กำลังเคลื่อนตัวออกจากบริบททางการเมือง ยังคงมีสิ่งที่ถูกทิ้งไว้และถูกลืมหรือไม่ถูกนำกลับมาใหม่

เราต้องการคนช่วยประธานาธิบดี ต้องการเกย์เป็นรองประธานาธิบดี ต้องการคนที่ไม่มีระบบประกันสุขภาพ ต้องการใครสักคนที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยขยะมีพิษซึ่งเขาจะป่วยด้วยโรคมะเร็ง เราต้องการให้ประธานาธิบดีมีนโยบายรับรองการทำแท้งให้กับผู้หญิงอายุ 16 ปี ต้องการผู้สมัครที่ไม่ใช่คู่ต่อสู้ทางการเมืองจากพรรคตรงข้าม ต้องการประธานาธิบดีที่สูญเสียคนรักจากโรคเอดส์ ซึ่งยังมองเห็นคนรักของเขาอยู่เคียงข้างตลอดเวลา ประธานาธิบดีที่จะพยุงคนรักไว้ในอ้อมแขนและตระหนักว่าเขากำลังจะตายจากไป เราต้องการประธานาธิบดีที่มีชีวิตโดยปราศจากเครื่องปรับอากาศ ประธานาธิบดีที่จะยืนเข้าแถวเหมือนคนอื่นๆในคลีนิค ในห้างสรรพสินค้า ในสำนักงานสวัสดิการ ประธานาธิบดีที่เคยตกงานและถูกปลดออกจากงาน เคยถูกล้วงเกินทางเพศ ถูกทำร้ายร่างกายและถูกเนรเทศออกจากประเทศ เราต้องการใครสักคนที่มีชีวิตยามค่ำคืนในสุสาน เคยเผาหญ้าที่หน้าบ้าน เคยรอดชีวิตจากการถูกข่มขืน เราต้องการคนที่เคยตกหลุมรักและเคยผิดหวัง คนที่เคารพในเรื่องเซ็กส์ คนที่เคยทำผิดพลาดและจำไปเป็นบทเรียน เราต้องการผู้หญิงผิวดำเป็นประธานาธิบดี ต้องการคนธรรมดาที่มีความคิด คนที่เคยกินอาหารที่ไร้รสชาติของโรงพยาบาล คนที่เคยแต่งกายข้ามเพศ เคยใช้ยาเสพติดและเคยเข้ารับการบำบัด เราต้องการคนที่ยอมรับในการแสดงอารยะขัดขืน แต่ทั้งหมดนี้เป็นไปไม่ได้ เราต้องการรู้ว่าทำไมเราจึงสนใจแต่ความสูงส่งของประธานาธิบดี ซึ่งจะเป็นผู้มีเกียรติมากกว่าจะเป็นคนเสเพล ประธานาธิบดีจะเป็นเจ้านายเสมอ เขาจะไม่ใช่แรงงาน เป็นคนโกหกเสมอ เป็นโจรเสมอแต่ไม่เคยถูกจับ

นี่คือเรื่องราวในหนังสือที่ได้รับความนิยมและจะมาอยู่บนโต๊ะทำงานของศาสตราจารย์ทางภาษาอังกฤษ หนังสือที่มีแรงผลักดันมาจากทฤษฎีเควียร์ เป็นการขยายขอบเขตการเมืองของคนกลุ่มน้อยซึ่งได้ตั้งคำถามต่อการสร้างคำอธิบายต่างๆ เป็นการให้ความสนใจต่อช่วงชั้นของการแสดงความเคารพนับถือที่มีอยู่ในโลก สนใจความเหลื่อมซ้อนกันไปมาแต่มีโครงสร้างของอำนาจและความรุนแรงที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจเรื่องชายขอบที่ปราศจากจุดศูนย์กลาง สภาวะชายขอบนี้ค่อนข้างเป็นอุดมคติที่พิศดาร เป็นคุณลักษณะแบบคาดเดาที่อยู่นอกบริบทการเมือง แต่อยู่ในเรื่องแต่งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อตัวเอง

20ปีผ่านไป การเคลื่อนไหวของ Occupy Wall Street movement ที่ประท้วงการโกงกินในบริษัทยักษ์ใหญ่และในรัฐบาล ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลก ในทำนองเดียวกันทฤษฎีเควียร์ที่ถูกใช้ด้วยความตั้งใจอย่างแน่วแน่ ตั้งแต่การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิไปจนถึงปัญหาต่างๆที่มีมาก่อนหน้านั้น ซึ่งเป็นอะไรก็ได้ ทฤษฎีเควียร์ตั้งข้อสงสัยต่อกระบวนการทางเมืองที่มีอำนาจเพื่อจะชี้ว่าการเมืองคือความปลิ้นปล้อน ทฤษฎีเควียร์ได้กลายเป็นเหมือนแสงสว่างของเหตุการณ์ ซึ่งคนจำนวนมากจะรู้สึกว่ามีความสุขมากขึ้นถ้าแสงนี้จะดับลงไป

การเมืองของเควียร์และทฤษฎีเควียร์ที่มีการอ้างถึงครั้งแรก ทำให้เกย์และเลสเบี้ยนหลายคนไม่พอใจ เควียร์ถูกใช้ไปในเชิงบวกเช่นในกลุ่ม The New York Natives หลังจากนั้น ทั้งเกย์และผู้ชายต่างก็เยาะเย้ยทฤษฎีเควียร์ราวกับว่ามันเป็นเรื่องตลกของโลกวิชาการที่เชื่อไม่ได้และน่าละอาย นักเขียนบทละคร แลร์รี เครเมอร์ ซึ่งไม่เคยเข้าใจทฤษฎีเควียร์ ออกมาแสดงความเสียใจว่าเกย์คือเหยื่อของการหลอกลวง เป็นการปล้นที่น่าเศร้า ในความคิดของเครเมอร์เชื่อว่าคนทุกคนต่างก็เป็นเกย์ทั้งนั้นไม่ว่าจะเกิดในยุคสมัยไหน ดังนั้นการศึกษาเกย์ก็ต้องเป็นการเชิดชูเกย์ เจตนารมย์ของทฤษฎีเควียร์ที่จะชี้ให้เห็นความหลากหลายและความซับซ้อนของวัฒนธรรมทางเพศ ในสายตาของเครเมอร์แล้วมันคือการทรยศเกย์และสำนึกของเกย์ในเวลาเดียวกัน

สิ่งหนึ่งที่ถูกรับรองคือทฤษฎีเควียร์ได้แยกตัวออกจากวิชาเลสเบี้ยนและเกย์ศึกษา (วิชานี้ถูกเรียกเช่นนั้นเมื่อมีการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้แยกจากวิชาอื่น) เช่นเดียวกับแยกตัวออกจากการต่อสู้ทางการเมืองของเกย์เลสเบี้ยน (ซึ่งผนวกตัวเองเข้ากับการเมืองกระแสหลักในปี 1992 ที่มีการหาเสียงของบิลล์ คลินตัน)

ด้านที่เป็นวิชาการของทฤษฎีเควียร์เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่หนังสือของฟูโก้เรื่อง History of Sexuality พิมพ์ในภาษาฝรั่งเศสในปี 1976 หนังสือของฟูโก้ไม่ได้ถูกนำไปใช้ในการต่อสู้ทางการเมือง ข้อโต้แย้งในช่วงแรกๆในวิชาเกย์ศึกษามักจะสนใจเรื่องการวิพากษ์ความรู้ทางจิตเวชศาสตร์และการสร้างอัตลักษณ์เกย์ ข้อสังเกตของฟูโก้ชี้ว่าโฮโมเซ็กช่วลในคริสต์ศตวรรษที่ 19 กลายเป็นอัตลักษณ์ของบุคคล ข้อสังเกตนี้เป็นที่โด่งดังในหนังสือของเขา แต่ความท้าทายที่ใหญ่กว่านั้น คือ วิธีการที่ฟูโก้ใช้วิเคราะห์เรื่องเพศ ซึ่งผู้อ่านต้องใช้เวลานานในการทำความเข้าใจ ฟูโก้มิได้เริ่มต้นจากความคิดเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ แต่เริ่มด้วยการสำรวจโครงสร้างที่ควบคุมเรื่องเพศที่สังคมสมัยใหม่ได้สร้างขึ้น ฟูโก้ให้ความสนใจวิธีการที่ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญถูกทำไปสร้างความคงที่ของเพศวิถีในตัวคน และทำให้คนเชื่อในเพศวิถีของตนผ่านการเยียวยาทางจิตเวชและการแสดงความหมาย คำอธิบายของฟูโก้ชี้ว่าเพศวิถีกลายเป็นสิ่งที่มองเห็นได้เหมือนกับเป็นหน่วยๆหนึ่งภายใต้การควบคุม การเยียวยา และการปลดปล่อยในเวลาเดียวกัน ฟูโก้ยังตั้งคำถามใหม่เกี่ยวกับความเกี่ยวโยงกันระหว่างความรู้เรื่องเพศกับรูปแบบที่เรียกว่า “การเหยียดหยามโดยรัฐ” (state racism) เช่นรูปแบบของลัทธิอาณานิคม ถ้าเลวร้ายที่สุดก็เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการทำลายพันธุกรรม การทำสิ่งเหล่านี้จะปรากฎอยู่ในการจัดจำแนกเพศโดยผู้เชี่ยวชาญซึ่งบุคคลจะนำไปปฏิบัติและแยกคนเป็นเพศต่างๆ สิ่งนี้คือกระบวนการสร้างบรรทัดฐานของสังคมสมัยใหม่ และในประวัติศาสตร์จะมีกระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งอารมณ์ปรารถนาของคนจะถูกทำให้มีตัวตนภายใต้จุดประสงค์และกฎเกณฑ์ที่ต่างกัน

การเมืองเรื่องเพศวิถีในสายตาของฟูโก้ มิใช่การศึกษาชนกลุ่มน้อยทางเพศ แต่เป็นการตรวจสอบอย่างวิพากษ์เกี่ยวกับเทคนิคต่างๆที่เกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่ วิชาเลสเบี้ยนและเกย์ศึกษาจึงนำคำอธิบายแนวประกอบสร้างทางสังคมของฟูโก้ไปใช้โดยไม่ยั้งคิด เพื่อชี้ให้เห็นคู่ตรงข้ามระหว่างรักต่างเพศกับรักเพศเดียวกัน แต่ไม่สนใจคำอธิบายอื่นๆของฟูโก้ที่อยู่นอกเหนือเรื่องความเสน่หาในเพศเดียวกัน และมองข้ามความเข้าใจเรื่องเพศวิถีในฐานะเป็นสิ่งที่ไม่คงที่

อีฟ เซดจ์วิค ทำบางสิ่งสำเร็จเช่นเดียวกับงานในช่วงแรกๆของเธอ ในหนังสือของเธอ ปี 1985 เรื่อง Between Men คืองานที่เป็นจุดเริ่มต้น หนังสือนี้อธิบายเรื่องความกลัวโฮโมเซ็กช่วล ซึ่งในวิชาเลสเบี้ยนและเกย์ศึกษามีปัญหาในการทำความเข้าใจเรื่องนี้ อีฟ เซดจ์วิคชี้ว่าการกลัวโฮโมเซ็กช่วลเป็นผลลัพธ์ของการแสดงความเป็นชายในสังคมสมัยใหม่ เธออธิบายว่าวิชาเกย์ศึกษาและเฟมินิสต์ต่างเชื่อในเรื่องชายจริงหญิงแท้ ความเป็นชาย และการกดขี่ข่มเหง เซดจ์วิค วิเคราะห์ในแนวเดียวกับฟูโก้ว่าปัญหาที่แท้จริงก็คือ วิธีการสร้างสังคมของผู้ชายที่มีอำนาจเหนือผู้หญิงและปฏิเสธอารมณ์รักเพศเดียวกัน ทำให้โฮโมเซ็กช่วลเป็นคนที่ล้มเหลวและเป็นอันตราย ทำให้โฮโมเซ็กช่วลปฏิเสธตัวเอง

เซดจ์วิคอธิบายไว้ในย่อหน้าแรกในหนังสือของเธอ Epistemology of the Closet ในปี 1990 ว่าความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมสมัยใหม่ของตะวันตกจะต้องเห็นความไม่สมบูรณ์ และผลร้ายที่ดำรงอยู่ในวัฒนธรรมนั้น ซึ่งมิใช่การวิเคราะห์ความหมายของรักต่างเพศและรักเพศเดียวกัน ทฤษฎีเควียร์พยายามที่จะวิพากษ์วิธีการจัดกลุ่มดังกล่าวนี้ โดยการชี้ให้เห็นว่าขอบเขตของเพศวิถีตามที่สังคมกำหนดเป็นสิ่งที่ไร้ระเบียบ ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ เช่น กระบวนการทำให้เป็นเชื้อชาติ พลวัตของประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่ถูกตะวันตกครอบครองหรือพ้นจากการครอบครอง กระบวนการสร้างความเป็นธรรมชาติให้กับเพศ และอื่นๆ

คำถามสุดท้ายถูกอธิบายโดยจูดิธ บัตเลอร์ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเรียกเควียร์ว่าทฤษฎี ในหนังสือของบัตเลอร์ Gender Trouble ปี 1990 เป็นหนังสือที่โด่งดัง(แต่มักจะอ่านกันแบบเข้าใจผิดๆ) บัตเลอร์พูดถึงปฏิบัติเชิงการแสดงของเพศภาวะ ประเด็นนี้สร้างผลกระทบในเชิงลึกต่อการเปลี่ยนมุมมองเรื่องเพศ บัตเลอร์ไม่ได้เริ่มอธิบายด้วยเพศเชิงชีววิทยา แต่เธอชักชวนให้เราวิเคราะห์กรอบความคิดที่สังคมกำหนด ซึ่งทำให้เพศภาวะและเพศวิถีถูกสถาปนาและถูกตอกเสาเข็ม บัตเลอร์นำความคิดของปรากฎการณ์วิทยาและทฤษฎีปฏิบัติการของปิแอร์ บูร์ดิเยอมาใช้ร่วมกับแนวคิดเฟมินิสต์ บัตเลอร์ชี้ให้เห็นปัญหาพื้นฐานที่ยังคงถูกมองข้ามในการศึกษาทางปรัชญาและสังคมศาสตร์ คำอธิบายเกี่ยวกับบรรทัดฐานต่างๆส่วนใหญ่จะมองว่าตัวคนจะแสดงออกตามความเชื่อหรืออารมณ์ปรารถนา และสะท้อนสิ่งที่ตัวเองเชื่อและปรารถนาออกมา บัตเลอร์ชี้ให้เห็นวิธีการที่ตัวเรารู้จักตัวเองตามบรรทัดฐานที่ถูกกำหนดไว้แล้ว เช่น เรามีเพศภาวะติดตัวมาและคนอื่นก็จะมองเห็นได้ บัตเลอร์บอกว่าปัญหาก็คือเรื่องแต่งเกี่ยวกับการเป็นรักต่างเพศ เรื่องแต่งนี้อำพรางตัวเองอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่จะคอยควบคุมพฤติกรรมและอารมณ์ทางเพศซึ่งกฎนี้จะถูกเล่าออกมา

การวิเคราะห์ของบัตเลอร์ทำให้เห็นปัญหาใหม่ ตัวอย่างเช่น ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับ “การปฏิเสธบรรทัดฐาน” (antinormativity) ที่มีอยู่ในทฤษฎีเควียร์ (การเป็นเพศที่แปลกแยกจะเชื่อในสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับบรรทัดฐานทุกอย่างใช่หรือไม่ และในประสบการณ์ทางเพศจะมีสิ่งที่เรียกว่าการต่อต้านสังคมอยู่หรือไม่) แต่คำอธิบายของบัตเลอร์ก็ทำให้เกิดคำศัพท์ที่จะใช้ในการวิเคราะห์ซึ่งหาไม่ค่อยเจอในทฤษฎีเควียร์

ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น พลังทางความคิดที่ยิ่งใหญ่ของสิ่งที่กลายเป็นทฤษฎีเควียร์ได้ฉายภาพที่กว้างไกลกว่าวิชาเกย์และเลสเบี้ยนศึกษา ผลลัพธ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นคือความสำเร็จของการเคลื่อนไหวซึ่งการศึกษาเชิงวิพากษ์ได้ถูกนำไปใช้หรือนำไปปรับใช้โดยนักวิชาการที่มีแนวคิดที่แตกต่างหลากหลาย เช่น การศึกษาคนข้ามเพศ การศึกษาแนวหลังอาณานิคม และการศึกษาเชิงเชื้อชาติ การศึกษาเหล่านี้ดำเนินไปพร้อมกับการศึกษาด้วยทฤษฎีเควียร์ซึ่งแยกตัวออกจากการเรียกร้องสิทธิทางการเมือง และการศึกษาเหล่านี้มักจะใช้ทฤษฎีเควียร์อย่างหลวมๆ ดังนั้น ทฤษฎีเควียร์จึงถูกมองว่าเป็นของที่ตกยุค

ตัวอย่างที่ดีของความไม่แน่นอนในตัวทฤษฎีเควียร์ ได้แก่หนังสือ Terrorist Assemblages ของจัสเบียร์ ปูอาร์ ปี 2007 ปูอาร์ได้ท้าทายชัยชนะของการสร้างคู่ปฏิปักษ์ โดยใช้ความคิดเรื่องเควียร์ไปวิเคราะห์ระบบเสรีนิยม ระบบเสรีนิยมใหม่ และระบบข้อยกเว้นพิเศษ ปูอาร์ชี้ว่าถ้าอัตลักษณ์เป็นสิ่งที่มีปัญหา บุคคลก็จะมองว่าสำนึกแห่งตัวตนที่มีอยู่นั้นถูกบ่งการจากอำนาจแห่งบรรทัดฐาน และบุคคลก็พร้อมจะเปลี่ยนตัวเอง ต่อต้านตัวเอง และละเมิดความเป็นตัวเอง คำอธิบายนี้ มีแนวทางของตัวเอง แต่มันก็ยังผลิตซ้ำปัญหาเก่าที่มีอยู่ในงานของบัตเลอร์ในยุคแรกๆ ในขณะที่ปูอาร์ต้องการใช้ทฤษฎีเควียร์ด้วยความคิดแบบเสรีนิยม เธอก็ยังวิเคราะห์ด้วยคำศัพท์ที่มาจากทฤษฎีเควียร์เพียงอย่างเดียว ถึงแม้จะวิพากษ์ทฤษฎีเควียร์ หนังสือของปูอาร์ก็คือตัวอย่างของการศึกษาที่สำคัญที่ทฤษฎีเควียร์ถูกนำไปใช้ภายใต้กฎระเบียบหรือปราศจากกฎระเบียบ หนังสือของปูอาร์กลายเป็นหนังสือที่ใช้อ่านในหลักสูตรเกี่ยวกับทฤษฎีเควียร์ในปัจจุบัน

ทฤษฎีเควียร์ในความหมายกว้างในปัจจุบันนี้แตกสาขาออกไปมากมาย และพัฒนาเป็นหลักสูตรเฉพาะในสาขาวิชาต่างๆ ซึ่งล้วนสวนทางกับความเป็นเอกภาพ ความแตกต่างมักจะนำไปสู่ความทุกข์ บางครั้งมีการเปรียบเทียบว่าใครเป็นเควียร์มากกว่ากันซึ่งเป็นสัญญาณที่ชี้ว่าทฤษฎีเควียร์ไม่มีแหล่งกำเนิดหรือความชัดเจน ตัวอย่างเช่นในหนังสือเรื่อง What’s Queer About Queer Studies Now? ความสงสัยในทฤษฎีเควียร์ที่มีต่อการหาความบริสุทธิ์ของเควียร์ เช่น มีการเปรียบเปรยว่านักทฤษฎีเควียร์สามารถบอกว่าตัวเองเป็นเควียร์ที่แท้จริงเพื่อที่จะล้มล้างคนอื่น ตัวอย่างเช่น การประชุมเรื่อง Gay Shame ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนแห่งแอนน์ อาร์เบอร์ในปี 2003 มีการถกเถียงเกี่ยวกับคุณลักษณะของเพศวิถีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเกย์และเลสเบี้ยน ซึ่งเทศกาลเกย์ไพรด์พยายามต่อต้านการประชุมนี้ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่ามีความอับอายร่วมกันไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการหรือนักเคลื่อนไหว ทุกคนต่างไม่เข้าใจเควียร์

ความขาดแคลนในแห่งอ้างอิงที่จะหล่อเลี้ยงสิ่งที่กำลังดำเนินไปนั้น เป็นผลมาจากโครงสร้างของมหาวิทยาลัย ในหลายๆสถาบัน ทฤษฎีเควียร์ถูกทำให้เป็นสาขาย่อยของภาควิชาเกย์เลสเบี้ยนศึกษา บางหลักสูตร เช่น ชาติพันธุ์วรรณาแบบเควียร์ จะเติบโตมากกว่าหลักสูตรอื่นๆ สิ่งที่เกิดขึ้นกับทฤษฎีเควียร์คือการแบ่งแยกสาขา ผลที่ตามมาก็คือทฤษฎีเควียร์ถูกนำไปวิเคราะห์เรื่องความเป็นปกติ ซึ่งกลายเป็นประเด็นหลักต่อการวิพากษ์ปรัชญาและสังคมศาสตร์ ซึ่งไม่เคยสนใจเรื่องความเป็นปกติ หรือนำทฤษฎีเควียร์ไปศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเพศวิถีกับความเป็นสามัญที่นำไปสู่ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโลก ประเด็นเหล่านี้ยังไม่มีการศึกษามากนัก ดังนั้น การมองว่าทฤษฎีเควียร์คือสิ่งที่ตกยุคจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด นับตั้งแต่ที่หนังสือ After Sex ทำให้เราเชื่อเช่นนั้น

สิ่งที่ดีของทฤษฎีเควียร์อาจจะไม่ใช่เรื่องที่กล่าวมา แต่อาจเป็นบางสิ่งที่ถูกละทิ้งและหายไปจากประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหวของความรู้แบบบริสุทธิ์ เช่นการบอกว่า “ฉันต้องการประธานาธิบดีที่เป็นหญิงรักหญิง” สิ่งนี้ทำให้เกิดพื้นที่ทางสังคม คนที่มีเพศวิถีนอกกรอบทุกรูปแบบ ทั้งที่อยู่ในและนอกวงวิชาการ ยังคงหาทางเดินของตัวเอง และมองเห็นคนอื่นๆออกเดินทางไปด้วย พวกเขาต่างมีการต่อต้านสังคมเหมือนๆกัน ในสังคมที่มีขอบเขตจำกัดนี้ การจินตนาการเกี่ยวกับเพศวิถียังเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่แม้ว่ามันจะถูกบ่งการโดยการต่อสู้กระแสหลักของเกย์และเลสเบี้ยนก็ตาม แต่การต่อสู้ของเกย์เลสเบี้ยนนั้นกำลังลดทอนเป้าหมายให้เหลือแค่สิทธิการแต่งงานและการทำงานในกองทัพ และดูเหมือนจะติดกับอยู่ในอุดมการณ์ชาตินิยมและรัฐชาติ สิ่งนี้ทำให้เกย์ต้องแสดงตัวเองว่ามีศักดิ์ศรีเพราะเกย์ก็เป็นพลเมืองอเมริกันเหมือนกัน และทำให้เกย์ลืมหรือไม่ยอมรับความห่างเหินที่เกย์มีเหมือนกับกลุ่มคนชายขอบและคนพลัดถิ่นทั้งหลาย

ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากตัวทฤษฎี แต่มาจากพื้นที่ของความเป็นเจ้าของและสนทนา ซึ่งทฤษฎีจะปะทะสังสรรค์กับแบบแผนการดำเนินชีวิต ความมีชีวิตทางสังคมส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในหน้าหนังสือ และมันจะยังอยู่ที่นั่นเสมอเมื่อเราเริ่มเขียนถึงมัน 

อาจจะเป็นสิ่งแปลกประหลาดสักหน่อยในสายตาของสื่อกระแสหลักที่จะบอกว่าทฤษฎีเควียร์คืองานวิชาการที่ยาก ทั้งบัตเลอร์และเซดจ์วิคต่างก็ถูกหลบลู่โดยคนที่เชื่อในความเป็นรูปธรรมจับต้องได้ เรามักพูดเสมอว่าทฤษฎีเควียร์ไม่มีความชัดเจน แต่ความชัดเจนกับการเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้นั้นต่างกัน การโจมตีเรื่องความยากของทฤษฎีเควียร์มักจะหมายถึงการยืนยันในความเชื่อเดิมๆที่มองว่าทฤษฎีเควียร์เป็นแค่การต่อต้าน เรื่องที่ยากที่สุดก็คือการทำให้เราจริงจังกับการที่จะไม่ปิดกั้นคนอื่น

ลองนึกถึงความคับข้องใจของเซดจ์วิคในการเขียนที่เต็มไปด้วยเงื่อนปมที่ซับซ้อน หรือความสามารถของเบอร์แลนท์ที่ทำงานท่ามกลางนักวิชาการกระแสหลักเพื่อที่จะสร้างความรู้ที่มีทั้งชีวิตชีวาและความน่าฉงน (การข้ามพ้นมักจะเป็นคำที่คนใช้เมื่อพวกเขาต้องการเป็นอิสระ) หรือคำกล่าวของเบอร์ซานี่ในบทความ Is the Rectum a Grave? เขากล่าวว่ามีความลับที่ยิ่งใหญ่เกี่ยวกับเซ็กส์ นั่นคือคนส่วนใหญ่ไม่ชอบมัน
ในการศึกษาของเบอร์ซานี่เกี่ยวกับเซ็กส์ คนที่หมองเศร้า และคนที่ไม่อยากพูดถึงเรื่องเหล่านี้ บางทีเบอร์ซานี่อาจจะมองเห็นว่าเมื่อทฤษฎีเควียร์ไม่ใช่สิ่งที่เขากำลังทำอยู่ นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมผู้คนจึงอยากเรียกว่าพ้นยุคเควียร์ไปแล้ว

แปลและเรียบเรียงโดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ จาก Michael Warner. 2012. Queer and Then. Retrieved from http://chronicle.com/article/QueerThen-/130161/

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share