ความเป็นชายของเกย์คืออะไร ?

 |  Gender and Queer Anthropology
ผู้เข้าชม : 3042

ความเป็นชายของเกย์คืออะไร ?

แปลและเรียบเรียงโดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ จาก Peter M. Nardi (2000) Gay Masculinities. London, Sage Publications

ในบางครั้ง ภาพลักษณ์เกย์ในสื่อ จะเป็นภาพของคนที่ออกสาวหรือเป็นเลสเบี้ยน ในขณะที่ความเป็นชายก็ยังคงมีอยู่ สื่อได้นำเสนอความสับสนเกี่ยวกับเพศภาวะและเพศวิถี และทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการสร้างทางสังคมและธรรมชาติของความเป็นชายและความเป็นหญิง ถึงแม้ว่าการผสมกันระหว่างเพศภาวะและเพศวิถีจะมีมาตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 แล้ว แต่ทุกวันนี้มันก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม ต่อไปนี้เราจะทำความเข้าใจว่าเกย์ยุคปัจจุบันในสหรัฐอเมริกามีชีวิตที่ยุ่งเกี่ยวกับการแข่งขันช่วงชิง การผลิต และการดัดแปลงความเป็นชายแบบกระแสชี้นำอย่างไรบ้าง

เกย์มีวิธีการที่หลากหลายในการ “แสดง” ความเป็นชาย ซึ่งสามารถเข้าใจได้จากลักษณะของความเป็นชายที่หลากหลาย บางลักษณะก็แสดงออกด้วยภาพตัวแทนที่ชัดเจนของความเป็นชาย ที่อาศัยการเพาะกายและความกล้าหาญ บางลักษณะก็แสดงออกโดยการเลียนแบบผู้หญิง ความเป็นชายหลายแบบอาศัยกันผสมผสานระหว่างชายตามจารีตประเพณีกับชายที่มีอารมณ์อ่อนไหว ซึ่งเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเกย์ เมื่อเกย์อยู่กับเพื่อนและคนรัก เมื่อออกกำลังในโรงยิม หรือเผชิญหน้ากับการกดขี่ทางชนชั้นและอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์

ความเป็นชายในมิติทางประวัติศาสตร์

ความไม่แนชัดของเพศภาวะและเพศวิถีที่มีอยู่ในวัฒนธรรมประชานิยมและการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ได้ตอกย้ำทฤษฎีเกี่ยวกับการสลับขั้วทางเพศของโฮโมเซ็กช่วล ซึ่งปรากฎขึ้นในวาทกรรมทางการแพทย์ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในสมัยวิคตอเรียน ไม่ค่อยมีความแตกต่างกันระหว่างแนวคิดทางวัฒนธรรมและทางชีววิทยาของเพศภาวะของความเป็นหญิงและความเป็นชาย ในช่วงเวลาที่กิจกรรมต่างๆของผู้ชายและผู้หญิงยังคงแยกกันอย่างชัดเจน และมีการสร้างคำอธิบายทางการแพทย์ว่าผู้ชายคือฝ่ายกระทำและผู้หญิงคือฝ่ายถูกกระทำ สิ่งนี้ทำให้เกิดแนวคิดเรื่อง “ความผิดปกติทางเพศ” ซึ่งใช้อธิบายบุคคลที่ต้องการเป็นเพศตรงข้าม และมีอารมณ์แบบเพศตรงข้าม คิมเมล(1996) เคยอธิบายว่าเมื่อความเป็นชายเริ่มกลายเป็นการปฏิบัติและเป็นสิ่งจำเป็นต่อการแสดงตัวในที่สาธารณะ ความเป็นชายก็ยิ่งเข้มงวดมากขึ้น การมองว่าเป็นชายแท้ ทำให้บุคคลจะต้องระมัดระวังในการแสดงออกถึงการเป็นชายที่แท้จริง

เมื่อมีแนวคิดเรื่องรักต่างเพศและรักเพศเดียวกันเกิดขึ้นซึ่งกลายเป็นแนวคิดที่โยงไปถึงความเป็นปกติและผิดปกติ กระบวนการทำให้เป็นการแพทย์ของบุคคลที่รู้จักในนาม “การสับเปลี่ยนตั้งแต่กำเนิด” ก็เริ่มปรากฎ บางทีคำอธิบายนี้ทำให้เห็นตัวอย่างแรกๆของการสร้างอัตลักษณ์และหมวดหมู่แห่งตัวตนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติทางเพศ แต่การอธิบายเรื่องอัตลักษณ์สลับแบบนี้ถูกมองว่าคือพฤติกรรมที่เหมือนหญิงในผู้ชาย และพฤติกรรมเหมือนชายในผู้หญิง ทั้งสองพฤติกรรมนี้ถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ท้าทายความเป็นหญิงและความเป็นชายแบบจารีตประเพณี แคทซ์(1983) เคยอธิบายว่าภาพการ์ตูนและบัตรอวยพรของอเมริกาในช่วงทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 จะเป็นภาพเชิงลบของผู้หญิงที่ดูเหมือนชายที่สวมเสื้อโค้ต ใส่เสื้อเชิ้ตผูกเน็คไท และภาพเชิงลบของผู้ชายที่เหมือนหญิงที่จีบไม้จีบมือ หวงรูปร่างหน้าตาและทำงานเป็นเสมียนหญิงในร้านค้า

ผู้ชายที่เหมือนหญิงดังกล่าวยังสนใจผู้ชายที่ดูสมชายที่ปรากฎอยู่ในภาพวาด การ์ตูน เรื่องขำขัน เรื่องชวนสยิวทางเพศ เช่นเป็นกลาสีเรือหรือเป็นคนงานก่อสร้าง ภาพของชายที่ดูสมชายยังเข้าไปเกี่ยวข้องกับเซ็กส์ระหว่างผู้ชายด้วย สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่เฉพาะชายที่ดูเหมือนหญิงที่จะถูกมองว่าเป็นคนสลับเพศ การจัดจำแนกประเภทในช่วงทศวรรษ 1920 และ 1930 ที่ใช้อธิบายผู้ชายที่มีเซ็กส์กับผู้ชายไม่สามารถตัดสินได้แบบตรงไปตรงมา คำว่า “เกย์” อาจใช้อธิบายได้ทั้งผู้ชายที่ดูสมชายและผู้ชายที่เหมือนหญิงซึ่งต่างก็สนใจในเพศชายเหมือนกัน

ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง สถานะทางเพศภาวะจะมีคำเรียกที่บ่งบอกความแตกต่างของผู้ชายที่เป็นโฮโมเซ็กช่วล เช่น คำว่า “แฟรี” (หรือ ควีน, แฟ็คก็อต, แนนซ์, แพนซี) คือผู้ชายที่ดูเหมือนหญิง คำว่า “เควียร์” คือผู้ชายที่มีอารมณ์รักเพศเดียวกันแต่จะไม่เหมือนกับผู้หญิงที่ชอบผู้ชาย (หลายคนปฏิเสธที่จะถูกตีตราว่าเป็นชายที่เหมือนหญิง) คำว่า “เทรด” คือผู้ชายรักต่างเพศที่มีความสัมพันธ์กับคนที่เป็นแฟรีหรือเควียร์ สำหรับคนที่เป็นแฟรีและเควียร์ทั้งหลาย ชายที่ดูเป็นแมนจะเป็นคนในอุดมอคติของเขา เช่นผู้ชายที่เป็นทหาร เป็นกลาสี หรือคนงานก่อสร้าง ชอนซีย์(1994) อธิบายว่าสถานะทางเพศภาวะ (gender status) คือแนวคิดสำคัญของเพศวิถีแบบโฮโมเซ็กช่วล

ชอนซีย์กล่าวว่าความเป็นหญิงที่ใช้นิยามคนที่เป็นแฟรีในวัฒนธรรมกระแสหลักทำให้ผู้ชายที่เป็น “เทรด” สามารถมีเซ็กส์กับคนที่เป็นเควียร์และแฟรีได้โดยปราศจากการถูกตีตราว่าเขาเป็นเควียร์ ตราบเท่าที่ผู้ชายเหล่านี้ยังคงรักษาบทบาทและพฤติกรรมแบบชายเอาไว้

สำหรับผู้ชายหลายคนที่นิยามตัวเองจากความเสน่หาที่มีต่อชายอื่น จะมองว่าตนเองไม่ใช่ผู้ชายที่เหมือนหญิง คำว่า “เกย์” ที่ปรากฎในช่วงทศวรรษ 1930 และ 1940 จึงเป็นคำเรียกสำหรับผู้ชายที่ชอบผู้ชาย แต่คำนี้ก็ใช้เรียกผู้ชายที่เคยมีประสบการณ์ทางเพศกับผู้ชายด้วยกันด้วย ที่เป็นเช่นั้นเพราะต้องการทำลายการจัดแบ่งประเภท “เทรด” ออกไปในช่วงทศวรรษ 1960 และสร้างคำนิยามใหม่แทน คือ “ชายแท้” (straight) เพื่อใช้เรียกผู้ชายที่ไม่มีการยุ่งเกี่ยวทางเพศกับผู้ชาย ชอนซีย์กล่าวว่าเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ชายที่คิดว่าตนเองเป็น “ชายแท้” ถ้าพวกเขายังคงเกี่ยวข้องทางเพศกับชายอื่น ไม่ว่าเขาจะระมัดระวังตัวในการแสดงพฤติกรรมให้สมชาย หรือสร้างรูปแบบความสัมพันธ์กับคนต่างเพศ และระหว่างผู้ชายที่เป็นแมนกับแฟรีที่เหมือนหญิง

ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงในการจัดจำแนกหมวดหมู่ทางเพศนี้จะบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงจากวัฒนธรรมที่ผูกติดกับเพศภาวะ ไปสู่วัฒนธรรมที่วางอยู่บนเพศวิถีและการมีทางเลือก แต่ความไม่ชัดเจนของเพศภาวะและเพศวิถีที่มีอยู่ในวัฒนธรรมกระแสหลักก็ยังคงมีอยู่ ในสมมุติฐานการวิจัยของนักชีววิทยาหลายครั้งยังคงมองหาความคล้ายกันระหว่างสมองของเกย์และสมองของผู้หญิง การศึกษาทางจิตวิทยาเกี่ยวกับเพศภาวะที่แปลกแยกของเด็กชายที่เหมือนหญิง หรือ sissy boys ก็มีเพิ่มมากขึ้น ส่วนในชุมชนเกย์หลายแห่ง ภาพตัวแทนแบบเกย์แมนก็ทำให้เกิดการดูหมิ่นและเบียดขับเกย์ที่เหมือนหญิงออกไปมากขึ้นด้วย
ตัวอย่างในทศวรรษ 1960 จอห์น รีชี(1963) เขียนนิยายเรื่อง City of Night พรรณนาถึงบาร์ในบริเวณฮอลลีวู้ด บูเลอวาร์ด

“ในหมู่ลูกค้าของบาร์จะมีชายหนุ่มรูปงามที่ดูเป็นแมน รวมอยู่กับผู้ชายอ้อนแอ้นยืนอยู่ข้างๆเหมือนสตรีที่อ่อนแรง พวกเธอมักจะเลียนแบบท่าทางของดาราหญิง แต่จะไม่ใช่นางโชว์ที่พบเห็นในย่านโลกีย์ของลอสแองเจลีส”

วันที่ 26 มิถุนายน ปี 1964 นิตยสารไลฟ์ นำเสนอบทความสำคัญเรื่องโฮโมเซ็กช่วลในอเมริกา เล่าถึงบาร์ในซานฟรานซิสโก ที่ที่ผู้ชายจะสวมเสื้อแจ็คเก็ตหนัง แสดงออกถึงความเป็นชายและรังเกียจผู้ชายที่ดูเหมือนหญิง ตรงข้ามกับบาร์ราคาถูก ซึ่งจะพบเห็นผู้ชายที่เหมือนหญิงที่เรียกตัวเองว่า “ควีนส์” ที่แต่งหน้าทาปาก ทาเล็บ เขียนคิ้ว ทำผมเป็นสีส้ม เรื่องราวของชายหนุ่มในชุดขนนกแตกต่างจากลูกค้าในบาร์เซ็กส์แบบซาดิส ซึ่งแสดงออกแบบชายอย่างคลั่งไคล้ เจ้าของบาร์ชุดหนังแขวนภาพสัญลักษณ์ที่มีคำพูดว่า “ถอดรองเท้าผ้าใบ” บ่งบอกให้รู้ว่ารองเท้าผ้าใบเป็นที่นิยมของโฮโมเซ็กช่วลที่ดูเหมือนหญิง และมีประโยคที่พูดได้อย่างภูมิใจว่า “นี่คือโฮโมเซ็กช่วลที่ต่อต้านความเป็นหญิง เราไม่ต้อนรับคนที่มีจริตมากเกินไป ถ้าคนใดต้องการเป็นโฮโมเซ็กช่วล ทำไมต้องแสดงท่าทางเหมือนผู้หญิง”

ภาพตัวแทนของเกย์ที่ดูเหมือนหญิงเป็นที่รับรู้โดยทั่วไป แม้แต่คู่มือการฝึกตำรวจของลอสแองเจลีสตั้งแต่ปี 1965 ก็มีการกล่าวถึงนายตำรวจที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม โดยอธิบายว่า “โฮโมเซ็กช่วลที่มีรูปร่างเหมือนหญิงมีน้อย แม้ว่า โฮโมเซ็กช่วลจะแยกไม่ค่อยออกกับคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม ท่าทางที่ดูเหมือนชาร์ลส์ แอตลาส หรือมารีลีน มอนโร ก็เป็นตัวบ่งชี้ได้ชัดเจน” เกือบ 100 ปี หลังจากมีการสร้างแนวคิดการสลับเพศและชายที่เป็นโฮโมเซ็กช่วลที่เหมือนหญิง ระบบการจัดหมวดหมู่เพศวิถีของคนรักเพศเดียวกันโดยใช้เพศภาวะเป็นเกณฑ์ก็ยังมีอยู่ทั้งในสังคมภายนอกและสังคมของเกย์เอง

ความเป็นชายในปัจจุบัน

ลายปีหลังจากการเกิดขึ้นของขบวนการเคลื่อนไหวของเกย์ยุคใหม่ ภาษาเกี่ยวกับเพศภาวะในองค์กรและชุมชนเกย์หลายแห่งก็ยังคงบ่งชี้ถึงคู่ตรงข้ามและมีการตั้งคำถามต่อบทบาทของผู้ชายที่เหมือนหญิง ทั้ง “แดร็กควีน” และ “แฟรี” ซึ่งปรากฎอยู่ในสื่อและยุทธศาสตร์ทางการเมือง การตำหนิที่มองว่าเกย์ที่แสดงออกเหมือนหญิงทำให้การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมสำหรับเกย์พุพังลงไปมักจะเกิดขึ้นในกลุ่มผู้นำเกย์หัวอนุรักษ์นิยมทั้งหลาย จากการเปลี่ยนแปลงความเป็นชายของเกย์จากการเป็น “ชายที่ล้มเหลว” หรือ ตุ้งติง ไปสู่การเป็นชายแบบเกินชาย กลายเป็นการแบ่งแยกที่ชัดเจนระหว่างเกย์ที่เหมือนหญิงและเกย์ที่เหมือนชายมากขึ้น แฮร์ริส(1997) อธิบายว่าขบวนการเสรีภาพของเกย์ทำให้เกิดปัญหาใหม่ในภาพลักษณ์ตัวตนของเกย์ ซึ่งเกิดจากการแบ่งแยกระหว่างความเป็นหญิงและความเป็นชาย

แฮร์ริสกล่าวว่าการทำให้ตัวเองเป็นเหมือนภาพลักษณ์อุดมคติของความเป็นชายแบบอเมริกัน โดยแสดงตัวเป็นโคบาลที่ชอบการดวลปืนหรือเป็นคนสวมชุดหนัง ทำให้โฮโมเซ็กช่วลรู้สึกโล่งใจจากความรู้สึกถึงการเป็นชายที่ล้มเหลวเมื่อเทียบกับชายรักต่างเพศ ซึ่งความมั่นใจทางเพศของพวกเขามีไว้สำหรับยืนยันอำนาจของผู้ชาย เมื่อเราเริ่มรักษาอาการป่วยทางร่างกายของเกย์โดยการแสวงหาการแสดงออกแบบผู้ชายแบบใหม่ การปลดปล่อยตัวเราจากความเชื่อที่ว่าความเป็นชายแบบรักต่างเพศเป็นสิ่งที่ดีที่สุดก็จะสำเร็จไม่ได้ ในความเป็นจริง เรากำลังกลายเป็นศัตรูที่ร้ายที่สุดของตัวเรา นั่นคือ การดูหมิ่นเหยียดหยามต่อการแสดงออกแบบหญิง

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากผู้ชายที่เหมือนหญิงและแดร็กควีน ผู้ซึ่งเป็นคนที่ถูกต่อต้านจากผู้ชายที่ต้องการเป็นชายเต็มที่เริ่มกลายเป็นภาพลักษณ์ที่มีสิทธิพิเศษตั้งแต่เมื่อไหร่ การเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งเริ่มเห็นในช่วงทศวรรษ 1970 ภาพลักษณ์ที่มีมาก่อนการเป็นชายที่เกินชายในยุคสโตนวอลล์ ซึ่งพบในบาร์เกย์ ภาพลักษณ์นั่นคือ เกย์ชุดหนัง และนิตยสารแนวออกกำลังเพื่อเกย์ นิตยสารเพาะกายหลายเล่มเกิดขึ้นในทศวรรษ 1940 แต่ในปี 1971 ก็มีการถกเถียงเกี่ยวกับบทบาทของเพศภาวะที่เปลี่ยนไป ลาวด์ ฮัมฟรีย์(1971) เคยเขียนเกี่ยวกับ “การทำให้สมชาย” ของโฮโมเซ็กช่วล และขบวนการเคลื่อนไหวที่ถอยห่างจากภาพลักษณ์เกย์ในหนัง Boys in the Band ซึ่งแสดงออกด้วยจริตและเสียงแหลม ฮัมฟรีย์ทำให้เราเห็นว่าความเป็นชายแบบใหม่ของโฮโมเซ็กช่วลมิใช่ความเป็นชายที่เกินปกติแบบนักกล้ามหรือนักขับมอเตอร์ไซต์ ภาพลักษณ์ชายที่เกินปกตินี้มักจะเป็นการล้อเลียนคนที่เป็นรักต่างเพศของเกย์รุ่นเก่า แต่ความเป็นชายแบบใหม่คือการเป็นหนุ่มวัยใสที่เปลือยอกและมีเหงื่อ ไว้ผมยาว ไว้หนวด และสวมกางเกงรัดรูป ความเห็นของฮัมฟรีย์อาจจะมาเร็วเกินไป

ไม่กี่ปีต่อมา ภาพลักษณ์เกย์แบบชายชาตรีก็ปรากฎในนาม “โคลน” ซึ่งเกย์ในเมืองจะเน้นเรื่องความเป็นชาย มาร์ติน เลอไวน์(1998) ทำการศึกษาเกี่ยวกับภาพลักษณ์เกย์โคลนที่กรีนวิช วิลเลจในช่วงปลายทศวรรษ 1970 อธิบายถึงเกย์เหล่านี้ว่าเป็นผู้ชายที่เป็นชายมากที่สุดเพราะเล่นเพาะกาย สวมเสื้อยืด ไว้ผมสั้น ไว้หนวด และบางครั้งก็ไว้เครา เกย์เหล่านี้จะแสดงตัวเหมือนผู้ชาย นักต่อสู้หลายคนหันหลังให้กับภาพลักษณ์แบบ Boys in the Band และหันไปสู่ภาพลักษณ์แบบมาร์ลโบโรแมนที่ดึงดูดทางเพศ พร้อมกับการมาถึงวงดนตรีแนวดิสโก้วิลเลจพีเพิลและเพลงที่ชื่อ macho man ภาพลักษณ์เกย์โคลนที่เป็นชายก็กลายเป็นภาพตัวแทนของวัฒนธรรมประชานิยม

เกย์บางคนไม่ได้นำภาพลักษณ์คู่ตรงข้ามระหว่างความเป็นชายและความเป็นหญิงมาปฏิบัติ แต่พยายามประนีประนอมกับความเป็นชายหลายๆแบบซึ่งมีอยู่ในปัจเจกและในกลุ่มคน ถึงแม้จะปฏิเสธการเป็นชายที่มากเกินชายและความเป็นหญิง อาร์ ดับบิว คอนแนลล์(1992) เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่าเกย์หลายคนก็ทำตัวให้เหมือน “เกย์ที่เป็นผู้ชาย” โดยการรับเอาความเป็นชายที่สังคมชี้นำและความเป็นชายแบบเกย์มาใช้ในชีวิตประจำวัน ในการยุ่งเกี่ยวกับเซ็กส์กับชายคนอื่น เกย์ได้ท้าทายนิยามเกี่ยวกับความเป็นชายแบบปิตาธิปไตย การชี้นำของความเป็นชายแบบรักต่างเพศจะถูกโค่นล้ม และในเวลาเดียวกัน เกย์ก็จะสร้างรูปแบบความเป็นชายอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะพึ่งพาอาศัยมากกว่าจะเป็นลำดับชั้น เกย์บางคนมีกิจกรรมทางเพศพร้อมกับการแสดงทางอารมณ์ห่วงใยต่อเพื่อน คือตัวอย่างของการผสมผสานระหว่างความเป็นชายแบบเกย์และแบบที่สังคมชี้นำ

คอนแนลล์(1992) อธิบายว่าเกย์มักจะมองหาผู้ชายที่มีความเป็นชาย เกย์ไม่มีอิสระที่จะสร้างวัตถุแห่งความปรารถนาแบบใหม่มากไปกว่าชายรักต่างเพศ ตัวเลือกของเกย์ถูกจัดระเบียบอยู่ภายใต้ระบบเพศภาวะที่มีอยู่ คอนแนลล์วิเคราะห์ความต้องการทางเพศของเกย์ที่มีต่อผู้ชายที่เป็นแมน ซึ่งมีการแสดงออกแบบชาย มีการเน้นความสัมพันธ์แบบคู่รัก และการไม่ยุ่งเกี่ยวกับลัทธิสตรีนิยม สิ่งเหล่านี้คือตัวบ่งชี้ถึงการมีอยู่ของระเบียบแห่งเพศภาวะ การเป็นเกย์แบบผู้ชายคือสิ่งที่ขัดแย้งในระบบเพศภาวะ แต่ความซับซ้อนของความเป็นชายจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมที่ยึดอยู่กับเพศภาวะ

ความเป็นชายของเกย์

เมื่อไม่นานมานี้ การพูดถึง “ความเป็นชาย” มีความสำคัญในเชิงทฤษฎีมากกว่าจะเป็นแค่คำบอกถึงความเป็นชาย ทั้งนี้ต้องขอบคุณแนวคิดโพสต์มอเดิร์น ความหลากหลายและความแตกต่างได้รับความสนใจและมีความสำคัญเหนือแนวคิดที่เป็นเอกภาพตายตัว เราไม่สามารถตัดสินเพศภาวะจากความเป็นหญิงหรือความเป็นชายได้อย่างทื่อๆ สิ่งที่ตามมาก็คือ เราจะเข้าใจผู้คนในมิติของความหลากหลายที่พวกเขาสร้างความเป็นชายและความเป็นหญิงและมองเห็นรูปแบบที่ซับซ้อนของการแสดงออกถึงสิ่งเหล่านี้

ในที่นี้เราจะศึกษาว่าเกย์ที่แสดงความเป็นชายเกิดขึ้นได้อย่างไร จากสมมุติฐานที่ว่าเกย์แสดงความเป็นชายต่างไปจากผู้ชายรักต่างเพศ ได้ชี้ให้เห็นความหลากหลายของความเป็นชาย การที่เรามองว่าเกย์ทุกคนต่างต่อสู้แข่งขัน ไกล่เกลี่ย เปลี่ยนแปลงหรือท้าทายความเป็นชายแบบรักต่างเพศ หรือเกย์ได้สร้างความเป็นชายเหมือนกับรักต่างเพศ อาจไม่ได้ช่วยให้เราข้ามพ้นไปจากแนวคิดเรื่องเพศภาวะแบบแข็งทื่อก็ได้ มันอาจจะไม่สะท้อนความเป็นจริงที่ว่าเกย์ก็มีความแตกต่างหลากหลายเหมือนกับคนกลุ่มอื่นๆ และเกย์ไม่จำเป็นต้องคิด ทำ เชื่อหรือรู้สึกในสิ่งเดียวกัน ความแตกต่างทางชนชั้นและเชื้อชาติเป็นสิ่งท้าทายความเป็นไปได้ของความเป็นชายที่มีเอกภาพในหมู่เกย์ก็ได้

เกย์ก็เหมือนกับคนอื่นๆในสังคม ที่ต้องแสดงออกในเพศภาวะด้วยวิธีการต่างๆซึ่งขึ้นอยู่กับความแตกต่างทางสังคม บุคลิกลักษณะทางอารมณ์ และยุคสมัยซึ่งได้อธิบายมาแล้วข้างต้น การศึกษาของแม็ต มัตช์เลอร์ เรื่อง Seeking Sexual Lives: Gay Youth and Masculinity Tensions อธิบายให้เห็นความสัมพันธ์ทางเพศของวัยรุ่นเชื้อสายลาตินกับคนผิวขาวอายุ 18-24 ปี และชีวิตทางเพศของพวกเขาถูกจัดระเบียบภายใต้คำอธิบายทางเพศภาวะ และความขัดแย้งที่เกิดจากนิยามของความเป็นชายอย่างไร มัตช์เลอร์กล่าวว่าเกย์วัยรุ่นหลายคนเผชิญกับความขัดแย้ง ความไม่ชัดเจนและความไม่ลงรอยต่างๆที่เกิดจากการแตกสลายของคำอธิบายที่มาจากเพศภาวะ ในขณะที่ต้องต่อรองกับความคาดหวังในความเป็นชาย แรงขับและการผจญภัยทางเพศ เกย์วัยรุ่นยังต้องรับมือกับการเกลียดกลัวโฮโมเซ็กช่วลที่มาจากการมีเซ็กส์กับชายอื่น และอารมณ์ปรารถนาแห่งความรักไปพร้อมๆกัน เกย์วัยรุ่นมีกิจกรรมเซ็กส์พร้อมกับความรู้สึกตึงเครียดต่อความเป็นชาย สิ่งนี้บ่งบอกให้ทราบว่าเกย์วัยรุ่นจะรับมือกับการมีเซ็กส์แบบปลอดภัยอย่างไร

นอกจากความสัมพันธ์ทางเพศแล้ว เกย์ยังมองหามิตรภาพเพื่อช่วยจรรโลงและพัฒนาอัตลักษณ์ของพวกเขาที่ต้องมีชีวิตอยู่ในโลกของรักต่างเพศ แต่เกย์จะสร้างสัมพันธ์เชิงมิตรภาพกับผู้ชายรักต่างเพศอย่างไร ดไวต์ ฟี ได้ศึกษามิตรภาพระหว่างผู้ชายรักต่างเพศและเกย์ และตั้งคำถามว่าความสัมพันธ์แบบนี้เกี่ยวข้องกับความเป็นชายอย่างไร ในเรื่อง One of the Guys: Instrumentality and Intimacy in Gay Men’s Friendships With Straight Men ฟีได้สำรวจว่าความแตกต่างทางเพศท้าทายวิธีการจัดระเบียบเพสภาวะในสังคมซึ่งต้องการทำให้เกย์และผู้ชายอยู่ในกล่องที่ต่างกัน การต่อสู้ระหว่างตัณหาราคะและการสร้างมิตรภาพคือประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นกับความสัมพันธ์แบบนี้ และทำให้เห็นว่า ในสังคมของเราได้ตอกย้ำความเป็นชายมากแค่ไหน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายกับเกย์ชี้ให้เห็นว่าเกย์ต้องแสดงตัวเป็นชายด้วยวิธีการที่หลากหลาย และชี้ให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องเลิกความคิดแบบแก่นแท้ซึ่งนักวิจัยมักจะใช้กันเมื่อพูดถึงมิตรภาพระหว่างผู้ชาย

ความสัมพันธ์แบบโรแมนติกคือเรื่องที่เกย์จะต้องเผชิญและเกี่ยวข้องกับความเป็นชาย เมื่อชายสองคนเข้าไปยุ่งกับเรื่องในครอบครัว สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเรื่องอำนาจ เรื่องความเหลื่อมล้ำและการควบคุม เมื่อเหล่านี้เกิดขึ้นในรูปแบบของการใช้ความรุนแรงในครอบครัว การสร้างความเป็นชายก็จะเป็นสิ่งสำคัญขึ้นมา เจ ไมเคิล ครูซ อธิบายเรื่องนี้ไว้ใน Gay Male Domestic Violence and the Pursuit of Masculinity เกย์บางคนแสดงเพศภาวะเหมือนกับที่ผู้ชายรักต่างเพศแสดง โดยการใช้กำลัง การข่มขู่ การแสดงอำนาจเหนือกว่า และการแสดงความรังเกียจโฮโมเซ็กช่วล

นอกเหนือจากเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศ มิตรภาพ และอารมณ์โรแมนติกระหว่างบุคคลแล้ว เกย์จะต้องจัดการกับความเป็นชายในหลายสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน การศึกษาความเป็นชายในสถานอกกำลังกายของเกย์ ในโบสถ์ ในร้านขายของชำ ในเวทีการเมือง และในการทำงานร่วมกับผู้หญิงในประเด็นการกดขี่ทางเพศ โธมัส ไลน์นีแมน เขียนบทความเรื่อง Risk and Masculinity in the Everyday Lives of Gay Men ตั้งคำถามว่าเกย์แสดงความเป็นชายแบบไหนเมื่อเขาต้องเผชิญกับการกดขี่ในชีวิตประจำวัน สำหรับเกย์หลายคน การต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเองคือพฤติกรรมเสี่ยง แต่ไม่เหมือนกับการที่เราพูดถึงเซ็กส์ที่ไม่ป้องกัน หากแต่ความเสี่ยงนี้เกย์ต้องเผชิญกับสังคมของรักต่างเพศและเสี่ยงต่อการถูกทำให้ขายหน้า ถูกทำร้าย และถูกทุบตี เมื่อเกิดสิ่งนี้ การต่อต้านก็จะปรากฎ เกย์บางคนจะแสดงพฤติกรรมเพื่อที่จะทำให้ตัวเองมีชีวิตรอด ความเสี่ยงเช่นนี้สัมพันธ์กับนิยามความเป็นชายในทางวัฒนธรรม

อีริค โรดริเกซและซูซาน อูเอลเลตเต้ อธิบายเรื่องอัตลักษณ์ที่ขัดแย้งกัน ระหว่าง เป็นเกย์ เป็นชาวลาติน และเป็นคริสเตียน ในเรื่อง Religion and Masculinity in Latino Gay Lives แสดงให้เห็นชีวิตเกย์ 4 คนที่ต่อสู้กับการเป็นเกย์และการเป็นชาวคริสต์ ในวัฒนธรรมลาตินของพวกเขา ศาสนาถูกมองว่าเป็นเรื่องของผู้หญิง และบางครั้งทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความเป็นชายของผู้ชาย เมื่อเพศวิถีแบบเกย์ถูกแสดงออกและท้าทายต่อความเป็นชายแบบลาติน เกย์ที่เป็นคริสเตียนต้องแก้ปัญหาที่ซับซ้อนและมีความขัดแย้ง

เรื่อง Masculinity in the Age of AIDS: HIV –Seropoitive Gay Men and the Buff Agenda เพอร์รี ฮัลคิติส สำรวจเรื่องราวเกี่ยวกับการเพาะกายของเกย์ในเมืองที่ต้องออกกำลังเพื่อต่อสู้กับการมีภาพลักษณ์แบบอ่อนแอและภาพลักษณ์ผอมแห้งที่สัมพันธ์กับการเป็นโรคเอดส์ ความเป็นชาย ความแข็งแก่ง ความกล้าหาญและความมีพละกำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของเกย์กลุ่มนี้พร้อมๆกับการนำเอาภาพลักษณ์ของผู้ชายรักต่างเพศมาประกอบ โรคเอดส์เป็นเรื่องสำคัญในวัฒนธรรมเกย์มายาวนาน นิยามของความเป็นชายที่ได้รับการยอมรับจะเกิดขึ้นผ่านกระบวนการของการกลายเป็น “คนร่างยักษ์” และจะไม่ถูกมองว่าเป็นคนตุ้งติงเหมือนผู้หญิง

สำหรับเกย์บางคน ชีวิตประจำวันของพวกเขาพัวพันอยู่กับกิจกรรมทางการเมือง ในขณะที่คนอื่น เห็นว่าการเป็นเหยื่อของการกดขี่ข่มเหงทำให้พวกเขามองเห็นการเบียดขับคนให้ไปอยู่ชายขอบ เจน วอร์ด อธิบายในเรื่อง Queer Sexism Rethinking Gay Men and Masculinity เจนท้าทายให้เราคิดทบทวนสมมุติฐานที่ว่าการเป็นเกย์คือการถูกผลักไปอยู่ชายขอบของสังคม เจนได้ประเมินวาทกรรมความเป็นชายของเกย์ที่ปรากฎอยู่ในการศึกษาเรื่องความเป็นชายและในงานเขียนของเกย์หลายเรื่อง เจนทำให้เราไม่ติดอยู่กับวาทกรรมความเป็นชาย และสำรวจความสัมพันธ์บนเพศภาวะระหว่างเกย์กับผู้หญิงในชีวิตประจำวัน นำมุมมองแบบเฟมินิสต์มาศึกษาเกย์ และการรับรู้เกี่ยวกับความเป็นเอกภาพของเกย์ในสายตาของผู้หญิง

การแสดงความเป็นชายที่หลากหลายมีให้เห็นทั่วไปในอเมริกา โดนัลด์ บาร์เร็ตต์ ศึกษาเรื่อง Masculinity Among Working-Class Gay Males อธิบายถึงกลุ่มเกย์ที่มักถูกมองข้ามจากงานวิจัย เพราะการศึกษาส่วนใหญ่จะสนใจเกย์ชนชั้นกลาง บาร์เร็ตต์อธิบายถึงภาพตัวแทนความเป็นชายของชนชั้นแรงงานและความสัมพันธ์ที่มีต่อการเป็นเกย์ เกย์บางคนพยายามรักษาสมดุลระหว่างความเป็นชายของชนชั้นกับบทบาททางเพศภาวะที่ถูกคาดหวังจากวัฒนธรรมเกย์อย่างไร บาร์เร็ตต์ชี้ให้เห็นการแสดงออกถึงความเป็นชายบางลักษณะ เช่น การกล้าแสดงออก ความมั่นใจ เป็นคนง่ายๆ และสันโดษ สิ่งเหล่านี้ปรากฎอยู่ในการสัมภาษณ์กลุ่มผู้ชายแรงงาน ซึ่งทำให้เข้าใจการที่คนเหล่านี้ต้องเผชิญกับการเกลียดกลัวโฮโมเซ็กช่วล ความสัมพันธ์ทางสังคม ความกล้าแสดงออกทางเพศและอารมณ์ความรู้สึกในแบบของเขา

ประเด็นเกี่ยวกับความเป็นชายกลายเป็นความซับซ้อนเมื่อมาค้นหาความปรารถนาทางเพศของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ในเรื่อง Asain American Gay Men’s (dis)claim on Masculinity ชินฮี ฮัน ศึกษาข้อจำกัดและความขัดแย้งทางวัฒนธรรมของอัตลักษณ์ที่เกย์อเมริกันเชื้อสายเอเชียบางกลุ่ม (เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) เกย์เหล่านี้จะถามตัวเองเกี่ยวกับบทบาทของครอบครัว คุณค่าที่เชื่อมโยงกับศาสนาพุทธ ลัทธิเต๋า ลัทธิขงจื้อ และภาพลักษณ์ของการเป็นคนเอเชียและความสัมพันธ์ที่มีต่อความเป็นชาย ฮันอธิบายถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับความสนใจของคนผิวขาวที่มีต่อชาวเอเชีย และวิธีที่เรื่องเล่านี้ปรากฎอยู่ในเพศวิถีของคนรักเพศเดียวกัน ฮันสรุปด้วยการตั้งคำถามเกี่ยวกับเกย์อเมริกันเชื้อสายเอเชียซึ่งจะต้องหาคำตอบต่อไป

เรื่อง Entre Hombres/Between Men: Latino Masculinities and Homosexualitie s ไลโอเนล คันตูอธิบายถึงผลกระทบที่เกิดจากความคิดเรื่องความเป็นชายและเพศวิถีที่มีต่อเกย์ลาตินและการหาแนวทางป้องการโรคเอดส์ ประสบการณ์เกี่ยวกับการเหยียดเพศ เหยียดสีผิวและการเกลียดกลัวโฮโมเซ็กช่วลจะสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมลาตินในการสร้างนิยามเกี่ยวกับความเป็นชาย รูปแบบการย้ายถิ่นและการเข้าถึงทรัพยากร การมองวัฒนธรรมแบบสูตรสำเร็จจะทำให้มองข้ามความซับซ้อนของความเกี่ยวข้องกันระหว่างพื้นที่แห่งอำนาจที่มีอยู่ในชีวิตของเกย์ลาติน คันตูให้เหตุผลที่ต้องยุติการมองแบบพยาธิวิทยาเพื่อที่จะทำให้เห็นกรอบความคิดเชิงการเมืองมากขึ้นเมื่อต้องศึกษาวิธีการที่เกย์ลาตินเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเพศวิถีของคนรักเพศเดียวกันและการแสดงความเป็นชาย

การศึกษาในที่นี้จะปิดท้ายด้วยการคำถามเกี่ยวกับเพศภาวะ ไม่ใช่ในแง่ที่มันถูกสร้างขึ้นในสังคม แต่ในแง่ที่มันถูกนำไปใช้โดยกลุ่มเกย์ สตีเว่น แช็คต์ เขียนบทความเรื่อง Gay Female Impersonators and the Masculine Construction of Other ทำให้เราเห็นชีวิตของแดร็กควีนและแดร็กคิงในวัฒนธรรมของเกย์ การปรากฎตัวของความเป็นหญิงในร่างชายตอกย้ำในเชิงเสียดสีต่อความคิดเรื่องเพศภาวะแบบจารีต ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับอำนาจและเพศภาวะที่สัมพันธ์กับสถานการณ์ แดร็กควีนไม่ใช่การท้าทายช่วงชั้นของความเป็นชายทางวัฒนธรรมของเรา แช็คต์กล่าวว่าแดร็กควีนได้รื้อทำลายความคิดเรื่องเพศภาวะที่เป็นของตายตัวตามธรรมชาติ

การระบุว่าความเป็นชายคืออะไรเป็นเรื่องยาก เป็นที่ชัดเจนว่าการอธิบายเกย์ด้วยแนวคิดเพศภาวะจะต้องอาศัยความเป็นชายที่หลากหลาย แรงขับทางวัฒนธรรม ของจำกัดเชิงสถาบัน มิติของเชื้อชาติและชนชั้น และความแตกต่างของช่วงอายุล้วนส่งผลต่อการแสดงออกถึงความเป็นชายของเกย์ ความเข้าใจเรื่องเพศภาวะคือสิ่งที่จะทำให้เรามองข้ามพ้นไปจากการจัดแบ่งหมวดหมู่แบบเดิม และมองหาวัฒนธรรมที่ผสมผสานและความหลากหลายซึ่งปรากฎอยู่ในสังคม การสำรวจดูความหลากหลายของลักษณะความเป็นชายของเกย์มีมานานแล้ว และเราก็ได้ความรู้มากมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนที่มีต่อความซับซ้อนของเพศภาวะ เพศวิถี อัตลักษณ์และโครงสร้างสังคม

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share