จิรักหรือจิหลอกหรือมาหยอกแค่หลอกให้ฝัน: ว่าด้วยความสัมพันธ์แบบผีๆ ในแอปพลิเคชันหาคู่
“จิรักหรือจิหลอก แค่มาหยอกแล้วหลอกให้ฝัน
ฝัน ฝัน ฝัน ฝัน ฝัน ฝัน ฝัน ฝัน
หมดรักก็บอกไม่ว่ากัน จิได้เลิกฝัน ให้เสียเวลา…”
จากท่อนเพลงดังกล่าวของตั๊กแตน ชลดา (2550) คงเป็นภาพแทนที่อธิบายความสัมพันธ์ของวัยรุ่นคน Gen Z ได้ในวงกว้าง ความสัมพันธ์แบบหลอกๆ หยอกๆ ให้ติดใจแล้วหายไปได้กลายเป็นเรื่องปกติ วัยรุ่นหลาย ๆ คน คงเคยประสบเรื่องราวคล้าย ๆ ท่อนเพลงนี้ โดยเฉพาะผู้ที่มีความสัมพันธ์ด้วยการพึ่งพาเทคโนโลยีเป็นสื่อกลางแทนการคบหาดูใจ (texting more than physical)
ปัจจุบันการใช้แอปพลิเคชันหาคู่มีแนวโน้มสูงขึ้น มีการสร้างเครือข่ายของคนโสดและคนไม่โสดผ่านแอปพลิเคชัน ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของวัยรุ่นเจเนอเรชั่นซี กลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี ที่มีความคิดและทัศนคติต่อการหาคู่แตกต่างจากกลุ่มคนวัยอื่น ๆ ทั้งในแง่ความคาดหวัง อารมณ์ และประสบการณ์ โดยกลุ่มคนเจเนอเรชั่นนี้เป็นกลุ่มคนที่มีวิธีการหาคู่เดทแบบซื่อตรงและเป็นตัวของตัวเอง มีขอบเขตในเรื่องต่าง ๆ ชัดเจนมาก บุคคลที่เป็นสมาชิกในแอปพลิเคชันหาคู่จะมีการตั้งขอบเขตความเป็นส่วนตัวเพื่ออธิบายความคาดหวังของตัวเองอย่างชัดเจน จะมีการตั้งโปรไฟล์ให้ตรงกับคู่เดทที่ตัวเองมองหาและง่ายต่อการจับคู่ (Matching) เพื่อการเริ่มต้นบทสนทนาในความสัมพันธ์
เทรนด์ความสัมพันธ์ยุคใหม่ผ่านแอปพลิเคชันหาคู่ไม่ได้ถูกใช้เพื่อการเดทเพียงอย่างเดียว แต่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ทำให้ผู้ใช้งานได้รู้จักคนใหม่ ๆ แลกเปลี่ยนเรื่องราวและความคิดเห็นกับคนที่มีไลฟ์สไตล์เดียวกัน ผลสำรวจในปี พ.ศ.2564 (ณัฐพล ม่วงทำ, 2564) ของสมาชิกแอปพลิเคชัน Tinder พบว่า คนหาคู่กำลังมองหาความสัมพันธ์แบบไม่ต้องมีคำนิยามเพิ่มมากขึ้น ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงจึงเป็นแรงขับให้คนรุ่นต่อไปที่กำลังหาคู่มองหาความสัมพันธ์แบบเปิดที่ไม่ผูกมัดมากกว่าความต้องการที่จะคบหาระยะยาวและการแต่งงานนำไปสู่การเกิด “ปรากฏการณ์ผีหลอก (Ghosting) ในความสัมพันธ์”
จุดเริ่มต้นและความหมายของความสัมพันธ์แบบผีหลอก
ผีหลอก (Ghosting) มาจากคำว่า Ghost ที่แปลว่า “ผี” คำนี้มีต้นกำเนิดในราวๆ ช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 2000 ความสัมพันธ์แบบผีหลอก (Ghosting) ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในปัจจุบันเพราะการหายตัวไปของคนรู้จักหรือคนที่เข้ามาคุยด้วยเป็นพฤติกรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นได้กับความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่คู่รักเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการเป็นเพื่อน คนที่ทำงานด้วยกัน แม้กระทั่งญาติพี่น้องหรือคนในครอบครัว หากเคยพบหน้ากันอยู่ตลอดแต่แล้ววันหนึ่งกลับเงียบหายไปไร้การติดต่อโดยที่เจ้าตัวไม่บอกเหตุผลให้รู้ นับเป็นพฤติกรรมการ Ghosting ทั้งหมด เช่น ปรากฏการณ์ผีหลอกในที่ทำงาน เรียกว่า Candidate Ghosting หรือบ้างก็อาจเรียกว่า Recruitment Ghosting การเกิด Ghosting ย่อมไม่เป็นผลดีต่อบริษัท เพราะผู้ว่าจ้างย่อมต้องการคนมาทำงานอย่างเร่งด่วนและไม่เร่งด่วน เพราะมีผลต่อการเดินหน้าของบริษัท อีกทั้งการคัดเลือกพนักงานใหม่ มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่สูง การที่แคนดิเดตจะยิ่งทำให้ตัวเลขดังกล่าวทวีคูณขึ้นเรื่อย ๆ และพอหาคนมาทำงานไม่ได้เสียที สุดท้ายพนักงานที่ทำงานอยู่แล้ว ก็จะต้องแบกรับภาระหน้าที่มากกว่าเดิม ส่งผลให้สูญเสียสมดุลในการทำงานและการใช้ชีวิตตามมา (ปารณพัฒน์ แอนุ้ย, 2565)
ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2553 ความสัมพันธ์แบบผีหลอกเริ่มถูกนำมาเสนอผ่านสื่อออนไลน์ในประเทศอเมริกาเป็นครั้งแรก (จารุจรรย์ ลาภพานิช, 2565) ซึ่งเป็นช่วงที่การเดทแบบออนไลน์เริ่มเกิดขึ้นมาบนโลก โดยผู้ที่ทิ้งคนอื่นไปจะถูกเรียกว่า ‘Ghosts’ ละผู้ที่เป็นฝ่ายถูกทิ้งนั้นจะถูกเรียกว่า ‘Ghosted’ (ตนุภัทร โลหะพงศธร และณัฐมน สุนทรมีเสถียร, 2564) หรือการที่เมื่อใครคนหนึ่งที่คบหากันอยู่แต่ก็หายไปอย่างไม่มีเหตุผล ติดต่อไม่ได้ ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ความสัมพันธ์แบบผีหลอกไม่ได้จำกัดอยู่แค่กับคนที่ออกเดทกันเท่านั้นแต่ยังรวมถึงเพื่อน คนรู้จัก หรือสมาชิกในครอบครัวด้วย “ผีหลอก” มาจากพฤติกรรม ‘หายตัว’ ที่เป็นปัญหาหลักในความสัมพันธ์นี้ว่าคล้ายกับภูตผีวิญญาณที่หายตัวล่องหนได้โดยปราศจากคำอธิบาย หรือการติดอยู่ในความทรงจำหนึ่ง ๆ ที่คอยตามหลอกหลอนเหมือนผีไม่มีตัวตนแต่มีอิทธิพลทางอารมณ์ของผู้ที่ยังติดอยู่ในความสัมพันธ์ Bree Jenkins (2023 อ้างถึงใน สุภาวดี ไชยชะลอ, 2565) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเดต (Dating Coach) ในลอสแอนเจลิส (Los Angeles) ที่ได้เปรียบเทียบการ Ghosting ว่าเหมือนการออกจากปาร์ตี้กะทันหัน โดยที่ไม่ได้บอกลาและไม่มีใครสังเกต ซึ่งอาจส่งผลต่อจิตใจของฝ่าย Ghosted ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังอกหัก (Breakup Depression) ได้ ในขณะที่ Freedman และคณะ (2019, อ้างถึงใน ตนุภัทร โลหะพงศธร, 2564) ศึกษาเกี่ยวกับ Ghosting Relationship พบว่า มีการหลอกกัน (Ghosting) มากขึ้นและตั้งใจที่จะหลอกกับคู่เดทของตนเองเพราะมีความเชื่อในโชคชะตาหรือพรมลิขิตที่นำพาให้คนสองคนมาเจอกันแล้วรักกัน (Destiny Belief) และเชื่อว่าต้องมีใครสักคนถูกสร้างให้เป็นเนื้อคู่ของตน หากแน่ใจว่าไม่ใช่ก็ไม่มีความจำเป็นต้องคุยต่อให้เสียเวลาจึงเลือกหยุดความสัมพันธ์ไว้แค่นั้นแล้วหายตัวไป ส่วน Navarro และคณะ (2020) เสนอว่า ผีหลอก (Ghosting) นั้นมักเชื่อมโยงเข้ากับแอปพลิเคชันหาคู่ ดังนั้นเมื่อมีการสื่อสารหรือเริ่มปฎิความสัมพันธ์ต้องมีความระมัดระวังในการใช้แอปพลิเคชันมากกว่าความสัมพันธ์ระยะสั้นอื่น ๆ
ปรากฎการณ์ผีหลอกในความสัมพันธ์บนฐานทฤษฎีลดความไม่แน่นอน ความไม่แน่ใจ
ในปรากฎการณ์ผีหลอกเมื่อเกิดขึ้นในความสัมพันธ์นั้นหมายความว่า มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายที่รู้สึกว่าในความสัมพันธ์มีความไม่แน่นอน ไม่มั่นใจในความรู้สึกของตนเอง จึงออกมาในรูปแบบของการหนีหายไป ทฤษฎีลดความไม่แน่นอน ความไม่แน่ใจ สอดคล้องกับทฤษฎีลดความไม่แน่นอน ความไม่แน่ใจ (Uncertainty Reduction Theory) (Berger & Calabrese, 1975) ที่ได้อธิบายว่ามนุษย์เราต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ตนเองสามารถควบคุมได้และคาดเดาสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ ทำให้เมื่อเจอกับความไม่แน่นอน ความไม่แน่ใจจะทำให้เกิดการคาดการณ์ของอีกฝ่ายจะมีความคิดและความรู้สึกอย่างไรจนส่งผลไปสู่การหาข้อมูลจากอีกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ที่ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์เพราะไม่แน่ใจว่าอีกฝ่ายจะมีการปลอมแปลงข้อมูลแล้วมาหลอกตนเองหรือไม่ จนอาจเกิดความรู้สึกไม่แน่นอนในการริเริ่มความสัมพันธ์
Charles Berger และคณะ (1996 อ้างถึงใน กิรณา มุ่งเจริญ, 2563) ทฤษฎีนี้อยู่บนสมมติฐานพื้นฐานในเรื่องเหตุและผลของการสื่อสารเพื่อการสร้างความสัมพันธ์โดยอธิบายว่ามนุษย์ต้องการอยู่ในสถานการณ์ที่คิดว่าสามารถควบคุมมันได้และสามารถคาดเดาสิ่งต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นได้ด้วย ดังนั้นเมื่อมนุษย์เผชิญหน้ากับความไม่แน่ใจ มนุษย์จะถูกผลักหรือดึงดูดให้เกิดการแสวงหาข้อมูลจากกันและกัน เพื่อลดความไม่แน่ใจที่เกิดขึ้นนั้นลง
สาเหตุการเกิดปรากฎการณ์ผีหลอก บนแอปพลิเคชันหาคู่
การศึกษาเชิงคุณภาพครั้งนี้ได้ทำการศึกษาปรากฎการณ์ผีหลอกในความสัมพันธ์ของกลุ่มคนวัยรุ่นเจเนอร์เรชั่นซี จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในย่านรังสิต โดยมีผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key informants) คือ ผู้ที่มีประสบการณ์ตรงผ่านการโดนผีหลอกและเป็นผี ทั้ง 19 คน แบ่งเป็นเพศหญิง 14 คน เพศชาย 3 คน และ LGBTQ+ 2 คน จากแอปพลิเคชันหาคู่ที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย เช่น แอปพลิเคชัน Tinder แอปพลิเคชัน Omi แอปพลิเคชันBumble ตามลำดับ ผู้ให้ข้อมูลสำคัญผ่านนามสมมุติแต่ละรายได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่น่าสนใจคือ จุดเริ่มต้นการใช้แอปพลิเคชันหาคู่ ส่วนใหญ่เล่นตามเพื่อนและอยากรู้อยากลอง หาคนรับฟัง และมีความต้องการทางเพศตามลำดับ โดยเฉลี่ยระยะเวลาในการเล่นแอปพลิเคชันนั้นส่วนใหญ่มีประสบการณ์การเล่นแอปหาคู่มามากกว่า 3 ปี
สาเหตุหลักของการเกิดปรากฏการณ์ผีหลอกในความสัมพันธ์จาการวิเคราะห์เนื้อหาแล้วพบว่า มี 3 ประเด็นหลัก คือ สาเหตุจากตัวผู้เล่น สาเหตุจากแอปพลิเคชัน และสาเหตุจากคู่เดท
ในประเด็นแรก จากการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลพบว่า ตัวผู้เล่นนั้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบผีหลอกเนื่องจากตนเองและฝ่ายตรงข้ามมีตัวเลือกในการหาคู่เยอะ ดังที่ นางสาวอิสเบลล่า กล่าวว่า
“เพื่อนกะเทยนางนึงแนะนำมาว่าลองโหลด Tinder ดู เราสวยขนาดนี้อย่าไปอยู่คนเดียว คุยไปจอยๆ…ไม่ต้องถามเรื่องได้แฟน เอาหาคนคุยจริงจังแบบจริงจังจริง ๆ ยังไม่ได้เลย…บางคนถามเยอะมากพอเราจะถามนะ แต่ตอบช้าไม่กี่นาทีหายไปเลย…เหมือนผีสุด ๆ ฟีล ๆ ผีเสื้อมั้งพอหายก็จับไม่ได้แล้ว มารู้ทีหลังว่าเขาก็คุยกับคนอื่นเยอะ” (สัมภาษณ์, 30 ตุลาคม 2566)
ในขณะที่ ลักษณะแอปพลิเคชันหาคู่ ถือว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบผีหลอก กล่าวคือ การให้ทดลองเล่นฟรี และการยืนยันตัวตนไม่ได้มีมาตรการที่เคร่งครัด ทำให้ผู้ใช้งานสามารถปลอมแปลงตัวตนได้ง่าย หรือที่มักจะรู้จักในนิยามของคำว่า “ไม่ตรงปก” ซึ่งในประเด็นนี้นายสเตฟาน กล่าวว่า
“เริ่มเล่นเพราะเห็นเพื่อนได้แฟนจากแอปเลยลองดู…เล่นแค่ Omi เพราะเรารู้สึกว่าทาร์เกตตรงกับเรามากกว่าเสียตังค์เดือนละ 500 กว่า ๆ บางเดือนก็ถูกหน่อย 400 กว่า ๆ ฟีเจอร์มันเยอะดี…โดนเป็นปกตินะ เราว่าจะโดน Ghosted หรือไป Ghosted เขามันปกติของคนเล่นแอปแบบนี้อะ ตัวแอปมันสร้างมาแบบนี้” (สัมภาษณ์, 26 พฤศจิกายน 2566)
ประการสุดท้าย สาเหตุจากผู้เล่นตรงข้าม (คู่เดท) อาจมีเป้าหมายในการเล่นแอปพลิเคชันหาคู่ด้วยวัตถุประสงค์อื่น เนื่องจากความรัดกุมในการยืนยันตัวตนไม่มากนัก ทำให้ง่ายต่อการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในเรื่องอื่นๆ มากกว่าการเข้ามาหาคู่หรือเริ่มต้นความสัมพันธ์ เช่น การเข้ามาชักจูงให้ลงทุน การหลอกให้โอนเงิน ดังที่ นางสาวเจสสิก้า กล่าวว่า
“วัน ๆ นึงมีคนปัดมาไม่ต่ำกว่า 20-30 คน ส่วนใหญ่ตลาดในทินเดอร์ไม่ใช่เทส ต้องซื้อพรีเมี่ยมบ่อย ๆ…ก็โดน Ghosted นะแต่ที่จำฝังใจ คือ ชวนเราไปลงทุนกับเขา นัดแล้วไม่มาตามนัดให้เรารอเก้อ เขาได้เงินเราไปก็หนีไปเลย” (สัมภาษณ์, 26 พฤศจิกายน 2566)
สาเหตุของการเกิดปรากฎการณ์ผีหลอกในความสัมพันธ์จากประสบการณ์ของผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ทั้ง 3 ประเด็นนั้นมีการอธิบายจากนักวิชาการ เช่น สาเหตุจากตัวผู้เล่น เป็นความไม่แน่นอนในความสัมพันธ์ ความรู้สึกนี้จะปรากฏขึ้นในรูปแบบที่มีความเป็นนามธรรมค่อนข้างสูงโดยเฉพาะการสงสัยไปที่การกระทำของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นพิเศษ (Berger & Bradac,1982 อ้างถึงใน ชริตา ปรมะธนวัตน, 2560) จึงเป็นแรงจูงใจที่ทำให้ผู้ใช้งานฝ่ายใดฝ่านหนึ่งเปลี่ยนไปแมตซ์หรือสนใจคนอื่น ๆ แทน ส่วนลักษณะของแอปพลิเคชันที่เอื้อให้ผู้ใช้งานง่ายและสะดวกจนทำให้การระบุตัวตนไม่ต้องเคร่งครัดเพราะกลไกการทำงานของแอปหาคู่นั้นเสมือนการเล่นเกมที่ต้องการดึงดูดให้คนใช้งานหากแอปมีความยุ่งยากลำบากก็ทำให้ผู้คนหันไม่ใช้ผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ต้องใช้ข้อมูลส่วนตัวมากนัก (Lindholm and Monsen, 2016 อ้างถึงใน นิชาภัทร วรากมนชัยเดช, 2560) ส่วนประเด็นสุดท้าย ความ คู่เดทที่เข้ามาด้วยวัตถุประสงค์อื่นๆ แต่แรก ซึ่งความน่าเชื่อถือของบุคคล เช่น การสร้างบทบาทให้ดูดีมีบุคลิกลักษณะของคนดีนั้นมีส่วนสำคัญทำให้ผู้ใช้งานถูกหลอกได้แม้ว่าจะรู้ว่ามีโอกาสสุ่มเสี่ยงที่จะถูกหลอกก็ตาม โดยเฉพาะกับบุคคลที่เชื่อว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นเพราะปัจจัยภายนอก (โชคชะตา) และผู้ที่เชื่อในปัจจัยภายนอกมากกว่าปัจจัยภายในมักจะมีโอกาสตกเป็นเหยื่อได้ง่าย (Rotter, 1965)
“ผี” ในความสัมพันธ์ผ่านแอปพลิเคชันหาคู่
วิธีเอาตัวรอดยอดนิยมของวัยรุ่นยุคนี้ที่เลือกใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางการสร้างความสัมพันธ์ คือ การสวมบทบาทการเป็น “ผี” โดยเฉพาะบนแอปพลิเคชันสำหรับนัดเดทและหาคู่ ซึ่งเปิดกว้างให้สามารถเลือกศึกษาหาคนรู้ใจได้ที่หลากหลายผ่านการ “ปัดซ้ายปัดขวาไปเรื่อย ๆ ” จึงทำให้เกิดปรากฎการณ์ผีหลอกได้ง่ายขึ้นโดยปริยาย สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการเกิดปรากฎการณ์ผีหลอกในความสัมพันธ์ คือ การที่ฝ่ายตรงข้ามมีความรู้สึกว่าตนเองนั้นมีตัวเลือกในการเลือกเดทเยอะ และเชื่อว่าตนมีสิทธิ์ในการเลือกคู่เดทที่เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด เนื่องจากการตลาดของแอปพลิเคชันที่มีฟังก์ชันการใช้งานในรูปแบบของการปัดขวาเมื่อเจอคู่เดทที่ถูกใจ ทำให้ในแต่ละวันผู้ใช้งานสามารถเจอผู้เล่นคนอื่น ๆ ที่หลากหลายและสามารถเสือกคู่เดทที่ดีที่สุดได้ นางสาวเจลลี่ กล่าวว่า “เล่นเพราะอยากมีคนคุยเล่นๆนะ หาเพื่อนบ้างอะไรบ้าง…ซื้ออยู่แล้วตามสไตล์ตัวแม่ เราชอบที่จะได้เลือกเยอะ ๆ อะเลยซื้อน่าจะดีสุด…ก็ไม่แพงมากนะ คิดซะว่าได้เพื่อนใหม่ ๆ ” รวมถึงผู้ใช้งานที่มีทัศนคติต่อการไม่ยอมเสียเงินเพื่ออัปเกรดแอปพลิเคชันเป็นแบบพรีเมียมเพราะมีความเชื่อว่าหากคู่เดทคนใดที่เป็นเนื้อคู่ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซื้อให้สิ้นเปลือง นางสาวคริสตัล กล่าวว่า ”ตอนแรกเน้นปัดเอาขำ ๆ ตลก ๆ นะ ไม่ได้เสียตังค์ด้วย…ไม่คิดจะซื้อนะ เราคิดว่าแบบฟรีก็โอเคแล้ว เพื่อนเราได้คนคุย ได้แฟน ก็ไม่เสียตังค์นะ เราว่าคนจะได้ยังไงก็ได้ ไม่ต้องเสียตังค์ซื้อหรอก” (สัมภาษณ์, 9 พฤศจิกายน 2566)
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของผู้กระทำหรือฝ่ายที่หลอก (Ghosts) เช่น นางสาวเจสสิก้า ฝ่ายถูกหลอก (Ghosted) กล่าวว่า
“ช่วงนั้นเศร้ามากสงสัยว่าตัวเองไม่ดียังไงทำไมถึงถูกหลอกซ้ำซาก…บางคนไม่ตรงไทป์ เราก็เลือกที่จะไม่ตอบและไม่สานต่อ…ช่วงหลัง ๆ เลยเน้นนัด วันไนท์สแตน เอาจอย ๆ เลิกเครียด ไม่ค่อยจมดิ่งเท่าไหร่ มูฟไว นัดมี Sex เพื่อจะได้ มูฟออนไว แต่ตอนนี้เราก็เล่นแอพหาคู่นี้อยู่เรื่อยๆนะแต่จุดประสงค์ไม่ได้ต้องการความสัมพันธ์ระยะยาวอีกต่อไปแล้ว” (สัมภาษณ์, 6 พฤศจิกายน 2566)
การที่เราจะเริ่มเป็นฝ่ายหนีหายไปจากความสัมพันธ์ที่สร้างความอึดอัดใจเป็นสิ่งที่จะสามารถลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ในมุมมองของผู้ถูกกระทำ คือ ฝ่ายถูกหลอก (Ghosted) มองว่า การหายไปโดยไร้เหตุผล ไม่มีคำอธิบายอย่างชัดเจนในความสัมพันธ์นั้นสามารถสร้างผลกระทบทางลบด้านจิตใจได้ นอกจากนั้นการเกิดปรากฎการณ์ผีหลอกในความสัมพันธ์ยังสามารถส่งผลกระทบในด้านอื่น ๆ ได้ เช่น การถูกหลอกลวงให้รักโดยใช้คารมที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามรู้สึกพิเศษและพร้อมที่จะให้ทุกอย่างได้ตามที่ผีต้องการ
ผลกระทบจากการถูก “ผีหลอก” ของคนเล่นแอปหาคู่
ผลกระทบจากปรากฎการณ์ผีหลอกมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งด้านร่างกายและด้านจิตใจ ขึ้นอยู่ว่าในความสัมพันธ์ครั้งนั้นผู้ถูก “ผี” หลอกมีความคาดหวังมากน้อยเพียงใด หากคาดหวังกับฝ่ายตรงข้ามว่าจะต้องพัฒนาความสัมพันธ์ไปเป็นรูปแบบ “แฟน” หรือจะต้องเป็นคนที่เข้าใจเรามากที่สุด เมื่อนั้นเราก็จะยิ่งได้รับผลกระทบมาก ในด้านร่างกายมักเกิดจากการถูกหลอกที่เป็นรูปธรรม โดยการถูกหลอกให้เชื่อใจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ เช่น การถูกหลอกให้โอนเงิน รวมถึงการที่ฝ่ายตรงข้ามหลอกให้ซื้อของตามที่ตนต้องการสุดท้ายก็หนีหายไป ผลกระทบที่ตามมาคือ อาการนอนไม่หลับ หวาดระแวงว่าจะต้องเสียทรัพย์สินในความสัมพันธ์ครั้งต่อไป ในด้านจิตใจมักเกิดจากการถูกหลอกที่เป็นนามธรรม เช่น การถูกหลอกให้รัก ผลกระทบที่ตามมา คือ อาการกังวลหรือกลัวเมื่อต้องเริ่มความสัมพันธ์ใหม่ ๆ และส่งผลไปถึงการทำร้ายตัวเองจนนำไปสู่การเกิดภาวะซึมเศร้าได้ แต่ในทางกลับกันก็ยังมีผู้ใช้งานที่ไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากการถูกผีหลอกเพราะตระหนักและเข้าใจว่าการเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ต้องประสบพบเจอ นางสาวอิสเบลล่า กล่าวว่า
“เพิ่งเริ่มเล่นแอปพลิเคชันหาคู่ตอนปี3แรกๆเล่นก็สนุกดีแต่พอโดน Ghosted บ่อยๆก็เฟลเหมือนกันว่าตัวเองไม่ดีหรือคุยไม่สนุกหรือเปล่า…คิดว่าแล้วแต่คนที่จะTraumaเหตุการณ์นี้นะ ในความคิดเราเราว่าถ้ามีความเข้มแข็งทางอารมณ์ระดับนึงก็จะมูฟออนได้ไวแต่ถ้าครอบครัวไม่เป็นบ้านหน่อยก็ Need ความรักเยอะ…เคยกลัวว่าจะต้องเริ่มใหม่แล้วจะเจอแบบนี้อีกแต่สุดท้ายก็ชั่งมัน เริ่มใหม่ไปเถอะ” เช่นเดียวกันกับความคิดเห็นของนางสาวทิฟฟานี่ ว่า
“เราคุยกับผู้หญิงคนหนึ่งมาสักพักเขาให้ออกค่าเสื้อให้ก่อน เราว่าเงินมันก็ไม่ได้เยอะอะถ้าเทียบกับความอยากซื้อให้คนคุยเราแต่สุดท้ายเขาก็หนีไปเลย…เราทำใจพยายามปรับความคิดตัวเองใหม่และปลอบตัวเองว่าเสียเงินแค่ 150 บาทให้กับคนที่เคยมีเวรกรรมกัน แต่ก็ทำใจมูฟออนยากอยู่เหมือนกันแต่ผ่านมาได้เพราะมีเพื่อนคอยให้คำปรึกษาและได้ชุดความคิดที่สามารถปรับเปลี่ยนความรู้สึกได้เร็ว” (สัมภาษณ์, 13 พฤศจิกายน 2566)
จากความคิดเห็นของผู้ที่มีประสบการณ์การถูกผีหลอกสะท้อนให้เห็นว่าผลกระทบเกิดขึ้นได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจและมีความเชื่อว่าการสร้างความรักที่มีต่อตนเองมากพอจะสามารถแบ่งปันความรักให้กับคนอื่นต่อไปได้เหมือนกับที่การมีความรักที่ดีจากครอบครัวจะเป็นรากฐานที่ดีต่อการสร้างความรักต่อตนเอง (Self-love) แต่ในอีกมุมมองหนึ่งของผู้ที่ได้รับผลกระทบทางด้านทรัพย์สินจะมีความคิดเห็นว่า การเสียเงินทองหรือวัตถุสิ่งของให้กับผู้ที่เรามีความรู้สึกดีด้วยในความสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องใหญ่แต่ก็สามารถสร้างความรู้สึกเสียใจได้ และยังทำให้ก้าวข้ามผ่านความผิดหวังได้ยากกว่าเนื่องจากมีเรื่องของการเสียทรัพย์สินเข้ามาเกี่ยวข้องในความสัมพันธ์ และเมื่อถูกผีหลอกก็จะเสียทั้งเงินและความรู้สึก
แนวทางการรับมือกับ “ผีหลอก” ในความสัมพันธ์
ข้อค้นพบที่สำคัญในการก้าวข้ามผ่านความรู้สึกหลังผ่านเหตุการณ์การถูก “ผี”หลอกในความสัมพันธ์ สาวเอิงเอย (สัมภาษณ์, 29 ตุลาคม 2566) กล่าวว่า “เรามีสิทธิ์เลือกอยู่แล้ว อย่าคิดแค่ว่าเราต้องโดนเลือกอะเราต้องเป็นฝ่ายเลือกด้วย… Self-Love สำคัญสุด ก่อนรักใครก็ต้องรักตัวเองก่อน” การให้คุณค่าและความสำคัญกับตนเองนั้นซึ่งสอดรับกับแนวคิด Self-Worth Validation โดยเริ่มต้นจากการยอมรับความผิดหวังที่เกิดขึ้นและเปิดโอกาสให้ตนเองนั้นได้พบเจอกับความสัมพันธ์ครั้งใหม่และอยู่บนความตระหนักรู้ว่าปรากฎการณ์เป็นเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและเราไม่สามารถควบคุมความรู้สึกของฝ่ายตรงข้ามได้ ดังนั้นแล้วการเริ่มต้นที่จะรักตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่สามารถทำได้เลยและจะทำให้ตนเองนั้นรู้เท่าทันความรู้สึกของตนเองในการเริ่มต้นความสัมพันธ์ครั้งต่อไป
บทสรุปส่งท้าย
ปรากฏการณ์ผีหลอกในความสัมพันธ์ ไม่ใช่สิ่งใหม่ในสังคมแต่ยุคสมัยได้ทำให้ควมสัมพันธ์รูปแบบดังกล่าวขยายวงกว้างขึ้น เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดความรู้สึกอึดอัดใจในความสัมพันธ์อันฉาบฉวย และเกิดความรู้สึกว่าไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ตนเองคาดหวังจึงต้องรักษาความรู้สึกตนเองและถอยห่างจากฝ่ายตรงข้าม สาเหตุหลักในความสัมพันธ์แบบผีหลอก คือ การที่รู้สึกว่าตนเองมีสิทธิ์ในการเลือกคู่ที่สามารถเข้ากันกับเราได้มากที่สุดกี่คนก็ได้ ทั้งในด้านความชอบสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันและมีลักษณะการใช้ชีวิต (life style) ที่คล้ายกัน ดังนั้นจึงทำให้ผู้เล่นแอปหาคู่มีโอกาสเจอคู่ที่หลากหลาย เมื่อบุคคลต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ผีหลอก ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ความผิดหวังจากการคาดหวัง การกลัวที่จะต้องเริ่มความสัมพันธ์ครั้งใหม่ที่อาจนำไปสู่โรคเครียด ความวิตกกังวลที่ส่งผลต่อจิตใจได้ ในขณะที่การถูกหลอกให้เชื่อใจจนฝ่ายตรงข้ามสามารถเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากอีกฝ่ายแล้วหายไป ผู้เล่นจะเกิดความรู้สึกเสียใจได้มากกว่าเพราะตนนั้นต้องเสียทั้งทรัพย์สินและเสียความรู้สึก ทำให้เห็นว่าปรากฏการณ์ผีหลอกในความสัมพันธ์ของวัยรุ่นเจเนอเรชั่นซี สร้างความไม่แน่นอนในความสัมพันธ์ได้ง่ายและยิ่งผู้เล่นซื้อแอพพลิเคชันพรีเมียมก็จะทำให้ถูกผีหลอกได้มากขึ้นเพราะมีโอกาสที่จะจับคู่ (Matched) กับผู้คนใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น เมื่อบุคคลได้รับผลกระทบจากการถูกผีหลอกในความสัมพันธ์ หลายๆ คนมักจะใช้ การกลับมาเห็นคุณค่าในตนเอง เป็นทางออกเพื่อจะได้ก้าวข้าม (Move on) กับเรื่องราวแย่ๆ ที่พึ่งเผชิญมา
รายการเอกสารอ้างอิง
กิรณา มุ่งเจริญ. (2563). พฤติกรรมของคนไทยกับการใช้โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มเดทติ้งออนไลน์. สืบค้นจาก: https://archive.cm.mahidol.ac.th/handle/123456789/3668
จารุจรรย์ ลาภพานิช. (2565). ความสัมพันธ์ Ghosting ผีในสังคมดิจิทัลอยู่ดีๆก็หายตามไม่ตอบเจ็บยิ่งกว่าถูกบอกเลิก. Mental Help, Urban creature. สืบค้นจาก: https://urbancreature.co/ghosting-relationship/
ชริตา ปรมะธนวัตน์. (2560). การแสวงหาข้อมูลความไม่แน่นอนพฤติกรรมสอดส่องและความหึงหวงของผู้ใช้
งานเฟซบุ๊ก. วิทยานิพนธ์ปริญญานิเทศศาสตรมหาบัณฑิต.คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
นิชาภัทร วรากมนชัยเดช. (2560). ทัศนคติของประชากรกลุ่ม generation millennials ในการใช้บริการหาคู่ผ่านทาง mobile Applications. วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ณัฐพล ม่วงทำ. (2564).Tinder เผย 8 insight คนโสด 2021 Gen Z วันนี้มองหาคู่แบบไหน. Gen Z, Trend & Insight. สืบค้นจาก: https://www.everydaymarketing.co/target/gen-z/8-insight-single-age-2021-gen-z-tinder-trends/
ตนุภัทร โลหะพงศธร,ณัฐมน สุนทรมีสเถียร. (2563). ghosting’ อยู่ดีๆ ก็หายไป เหมือนตายเป็นผี วิธีเอาตัวรอดของคนที่หลอกคุยเผื่อเลือก. สืบค้นจาก : https://becommon.co/life/heart-ghosting/
สุภาวดี ไชยชะลอ. (2565). Ghosting Relationship: ‘คน’ หรือ ‘ผี’ เดี๋ยวดี เดี๋ยวหาย …เมื่อคนข้างกายไม่คงเส้นคงวา. สืบค้นจาก https://plus.thairath.co.th/topic/everydaylife/102319
Berger, C. R., & Calabrese, R. J. (1975). Some explorations in initial interaction and beyond: Toward a developmental theory of interpersonal communication. Human Communication Research, 1(2), 99–112. https://doi.org/10.1111/j.1468-2958.1975.tb00258.x
Koessler, R. B., Kohut, T., & Campbell, L. (2019). When your boo becomes a ghost: The association between breakup strategy and breakup role in experiences of relationship dissolution. Collabra: Psychology, 5(1), 29.
Navarro, R., Larrañaga, E., Yubero, S., & Víllora, B. (2020). Psychological correlates of ghosting and breadcrumbing experiences: A preliminary study among adults. International journal of environmental research and public health, 17(3), 1116.
Rotter, J. B., & Mulry, R. C. (1965). Internal versus external control of reinforcement and decision time. Journal of personality and social psychology, 2(4), 598.
ผู้เขียน
ภัคธีมา เนื้อทอง และ กฤษณะ โชติรัตนกมล
วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ป้ายกำกับ ความสัมพันธ์ การหาคู่ ปรากฏการณ์ผีหลอก Ghosting ภัคธีมา เนื้อทอง กฤษณะ โชติรัตนกมล