งานวิจัยเกย์ไทย กับความเข้าใจเชิงญาณวิทยา

 |  Gender and Queer Anthropology
ผู้เข้าชม : 1164

งานวิจัยเกย์ไทย กับความเข้าใจเชิงญาณวิทยา

บทนำ

บทความเรื่องนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ส่วนที่หนึ่งเป็นการอธิบายว่าอะไรคือญาณวิทยา และมีความสำคัญอย่างไรต่อการทำวิจัยทางสังคมศาสตร์ ผู้เขียนจะชี้ให้เห็นว่าในแวดวงวิชาการปัจจุบันกำลังมาถึงจุดเปลี่ยนของกระบวนทัศน์ในการแสวงหาความรู้  กรอบความคิดทฤษฎีต่างๆที่เคยเชื่อถือว่าจะนำไปสู่ความรู้ที่จริงแท้ ไม่บิดเบือน เป็นกลาง และตรวจสอบได้ กำลังกลายเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน  มีการท้าทายความรู้และคำถามเกี่ยวกับความจริงในเชิงปรัชญาเกิดขึ้น  ผู้เขียนจะเปรียบเทียบให้เห็นสถานภาพของการตรวจสอบความรู้ด้วยญาณวิทยา หรือ Epistemology  ในโลกตะวันตก ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา

นอกจากนั้นจะชี้ให้เห็นถึงกรอบความคิดทฤษฎีที่ถูกนำมาใช้อธิบายเรื่องเพศวิถี (sexuality) และอัตลักษณ์ทางเพศของเกย์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อทำความเข้าใจว่าทฤษฎีเหล่านี้ได้สร้างการครอบงำหรือการปลดปล่อยความรู้เกี่ยวกับเกย์หรือไม่  มีทฤษฎีอะไรบ้างที่มีอิทธิพลต่อการอธิบายความเป็นเกย์ และทฤษฎีนั้นๆตกอยู่ใต้กระบวนทัศน์แบบไหน  นักวิชาการที่สนใจศึกษาอัตลักษณ์ของเกย์ได้สร้างข้อถกเถียงเชิงทฤษฎีไว้อย่างไรบ้าง ข้อถกเถียงเหล่านั้นก้าวไปสู่เรื่องการแสวงหาความรู้และความจริงมากน้อยเพียงไร   ผู้เขียนจะนำข้อสังเกตเหล่านี้ไปพิจารณาวิเคราะห์งานวิจัยเกย์ไทย ในส่วนที่สอง

ส่วนที่สองจะเกี่ยวกับงานวิจัยที่เลือกมาศึกษา 5 เรื่อง งานวิจัยเหล่านี้จะพูดถึงเรื่องเกย์ในสังคมไทย โดยใช้วิธีวิทยาเชิงคุณภาพ ผู้เขียนจะอธิบายว่างานวิจัยแต่ละเรื่องมีโจทย์อะไร ใช้ทฤษฎีอะไร ใช้ข้อมูลแบบไหน จากแหล่งใด วิธีการเก็บข้อมูลเป็นอย่างไร และการวิเคราะห์ข้อมูลทำให้เกิดความรู้อะไรบ้าง  การใช้กรอบคิดทฤษฎีกับข้อมูลไปด้วยกันได้หรือไม่ มีข้อค้นพบหรือข้อขัดแย้งระหว่างทฤษฎีและข้อมูลเกิดขึ้นหรือไม่ และผู้วิจัยตระหนักถึงข้อจำกัดในงานศึกษาของตนมากน้อยเพียงไร  ทั้งนี้จะเปรียบเทียบให้เห็นว่างานวิจัยแต่ละเรื่องมีจุดต่างและจุดเหมือนกันตรงไหนบ้างเพื่อที่จะนำไปสู่การสังเคราะห์ในส่วนที่สาม

ส่วนที่สาม จะเป็นการวิพากษ์เชิงสังเคราะห์งานวิจัยทั้ง 5 เรื่องภายใต้คำถามเชิงญาณวิทยา เพื่อชี้ให้เห็นว่างานวิจัยเหล่านี้สะท้อนวิธีการแสวงหาความรู้เกี่ยวกับเกย์ไทยอย่างไร  งานวิจัยเชื่อมั่นความจริงในแบบไหนและความเชื่อนั้นสะท้อนออกมาในกระบวนการสร้าง “ความรู้” อย่างไร  ผู้เขียนต้องการตรวจสอบฐานคิดของนักวิจัยซึ่งแอบแฝงอยู่ และปรากฎออกมาในการสร้างวาทกรรมและการเขียน  กระบวนการสร้างความรู้ที่เกิดจากกรอบคิดทฤษฎีบางแบบอาจนำไปสู่การสร้างความจริงบางแบบ ความจริงเหล่านั้นถูกผลิตซ้ำหรือถูกท้าทายมากน้อยเพียงใด  งานวิจัยเกย์ไทยจะนำไปสู่การสร้างภาพตัวแทนของความเป็นเกย์ หรือรื้อทำลายภาพตัวแทนเหล่านั้น  คำถามเหล่านี้มีความสำคัญมากต่อการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการแสวงหาความรู้

สิ่งที่ผู้เขียนปรารถนาจะเห็นในบทความเรื่องนี้ ก็คือ การตระหนักรู้ว่า “เรา” ในฐานะนักวิจัยที่สร้างความรู้ให้สังคมจะยืนอยู่บนมายาคติของความรู้แบบใด และเรากำลังตระหนักถึงมายาคติเหล่านั้นหรือไม่  ทั้งนี้มิได้หมายความว่าเราจะปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่าง หากแต่เราอาจต้องสำรวจตรวตสอบตัวเองให้มากขึ้น   การทำความเข้าใจญาณวิทยาอาจเปลี่ยนโฉมหน้างานวิจัย จากเดิมที่งานวิจัยพยายามจะบอกว่าอะไรที่เป็นความรู้บ้าง เปลี่ยนไปสู่การบอกว่าสิ่งที่เป็นความรู้นั้นมาจากผู้ผลิตความรู้และบริบทของการสร้างความรู้

งานวิชาการในคริสต์ศตวรรษที่ 21 อาจมิได้ให้คำตอบสำเร็จรูปของการนำความรู้ไปใช้ในแบบผลงานทางวิทยาศาสตร์  แต่งานวิชาการแนวใหม่อาจกระตุ้นเตือนให้มนุษย์ใช้สติปัญญามากขึ้น มิใช่การทำให้มนุษย์เป็นเพียงผู้คล้อยตามความรู้หรือถูกชี้นำโดยผู้ผลิตความรู้  การทำให้มนุษย์รู้จักคุณค่าของใช้ความรู้อย่างมีสติน่าจะเป็นคุณูปการของการศึกษาญาณวิทยา  บทความเรื่องนี้อาจสะท้อนให้เห็นปัญหาบางอย่างที่สังคมเชื่อว่าความรู้ที่แท้จริงคืออะไร และความรู้เกี่ยวกับเกย์ไทยก็มีมายาคติมากมายปรากฎอยู่ในงานวิจัยหลายเรื่อง  ผู้เขียนไม่ต้องการให้งานวิจัยเกย์เป็นแค่การถกเถียงในเชิงทฤษฎีเท่านั้น แต่ควรยกระดับไปสู่การท้าทายกระบวนทัศน์ที่ทฤษฎีเหล่านั้นถูกหล่อหลอมมายาวนาน …

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา