มานุษยวิทยากับกวีนิพนธ์

 |  ศิลปะ ผัสสะ และสุนทรียภาพ
ผู้เข้าชม : 2364

มานุษยวิทยากับกวีนิพนธ์

           สายตาของฉันเปลี่ยนไปตลอดกาล

           ฉันเห็นเศษซากสีเขียวลายพรางของ

           เฮลิคอปเตอร์

           ในไร่บ้านนอกที่แคลิฟอเนียร์

           ท่ามกลางรถไถ, เครื่องนวด

           รถเกี่ยวที่ล้วนเขรอะสนิม

           ทุกอย่างเป็นชิ้นส่วนที่ผุพังของบางสิ่ง

           บทกวีขนาดสั้นข้างต้นเป็น “บทกวีสนาม” (fieldpoem) ในชื่อ Fieldpoem 30: Postwar เขียนโดย Leah Zani นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาหน่วยกู้ระเบิดในพื้นที่ที่เคยถูกปูพรมทิ้งระเบิดทางอากาศในประเทศลาวในช่วงทศวรรษ 1960-1970 เธอสนใจชีวิตของผู้คนและชุมชนในยุคหลังสงคราม แต่นอกจากจะใช้วิธีการทำงานภาคสนามโดยการฝังตัวดังที่คุ้นเคยกันในสาขาวิชามานุษยวิทยา Zani ยังใช้กวีนิพนธ์ในฐานะที่เป็นวิธีวิจัยอย่างหนึ่ง เธอเสนอว่ากวีนิพนธ์เป็นวิถีของการจดจ่ออย่างประณีตต่อชีวิตประจำวัน และบทกวีสนามก็เป็นเช่นเดียวกับบันทึกสนาม (fieldnote) นั่นคือเป็นงานที่เขียนขึ้นในสนาม สำหรับ Zani บทกวีของเธอเป็นสิ่งที่สะท้อนเรื่องราวในสนามและแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของพวกมันกับโลกภายนอกที่กว้างขวาง เป็นเหมือนหน้าต่างที่ปลุกความตระหนักรู้ถึงโลกนอกกรอบหน้าต่าง และบทกวีเป็นสิ่งที่ต่อต้านตัวมันเอง กล่าวคือ เธอเขียนบทกวีเพื่อที่จะสำรวจความหมายของสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องมากกว่าแค่ภาษา หากย้อนกลับไปยังบทกวีข้างต้น Zani ได้บันทึกไว้ว่าบทกวีชิ้นนี้ถูกเขียนขึ้นหลังจากเสร็จงานสนามในประเทศลาว เธอได้กลับไปยังบ้านเกิดที่แคลิฟอร์เนีย และเขียนบทกวีชิ้นนี้ขณะนั่งรถไฟผ่านค่ายฝึกทหารและไร่ที่ถูกทิ้งร้างในย่านชานเมืองที่กำลังขยายตัว (The Kenyon Review, 2019)

           นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา หลังจากการเกิดการวิพากษ์การเขียนของ นักมานุษยวิทยาในทศวรรษก่อนหน้า ได้ทำให้วิธีการเชิงทดลองในการสร้างงานชาติพันธุ์นิพนธ์เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย และการเขียนกวีนิพนธ์ก็เป็นส่วนหนึ่งเช่นกัน แม้จะไม่ได้เป็นงานทดลองที่อยู่ในกระแสหลัก แต่งานเขียนทางกวีนิพนธ์ก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการท้าทาย “แบบแผน” ในการเขียนงานทางมานุษยวิทยา โดยเฉพาะการเข้ามาสู่วงสนทนาที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของความจริงทางวัฒนธรรม (cultural realities) ไปจนถึงการนำเสนอข้อมูลเชิงชาติพันธุ์วรรณนา (ethnographic expression) และการเกิดขึ้นของ “กวีนิพนธ์เชิงชาติพันธุ์วรรณนา” (ethnographic poetry) ก็อยู่ภายใต้บริบทของการหักเหเข้าสู่ยุคหลังสมัยใหม่ (post-modern turn) โดยเฉพาะการทำให้เราหันกลับมาสนใจพรมแดนทางวัฒนธรรมที่พร่าเลือนระหว่างกวีนิพนธ์กับงานเขียนร้อยแก้ว (prose) เช่นเดียวกับพรมแดนระหว่างงานวิชาการกับงานศิลปะ (Maynard & Cahnmann-Taylor, 2010 : 4-5)

           อย่างไรก็ดี กวีนิพนธ์เชิงชาติพันธุ์วรรณนา (ethnographic poetry) ไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกับ “ชาติพันธุ์กวีนิพนธ์” หรือ ethnopoetics ซึ่งเป็นคำที่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1968 โดย Jerome Rothenberg กวีและนักมานุษยวิทยาที่สร้างคำดังกล่าวขึ้นมาอย่างเฉพาะเจาะจงสำหรับการศึกษาหลักการทางสุนทรียศาสตร์ในบทกวีของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกถ่ายทอดผ่านคำพูด (oral poetry) ซึ่งแตกต่างจากขนบของวรรณกรรมตะวันตก โดยการศึกษา ethnopoetics นี้ยังรวมถึงการแปลบทกวีเหล่านี้ด้วย แต่กวีนิพนธ์เชิงชาติพันธุ์วรรณนาเป็นสิ่งที่ต่างออกไป การนิยามอย่างเรียบง่ายตรงไปตรงมาที่สุดของกวีนิพนธ์เชิงชาติพันธุ์วรรณนาก็คือบทกวีเหล่านี้ถูกเขียนขึ้นโดยนักมานุษยวิทยาในสนาม ซึ่งในอดีตนักมานุษยวิทยาอเมริกันยุคแรกเริ่ม เช่น Ruth Benedict ก็เขียนงานกวีนิพนธ์ แต่เธอเผยแพร่ผลงานภายใต้นามแฝง กวีนิพนธ์เป็นงานเขียนอีกชนิดที่แยกขาดจากการทำงานวิจัยภาคสนาม เนื่องจากการกล่าวถึงกวีนิพนธ์ในการศึกษาทางวิชาการอาจส่งผลให้คุณค่าของงานวิชาการถูกลดทอนลงให้กลายเป็นเพียงเรื่องแต่ง ขณะที่ในปัจจุบันกวีนิพนธ์เชิงชาติพันธุ์วรรณนาได้รับความยอมรับมากขึ้นในฐานะรูปแบบหนึ่งของการนำเสนอความเข้าใจทางวัฒนธรรมที่ซับซ้อน เนื่องจากปฏิบัติการทางวัฒนธรรม (cultural practices) ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบระเบียบ แต่กลับเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง ไม่เป็นเนื้อเดียว ดังนั้น กวีนิพนธ์จึงเป็นหนทางหนึ่งในการเขียนถึงสิ่งที่ไม่อาจกล่าวถึง (writing the unspeakable) หรือกล่าวถึงสิ่งที่ละเอียดอ่อน ซับซ้อน กำกวม ไม่ตรงไปตรงมา เหล่านี้เป็นคุณลักษณะที่ทั้งกวีนิพนธ์และวัฒนธรรมต่างมีร่วมกัน (Maynard & Cahnmann-Taylor, 2010 : 5-6)

           สิ่งที่บทกวีเชิงมานุษยวิทยา (anthropological poems) นำมาสู่ผู้อ่านคืออะไร? เป็นคำถามที่ถูกยกขึ้นมาและตอบไว้ในบทความของ Christine Weeber นักมานุษยวิทยา กวี และบรรณาธิการผู้คัดสรรบทกวีในเว็บไซต์ SAPIENSซึ่งเธอได้ตอบไว้ว่าสิ่งที่บทกวีเหล่านี้ส่งมอบให้พวกเราก็คือสิ่งที่กระทบต่อความรู้สึก อารมณ์ การเสียดสี ความหวัง ความเจ็บปวด ความรู้สึกถึงภาวะเร่งด่วน การพังทลาย รวมไปถึงความรู้ความเข้าใจ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มีนัยถึงการเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อและการทำความเข้าใจประสบการณ์ต่าง ๆ ของมนุษย์ งานเขียนที่พยายามพาผู้อ่านให้พ้นไปจากการเหมารวมหรือการทำให้สิ่งต่าง ๆ กลายเป็นนามธรรมย่อมทำให้ผู้อ่านแทบหยุดหายใจ รู้สึกสดใหม่ เปิดกว้าง และตั้งคำถาม พื้นที่บนโลกที่ถูกนักมานุษยวิทยาเขียนถึงได้กลายเป็นสถานที่ที่มีความเฉพาะเจาะจง ด้วยการเผยให้เห็นผ่านสองมือที่ช่ำชอง ถูกมองด้วยสายตาที่ไม่ด่วนตัดสิน และถูกเขียนขึ้นด้วยประสาทสัมผัสที่ประณีต สิ่งที่ปรากฏคือเรื่องราวของผู้คน สถานที่ ประวัติศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งผู้อ่านจะพบว่าตัวเองได้ค้นพบความแปลกใหม่หรืออาจมองเห็นสิ่งใหม่ผ่านทักษะการสร้างสรรค์ของผู้เขียนในการพรรณนา การใช้ อุปลักษณ์ (metaphor) ใช้จังหวะ การตัดวรรค การใช้คำคล้อง หรือเล่นเสียง (Weeber, 2020)

           แล้วบทกวีเชิงมานุษยวิทยาแตกต่างจากบทกวีอื่น ๆ อย่างไร? ในบทความเดียวกัน Weeber ได้ตอบคำถามดังกล่าวว่าจุดสำคัญคือนักมานุษยวิทยาที่เขียนบทกวีประเภทนี้มักจะ “มุ่งสู่ภายนอก” และไม่ได้หันเหเข้าสู่การวิเคราะห์ตนเองภายในเท่านั้น การมุ่งสู่ภายนอกที่ว่าเป็นลักษณะโดดเด่นของการเข้าไปพัวพันอย่างลึกซึ้ง (deep engagement) กับโลกและผู้อยู่อาศัยบนโลก ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ และในทุกแง่มุมของความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งในจุดนี้เองจะแตกต่างจากการทำงานวรรณกรรมที่มักจะมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่โลกเชิงปัจเจกและการแสวงหาโลกภายในซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยเหตุนี้ บทกวีเชิงมานุษยวิทยาได้ทำให้เราเห็นผู้สังเกตการณ์ที่ช่ำชอง ผู้ที่รู้สึกถึงโลก ผู้ที่เข้าไปสัมผัสกับโลก โดยไม่ได้แยกตัวเองออกมา หากแต่พยายามเข้าไปสัมพันธ์ตัดข้ามความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ (Weeber, 2020)

           ขณะที่ Darcy Alexandra นักมานุษยวิทยาซึ่งทำงานภาคสนามในประเด็นผู้ลี้ภัยในพื้นที่ชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโก ในฐานะนักมานุษยวิทยาซึ่งเขียนกวีนิพนธ์ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างมานุษยวิทยากับกวีนิพนธ์ซึ่งขยายมุมมองของ Weeber ไว้ได้อย่างน่าสนใจ เธอกล่าวว่ากระบวนการเขียนบทกวีและการทำงานภาคสนามมีลักษณะสำคัญที่เหมือนกันคือการเข้าไปพัวพันอย่างเต็มที่ (fully engaged) กล่าวคือ ในการเขียน การคิด และการอ่านกวีนิพนธ์ เราจำเป็นต้องเป็นผู้สังเกตการณ์ที่เปี่ยมทักษะ ต้องจดจ่อ ต้องฟังให้ดี ต้องอยู่ในเส้นทางและพร้อมรับรู้ประสบการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น กระบวนการเหล่านี้คือการมีประสาทสัมผัสที่ตื่นตัวต่อถ้อยคำ ต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ ทักษะเชิงกวีนิพนธ์และการทำงานภาคสนามจึงมีลักษณะที่เชื่อมโยงกัน การฝึกฝนทักษะในการวิจัยภาคสนามจะช่วยขัดเกลาให้มีทักษะทางกวีนิพนธ์ที่ดีขึ้น และในทางกลับกัน การเป็นนักอ่านและนักฟังบทกวีที่ดีก็จะทำให้การทำงานเขียนทางวิชาการมีความแหลมคม กระชับและชัดเจนขึ้น Alexandra เล่าว่าทักษะเหล่านี้ช่วยให้ตัวเธอเองเข้าใจในสิ่งที่เธอต้องการจะนำเสนอได้ดีขึ้น (The Society for Cultural Anthropology, 2020)

           ด้าน Adrie Kusserow นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาผู้ลี้ภัยชาวซูดาน ก็บันทึกถึงประสบการณ์การเขียนบทกวีเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยของเธอว่ากวีนิพนธ์เป็นเครื่องมือที่เธอใช้เพื่อเข้าไปสู่พื้นที่ใจกลางซึ่งมีหลากหลายมิติของการทำงานในฐานะนักมานุษยวิทยา วิธีการดังกล่าวช่วยให้เธอเข้าไปอยู่อย่างกระชับแน่นในเหตุการณ์ ในการเคลื่อนไหว ในกระบวนการ และในความลึกของสิ่งต่าง ๆ และในขณะเดียวกันการเขียนบทกวีออกมาก็เป็นวิถีการเขียนที่เอื้อให้เธอนำสิ่งที่ยากจะพูดถึง โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำออกมาอย่างที่เธอไม่ได้รับจากรูปแบบการเขียนเชิงขนบ เช่น บทกวีอนุญาตให้เธอนำโทนเสียงที่แตกต่างกัน เช่น โทนเสียงที่เปราะบางหรือโทนเสียงที่เห็นอกเห็นใจ ที่สามารถเผยออกมาได้มากกว่าโทนเสียงของความมั่นใจหรือโทนเสียงที่เป็นเหตุเป็นผลของผู้สังเกตการณ์ที่รักษาระยะห่าง ผู้ทำหน้าที่เพียงแค่รายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากสนามเท่านั้น สำหรับ Kusserow บทกวีของเธอจึงเป็นบทกวีของความอึดอัด ที่พยายามจะทำให้ผู้อ่านรู้สึกถึงความยากลำบากที่ผู้คนต้องเผชิญจากความเหลื่อมล้ำซี่งดำรงอยู่ในโลกและในการเข้าไปเผชิญหน้ากับสนาม (Kusserow, 2017)

           ในบทความชิ้นนี้ผู้เขียนพยายามประมวลมุมมองและประสบการณ์ของนักมานุษยวิทยาและกวีซึ่งทำงานตัดข้ามไปมาระหว่างการผลิตงานชาติพันธุ์นิพนธ์และกวีนิพนธ์ เพื่อนำเสนอนิยาม วิธีการ และความเป็นไปได้ต่าง ๆ ของการทำความเข้าใจโลกและมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งกระบวนการและทักษะทางกวีนิพนธ์สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานภาคสนาม ตั้งแต่ในฐานะกระบวนการ ได้แก่ การเข้าไปพัวพันอย่างลึกซึ้งด้วยประสาทสัมผัสที่ตื่นตัว ในฐานะบันทึกสนาม ได้แก่ การเขียนบทกวีเพื่อบันทึกเรื่องราวหรืออารมณ์ความรู้สึกขณะใดขณะหนึ่ง หรือในฐานะตัวบทที่สมบูรณ์ที่ไม่แยกขาดจากการเขียนงานชาติพันธุ์นิพนธ์อีกต่อไป

           สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอจบบทความชิ้นนี้ด้วยบทกวีสนามอีกหนึ่งชิ้นของ Leah Zani (Syring, 2021: 212) ซึ่งเธอเล่าว่าเธอได้อ่านบทกวีลาวขณะทำงานภาคสนาม ซึ่งมีลักษณะเป็นบทกวีขนาน (Lao poetic parallelism) โดยในหนึ่งบรรทัดจะเป็นการเขียนคู่ขนานกัน ซึ่งทำให้เธอได้ภาษาของการเขียนถึงความรุนแรงของสงครามที่ดำเนินไปพร้อมกับความพยายามสร้างสันติภาพซึ่งทั้งสองสิ่งต่างเป็นปรากฏการณ์ที่ทั้งควบคู่และแยกขาดกัน เธอเล่าว่าการเขียนบทกวีชิ้นนี้ทำให้เธอได้ตระหนักอย่างมากว่าการทำลายและการสร้างใหม่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นคู่ขนานกันไปในพื้นที่หลังสงคราม และนี่เป็นบทกวีสนามชิ้นแรกของเธอ

           ทุ่งราบ   ฝุ่นผง

           ถูกร่อนไปทั่วทุกถิ่นที่    การแผ่ขยายของตัวมันเอง

           ความราบเรียบกลายเป็น    หลุมอุกกาบาต

           บ้านเรือนมากมาย    ถมจนเต็มด้วยเศษซาก


บรรณานุกรม

Kusserow, A. 2017. Anthropoetry. In A. Pandian & S. Mclean (eds.), Crumpled Paper Boat: Experiments in Ethnographic Writing (pp. 71-90). Durham & London: Duke University Press.

Maynard, K. & Cahnmann-Taylor, M. 2010. Anthropology at the Edge of Words: Where Poetry and Ethnography Meet. Anthropology and Humanism, 35(1), 2-19.

Syring, D. 2021. Humanistic Anthropology: Diverse Weaving about the Many Ways to Be Human. In L. Pedersen & L. Cliggett (eds.), The Sage Handbook of Cultural Anthropology (pp.198-222). London: SAGE.

The Kenyon Review, 2019. Battlefields, Fieldpoems. Retrieved from https://kenyonreview.org/kr-online-issue/2019-septoct/selections/nomi-stone-and-leah-zani-763879/?fbclid=IwAR1ACQ6BPOl0IjzyB2PpgAec07PpBwxQpSnthnRc_ClMhVF3nGooY7cl9dU

The Society for Cultural Anthropology, 2020. What does anthropology sound like: Poetry. Retreive from https://culanth.org/fieldsights/what-does-anthropology-sound-like-poetry

Weeber, C. 2020. Why Poetry + Anthropology? Retrieved from https://www.sapiens.org/culture/anthropological-poems/


ผู้เขียน
ชัชชล อัจนากิตติ
นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กวีนิพนธ์ ชัชชล อัจนากิตติ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share