ระหว่างทางกลับเมืองพรับแพรว

 |  ศิลปะ ผัสสะ และสุนทรียภาพ
ผู้เข้าชม : 1428

ระหว่างทางกลับเมืองพรับแพรว

ระหว่างทางกลับเมืองพรับแพรว*

           ๑. (ในดวงตานกฝูงหนึ่ง..)

เมฆรั้งรอใดหรือริมขอบฟ้า

หรือสายลมอ่อนล้ากว่าโดยสาร

ฟ้าแล้งจึงลิบโล่ง ดั่งลาน -

ร้างงานเทศกาลเนิ่นผ่านพ้น

           ล่างนั่นคือหลั่นลัดทางตัดสวน

ลมแล้งแต่งริ้วขบวนใบยางหม่น

แดดสนธยาทาบทาง เงาบางคน

ลำพังย่ำถนนอยู่อ่อนล้า


ยิ่งคล้อยค่ำ..

ทรงจำต่อแสงแดดของทุ่งหญ้า

จากอุกอุ่นยิ่งคุระอุดินขึ้นมา

กิ่งที่เกาะ กับฟากฟ้าร่ำตาวัน


ละคืบค่อยคลา เคลื่อนมาใกล้

ย่ามมอมแมมมีสิ่งใดเจ้าใฝ่ฝัน

จึงแนบอกถนอมนักราวรักนิรันดร์

ใช่คือย่ามแต่งขวัญกำนัลรัก ?


ก้าวนั้นหยุดลงเหม่อมองฟ้า

ที่ผีตากผ้าอ้อมเริ่มทอถัก

ก่อนผองข้าโผพรากจากกิ่งพัก

ยังทันเห็นความแตกหักวูบแววตา..


           ๒. (ระหว่างทางกลับเมืองพรับแพรว)

ตระกองย่ามข้าวปลากับอกอุ่น

เงียบงันเรือนเคยคุ้น ซ้ายขวา

สายตาระหน้าต่าง เผลอสบตา

ในพลันต่างผละหน้า ก้มมองพื้น


สักกี่ครั้ง..สักกี่ใครไม่เคยชิน

ดั่งแผ่นดินแยกปริมิติอื่น

โลกร้างดับสรรพเสียงวันคืน

พรายรื้นพลันชื้นพร่างพรางดวงตา


เขาเร่งเดิน กระชับย่ามสำรับน้อย..

ป่านนี้แม่ลูกคงคอย เหม่อหา

จากอีกหมู่บ้านเหงื่องานแลกมา

ใดจะเหว่ว้าไปกว่านี้


ยังอีกไกล — เพียงครึ่งทางเขาหยุดแหงน

ที่ปลายฟ้าแขวนผ้าอ้อมผี

หากใช้ร่วมกันได้ก็คงดี

ลูกสาวครึ่งขวบปี ได้ยืมใช้..


           ๓. (ครุ่นคะนึง)

มือโอบอุ้มแหละผลักไสไปแปลกหน้า

หลังปัดคำมารดาผูกเงื่อนไข

โลกเคยอยู่กลับตะคอกไร้เยื่อไย

สวรรค์อยู่ใต้ฝ่าเท้าของมารดา ! *


           ใช่หรือต้องน้อมรับทุกคำสั่ง

นอบฟังน้อมตามห้ามกังหา

ศาสนาคือการตักเตือน** เขาหลับตา

ถ้อยคำค้างคาเกินกว่าเค้น


           แต่นั้น — ตัวตนราวหล่นหาย

เพื่อนร่วมทางตลอดสายคล้ายไม่เห็น

ผ่านบ้านเคยอยู่คุ้มร้อนเย็น

น้ำตาเพียงหยดกลับหยาดกระเซ็นลุกเป็นไฟ

ห่วงแม่ ทั้งห่วงลูกรักเมียขวัญ

เมืองพรับแพรวเร้นสัมพันธ์น่าหวั่นไหว

ชายผู้ถือค่าตีความต่างออกไป

ยอมแม้ใครต่อใครไม่จดจำ


๔.

ละคืบค่อยคลา เคลื่อนมาใกล้

ขอบฟ้าดื่มแสงสุดท้ายอยู่ดื่มด่ำ

กระท่อมไม้ลับแล แว่วเสียงฮัม

เพลงกล่อมลูกเริ่มกล่อมค่ำแล้วนานใด


           ๔. (นกฝูงหนึ่งในดวงตาของชายคนนั้น)

สุดสายตา..

นกฝูงนั้นลับลาสู่ฟ้าไหน

ต่อเยือกเย็น —ควรอพยพไกล ?

เมื่อแผ่นดินคืนอุ่นไอค่อยกลับคืน


*เมืองพรับแพรว เป็นชื่อเรียกเมืองลับแลในภาษาท้องถิ่น อ.ละงู จ.สตูล

** วจนะของศาสดามูฮัมหมัด ซ.ล.

แผ่นดินของปู่ทวด: ความมหัศจรรย์ครั้งสุดท้าย

           ๐. (เรื่องเล่าของคนตัดหวาย)

           “ดั่งวชิระวาดครั่นครืน ปลุกทวารบาลตื่น

เคลื่อนกำแพงผาเบื้องพายับ

           อกแผ่นดินแยกขยับ ค่อยแย้มระยับ

เผยผ่องเพ็ญพื้นสุพรรณ

           ราวโลกรอบกายสูญพลัน เงียบแม้ปักษาสวรรค์

ขณะแสงทองเสียดตา

           ใกล้เพียงเอื้อมมือหยิบมา ละลังละล้า

ชั่วพลันก็คว้าส่องฟ้าไกล

           ฤดูป่าดิบชื้นทิ้งใบ ข้ามองออกไป

จำหมายเพื่อจะกลับมา

           แนวไม้ร้างใบสุดสายตา เกาะตะเกียงเบื้องหน้า

สมาสหัวเกาะเขาใหญ่

           พลันแหวนสลักเรืองไหว ทวารบาลละเมอหรือไร

เคลื่อนคืนกำแพงไว้หวงแหน..”

           ๑. (แหวนนกยูงสลักและอักษรพราหมี)

ကံကောင်းပါစေ

           ขยับยกเพ่งกับจันทร์รัศมี..

วาบอักษรพรามมีบนเรือนแหวน

คงขยับเลื่อมปีกนกยูงรำแพน

ไหวเรื่องเล่าครั้นดินแดนแผ่แสนไกล..

           ครั้งนามเมือง ถนน ตำบล บ้าน..

คงเรียกขานตามลุ่ม บึง ควนลูกไหน

บ้างตามผู้บุกเบิกพลิกผืนไพร

ก่อนพรมแดนสมัยใหม่เกิดกักกัน

           ครั้งนั้นขบวนของคนยาก..

ต่างล่องหลากลาแหล่งดินแล้งฝัน

ไปแผ้วถาง ต่างที่ทางสร้างคืนวัน

ปู่ทวดก็เช่นกัน สู่เกาะไกล

           ปู่เล่าว่า...

อ่าวพันเตมะละกาบรรพสมัย

ปู่ยังเด็ก ป่าสนสูงยังเสียดใบ

ปู่ทวดปลูกเรือนไว้ที่เชิงภู

ปลูกหมากไม้ หาปลา เผาถ่าน

ค่อยขยายเครือย่านย้ายมาอยู่

แล้วค่ำที่กระโดนทิ้งดอกพรู

ทวดก็ยินเสียงกู่ จากลานทราย

นอกชาน, คืนนั้น

เรื่องเล่ามหัศจรรย์ชายตัดหวาย

ยืนยันด้วยเรือนแหวนทองเลื่อมพราย

ก็เปลี่ยนมือเป็นหมายให้สัญญา..


           ผ่านปี, เพิ่งรู้ข่าวชายตัดหวาย..

เรือแตกตกตายไปก่อนหน้า

คืนนอกชานเงียบงันวันเวลา

ปู่ทวดคลี่ห่อผ้า เพ่งเพ็งจันทร์

แหวนสลักนกยูงขยับไหว

เลื่อมไหลสู่อักษรกลมฟ้อนฝัน

ปัลลวะ พราหมี ใดกัน

หมายถึงใดนั้นอยากรู้นัก

และดึกคืนนั้น..

ปู่ทวดฝันเห็นเสากระโดงเรือโค่นหัก

ก่อนหญิงสาวและชายชราในเก๋งพัก

พรึบหายเพียงน้ำทะลัก พริบตา

ยังทันเห็นแหวนสลักในมือซ้าย

กับแสงขรรค์วับพรายเหนือดวงหน้า

อาการนบนอบส่งมอบมา

แหวนและขรรค์เรืองพร่า ลายเดียวกัน


หลังร่วงหล่นสู่ฝันอันล้ำลึก

น้ำค้างดึกพร่างตัวหัวอกสั่น

ปู่ทวดตื่นพบว่าป่าเงียบงัน

และปลายชานนั้นคือชายชรา

ริ้วสีกรักที่สวมคือใบเรือ

ยิ้มเรื่อ มองดาวพราวฟ้าเบื้องหน้า

และจู่จู่ก็ล่องลิบชั่วพริบตา

ทิ้งเสียงคำปริศนา ให้จดจำ

ကံကောင်းပါစေ ကံကောင်းပါစေ ก่านเก่าป่าเส่ ก่านเก่าป่าเส่

๒.

แม้ผานั้นระบุชื่อปู่ทวด.. *

แต่ร้าวรวดอกปู่คงครวญคร่ำ

เรื่องเล่ายังคงเล่าอยู่ซ้ำซ้ำ

ทั้งแผ่นดินดั่งพลิกคว่ำคืนเบื้องบรรพ์

หลังอพยพโยกย้ายคืนชายฝั่ง

พื้นที่ความหลังกลับรกร้างเร็วอย่างฝัน

ความลบลืมคือเถาหญ้าของคืนวัน

พลันกระหวัดต้นทรงจำเงียบงำไว้


๓. (ความมหัศจรรย์ครั้งสุดท้าย)

           ฝูงนกที่ผ่านตาก่อนฟ้าค่ำ

เหมือนถ้อยคำใบ้ทางก้าวย่างใหม่

รักแม่ ก็รักแม่สุดหัวใจ

แต่รักลูกกว่าใด ไม่แพ้กัน

           จากปู่ทวด ถึงปู่ สู่รุ่นหลาน

อาจเรื่องเล่าเหลือนิทานที่ปานฝัน

พรุ่งนี้โรงตึ๊งจะตีสักกี่พัน

อาจเหลือความมหัศจรรย์เพียงเท่านี้..


* หมายถึงผาโต๊ะบู ที่เรียกตามผู้เคยบุกเบิกใช้สอยพื้นที่ คือโต๊ะบู ปัจจุบันปรับปรุงเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ และ จุดชมทิวทัศน์ สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 60 เมตร อยู่ด้านหลังอาคารที่ทำการอุทยานแห่งชาติตะรุเตา


ลับลาลับแล: แผลที่ย้อนบาดเฉือนมีดทุกค่ำคืน

๑.

ออกจากดินแดนแสนเหว่ว้า

ไปสู่ความแปลกหน้าอีกถิ่นที่

ไปแลกเปลี่ยนเรี่ยวแรง วินาที

เป็นเดือนปีลมหายใจไม่คุ้นเคย


จากกระท่อมลับแลด้วยน้ำตา

คำลาใดใดไม่เอื่อนเอ่ย

ทุกขณะหลับตาเลี่ยงความเฉยเมย

นกฝูงนั้นบินผ่านเลยอยู่ซ้ำซ้ำ


๒.

ประคองสติบนพรมแดนอันสุ่มเสี่ยง

ทุ่มเถียงตัวเองทุกคืนค่ำ

นี้เพียงการหาเหตุให้การกระทำ

หรือใช่คำตอบอันชอบแล้ว..

น้ำตาแม่อาจยังคงหลั่งไหล..

ยืนยันทางที่เลือกให้อยู่แน่แน่ว

เมฆในตาบ่าเหตุผลเอ่อท้นแวว

หรือควรแล้ว — ครอบครัวได้ใช้ชีวิต ?


ผ่านโลกภายนอกกี่เปลวไฟ

หลอมสร้างภายในเบี้ยวบิด

บาดแผลแม้ซ่อนไว้มิดชิด

ก็แผลงฤทธิ์ไหม้หม่นทุรนทุราย

หมื่นองศาอารมณ์ความรู้สึก

ยิ่งแผดลึกโลกทัศน์ลงสูญสลาย

ทัศนะผิดรูปจากหลอมละลาย

ภาพสะท้อนพร่าพรายไม่คมชัด

ผิดถูกความคิดผิดสัดส่วน

จึงสงวนถ้อยคำ และป้องปัด

บางครั้งถ้อยคำเขาอัตคัด

บางคราวก็ขนัดล้นเกิน

บางคราวความคิดเขาลุ่มลึก

บางคราวคิดนึกเขาตื้นเขิน

เป็นคนชำรุดคงดุ่มเดิน

งกเงิ่นประคองสติอย่าวิกล..


๓.

รับรู้สายตาไม่เข้าใจ..

อึดอัดห้วงเงียบใบ้อันสับสน

กลายสู่แปลกปลอมไม่หลอมปน

เป็นส่วนหนึ่งของผู้คนส่วนใด


๔.

คำนึงทุกครั้งที่หลับตา..

นกฝูงนั้นลับลาสู่ฟ้าไหน

ต่อเยือกเย็น —ที่อพยพไกล

เมื่อแผ่นดินคืนอุ่นไอจะกลับคืน


ผู้เขียน

ฮาฟิส เด็นเนียม

เกิดที่จังหวัดสตูล รู้จักวรรณกรรมช่วงเรียน ปวช.3 หลังจากเนื้อเพลงที่เขียนไว้ได้รับเลือกตีพิมพ์ในคอลัมน์’บทกวี’ของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ระยะหลังมีบทกวีเผยแพร่ในนามต่าง ๆ ผ่านหลายพื้นที่ กำลังหลงไหลบทกวีของวลาดิเมียร์ โฮลัน และคิดฝันเสมอว่าจะรวบรวมเรื่องเล่าระหว่างทางชีวิตเขียนเป็นนิยายสักชิ้น


แรงบันดาลใจ มุมมอง หรือสิ่งที่ต้องการนำเสนอ

ผู้เขียนสนใจกระบวนการกลายเป็นคนนอกในบ้านตัวเองของคนหนึ่งจากสถานการณ์ขัดแย้งระดับต่าง ๆ ที่หากมองจากสายตาทั่วไปอาจไม่เห็น การได้รับรู้เรื่องราวทำให้เข้าใจผลกระทบที่หลอมสร้างพฤติกรรม การตัดสินใจของเขาในเวลาต่อมา และอยากนำเสนอเป็นงานสักชิ้น


ความรู้สึกหรือมุมมองในการเขียนหลังจากเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมโครงการวรรณกรรมสนาม

ขอขอบคุณ ศมส. วิทยากรและผู้ดูแลทุกท่านสำหรับโอกาสร่วมโครงการดี ๆ ที่ช่วยเพิ่มเติมมุมมอง การเรียนรู้วิธีทางมานุษยวิทยาในการเข้าถึง เก็บข้อมูลเพื่อปรับใช้ ขอบคุณคำแนะนำจากวิทยากรเพื่อพัฒนาชิ้นงานและเป็นแนวทางในการพัฒนาชิ้นอื่นๆที่จะทำต่อ ๆ ไป


 

ป้ายกำกับ วรรณกรรมสนาม ฮาฟิส เด็นเนียม

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share