มหากาพย์อันไม่อาจรู้จักจบสิ้นของความยากจน

 |  ศิลปะ ผัสสะ และสุนทรียภาพ
ผู้เข้าชม : 1856

มหากาพย์อันไม่อาจรู้จักจบสิ้นของความยากจน

ภาค 1 คน-อพยพกวาดต้อน

มวลภาพกลุ่มคนวูบไหว

รูปเงาไหลเลื่อนเคลื่อนไป

โคลงเคลง รางเลือน

หญิงชาย ผู้เฒ่า

อุ้มลูกจูงหลาน

กอบเก็บบรรทุกข้าวของ

ละทิ้งบ้านเรือน

เปลวไฟและควันดำพวยพุ่งไว้เบื้องหลัง

เดินดลปะปนกองเกวียน

ลัดเลาะแรมทาง

จากลำน้ำใหญ่สีปูน

ผ่านลำน้ำคดเคี้ยวสีคราม

ฝ่าดงป่าใหญ่รกทึบ

แทรกเสียงบรรเลงจากกระดิ่ง ขอ โปง*

ภาพซ้อนทับกับคนอีกกลุ่ม

ผูกมัดยึดกุมร่างจองจำ

ระหกระเหินทุลักทุเล

ผ่านค่ำคืนเหน็บหนาว

ผ่านวันแดดจ้าฟ้าจัด

ผ่านวันฟ้าหลัวหมองหม่น

ผ่านวันฝนคลั่งกระหน่ำ

ร่างกายถูกยื้อยุด

ผลักไสให้เซถลาล้มลุก

หัวใจถูกกระหน่ำโบยตี

ฉุดกระชากให้จากไกลแผ่นดินเกิด

ครัว บ้าน อ้อมกอดของพ่อแม่

แหละต้นขยองใหญ่นั่น...**


มองซ้ายแลขวา

ไม่รู้ห้วงหนวันเวลา

บ้างป่วยไข้ บ้างล้มตาย

พลัดพรายแตกกระสานซ่านเซ็น

เขาเรียกเราว่าไพร่

เติมเต็มท้ายด้วยนามแห่งชาติพันธุ์เรา

ด้วยถ้อยเสียงสำเนียงใดหรือ

ที่มันกลับกลายเป็นถ้อยคำหยามหยัน

เราสร้างบ้านแปงเมืองนี้

ให้รุ่งเรืองอร่าม

จากกองเลือด หยาดเหงื่อ และคราบน้ำตาของเรา

แต่เรากลับแปลกแยกกับมัน

เขาให้เราลงหลักปักฐาน

บ้านที่ไปไม่ถึงแต่ไม่อาจย้อนกลับ

แล้วปล่อยให้เมืองห่อหุ้มเรา

หล่อหลอมและกลืนกินเรา

ให้เป็นองคาพยพเดียวกันกับมัน

จนเป็นเนื้อเดียวกัน...


* กระดิ่ง ขอ โปง เป็นเครื่องที่ทำให้เกิดเสียง สำหรับแขวนคอโคหรือกระบือ กระดิ่งทำจากโลหะ ขอและโปงทำจากไม้

**ขยอง หรือกะยอม เป็นคำอีสาน หมายถึงต้นพยอม


ภาค 2 ชะตากรรม

จู่จู่ก็ผุดโผล่ขึ้นมาจากเมืองนี้

มหานครศูนย์กลางของทุกสรรพสิ่ง

อำนาจและความภาคภูมิ

เมืองกลับชักเชิดเรา

ด้วยพันธนาการล่องหน

แรกลืมตามาแลโลก

พ่อแม่พี่ป้าน้าอาน้องนุ่ง

ล้วนห้อมล้อมอยู่รอบตัว

เมืองตระการตาแห่งนี้

ตระหง่านงามเรืองรองมีชีวิต

คร่อมคลุมแม่น้ำใหญ่

ปล่อยเราให้เลี้ยงตัวเอง

หากินมาป้อนปากป้อนท้อง

พลีเหงื่อเพื่อแลกเงิน

พอชะลอหิวประทังชีวิต

ยากจน...

ด้วยครัวไม่กว้างพอจะครอบ

เลี้ยงคนในบ้านได้ถ้วนทั่ว

จึงกระจัดกระจายเร่ขายน้ำแรง

จนเกินกว่าเจียดเวลารู้อ่านรู้เขียน

ได้ไต่เต้าจากความจนไปสู่ความมี

เรากินยาให้อึดทนเผชิญงานหนัก

กินเหล้าคลายปวดเมื่อยยามเลิกพัก

ซ้ำซ้ำจำเจเช่นนี้อยู่เนิ่นนาน

สมองไม่เหลือเผื่อไว้ให้คิด

ทำได้ก็แค่เพียงรู้สึก

มีวันใดบ้างเล่าที่เราเผยรอยยิ้มละมุน...

เขาเชื่อว่าเขาคือพรานไพรแห่งป่าปูน

ลัดเลาะตามตรอกซอกซอย

ปีนป่ายไปตามผาตึกสูง

หรือหาบคอนฉาบเท

ตามวิถีแรงงาน

เป็นคนเมืองขมีขมัน

ภาคภูมิในส่วนหนึ่งของศูนย์กลาง

พึงใจในดีงามกับพอเพียง

ในวันเปลวไอแดดร้อนระอุ

พลันโทรศัพท์เก่าคร่ำก็ร้องลั่น

ว่างงานมาหลายวัน เขารับปากโดยทันที

เดินทางหลายต่อด้วยรถร้อน

กว่าจะมาถึงก็เย็นย่ำ

หิวโหย...

ยังไม่มีสิ่งใดตกถึงท้อง

สอดคล้องสัมผัสกับเงินเพียงเล็กน้อยที่เหลืออยู่

กองคนงานเดินทางไปอีกสุดมุมเมืองเสียแล้ว...


ภาค 3 ชัยชนะ

ท้องฟ้ายามสนธยา

เมฆสีส้มสุกปลั่งตัดกับน้ำเงินเจือชมพูผสาน

ดวงอาทิตย์เล่นบทจิตรกรใหญ่ปาดป้ายระบายท้องฟ้า

งดงาม...

นิ่งเฉยราวพระผู้เป็นไป

ทิวแถวตึกรามบ้านช่องตระหง่าน

สร้างเงาทะมึนเบื้องหลังแสงอาทิตย์นั้น

ไม่รู้สึกรู้สาต่อสิ่งใด

เป็นประจำเช่นนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ในห้วงยามนี้ที่ฝูงนกบินกลับรัง

เล่นล้อกับกิจกรรมมนุษย์เบื้องล่าง

ผู้คนใบหน้าสีเทาเร่งรีบ

รถราขวักไขว่ร่วมปล่อยฝุ่นควันดำ

ร้านรวงเสนอตัวให้จับจ่ายใช้สอย

ข้าวปลาอาหารและสรรพสิ่งเลือกสรร

ต่างเบียดเสียดยัดเยียด ณ ย่านถิ่นที่นั้น

แล้วรุดกลับนิวาสสถานพักพิงแห่งตน

ชายชรามอซอทั้งใบหน้าและร่างกาย

กับสิ่งที่คล้ายจะเรียกว่าเสื้อผ้า

งกงกเงิ่นเงิ่น สายตาเฝ้ามอง

แน่วแน่ แต่ภายในกลับเลื่อนลอย

ไร้หวัง...

ร้านอาหารข้างทาง ผู้คนเต็มร้าน

เขายืนนับเงิน ก้มก้มเงยเงย

คล้ายตัดใจเดินไปอีกร้าน

และอีกร้าน และอีกร้าน...

ละล้าละลังที่จะร้องขอ

เดินผ่านขอทาน

มองเงินในขันบู้บี้

เขาเดินเลี่ยงมามุมมืด

โดดเดี่ยวและร้างไร้

โทรหาใครสักคน

ไม่มีการตอบรับ

รำพึงเพ้อเลือกพื้นทางเดิน

ให้การนอนต่อสู้กับความหิว

แหละสะดุ้งตื่นเมื่อค่อนคืน

เมืองมืดมิดและเงียบเชียบ

ไร้หัวใจ...

ท้ายที่สุดจึงหยัดกายขึ้นลุกยืน

ประกาศชัยอย่างคนเช่นเขา

ขาสั่นโรยแรงทว่าหยิ่งทะนง

เอาความอดชนะความหิว

ความเต็มของหัวใจ

เข้ามาแทนท้องที่ว่างโหวง

รอการมาเยือนของวันพรุ่ง...


ผู้เขียน

สรพจน์ เสวนคุณากร

อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สนใจด้านการสร้างสรรค์ทางทัศนศิลป์ ศิลปะการแสดง วรรณกรรม ศิลปะสื่อการแสดงสด ทฤษฎีทางวรรณกรรม สุนทรียศาสตร์ ปรัชญา และสังคมวิทยา เฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นชีวิตประจำวัน และความเป็นเมือง


แรงบันดาลใจ มุมมอง หรือสิ่งที่ต้องการนำเสนอ

           สภาวะความเป็นไทยเกิดจากความเป็นลูกผสมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ การกดทับจากอาณานิคมภายใน ทำให้ผู้คนไม่อาจหลุดพ้นจากวาทกรรมที่กลุ่มอำนาจทางสังคมกำหนดบงการ ให้โง่ จน และเจ็บ อยู่ซ้ำเดิมได้ ซ้ำยังถูกครอบให้เข้าใจว่าตนเป็นอยู่อย่างปกติสุขดีแล้วอีกด้วย


ความรู้สึกหรือมุมมองในการเขียนหลังจากเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมวรรณกรรมสนาม

           จากการฝึกอบรมได้พบกับผู้เข้าอบรมซึ่งมีที่มาจากประสบการณ์หลากหลาย ทำให้เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองซึ่งกันและกัน รวมทั้งได้รับคำแนะนำจากวิทยากรที่เป็นประโยชน์ต่องานเขียนเชิงสร้างสรรค์ ส่งผลต่อการฝึกฝนพัฒนางานเขียนในเชิงมานุษยวิทยาให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น


 

ป้ายกำกับ วรรณกรรมสนาม มหากาพย์อันไม่อาจจบสิ้นของความยากจน สรพจน์ เสวนคุณากร

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share