(คน)ทามในความทรงจำของคนถาม
ทาม... แม่น้ำ เวลา ชีวิต
ณ ที่แผ่นดินและผืนน้ำจรดเป็นผืนเดียว
ดินแดนที่ถูกตีมูลค่าว่าแร้นแค้นที่สุด
นักเศรษฐศาสตร์ไม่ลืมตีมูลค่าการถมลำน้ำ
นักปกครองสมาทานวาทกรรมอีสานแล้ง
มดลูกของแม่น้ำตั้งครรภ์สิ่งมีชีวิตมานานนับร้อยปี
ให้กำเนิดความอุดมสมบูรณ์
ให้กำเนิดความงามในนามลูกแม่ออกมา
ล้วนแต่ดำรงอยู่ด้วยวิถีเดียวกัน
ผูกโยงย้ำสัมพันธ์สายเลือดแม่
แตกกระสานซ่านเซ็นหลังจากแม่ถูกขัง
เจ้านายผู้สมาทานวาทกรรม
แม่ถูกฆ่า ต่อมาจึงตายในที่สุด
ปลาหนุ่มสาวรู้สึกสับสน
ปลาหนุ่มสาวถามถึงการว่ายทวนน้ำ
ปลาหนุ่มสาวถามถึงความอิสระของสายน้ำ
ปลาบางตัวว่ายกลับมาบอกเวียนว่ายอยู่ที่นี่จะปลอดภัย
ว่ายทวนน้ำออกไปจะเจอชาวประมงใจร้าย!
แม่น้ำของเธอ
แม่น้ำของเธอเป็นเช่นไรในวันนี้
แม่น้ำของฉันที่นี่ว่างเปล่า
แม่น้ำของเธอคงมีหลายเรื่องราว
แม่น้ำของฉันก็ปวดร้าวไม่ต่างกัน
ยังเดินทางอยู่ใช่ไหมแม่น้ำ
หรืออยู่โดยไร้ความงามความสร้างสรรค์
ปราการที่กั้นเราไว้ตรงนั้น
พรากเอาวิญญาณเธอไปด้วยไหม
แม่น้ำของเธอเป็นเช่นไรในวันนี้
แม่น้ำของฉันที่นี่...ร่ำให้
เธอรื่นรมย์หรือรวดร้าวกับสิ่งใด
เมื่อแม่น้ำหยุดเคลื่อนไหวไร้ชีวิต
ป่าทามป่าใคร
เป็นอย่างไรในวันนี้ที่ทามทุ่ง
กลิ่นปลาแดกยังคลุ้งอยู่หรือไม่
ปลาหนุ่มสาวเจ้าจากวังปลาไป
กลับคืนวังฝั่งมูลไหมหรือไม่คืน
ในนามการพัฒนาอันบ้าคลั่ง
ที่ถาโถม ถม ทาม – น้ำทั้งผืน
ในนามรัฐ ประกาศตัดขาดครืน
ก็ขมขื่นสูบกินทั้งวิญญาณ
ไม่สูญสิ้นแค่แผ่นดินและผืนน้ำ
คนกับทามก็สูญสิ้นและร้าวฉาน
ร่องรอยตรากตรำในตำนาน
กลายเป็นเรื่องเล่าขานความทรงจำ
ในนามการพัฒนาอันมืดบอด
ทิ้งร่องรอยตกทอดความตกต่ำ
อีสานแล้งส่งต่อวาทกรรม
อีสานเขียวเคี้ยวขย้ำซ้ำกำซาบ
เราเคารพดินและน้ำด้วยความเชื่อ
ในบุ่งทามเรืองเรื่อมาชั่วกัป
ปลาแดกจากไหในสำรับ
จกจ้ำกับข้าวจากเล้าเลี้ยงเรามา
ผู้เขียน
วิภาดา ฉุนกล้า ชื่อเล่น ก๊อกแก๊ก ปัจจุบันเปิดร้านกาแฟสด ก่อนหน้านี้ทำงานเป็นนักพัฒนาเอกชน NGOs ชื่นชอบอ่านหนังสือวรรณกรรมประเภทบทกวีและมีโอกาสได้เขียนบทกวีบ้างแต่ไม่มากนัก
แรงบันดาลใจ มุมมอง หรือสิ่งที่ต้องการนำเสนอ
มุมมองที่ต้องการนำเสนอผ่านผลงานชิ้นนี้ก็คือเสียงและสิทธิของคนลุ่มน้ำที่เมื่อก่อนไม่มีใครสนใจฟัง ไม่รู้จัก ไม่รับรู้ พวกเขารวมตัวกันเป็นขบวนการประชาชนโดยใช้ตนเองเป็นเครื่องหมายยืนยันความเป็นเจ้าของสิทธิมาอย่างยาวนาน ลุกขึ้นต่อสู้กับอำนาจของรัฐที่คุกคามวิถีชีวิต วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ
ความรู้สึกหรือมุมมองในการเขียนหลังจากเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมวรรณกรรมสนาม
รู้สึกกดดันในการที่จะเขียนผลงานออกมาให้ได้ดี เพราะถือว่าตนเองยังเป็นมือใหม่ในการเขียนบทกวี แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการนี้ ได้พบเจอและได้รับความรู้จากวิทยากรทำให้โลกทัศน์การอ่านและเขียนบทกวีนั้นกว้างมากยิ่งขึ้น ต้องขอขอบคุณผู้จัดงานโครงการ ขบ คิด ค้นเขียน วรรณกรรมเชิงมานุษยวิทยาอย่างมาก ที่ได้จัดโครงที่เป็นประโยชน์นี้ขึ้นสำหรับผู้สนใจงานวรรณกรรม ทั้งยังเป็นพื้นที่สำหรับเผยแพร่ผลงานของนักเขียนที่หลากหลาย เป็นโอกาสของโลกวรรณกรรมที่จะสร้างสรรค์ผลงานผ่านมิติด้านมานุษยวิทยา ให้หลากหลาย เป็นประโยชน์ต่อสังคม
ป้ายกำกับ วรรณกรรมสนาม (คน)ทามในความทรงจำของคนถาม วิภาดา ฉุนกล้า