NUWA CITY

 |  ศิลปะ ผัสสะ และสุนทรียภาพ
ผู้เข้าชม : 3112

NUWA CITY

 

Part 1: ค่ายอพยพ (จุดอ้างอิง: ปีที่ 6 ของนูว่า = ค.ศ. 2076 บนโลก)

1.

ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์

เสนอว่า ระยะทางและเวลาขึ้นอยู่กับผู้สังเกตการณ์

ถ้ามองจากมุมนี้ ดาวโลกทัศนวิสัยเป็นสูญ

8 เดือน ข้ามปริภูมิ-เวลาจากบ้านเก่าถึงนูว่า

เครื่องหลับยาว ปลุกเราทุก 2 วีคบนอวกาศ

ลดอาการทางประสาท เลียนแบบภาวะจำศีล

ตั๋วเที่ยวเดียวของยานทาร์ดิเกรตพาลงจอด

ชาหลงลืมห้ารสถูกเสิร์ฟให้คลายกังวล

ความอยู่รอด ความฝัน ความมั่งคั่ง ความถูกต้อง ความสงบ

อยากจดจำสิ่งใดให้ชัดก็เลือกถ้วยนั้น

ผู้ตั้งรกราก 2,000 คนแรก มาถึงในปี ค.ศ. 2065

ID ของพวกเขาขึ้นต้นด้วย 65-xxx-xxx

การอุบัตินั้นนับปีที่ 1 ของนูว่า

จุดอ้างอิงระหว่างเรากับอดีต เหลือเพียงเลข ค.ศ.

การรับรู้ระยะไกล ใช้เครื่องมือไม่ใช่ทรงจำ


2.

ลำโพงประกาศซ้ำ ระหว่างเดินสู่โดมหลักเพื่อรายงานตัว

{ฮูล่า นูว่า! ยินดีต้อนรับสู่บ้านหลังใหม่

โปรดทบทวนอีกครั้ง เงื่อนไขที่ท่านทราบก่อนออกจากโลก}


ปัจจุบัน ปีที่ 6 ของนูว่า หรือ ค.ศ. 2076 บนโลก

เลขประจำตัวของท่าน ขึ้นต้นด้วย 76-xxx-xxx

จงจดจำจุดอ้างอิงไว้เสมอ

ชื่อใหม่ AI จะรันตามคุณสมบัติเฉพาะ

เซ็นสัญญาทำงานตามความสามารถหรืออาสาสมัคร

การเกษตรและวิศวกรรม รับแรงงานจำนวนมาก

เมนูซิเนเจอร์ของโรงอาหารส่วนกลาง

ตั๊กแตนทอด เสริฟ์พร้อมกัวคาโมเล ตอร์ติญ่าและซัลซ่า

เครื่องดื่ม ผงโปรตีนจากพืชผสมจุลินทรีย์จิ๋ว

คอร์สเปลี่ยนโภชนาการจากโลกบอกชัดแล้ว

อาหารเหลวดูดซึมง่าย ปริมาณของเสียต่ำ

นูว่าได้รับเอกสิทธิ์จำกัดพลังงานในภาพรวม

ตั้งแต่น้ำหนักอาหารจนถึงของเสียที่ขับออก

{ฮูล่า นูว่า! ยินดีต้อนรับสู่บ้านหลังใหม่

โปรดทบทวนอีกครั้ง เงื่อนไขที่ท่านทราบก่อนออกจากโลก}


ที่พักฝังในหน้าผาเพื่อลดปัจจัยผันผวน

ระดับความสูงและขนาดห้องบ่งชี้ด้วยภาระงาน

อาคารทรงโดมสร้างด้วยระบบการพิมพ์ 3 มิติ

ติดเครื่องเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นออกซิเจน

ปรับอุณหภูมิคงที่ คุมความดันไม่ให้ร่างแตก

นูว่า เนรมิตสวรรค์ใหม่บนซากนรกเก่า

นูว่า ท้าทายขีดจำกัดเพื่อให้จักรวาลคัดสรร

นูว่า ใช้ระบบติดตามส่วนบุคคลโดยการฝังไมโครชิพ

นูว่า จัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ผู้ถือบัตรพลเมือง

นูว่า ควบคุมการสร้างครอบครัวหรือวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่ม

ขณะหลายพันล้านสูญสลายพร้อมทรงจำแสนงาม

ท่านคือผู้รอด พลเมืองรุ่นแรกอย่างเป็นทางการ


{ฮูล่า นูว่า! ยินดีต้อนรับสู่บ้านหลังใหม่

โปรดทบทวนอีกครั้ง เงื่อนไขที่ท่านทราบก่อนออกจากโลก}


ท่าน ยินยอมเข้าสู่กระบวนการสร้างโลกใหม่

ท่าน ผลิตประชากร เพิ่มแหล่งอาหาร สร้างอารยธรรม

ท่าน คือผู้กำหนดชะตากรรมของนูว่า

ทุก 2 ปี เราคัดสรรพลเมืองรุ่นต่อไปตามคำร้องจากโลก

อีกหลายเมืองที่ยอดเยี่ยมกว่าจะเกิดขึ้น

เพื่อสถาปนานครรัฐ Tempe Mensa ในปีที่ 100

ระบบการปกครองจะเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยทางตรง

อิสรภาพที่คุ้นเคยบนโลก ต้องรอศตวรรษหน้า

ราคาตั๋วพลเมืองอาจสูงถึง 300,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ

หากท่านยอมรับ – เดินผ่านอุโมงค์ฆ่าเชื้อครั้งสุดท้าย

หากท่านปฏิเสธ – ถอดชุดป้องกัน ออกจากอาคารได้ทันที

โปรดทบทวนอีกครั้ง!

เงื่อนไขที่ท่านทราบก่อนออกจากโลก


 

Part 2: ดำรง-คงอยู่ (จุดอ้างอิง: ปีที่ 36 ของนูว่า = ค.ศ. 2143 บนโลก)


Far far away, Far far away

เรามาไกลเหลือเกิน แต่อะไรยิ่งใหญ่กว่าเรา

บรรพบุรุษผู้ตั้งรกรากฝากคำถามทิ้งเอาไว้


1.

แม่มาถึงในปีที่ 6 ของนูว่าและตั้งท้องฉัน 4 ปีถัดมา

ข้อปฏิบัติเคร่งครัดและการจำกัดทรัพยากร

ตัวอ่อนดึงสารอาหารมาใช้อย่างเข้มข้น

อัตราการตายหลังตั้งครรภ์สูงจนน่าตกใจ

สูญเสียมวลกระดูก กล้ามเนื้ออ่อนแรง ตาเป็นต้อ

กว่าครึ่งกำพร้า

โครงการคุณแม่หมวกแดงจัดตั้งเพื่อดูแลทารก

Gen Mars ชื่อเรียกพลเมืองดาวอังคารโดยกำเนิด

แต่สิทธิ์เสมอหน้า มิใช่ของทุกคน

           “[..] นูว่าตั้งอยู่บนภูมิภาคเท็มเมนซ่า

           ที่ราบสูงรูปโต๊ะสุดตากว้างใหญ่

           1 วัน มี 24 ชั่วโมง 37 นาที

           1 เดือน มี 28 วัน

           1 ปี มี 24 เดือน หรือ 668 วัน

           ฤดูกาลไม่ต่างจากโลกแต่นานเป็นสองเท่า

           20 และ -63 องศาเซลเซียส

           อุณหภูมิกลางวันจนถึงค่ำคืนที่มนุษย์โลกเกินต้าน

           ชั้นบรรยากาศอบอวลคาร์บอนไดออกไซด์

           แรงโน้มถ่วงต่ำกว่าโลก บริหารกล้ามเนื้อคือกฎเหล็ก

           พระจันทร์คู่ โฟบอสและดีมอส

           ภูเขาไฟโอลิมปัสมอนสูงชนะเอเวอเรสต์สามเท่า…”

คุณแม่หมวกแดงคนหนึ่งสอนฉันตั้งแต่สามขวบ

ความรู้ทั่วไปทางภูมิศาสตร์ รู้จักตัวเองย่อมสำคัญเสมอ


2.

Gen Mars ต้องผ่านหลักสูตรผู้รอดแห่งนูว่า

ก่อนได้เลขทะเบียนพลเมืองและเซ็นสัญญาจ้างงาน

หากอ่อนแอจะถูกเกณฑ์ไปพัฒนาพื้นที่ห่างไกล

ตัดสิทธิ์ผู้ให้กำเนิด มีเพียงสวัสดิการยังชีพพื้นฐาน

ผู้ซื้อตั๋วพลเมืองจากโลก ถูกทดสอบวิธีเดียวกัน

แม้รวยเหลือ หากไม่ผ่านเกณฑ์ นูว่าก็ไม่รับ


ยูนิตของฉัน ความสูงระดับกลางของ Cliff Ville

นักวิทยาศาสตร์ สถาปนิก วิศวกร เพื่อนบ้านส่วนมาก

ยอดผา สำหรับนักลงทุนและเครือข่ายผู้ก่อตั้ง

สัญญาระบุชัด เสียกรรมสิทธิ์เมื่อออกจากงานหรือตาย

ไม่สามารถโอนเป็นมรดก ขาย ให้เช่า

หลังผ่านการสอบวัดทักษะ ฉันได้งานในโมดูลเพาะปลูก

ผู้เชี่ยวชาญด้านเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็ก

วิชาเทคโนโลยีการเกษตร ช่วยขยับวิวให้สูงขึ้น

หลายสิบชั้นทีเดียว จากยูนิตแรกของพ่อแม่


3.

จอโฮโลแกรมแสดงข้อความทางไกล นั่น! หลานของแม่

อายุพอกับฉัน แม่เธอย้ายจากไทยไปออสเตรเลีย

เป็นลูกครึ่งก็จริง แต่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับไทยสักนิด

ฉันจึงหมดหวังจะถามถึงต้นตระกูล

หลังผ่านหลักสูตรเดนตาย เธอตื่นเต้นรอวันเดินทาง

หน้าต่างเชื่อมโลกและดาวอังคารใกล้เปิดแล้ว

เนื้อหาเล่าวิกฤตใหญ่บนโลกที่ฉันไม่เคยไป

ผ่านตาเพียงพาดหัวข่าวเป็นระยะ

           “ผลวิจัยชี้ ดาวโลกปนเปื้อนด้วยสารเคมีชั่วนิรันดร์ต่อเนื่องกว่าศตวรรษ”

           “หลังสงครามโลกครั้งที่ 5 สิ่งแวดล้อมเสื่อมขั้นสุดจากอาวุธนิวเคลียร์”

           “นักวิจัยพบไมโครพลาสติกในรกของเด็กแรกเกิด คาดส่งต่อแม่สู่ลูก”

           “สถิติรอบ 50 ปียืนยัน โลกไม่มีสถานที่ปลอดภัยจาก PM 2.5”

           “กลุ่มอีลิทขอลี้ภัยสู่นูว่าด้วยการแช่แข็ง ลั่น! พร้อมจ่ายแพงกว่าตั๋วพลเมือง 10 เท่า”

           “พบจุลินทรีย์กินไฮโดรเจนและขับถ่ายมีเทน หวั่นยุคน้ำแข็งไม่ใช่นิยายอีกต่อไป”

ข่าวเพิ่มเติมที่น่าตกใจคงเป็น

           “รัฐบาลสากล เร่งสร้างเมืองจำลองใช้ชื่อ Nuwa base camp

           เลียนแบบ Nuwa city บนดาวอังคาร ยื้อเวลาก่อนอพยพครั้งสุดท้าย”


แต่เรื่องที่เธออยากปรึกษาจริง ๆ ก็คือ ต้องทำแท้ง

หากจะเป็นพลเมืองนูว่าในไม่กี่เดือนข้างหน้า

ความคิดแรกถูกพิมพ์บนจอโฮโลแกรมด้วย AI

ฉันสลัดหัวอย่างแรง ข้อความจางหายพริบตา

ไม่มีคำตอบที่ถูกสำหรับคำถามที่ผิด

หากมาถึงนูว่าได้เธอคงรู้เอง

ความหฤโหดของสนามจักรวาลคัดสรร

การมีชีวิตรอดของเราหนึ่งนี้ สำคัญที่สุด


Part 3: สู่แห่งหนไหน (จุดอ้างอิง: ปีที่ 80 ของนูว่า = ค.ศ. 2293 บนโลก)

1.

“ฮูล่านูว่า

เป็นยังไงวันแรก ปิดเทอมพวกเราทำอะไรกันบ้าง”

ครูผู้สอนวิชาอนาคตวิทยาเอ่ยทักเสียงใส

นักเรียนผลัดเล่าถึงการฝึกอาชีพแต่ละหน่วย

โมดูลเกษตรกรรรม ปลูกพืชแนวตั้งและเลี้ยงแมลง

โมดูลเทคโนโลยีชีวภาพ ผลิตเนื้อเทียมและโคลนนิ่งสัตว์

โมดูลวิศวกรรม การเปลี่ยนแปลงธรณีวิทยาดาวเคราะห์

โมดูลวิทยาศาสตร์การแพทย์ พัฒนาวัคซีนต้านเซลล์เสื่อม

โมดูลพลังงานทดแทน เครื่องยนต์นิวเคลียร์รุ่นใหม่

ฝังแน่นในจิตสำนึก ทุกคนขับเคลื่อนชะตากรรมนูว่า

“เอาล่ะ โจทย์ของวันนี้ อนาคตของเราจะเป็นอย่างไร”

มาช่วยกันอภิปรายสนับสนุน ขัดแย้ง หรือเสนอแนวคิด

           สมมุติฐานที่ 1

           การแปลงปฐพี (Terraforming) ทำให้พื้นผิวดาวอังคารอุ่นขึ้น

           ปล่อยแอมโมเนีย มีเทน ซีเอฟซี สู่ชั้นบรรยากาศ

           สร้างภาวะเรือนกระจก คาร์บอนไดออกไซด์เยือกแข็งที่ขั้วระเหิด

           เมื่อบรรยากาศหนาแน่น ความดันก็มากตาม

           ผิวดาวเก็บน้ำในรูปของเหลว อุณหภูมิจะเหมาะสม

           จุลชีพ สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน อื่น ๆ อาจเติบโต

           สังเคราะห์แสงร่วมกับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์

           แล้วปลดปล่อยแก๊สออกซิเจน

           นานไป ความเข้มข้นจะเพียงพอให้มนุษย์

           วิธีเก่าแก่ เหนือขีดจำกัดเทคโนโลยีในโลกอดีต

           ใช้เวลากว่า 1,000 ปี สมควรที่ชาวโลกเคยบอกปัด

           นูว่าจึงเกิดขึ้นด้วยการเอาตัวรอดวิถีใหม่

           แต่ถ้าเราอยากมีโลกแบบที่บรรพบุรุษเคยมี

           ภูมิปัญญาแห่งนูว่าขณะนี้ จะทำให้เกิดขึ้นได้หรือไม่?


           สมมุติฐานที่ 2

           สำรวจดาว Proxima Centauri เพื่อหาโลกใหม่

           ดาวแคระแดงอุณหภูมิต่ำในระบบดาว Alpha Centauri

           ตั้งแต่ ค.ศ. 1915 องค์กรบนโลกค้นพบ

           เพื่อนบ้านห่างจากระบบสุริยะเพียง 4.24 ปีแสง

           เทคโนโลยีในอดีตอาจเดินทางกว่า 30,000 ปี

           ระยะห่างจากดาวฤกษ์พอเหมาะ สิ่งมีชีวิต, เป็นไปได้

           ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะกว่าสามพันดวง

           Proxima Centauri ทำให้เรามีความหวังที่สุด

           สตีเฟ่น ฮอว์ฟคิงเคยสนับสนุนโครงการ Breakthrough Starshot

           วางแผนส่งยานอวกาศขนาดจิ๋วใช้เลเซอร์พลังงานสูง

           เร่งความเร็วได้ 20% ของความเร็วแสง ยังนานกว่า 25 ปีบนโลก

           แต่ถ้าเราอยากมีโลกแบบที่บรรพบุรุษเคยมี

           ภูมิปัญญาแห่งนูว่าขณะนี้ จะพาเราไปถึงได้หรือไม่?


           สมมุติฐานที่ 3

           กลับสู่ดาวโลก (Earth) บ้านแห่งบรรพบุรุษ

           หลังสงครามโลกครั้งที่ 5 โลกไร้กฎหมาย

           ไม่มีใครเชิดชูชนชาติและรักษาดินแดน

           ลมหายใจ สิ่งมีค่าเดียวที่เราเหลืออยู่

           ผู้รอดอยู่รวมเป็นซ่องโจร ออกแย่งชิงทรัพยากร

           สิ่งแวดล้อมปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี

           มลพิษทางอากาศรุนแรง สัตว์หลายชนิดสูญพันธุ์

           หลายพื้นที่ร้อน-หนาว แปรปรวนขั้นสุด

           มนุษย์จึงเริ่มอพยพตั้งแต่ ค.ศ. 2065

           ขณะนี้ ปีที่ 80 ของนูว่า - ค.ศ. 2293 บนโลก

           กว่าสองร้อยปีที่ผ่าน ที่นั่นเหลืออะไรอยู่บ้าง

           หากจะกลับไปสู่โลกเดิมแห่งบรรพบุรุษ

           ภูมิปัญญาแห่งนูว่าขณะนี้ จะช่วยเปลี่ยนแปลงดาวโลกได้หรือไม่?

เชิญเสนอสมมุติฐานของคุณ

...........................................


2.

อย่านึกผูกพันกับอดีต เท่ากับที่อย่ารวบรัดตัดตอน

ว่าต่อให้เราทำสิ่งที่ถูกต้องแค่ไหน โชคชะตาจะเข้าข้างเรา

ใครสักคนกล่าวอย่างจองหองว่า

           “ไม่เคยมีพระเจ้า จนมนุษย์บัญญัติคำว่าพระเจ้า”

ไม่มีการพิสูจน์ชัดว่าอัตตาของข้า

เหนี่ยวรั้งให้ชะตากรรมแห่งข้าปรากฏขึ้นหรือไม่

ในโกรกธารโบราณ ทุกสิ่งสมยอมสิ้นสลาย

ธุลีพระเจ้าแน่นิ่งไปนานโข

เมื่อเงาไม่ย่างกรายตามเราอีกต่อไป

จากนี้ ควรเล่นบทไหนต่อ

ผู้รักษาปัจจุบัน ผู้สร้างโลกใหม่ ผู้ทำลายอนาคต


หมายเหตุ :

* NUWA City ชื่อเมืองในอนาคตที่ถูกวางแผนจะสร้างขึ้นบนดาวอังคาร โดยการออกแบบของบริษัท ABIBOO studios โครงการนี้เป็นการศึกษาวิจัยที่จัดตั้งโดย The Mars Society เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ขับเคลื่อนโดยอาสาสมัครจากทั่วโลกเพื่อส่งเสริมการสำรวจและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์บนดาวอังคาร ซึ่งผู้เขียนมีความประทับใจในข้อมูลตั้งต้นที่ได้รับ จึงนำมาจินตนาการถึงบรรยากาศการมีชีวิตของมนุษยชาติในอนาคต ณ เมืองแห่งนั้น ส่วนชื่อนูว่า มาจากตำนานของจีน “นฺหวี่วา” นางคือเทพมารดรผู้ให้กำเนิดสรรพสิ่งบนโลก มีความเชื่อว่านางลงมาจุติองค์แรกบนโลกมนุษย์ กลับพบว่าโลกสวยงามแต่เงียบเหงา จึงสร้างมนุษย์เพศหญิงและชายจากดินเหนียว จากนั้นจึงมอบพลังชีวิตให้มนุษย์ได้เป็นมนุษย์

* เครื่องหลับยาว (Cryogenic) แนวคิดการใช้เทคโนโลยีสร้างภาวะจำศีลในมนุษย์ด้วยการนอนในแคปซูล (Cryosleep Capsule) โดยควบคุมอุณหภูมิให้ต่ำจนถึงจุดเยือกแข็งคล้ายการน็อคกุ้ง เครื่องจะให้สารอาหารเล็กน้อยผ่านทางสายยางและต่อท่อขับถ่ายสำหรับการเดินทางอันยาวนาน แต่วารสาร Proceedings of the Royal Society B (2022) ชี้ว่ากลไกการเผาผลาญของมนุษย์ ไม่สามารถทำให้ร่างกายประหยัดพลังงานได้ เช่นเดียวกับหมี Grizzly ที่กลับสูญเสียพลังงานที่สะสมไว้ในฤดูจำศีล ฉะนั้นการนอนในแคปซูลจึงเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

* ยานทาร์ดิเกรต (Tardigrade) ชื่อของตัวทาร์ดิเกรตหรือหมีน้ำ ผู้เขียนตั้งใจยกย่องความสุดยอดของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตในด้านความอึด เนื่องจากมันสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมโหดร้ายขีดสุดได้ เช่น ภาวะไร้อากาศ ไร้น้ำ หรือแม้กระทั่งในอวกาศ วารสาร Acta Astronautica เดือนมกราคม 2022 รายงานว่า หมีน้ำเป็นสิ่งมีชีวิตไม่กี่ชนิดที่มีโอกาสถูกส่งข้ามดวงดาวไปยัง Proxima Centauri (ดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้ระบบสุริยะที่สุด) ด้วยเลเซอร์พลังงานสูง เพื่อศึกษาผลกระทบการเดินทางระหว่างดวงดาวต่อสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก

* เครื่องเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นออกซิเจน MOXIE (Mars Oxygen In-Situ Resource Utilization Experiment) ปี 2021 นาซ่าเปิดเผยว่าสามารถผลิตเครื่องมือที่เปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศของดาวอังคารให้เป็นออกซิเจนบริสุทธิ์ โมเดลต้นแบบสามารถผลิตออกซิเจนได้ประมาณ 5 กรัม เทียบเท่ากับการหายใจของนักบินอวกาศประมาณ 10 นาที

* ภูมิภาคเท็มเมนซ่า (Tempe Mensa) คือ ภูมิภาคแห่งหนึ่งที่มีอยู่จริง ตั้งอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรของดาวอังคาร พิกัด 27°56'24"N, 288°24'36"E เป็นภูมิประเทศที่ราบสูงรูปโต๊ะ (แสดงในภาพที่ 1 หน้า 12)

* เวลาของโลกและดาวอังคารไม่เท่ากัน ดาวอังคารใช้เวลาโคจรรอบตัวเองประมาณ 24 ชั่วโมง 37 นาที (1 วัน ของดาวอังคาร นาซ่าใช้หน่วยเรียกว่า Sol แทน Day) และใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ 668 sols (1 ปีของดาวอังคาร เทียบเป็นเวลา 687 วันของโลก) ในขณะที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ใช้เวลา 365 วันของโลก

* Launch window หมายถึง ช่วงเวลาที่การส่งยานจากโลกไปดาวอังคารใช้พลังงานน้อยที่สุด อยู่ในช่วงที่โลก ดวงอาทิตย์และดาวอังคารทำมุมที่เหมาะสม จะมีทุก 26 เดือน (2 ปี 2 เดือน) ตามเวลาโลก แต่วงโคจรดาวอังคารมีความรีค่อนข้างมาก ส่งผลให้ Launch window แต่ละครั้งใช้พลังงานในการเดินทางไม่เท่ากัน

ภาพประกอบ



ภาพที่ 1 ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงภูมิภาค Tempe Mensa ที่ตั้งเมือง Nuwa city

เหนือเส้นศูนย์สูตรดาวอังคาร พิกัด 27°56'24"N, 288°24'36"E

ภูมิประเทศแบบที่ราบสูงรูปโต๊ะ ลูกศรชี้เนินผาสำหรับสร้างที่อยู่อาศัยของเมืองนูว่า

โดยบทกวีชุดนี้เรียกว่า Cliff Ville (ที่มา: Google Earth)

 

ภาพที่ 2 (บน) ภาพจำลองมุมมอง Nuwa city เมื่อยืนบนพื้นระนาบ

(ล่าง) ภาพจำลองมุมมองระยะไกล แสดงภูมิทัศน์ที่อยู่อาศัย Cliff Ville ของ Nuwa city
ที่มา: ABIBOO Studio (https://abiboo.com/projects/nuwa/)

 

ภาพที่ 3 (บน) ภาพจำลองทุ่งโซล่าเซลล์บนเนินผาของภูมิภาค Tempe Mensa

(ล่าง) โซนที่อยู่อาศัย Cliff Ville ของ Nuwa city สิ่งปลูกสร้างฝังในหน้าผาเพื่อป้องกันรังสี
แต่ละยูนิตเชื่อมด้วยอุโมงค์การขนส่งและเดินทางภายในด้วยลิฟต์ความเร็วสูง
ที่มา: ABIBOO Studio (https://abiboo.com/projects/nuwa/)




ภาพที่ 4 (บน) ลักษณะโดมเพาะปลูกและปศุสัตว์แนวตั้ง ผลิตออกซิเจนและอาหารหลักจากแมลง

(กลาง) ภาพจำลองภายในที่พักอาศัยแต่ละยูนิตใน Cliff Ville

(ล่าง) พื้นที่ส่วนกลางของเมือง เช่น หอประชุม โรงเรียน ห้องสมุด หอศิลป์
ที่มา: ABIBOO Studio (https://abiboo.com/projects/nuwa/)
 


ผู้เขียน

พลอยสิรินทร์ แสงมณี (นามปากกา เพตรา วิเศษรังสี)

ผู้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการวรรณกรรมสนาม จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


แนะนำตัว

บางทีเราก็ไม่รู้ว่าต้องรู้หรือไม่รู้อะไรและการเขียนอาจช่วยให้บรรลุความจำเป็นเหล่านั้นได้บ้าง | จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการอ่านกวีในนาม “เครือข่ายกวีสามัญสำนึก” ตั้งแต่ปี 2020 | บทกวีรวมเล่ม: โคลนคำสาปสะสมซากคุณ และ ดาวโลกทัศนวิสัยเป็นสูญ | ปัจจุบันทำสวนกระบองเพชรและฟาร์มกัญชาที่จังหวัดสกลนคร


แรงบันดาลใจ มุมมอง หรือสิ่งที่ต้องการนำเสนอฯ

Nuwa city เกิดจากความสงสัยส่วนตัวว่า 100 ปีข้างหน้า ความเป็นอยู่ของมนุษย์จะเป็นอย่างไร หลังจากได้สืบค้นข้อมูลความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศ จึงลองจินตนาการถึงรูปแบบความเป็นไปได้เหล่านั้นและถ่ายทอดออกมาในบทกวีชุดนี้ นับเป็นครั้งสำคัญที่ได้สร้างผลงานซึ่งท้าทายขีดจำกัดส่วนตัวหลายประการ


ความรู้สึกหรือมุมมองในการเขียนหลังจากเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมฯ

การให้ความรู้-ทฤษฎีเชิงมานุษยวิทยาและการยกตัวอย่างงานเขียนโดยวิทยากรและเจ้าหน้าที่ของการฝึกอบรมครั้งนี้ ช่วยเอื้ออำนวยให้การสร้างสรรค์งานวรรณกรรมเชิงมานุษยวิทยาเป็นไปได้ด้วยดี ส่วนตัวรู้สึกว่าได้รับการขยายขอบเขตต่อการเขียนบทกวีในแง่ของการรองรับ มีคำตอบเพิ่มสำหรับคำถามว่า “เขียนเพื่ออะไร”

ป้ายกำกับ วรรณกรรมสนาม Nuwa city พลอยสิรินทร์ แสงมณี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share