ภัยโควิด วิกฤตโคโรนา : โรคอุบัติใหม่ในมิติสังคม

 |  วัฒนธรรมสุขภาพ
ผู้เข้าชม : 1778

ภัยโควิด วิกฤตโคโรนา : โรคอุบัติใหม่ในมิติสังคม

รูปที่ 1 ปกหนังสือ ภัยโควิด วิกฤตโคโรนา : โรคอุบัติใหม่ในมิติสังคม
หมายเหตุจาก. ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

           ณ เวลานี้กล่าวได้ว่า เพิ่งผ่านพ้นห้วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองประเพณีวันสงกรานต์หรือวันปีใหม่ไทยไปได้ไม่นานนับเป็นการกลับมาเล่นประเพณีวันสงกรานต์ครั้งแรกหลังจากที่ผู้คนทั้งโลก รวมถึงประชาชนคนไทยได้ประสบกับวิกฤตการณ์ระบาดของโรคอุบัติใหม่ที่มีชื่อว่าโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) (โรคโควิด-19) ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นระยะเวลานานกว่า 3 ปี ที่ไม่ได้เห็นความชื่นมื่นของประเพณีวันสงกรานต์

           ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติหลังจากที่สถานการณ์โรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ภายหลังที่มีประกาศจากราชกิจจานุเบกษาออกมาตามลำดับ ดังนี้

           • ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนพิเศษ 146 ง กล่าวถึง ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 24) ในข้อกำหนดที่ 3 เรื่อง การผ่อนคลายข้อปฏิบัติในการสวมหน้ากากอนามัย ลงวันที่ 23 มิ.ย. 2565

           • ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 139 ตอนพิเศษ 223 ง หน้า 1 กล่าวถึง เรื่อง ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 20 ก.ย. 2565 ผล 1 ตุลาคม 2565

           • ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 139 ตอนพิเศษ 232 ง หน้า 57 กล่าวถึง เรื่อง ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ลงวันที่ 29 ก.ย. 2565 มีผล 1 ตุลาคม 2565

           แต่ทว่าสัญญาณเตือนของโรคโควิด-19 ได้กลับมาอีกครั้ง (เจาะลึกระบบสุขภาพ, 2023) โดยกรมควบคุมโรคได้ออกมาประกาศว่ามีแนวโน้มที่โรคโควิด-19 จะกลับมาระบาดอีกครั้งในสายพันธุ์ใหม่ (สายพันธุ์ XBB.1.16) ให้เจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุขเตรียมรับมือเฝ้าระวัง และภายหลังที่ประเพณีวันสงกรานต์ปี พ.ศ. 2566 ได้จบลงไปก็เริ่มปรากฏข่าวผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 อาทิ (ไทยรัฐออนไลน์, 2566) ข่าวชายแรงงานข้ามชายเสียชีวิตคาดว่าติดโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ และ ข่าวพบศพชายไม่ทราบชื่อนอนเสียชีวิตอยู่หน้าธนาคาร เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบว่าเสียชีวิตจากติดเชื้อโรคโควิด-19 (มติชนออนไลน์, 2566) จะเห็นได้ว่า การระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะกลับมาระบาดสูงขึ้น ในซีรีส์แนะนำหนังสือ ศมส. จึงอยากชวนผู้อ่านย้อนรอยกลับไปสำรวจประสบการณ์การรับมือโรคโควิด-19 ผ่านหนังสือที่มีชื่อว่า ภัยโควิด วิกฤตโคโรนา : โรคอุบัติใหม่ในมิติสังคม โดย ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และ ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ บรรณาธิการ พิมพ์ครั้งที่ 1 ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 เป็นหนังสือรวมบทความอันเนื่องมาจากโครงการมานุษยวิทยา ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 “โรคเปลี่ยนคน คนเปลี่ยนโรค” จากโครงร่างที่ส่งเข้ามาเพื่อขอรับทุนวิจัยทั้งหมด 383 เรื่องที่สะท้อนความตื่นตัวในแวดวงวิชาการด้านมานุษยวิทยา สังคมศาสตร์ และ มนุษยศาสตร์ ผู้ทรงคุณวุฒิได้คัดเลือกพิจารณาให้ทุนวิจัยทั้งหมด 30 เรื่อง และคัดเลือก 8 เรื่องที่น่าสนใจตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มนี้ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อน และเงื่อนไขชีวิตของผู้คนที่แตกต่างกันในสังคมภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงแรกเริ่มที่มีการระบาดในประเทศไทย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ผู้คนยังคงตระหนักถึงการระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบันด้วยเช่นกัน แม้ว่าเราจะสามารถปรับตัวอยู่กับการระบาดของโรคนี้ได้แล้ว แต่โรคโควิด-19 ยังคงพรากชีวิตของผู้คนไปอย่างไม่หยุดยั้งจนถึงปัจจุบันนี้

           ในบทความเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน : หลักฐานโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์  เขียนโดย รศ.ดร.ธนิก เลิศชาญฤทธ์ เป็นบทความที่กล่าวถึง การนำเสนอหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (ในยุคก่อนประวัติศาสตร์) เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ป่า เชื้อโรค และการทำเกษตรกรรมในอดีตไม่ว่าจะเป็นหลักฐานจากการขุดค้นพบเจอร่องรอยซากกระดูก ฟัน และชิ้นส่วนต่าง ๆ ของมนุษย์ที่สามารถบอกได้ว่ามนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ได้รับเชื้อโรคจากสัตว์หลายชนิด อาทิ ในช่วงสังคมเกษตรกรรมมีการระบาดของวัณโรคซึ่งมี วัว-ควาย เป็นแหล่งรังโรค สาเหตุของการระบาดมาจาก วัว-ควาย ที่มนุษย์นำมาเลี้ยงเพื่อใช้งานทางเกษตรกรรม โดยหลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นตัวบ่งชี้ว่า มนุษย์ได้รับเชื้อโรคคือลักษณะกระดูกที่บ่งบอกถึงโรควัณโรค

           นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้วิเคราะห์ไว้ว่า ความรุนแรงในการระบาดอาจจะมีระดับที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่เชื้อโรคที่มีส่วนทำให้ร่างกายพิการไปจนถึงทำให้เสียชีวิต และแพร่ระบาดไปยังผู้อื่น อีกทั้งผู้เขียนยังได้นำเสนอให้เห็นว่า สาเหตุของการเกิดโรคระบาดมักมาจาก 2 ปัจจัยหลักดังนี้

           1. มนุษย์ ในฐานะผู้ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมต่าง ๆ และกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์

           2. ธรรมชาติ ในฐานะสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมอันเหมาะแก่การแพร่ระบาด เช่น สภาพอากาศที่มีส่วนกระตุ้นไวรัสบางชนิดให้เกิดการแพร่ระบาด เป็นต้น

           ในขณะที่บทความ มองปัญหาการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านมุมมองการเชื่อมโยงข้ามถิ่น เขียนโดย ผศ.ดร.พฤกษ์ เถาถวิล จะพาผู้อ่านไปย้อนกลับไปมองปัญหาของโรคโควิด-19 ที่สร้างความเหลื่อมล้ำ และส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางในสังคมไทย ผ่านการวิจารณ์ถึงมาตรการเยียวยาของรัฐบาล (โครงการเราไม่ทิ้งกัน) โดยผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลที่ได้จากการเข้าไปลงพื้นที่ภาคสนามในจังหวัดอุบลราชธานี โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ 1. ผู้คนที่อพยพจากกรุงเทพและปริมณฑล กลับมาอยู่ที่อุบลราชธานี 2. พ่อค้าแม่ขายตลาดนัดในเขตเมืองอุบลราชธานี 3. พนักงานขับรถส่งอาหารในเขตเมืองอุบลราชธานี และข้อมูลที่รวบรวมจากการสำรวจสื่อออนไลน์ โดยใช้กรอบแนวคิด “การเชื่อมโยงข้ามถิ่น” เป็นแนวคิดหลักในการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล

รูปที่ 2 กลุ่มเป้าหมายรับสิทธิ์เยียวยา 5,000 บาท (3 เดือน) มาจากไหน ?
หมายเหตุจาก. https://www.tnnthailand.com/news/wealth/35303/

           จากการสำรวจข้อมูลมาตรการเยียวยาของรัฐบาล และข้อมูลที่ผู้เขียนได้จากการลงภาคสนามพบว่าการเยียวยาจากรัฐบาลไม่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแรงงานข้ามถิ่น หากพิจารณาตามรูปที่ 2 จะพบว่า กลุ่มเป้าหมายของผู้ได้รับเงินเยียวยาระบุว่าประกอบอาชีพอิสระ , รับจ้าง , ลูกจ้างชั่วคราว , กิจการส่วนตัว และค้าขาย เป็นต้น แต่จากฐานข้อมูลประชากรที่รัฐบาลนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดกรองผู้ได้รับผลกระทบไม่ตรงกับการประกอบอาชีพจริงของประชากร (ข้อมูลอ้างอิงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2562) พบว่า ข้อมูลสาขาอาชีพถูกระบุว่าเป็นอาชีพทางด้านการเกษตร , การขายส่ง , การก่อสร้าง และบริการอื่น ๆ นอกจากนี้ประชากร 1 คน ถูกกำหนดให้มีอาชีพเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ผู้เขียนมองว่า ข้อมูลที่นำมาใช้นั้นขัดกับหลักความเป็นจริงในสังคม จึงทำให้ประชากรบางกลุ่มไม่ได้รับสิทธิ์การเยียวยาจากโครงการเราไม่ทิ้งกันของรัฐบาล และนี่คือปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดการเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

           ถัดมาคือบทความ การต่อรองกับอุดมคติที่แสดงอัตลักษณ์ของแรงงานชาวเวียดนามในประเทศไทยในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เขียนโดย รศ.ดร.อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ และ เล วัน โตน บทความนี้ได้นำเสนอเกี่ยวกับความเป็น “ผู้มีชีวิตสองแผ่นดิน” ของแรงงานข้ามชาติชาวเวียดนามที่ลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศไทย และได้รับผลกระทบในช่วงของสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้แรงงานชาวเวียดนามกลายเป็นผู้สูญเสียในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

           บทความนี้เริ่มต้นมาจากความสนใจของผู้เขียนว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้แรงงานชาวเวียดนาม (เหนือ) มีความขยันขันแข็ง และยึดมั่นในการตอบแทนบุญคุณอย่างเข้มข้น การศึกษาวิจัยทำให้ผู้เขียนพบว่า ชาวเวียดนาม (เหนือ) ได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากลัทธิขงจื้อ จึงทำให้มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมด้วยการแสดงออกถึง คุณสมบัติ 5 ประการ ดังต่อไปนี้ 1. ความสามารถ (ต่าย) 2. การแบ่งปัน-การตอบแทน (โหล่ก) 3. คุณธรรม (ดึ๊ก) 4. ความสุข (ฟุ๊ก) และ 5. สุขภาพดี-อายุยืน (เถาะ)

           ผู้เขียนกล่าวว่า อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมนี้มีความหมายต่อชาวเวียดนามเหนือ (เหนือ) เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ของประเทศเวียดนาม เพราะการเข้ามาทำงานในประเทศไทยทำให้ผู้ชายเวียดนามสามารถสร้างความมั่นคง และความสุขให้กับครอบครัวได้ การใช้ชีวิตสองแผ่นดินโดยการลักลอบเข้ามาทำงานจึงเป็นอีกหนทางที่ทำให้ชาวเวียดนามสามารถบรรลุตามอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมได้ แต่ในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดในประเทศไทยทำให้แรงงานชาวเวียดนามต้องกลับไปยังถิ่นฐานบ้านเกิด (ณ ตอนนั้นยอดผู้ติดเชื้อในประเทศเวียดนามน้อยกว่าประเทศไทย) สร้างผลกระทบให้ผู้ชายชาวเวียดนามไม่สามารถสร้างความมั่นคง และความสุขให้กับครอบครัวได้ดังเดิม การระบาดของโรคโควิด-19 จึงกล่าวได้ว่า เป็นภัยพิบัติที่นำมาซึ่งความสูญเสียในด้านต่าง ๆ ต่อแรงงานข้ามชาติ

           มาที่บทความ สำรวจการแก้ไขสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ของรัฐไทยผ่านกฎหมายด้านสาธารณสุข และกฎหมายว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉิน เขียนโดย สราวุธ ทับทอง ได้นำเสนอบทเรียนครั้งสำคัญในการใช้กฎหมาย และมาตรการในการแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 ของรัฐบาล โดยผู้เขียนจะพาผู้อ่านไปสำรวจการใช้กฎหมาย และมาตรการในการบริหาร และจัดการโรคโควิด-19 ของรัฐบาลไทย

           จากการสำรวจผู้เขียนพบว่า รัฐบาลได้เริ่มต้นใช้กฎหมาย และมาตรการด้านสาธารณสุขในการควบคุมโรคโควิด-19 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ในช่วงแรก และเมื่อมีวิกฤตขาดแคลนเวชภัณฑ์ในการป้องกันโรค เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ รวมถึงยาในการป้องกันโรคจึงทำรัฐบาลตัดสินใจประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

           ซึ่งผู้เขียนได้วิเคราะห์ว่า การเลือกใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เข้ามาบริหารจัดการเพิ่มเติมทำให้เห็นว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่สามารถใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ได้เพียงอย่างเดียว บทความนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อให้เห็นถึงประสิทธิภาพของกฎหมาย และมาตรการที่ใช้ในการบริการจัดการโรคโควิด-19 และหวังว่า การสำรวจการแก้ไขสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จะนำไปสู่การวางแนวทางในการกฎหมาย มาตรการ และการบริหารจัดการที่ดีในอนาคต

           ต่อมาเป็นบทความ กักขัง-กักตัว อดีตนักโทษประหารชีวิตกับวิกฤตโควิด-19 เขียนโดย โชคชัย พรไพศาล ความน่าสนใจ คือ บทความนี้เป็นบทความที่ถูกถ่ายทอดจากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง โดยผู้เขียนมีวัตถุประสงค์เพื่อเทียบเคียงประสบการณ์ความรู้สึกเมื่อครั้งที่ต้องโทษประหารในคดียาเสพติดอยู่ในเรือนจำบางขวาง เทียบเคียงกับการถูกกักตัวตามมาตรการล็อกดาวน์ในสถานการณ์โรคโควิด-19 เพื่อต้องการนำเสนอให้ผู้อ่านเห็นถึงการเอาตัวรอดจากความตาย การถูกกักขัง การถูกกักตัวภายใต้สถานการณ์ที่แตกต่างกันและการปันทุกข์-ปันสุข ในยามที่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก

           เนื่องจากผู้เขียนพบว่า โลกภายนอกก่อนที่ผู้เขียนจะเข้าไปอยู่ในเรือนจำบางขวาง และโลกภายนอกที่ผู้เขียนได้มีโอกาสได้ออกมารับชมแสงตะวันอีกครั้งทำให้เห็นว่าสังคเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากจนทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ผู้เขียนตระหนักดีว่าความสิ้นหวัง หดหู่ และไร้ความหวังนั้นเป็นเช่นไร แม้ว่าบทความนี้อาจจะไม่ได้มีความเข้มข้นทางด้านวิชาการมากนักแต่ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้อ่านได้เห็นถึงตัวตน อารมณ์ ความรู้สึกของคนที่เคยถูกมองข้าม และทำให้เห็นว่าคนทุกคนล้วนมี “ความหวัง” ในการมีชีวิตอยู่ไม่ว่าจะในสถานการณ์ปกติหรือท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด

           ในขณะที่บทความ สื่อมวลชนท้องถิ่นและความเคลื่อนไหวพลเมืองใต้อำนาจรัฐเวชกรรมในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กรณีศึกษา ภาคเหนือของประเทศไทย เขียนโดย รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ได้นำเสนอประเด็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ในพื้นที่การเมืองของสื่อมวลชนท้องถิ่นท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยผู้เขียนได้ใช้สื่อมวลชนท้องถิ่นในภาคเหนือของประเทศไทยเป็นกรณีศึกษา เช่น เชียงใหม่นิวส์. ฮาลำพูน , ที่นี่เมืองน่าน , คนรักแม่ฮ่องสอน และ Lampang 13 เป็นต้น

           จากการศึกษาพบว่า สื่อมวลชนท้องถิ่นของภาคเหนือได้รับอิทธิพลจากหน่วยงานรัฐบาล (จากการมอบหมายให้ผู้ว่าราชการในแต่ละจังหวัดแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19) ส่งผลให้สื่อมวลชนเหล่านี้ต้องผันตัวเองไปเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เช่น การประกาศยอดผู้ติดเชื้อในจังหวัด และข่าวสารโรคโควิด-19 ที่ได้รับจากหน่วยงานรัฐบาล เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนมองว่า กระบวนการดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลพยายามเข้ามาแทรกแซงสื่อมวลชนท้องถิ่นโดยการใช้อำนาจของความรู้ทางการแพทย์เป็นเครื่องมือในการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางอย่างเบ็ดเสร็จ บทความนี้ จึงอยากเชิญชวนให้ผู้อ่านได้เห็นประเด็นปัญหาว่าแท้จริงแล้วสื่อมวลชนท้องถิ่นควรสะท้อนปัญหา และเป็นกระบอกเสียงให้คนในพื้นที่จริง ๆ แทนการเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างอำนาจให้รัฐบาล

           ถัดมาเป็นบทความ ตะโกะตูฮัน : วิถีมุสลิมและการปรับตัวทางพิธีกรรมศาสนาอิสลามภายใต้เงื่อนไขของวิกฤตโควิด-19 เขียนโดย อับดุลเลาะ ยูฮันนัน บทความนี้เป็นบทความที่ศึกษาเกี่ยวกับประเด็นของศาสนากับวิถีปฏิบัติของชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เปลี่ยนแปลงไปภายใต้บริบทการปฏิบัติตัวตามมาตรการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

           ผู้เขียนจะพาผู้อ่านย้อนกลับไปรำลึกถึงความเข้มข้นของสถานการณ์โรคระบาดในช่วงแรกที่คนไทยทุกคนต้องปรับตัวกับการใช้ชีวิตตามมาตรการรัฐบาลแบบ “การเว้นระยะห่างทางสังคม” (social distancing) ซึ่งเป็นมาตรการที่ขัดกับวิถีปฏิบัติ และลักษณะความเชื่อของศาสนาอิสลามในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ในบทความนี้จะช่วยให้ผู้อ่านเห็นถึงอำนาจของพลังความเชื่อ ความศรัทธา บทบาทของผู้นำ และบทบาทของหน่วยงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของสำนักจุฬาราชมนตรีซึ่งเป็นองค์กรหลักในขับเคลื่อนสังคม , ศาสนา , การศึกษา , วัฒนธรรม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวมุสลิม ออกมาประกาศแนวทางการปฏิบัติทางศาสนา และการจัดกิจกรรมในศาสนาอิสลามที่มีส่วนในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และยังสามารถดำเนินตามหลักทางศาสนาอิสลามได้

           และบทความสุดท้าย หัตถ์แห่งมนุษยธรรมปนเปื้อน เขียนโดย ดร.สายัณห์ แดงกลมในบทความนี้ผู้เขียนจะพาผู้อ่านไปสำรวจการประวัติศาสตร์โรคระบาดผ่านงานศิลปะ อาทิ ภาพจิตรกรรม และประติมากรรมที่เกิดขึ้นในสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึง อารมณ์ ความรู้สึก และความทุกข์ยากเมื่อต้องเผชิญกับโรคระบาด ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างงานศิลปะไว้อย่างหลากหลาย เช่น ภาพนโปเลียนเยี่ยมผู้ป่วยโรคห่าที่จัฟฟา (Bonaparte Visits the Plague Stricken in Jaffa) ของ อ็องตวน-จ็อง โกรส์ (Antonie-Jean Gros) ที่แม้ว่าหากมองด้วยสายตาอาจจะเห็นว่า มีความสวยงามผ่านการแต่งเติมสีน้ำมันบนผืนผ้าใบ แต่หากลองพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจะพบว่า ภาพนี้แฝงไปด้วยหลากหลายความหมาย เช่น ผู้คนส่วนใหญ่มองว่าภาพนี้ได้สื่อถึงความยิ่งใหญ่และความมีเมตตาของนโปเลียน ซึ่งผู้เขียนมองว่า ภาพนี้ยังถูกแอบแฝงบางอย่างไว้มากกว่านั้นขึ้นอยู่กับผู้ชมภาพว่าจะตัดสินให้มีความหมายไปในทิศทางใด แต่อย่างใดก็ดี การอ่านประวัติศาสตร์โรคระบาดผ่านงานศิลปะก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นต่อมาได้เห็นการรับมือต่อโรคระบาดในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกัน

รูปที่ 3 ภาพนโปเลียนเยี่ยมผู้ป่วยโรคห่าที่จัฟฟา
หมายเหตุจาก. https://th.wikipedia.org/wiki/จักรพรรดิโปเลียนที่_1#

           หนังสือ ภัยโควิด วิกฤตโคโรนา : โรคอุบัติใหม่ในมิติสังคม จึงเหมาะสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาประสบการณ์การรับมือสถานการณ์โรคโควิด-19 หนังสือเล่มนี้จะทำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงหลากหลายแง่มุม ที่ทั้งตัวผู้อ่านอาจจะเคยมีประสบการณ์ร่วมในบางแง่มุม และประสบการณ์ที่ผู้อ่านอาจจะคาดไม่ถึงและมองข้ามไป ฉะนั้นจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าใจถึงความซับซ้อนในสถานการณ์โรคระบาดและสามารถเป็นบทเรียนสำคัญให้กับคนในปัจจุบัน และอนาคตได้

           รับชมบันทึกการเสวนาเปิดตัวหนังสือ ภัยโควิด วิกฤตโคโรนา : โรคอุบัติใหม่ในมิติสังคม ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=Y3OHB1D9sj4&t=9266s

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสืออื่นของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-library

           หนังสือ ภัยโควิด วิกฤตโคโรนา : โรคอุบัติใหม่ในมิติสังคม มีจำหน่ายที่ SAC Shop และ SAC Shop Online ราคา 300 บาท สามารถสั่งซื้อได้ทางเว็บไซต์  https://shop.sac.or.th/th/product/45/

           นอกจากนี้ผู้ที่สนใจเรื่องราวของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ท่านสามารถมาเยี่ยมชมพื้นที่การเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของ ศมส. เพื่อเยี่ยมชมนิทรรศการภาพถ่ายประสบการณ์การรับมือโรคโควิด-19 ของผู้คนไว้ตลอดริมทางเดินชั้น 2 อาคารศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และนิทรรศการอื่น ๆ หรือจองเข้าเยี่ยมชมพื้นที่การเรียนรู้ทางวัฒนธรรมได้ทางเว็บไซต์ https://www.sac.or.th/portal/menu_page/detail/27

รูปที่ 4 นิทรรศการภาพถ่ายประสบการณ์การรับมือโรคโควิด-19
หมายเหตุจาก. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
 

บรรณานุกรม

เจาะลึกระบบสุขภาพ, H. (2023, April 15). เว็บไซต์ Hfocus.org เจาะลึกระบบสุขภาพ. Retrieved from https://www.hfocus.org/content/2023/04/27471

ไทยรัฐออนไลน์. (2566, เมษายน 17). ไทยรัฐออนไลน์. Retrieved from https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2681910

มติชนออนไลน์. (2566, เมษายน 22). มติชนออนไลน์. Retrieved from https://www.matichon.co.th/local/news_3938137


ผู้เขียน
วิภาวดี โก๊ะเค้า
นักบริการสารสนเทศ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ มานุษยวิทยาการแพทย์ บทสังเคราะห์ โรคอุบัติใหม่ โควิด-19 วิภาวดี โก๊ะเค้า

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share