มนุษย์ ต้นไม้ และการเยียวยา

 |  วัฒนธรรมสุขภาพ
ผู้เข้าชม : 2524

มนุษย์ ต้นไม้ และการเยียวยา

           โดยทั่วไปการศึกษาพืชมักจำกัดตัวอยู่ในแวดวงนักวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะนักพฤษศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาสังคมของพืช แต่พวกเขามักศึกษาพืชในฐานะวัตถุของการศึกษาที่มุ่งสนใจคุณสมบัติเชิงกายภาพและชีววิทยาของพืช อย่างไรก็ดี นักพฤษศาสตร์มีความจำเป็นต้องลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลของต้นไม้ที่เติบโตในระบบนิเวศที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นวิธีการที่คล้ายคลึงกับนักมานุษยวิทยาที่เข้าไปศึกษาวัฒนธรรมของมนุษย์ในถิ่นที่อยู่อาศัย โดยมีเทคนิคในการเก็บข้อมูลคือการทำความเข้าใจรูปร่างและรูปทรงของพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด ผ่านการวาดรูปเพื่อแสดงรายละเอียดส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น ใบ ลำต้น กิ่งก้าน ดอกไม้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่านักพฤกษศาสตร์ต้องมีทักษะในการสังเกต มีความละเอียดอ่อน ต้องใช้อารมณ์ความรู้สึกในการเข้าถึงตัวตนของพืชแต่ละชนิด ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าการศึกษาชีวิตทางสังคมของพืชจึงมีแนวทางไม่ต่างจากการศึกษาสังคมของมนุษย์ (Hartigan, 2017)

           สำหรับการศึกษาทางมานุษยวิทยา อิทธิพลของ “จุดเปลี่ยนทางภววิทยา” (Ontological Turn) ทำให้ความสนใจต่อการศึกษาสิ่งมีชีวิตอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น ต้นไม้ สัตว์ แมลง ถูกทบทวนใหม่ สิ่งมีชีวิตอื่นไม่ได้เป็นเพียงพื้นหลังของการศึกษา สำหรับพืชพรรณต่าง ๆ ก็เช่นกัน ต้นไม้ได้รับการพิจารณาในฐานะสิ่งมีชีวิตที่สามารถเจริญเติบโตได้ จึงสามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ มีปฏิสัมพันธ์ มีการสื่อสารและปรับตัวกับสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตรอบตัว เรียนรู้ จดจำ ตัดสินใจและแก้ไขปัญหาในสภาพแวดล้อมที่ต้นไม้ดำรงอยู่ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความสามารถ สติปัญญาและความเป็นสังคมของต้นไม้ว่ามีลักษณะอย่างไร (Gagliano, 2015) ดังนั้น การจัดหมวดหมู่ สปีชีส์ (species categories) ที่แยกมนุษย์ออกจาก “ธรรมชาติ” แล้วจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในลักษณะตายตัว เช่น การมองว่าพืชเป็นเพียงวัตถุของการศึกษาที่หยุดนิ่งที่ไร้ซึ่งชีวิตและจิตใจ การแบ่งแยกที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เป็นไปโดยธรรมชาติ หากแต่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่แวดล้อม (Descola, 2013) นักมานุษยวิทยาจึงเริ่มศึกษาพืชโดยเน้นทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ พืช และสังคมรอบตัว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความเป็นสังคมประกอบขึ้นจากความสัมพันธ์จากสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์ที่พึ่งพาอาศัยกัน และแต่ละสายพันธุ์สามารถสร้างผลกระทบและเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากสายพันธุ์อื่น ๆ

           การศึกษาบทบาทของพืชในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับภาคปฏิบัติของการใส่ใจดูแลเป็นประเด็นที่มีความน่าสนใจและแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ที่ไม่หยุดนิ่งตายตัวของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาพืชในฐานะ “วัตถุของการใส่ใจดูแล” (matters of care) กล่าวคือ ไม่เพียงมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างพืชกับมนุษย์ แต่ยังศึกษาว่ามนุษย์และพืชเข้าไปเกี่ยวพันกันบนเส้นทางที่ตั้งอยู่บนการใส่ใจดูแลได้อย่างไรบ้าง (Puig de la Bellacasa, 2017) เช่น การใช้ต้นสมุนไพรพื้นบ้านในกลุ่มชาติพันธ์ชาวสุรินทร์เป็นตัวอย่างคลาสสิคตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และพืชที่ตั้งอยู่บนเส้นทางของการใส่ใจดูแลในชีวิตประจำวัน โดยกลุ่มชาติพันธุ์กูยในเขตอีสานตอนล่างเป็นกลุ่มที่มีวิถีชีวิตใกล้ชิดกับธรรมชาติ เมื่อคนในชุมชนเจ็บป่วย สมุนไพรและพรรณไม้จะถูกดัดแปลงนำมาปรุงเป็นยาสามัญประจำบ้านบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องผูก ท้องเสีย และยาถ่ายพยาธิ และสำหรับคนในชุมชนทั่วไปที่มีสุขภาพปกติ การรับประทานสมุนไพรถือเป็นอาหารเสริมเพื่อสร้างความสมดุลการทำงานของร่างกาย เสริมภูมิต้านทานและป้องกันโรคบางชนิด การนำพืชมาใช้ในชุมชนรูปแบบต่าง ๆ นี้ แสดงให้เห็นบทบาทของพืชในฐานะยารักษาโรคและสมบัติของคนในชุมชนซึ่งได้สั่งสมและสืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น (บุรเชนณ์ สุขคุ้ม, 2563, น.1571-1581)

           การศึกษาต้นไม้ในฐานะวัตถุแห่งการใส่ใจดูแล ยังปรากฏให้เห็นผ่านความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และต้นไม้ในระบบบริการสุขภาพของผู้คนในสังคมเมือง ภายใต้แนวคิด ‘Social Prescribing’ หรือการใช้กิจกรรมทางสังคมเพื่อเยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจผู้ป่วยควบคู่ไปกับการใช้ยา (Office for Health Improvement and Disparities, 2022) ซึ่งเข้ามาสร้างทางเลือกของการใส่ใจดูแลในแง่มุมใหม่ๆ เช่น ศูนย์การแพทย์ Cornbrook Medical Practice ในเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ได้นำแนวคิดในการ "จ่ายยาเป็นต้นไม้” เนื่องจากแพทย์พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแฟลตและไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าถึงสวนหรือพื้นที่สีเขียว แพทย์จึงเริ่มสั่งจ่ายยาเป็นต้นไม้ให้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องเผชิญภาวะโดดเดี่ยวจากการอยู่เพียงลำพัง โดยผู้ป่วยจะได้สมุนไพร ผัก และไม้กระถางอื่น ๆ ไปปลูกและดูแลที่บ้านเมื่อโตจึงนำต้นไม้กลับมาที่โรงพยาบาลเพื่อนำมาปลูกต่อร่วมกันที่สวนของโรงพยาบาล สวนผักในโรงพยาบาลจึงเต็มไปด้วยพืชหลากหลายชนิด โดยพืชที่จ่ายให้คนไข้ส่วนใหญ่คือพืชสมุนไพรเช่น สะระแหน่ (Lemon Balm) และกัญชาแมว (Catmints) เนื่องจากมีสรรพคุณส่วนช่วยให้จิตใจสงบ (Abernethy,2019)

ภาพ พื้นที่ปลูกต้นไม้ร่วมกันของผู้ป่วยในโรงพยาบาล แหล่งที่มา Courtesy Sow the City

           ศูนย์การแพทย์แห่งนี้ยังระบุเพิ่มว่า การจ่ายยาเป็นต้นไม้เป็นเสมือนการมอบภารกิจเล็ก ๆ บางอย่างให้ผู้ป่วยได้มีสิ่งที่พวกเขาได้ดูแลหรือเอาใจใส่ ซึ่งส่งผลดีต่อผู้คนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ไม่มีพื้นที่สวนและไม่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ การจ่ายยาเป็นต้นไม้ยังเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้คนอยากกลับมาพบแพทย์ตามนัด และเป็นกิจกรรมที่ผลักดันให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการจัดสวนในโรงพยาบาล ได้พบเจอเพื่อใหม่ ๆ ระหว่างทำกิจกรรมและอาจจะผลักดันให้พวกเขาเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมอื่น ๆ ต่อไปอีกด้วย (Abernethy, 2019) จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีขึ้น ไม่ได้มีแค่ยาเพียงอย่างเดียว แต่การรักษาด้วยต้นไม้ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่เข้ามาช่วยเยียวยาผู้ป่วยทั้งร่างกายและจิตใจ การพิจารณาต้นไม้ในฐานะวัตถุแห่งการใส่ใจดูแลจึงกระตุ้นให้เห็นความผูกพันทางอารมณ์ความรู้สึก และทำให้เกิดความตื่นตัวในเชิงปฏิบัติการ

           จากประสบการณ์การเก็บข้อมูลภาคสนามในประเด็นการปลูกต้นไม้ช่วงการระบาดของ โควิด-19 ของผู้เขียน ยังสะท้อนให้เห็นการใส่ใจดูแลระหว่างมนุษย์และต้นไม้ในแง่มุมของการปฏิบัติการณ์เชิงศีลธรรม (moral practice) ซึ่งทำให้ผู้ดูแลผู้รับการดูแลอย่างต้นไม้ผ่านกระบวนการบ่มเพาะตัวตน (self-cultivation) และพร้อมที่จะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น ในการดูแลต้นไม้ ต้นไม้ได้รับความรัก ความเอาใจใส่ ความเข้าใจในธรรมชาติของพวกมันจากผู้ดูแลเป็นอย่างดีราวกับว่าต้นไม้ของพวกเขาเป็นเสมือนมนุษย์คนหนึ่ง ในขณะเดียวกันการดูแลต้นไม้ให้เจริญเติบโตมาอย่างงดงามก็เป็นความภูมิใจ หรือสิ่งที่เติมเต็มความพยายามและความตั้งใจของผู้ปลูกต้นไม้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งเช่นกัน การใส่ใจดูแลที่เกิดขึ้นขณะปลูกต้นไม้จึงเป็นเรื่องของการรับผิดชอบ ความเข้าอกเข้าใจ และต้องอาศัยการเป็นอันหนึ่งอันเดียวระหว่างผู้ดูแลและผู้ได้รับการดูแล ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ทำให้ตัวตนของผู้ดูแลต้นไม้และต้นไม้ต่างเติบโตและเจริญงอกงามภายใต้บริบทเฉพาะของตนเอง ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับการใส่ใจดูแลที่เกิดขึ้นระหว่างมนุษย์ด้วยกัน (Kleinman, 2009)

           การนำต้นไม้เข้ามามีส่วนในการบำบัดรักษาผู้ป่วยปรากฎให้เห็นในบริบททางการแพทย์ของสังคมไทยมากขึ้น เนื่องจากงานศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติและการเยียวยาจำนวนหนึ่งเปิดเผยว่า การใกล้ชิดกับพื้นที่สีเขียวส่งผลดีต่อสุขภาพจิตและการดำเนินชีวิตของผู้คนโดยตรง โดยช่วยให้ระดับความเครียดและความวิตกกังวลลดลง (Wells et al., 2003) รวมถึงมีส่วนช่วยปรับปรุงการทำงานของสมองส่วนการรับรู้และความทรงจำ (Berman et al., 2012) ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่พิจารณาว่าต้นไม้มีศักยภาพในการบำบัดเยียวยาอารมณ์ความรู้สึกผู้คนจึงต้องการสร้างพื้นที่แห่งการเยียวยาและพักผ่อน จึงเกิดการสร้างสวนในรูปแบบสวนบำบัดหรือ Healing Garden หมายถึง การนำความรู้และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้สวนมาเป็นส่วนหนึ่งของการบำบัดผู้ป่วย พัฒนาเด็ก สร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค หรือนันทนาการ (Jiang, 2013)

 

ภาพ สวนบำบัดลอยฟ้า โรงพยาบาลรามาธิบดี

แหล่งที่มา https://www.baanlaesuan.com/112075/gardens/healing-garden

และ https://archello.com/story/110121/attachments/photos-videos

           สวนบำบัดแห่งนี้มีชื่อว่า “สวนบำบัดลอยฟ้า” ตั้งอยู่บนดาดฟ้าของโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อทำให้โรงพยาบาลเป็นสถานที่เยียวยาแบบองค์รวมทั้งมิติกายและใจของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ มีขนาด 1,500ตารางเมตร ถือเป็นสวนบำบัดที่ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เน้นแนวคิดการใช้พลังธรรมชาติบำบัดผู้คนหรือ ecotherapy เราจึงจะพบเห็นต้นไม้และดอกไม้ละลานตา โดยทั้งหมดเป็นต้นไม้ที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ ไม่มีหนาม รวมถึงมีกลิ่นหอมและมีผิวสัมผัสหลากหลายเพื่อกระตุ้นการรับรู้ นอกจากนั้น ต้นไม้จะถูกยกขึ้นจากพื้นเพื่อให้ผู้ใช้อย่างคนชราไม่ต้องออกแรงก้มลงเพื่อสัมผัสธรรมชาติ ในส่วนหน้าตาสวนบำบัดลอยฟ้าตั้งอยู่บนพื้นที่รูปทรงกลม เส้นสายโค้งมน ช่วยให้เกิดความรู้สึกนุ่มนวลอ่อนโยน พื้นที่ของสวนยังถูกแบ่งเป็นโซนกิจกรรม เช่น โซนเล่นหมากรุกสำหรับผู้สูงอายุไว้ฝึกสมอง โซนลานรูปวงกลมที่มีพื้นผิวเป็นหินกรวดไว้สำหรับบำบัดใจด้วยการเดินเนิบช้าเพื่อทำสมาธิ เป็นต้น นอกจากจะบำบัดผู้คนแล้วยังออกแบบมาเพื่อบำบัดเมือง โดยสวนแห่งนี้จะช่วยดูดซับน้ำฝนไม่ให้ไหลสู่เมืองโดยตรง เปรียบเหมือนแก้มลิงเล็ก ๆ ที่ช่วยซับน้ำให้เมืองใหญ่ ขณะที่พืชพรรณนานาชนิดในสวนช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพและฟอกอากาศของกรุงเทพฯ ส่วนที่โดดเด่น คือการนำขยะอนินทรีย์อย่าง ‘ถุงน้ำเกลือ’ ซึ่งถือเป็นขยะสะอาดดัดแปลงกลายเป็นโซน ‘ผนังถุงน้ำเกลือ’ ซึ่งเป็นผนังต้นไม้ที่สร้างจากถุงน้ำเกลือใช้แล้วกว่า 700 ถุง (ธารริน อดุลยานนท์, 2561) อย่างไรก็ดี คำว่าสวนบำบัดอาจไม่จำกัดเพียงแค่การมีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่เท่านั้น แต่บางครั้งเราอาจนำเพียงส่วนหนึ่งของการทำสวนมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การปลูกผัก เพาะถั่วงอกในขวด แม้แต่การปั้นดิน หรือปลูกต้นไม้สักกระถางหนึ่งในบ้านหรือในคอนโดมิเนียมต่างล้วนเป็นส่วนหนึ่งของสวนบำบัดทั้งสิ้น

ภาพ โซนผนังต้นไม้ที่สร้างจากถุงน้ำเกลือใช้แล้ว

แหล่งที่มา https://archello.com/story/110121/attachments/photos-videos

           กล่าวโดยสรุป นักมานุษยวิทยาสนใจศึกษาการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ พืชพรรณ และสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ซึ่งทำให้เห็นแง่มุมของการใส่ใจดูแลที่เกิดขึ้นข้ามสายพันธุ์ การศึกษาปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวนำมาสู่ข้อเสนอให้มนุษย์กลับมาทบทวนจุดยืนของตนเอง และตระหนักเสมอว่าสิ่งมีชีวิตที่มีสปีชีส์แตกต่างจากเราต่างมีความเป็นผู้กระทำการ หรืออาจกล่าวได้ว่าพวกมันก็มีความเป็นมนุษย์ไม่ต่างจากเรา มุมมองเหล่านี้ช่วยให้เรามองเห็นชีวิตของต้นไม้ ตระหนักถึงความสำคัญของโลกทางธรรมชาติซึ่งเปิดเผยความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการบำบัดและเยียวยาในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่แง่มุมเล็ก ๆ เช่น การบำบัดและเยียวยาจากการปลูกต้นไม้ในพื้นที่เล็ก ๆ เพียง 1 ต้น ตลอดจนการมีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ของชุมชนเพื่อการบำบัดและเยียวยา


บรรณานุกรม

Abernethy, L. (2019, August 25). Plants are now being prescribed to help people with anxiety and depression. Metro. Retrieved March 20, 2023, from https://metro.co.uk/2019/08/25/plants-now-prescribed-help-people-anxiety-depression-10629279/

Bratman, M.G, et al., 2012. The impacts of nature experience on human cognitive function and mental health. Annals of the New York Academy of Sciences (Issue: The Year in Ecology and Conservation Biology), 1249, 118-136.

Descola, P. (2013). Beyond Nature and Culture. Translated by Janet Lloyd. Illinois: The University of Chicago Press, 1-251. Retrieved from https://antropologia360.files.wordpress.com/2017/09/philippe-descola-beyond-nature-and-culture-2013.pdf

Gagliano, M. (2015). In a green frame of mind: Perspectives on the behavioural ecology and cognitive nature of plants. AoB PLANTS, 7 (January) Retrieved from https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4287690/#__ffn_sectitle

Hartigan Jr., J. (2017). Care of the species: Races of corn and the science of plant biodiversity. Minneapolis: University of Minnesota Press

Hartigan Jr., J. (2019). Plants as ethnographic subjects. Anthropology Today, 35(2), 1-2. Jiang, Shan. “Therapeutic Landscapes and Healing Gardens: A Review of Chinese Literature in Relation to the Studies in Western Countries.” Frontiers of Architectural Research, no. 2, Elsevier BV, June 2014, pp. 141–53. Crossref, doi:10.1016/j.foar.2013.12.002.

Kleinman, A. 2009. Caregiving: The Odyssey of Becoming More Human. Lancet, 373, 292-293.

Office for Health Improvement and Disparities (2022). Social prescribing: applying All Our Health. Retrieved March 20, 2023, from https://www.gov.uk/government/publications/social-prescribing-applying-all-our-health/social-prescribing-applying-all-our-health

Puig De La Bellacasa, M. 2017. Matters of Care: Speculative Ethics in More Than Human Worlds. Minneapolis: University of Minnesota Press.

Wells, N.M. & Evans, G.W., 2003. Nearby Nature: A Buffer of Life Stress among Rural Children. Environment and Behavior, 35, 311-330.

บุรเชนณ์ สุขคุ้ม. (2563). รูปแบบการพัฒนาชีวิตโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธ์กูยในเขตอีสานตอนล่าง. วารสารมหาลัยราชภัฏศรีสะเกศ, 7(6), 1571-1581.

ธารริน อดุลยานนท์. (2561) The Healing Garden สัมผัสพลังธรรมชาติจากพื้นที่สีเขียวขนาดไร่ครึ่งบนดาดฟ้าโรงพยาบาลรามาฯ ที่ช่วยฟื้นฟูกายใจคนและเยียวยาเมือง. จาก https://readthecloud.co/publicspace-12/  เข้าถึงวันที่ 20 มีนาคม 2566


ผู้เขียน
ณัฐนรี ชลเสถียร
ผู้ช่วยวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ต้นไม้ มานุษยวิทยาพ้นมนุษย์ โครงการเยียวยา ณัฐนรี ชลเสถียร

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share