เสียงในโรงพยาบาลกับการเยียวยา

 |  วัฒนธรรมสุขภาพ
ผู้เข้าชม : 2728

เสียงในโรงพยาบาลกับการเยียวยา

           แนวความคิด ‘ภูมิทัศน์ทางเสียง’ (Soundscape) กำเนิดขึ้นครั้งแรกในวงการดนตรีและศิลปะสมัยใหม่ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา โดย Murray Schafer นักประพันธ์เพลง นักเขียนและเขายังเป็นนักรณรงค์กิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมชาวแคนนาดา ภูมิทัศน์ทางเสียงตามแนวทางของ Schafer นอกจากจะให้ความสนใจในสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติวิทยา และชีวิตสัตว์ประเภทต่าง ๆ ในฐานะแหล่งกำเนิดเสียง เขายังให้ความสนใจกับสังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี ตลอดจนวิถีชีวิตและความเชื่อ ที่ส่งผลให้แต่ละสังคมมีรูปแบบของภูมิทัศน์ทางเสียงที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง (Schafer, 1997) แนวคิดภูมิทัศน์ทางเสียงของ Schafer ชวนให้ผู้คนหลายสาขาวิชาเรียนรู้เสียงรอบตัวด้วยการฟังอย่างใส่ใจ (Empathic listening) และทำความรู้จักกับแหล่งที่มาของเสียงนั้น ๆ มากขึ้น

           ในช่วงหลังคริสต์ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา แวดวงทางมานุษยวิทยาให้ความสนใจต่อการรับรู้ประสบการณ์ทางผัสสะที่หลากหลาย (Multisensory) ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็น การดมกลิ่น การลิ้มรส โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้ยิน (Pink, 2010) เสียงจึงถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของนักมานุษยวิทยาสำหรับทำความเข้าใจความสัมพันธ์ที่ดำรงอยู่ในโลก เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม มนุษย์กับสัตว์ รวมไปถึงมนุษย์กับวัตถุ สิ่งของ การฟังเสียงอย่างใส่ใจจึงเป็นสิ่งที่มานุษยวิทยาให้ความสำคัญเช่นเดียวกันกับแวดวงดนตรีและการประพันธ์เพลง เนื่องจากการฟังถือเป็นจุดเริ่มต้นของนักมานุษยวิทยาในการสร้างข้อมูลหรือเขียนเรื่องเล่าเพื่อบอกเล่าชีวิตของผู้คนและสิ่งต่าง ๆ รอบตัว (Erickson, 2004)

           นักมานุษยวิทยายุคคลาสสิคมักบันทึกเพียงเสียงพูด บทสนทนาและคำอธิบายที่สอดคล้องกับประเด็นที่ตนศึกษาเท่านั้น เสียงอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษามักจะถูกลบเลือนหรือมองข้ามไป งานศึกษาในยุคถัดมา จึงเรียกร้องให้นักมานุษยวิทยาไม่ใส่ใจเพียงแค่เสียงของผู้ให้ข้อมูลและเสียงของเครื่องดนตรีบางชนิดที่เคยถูกศึกษาไว้ (Bauer, 2000) เนื่องจาก “เสียง” เปรียบได้กับตัวบท (Sound-as-text) ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่สำคัญในการทำความเข้าใจโลกและสภาพแวดล้อมทางสังคม นักมานุษยวิทยาจึงควรหันมาใส่ใจกับเสียงทุกรูปแบบที่ปรากฎในสภาพแวดล้อม (Samuels et al., 2010) ด้วยเหตุนี้ การศึกษาภูมิทัศน์ทางเสียง ซึ่งหมายถึง การให้ความสนใจต่อการศึกษาเสียงจากหลากหลายแหล่งในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเสียงของลม เสียงฝน เสียงของใบไม้ ตลอดจน เสียงของวัตถุสิ่งของ ที่สร้างสภาพแวดล้อมการได้ยินขึ้น ถือเป็นวิธีการศึกษาซึ่งนำ “เสียง” มาใช้ในการอธิบายประสบการณ์ของผู้คน ตลอดจน สังคม วัฒนธรรม ปฏิสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมที่นักมานุษยวิทยาศึกษา (Rice 2019:239-248)

           โรงพยาบาล ถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่นักมานุษยวิทยาควรให้ความสนใจต่อการศึกษา “เสียง” เพราะนับแต่ ค.ศ.1960 เป็นต้นมา พบว่าระดับเสียงในโรงพยาบาลดังมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ระดับเสียงในเวลากลางวัน จาก 57 เดซิเบล เพิ่มขึ้นเป็น 72 เดซิเบล และระดับเสียงในเวลากลางคืน เพิ่มขึ้นจาก 42 เดซิเบล เป็น 60 เดซิเบล และในปัจจุบันสูงกว่าระดับเสียงที่ยอมรับได้ขององค์กรอนามัยโลกที่กำหนดไว้ไม่เกิน 35 เดซิเบล (The World Health Organization, 2018) เสียงเหล่านี้มีผลโดยตรงต่อร่างกายและสภาพจิตใจ โดยทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และความเครียด อีกทั้งความถี่ของเสียงอยู่ในระดับเดียวกับเสียงที่มนุษย์ใช้สนทนา เสียงเหล่านี้จึงรบกวนการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ด้วยเช่นกัน (Choiniere 2010; Mazer 2010) สิ่งที่น่าสนใจคือ แหล่งกำเนิดเสียงเหล่านี้มาจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลภายในโรงพยาบาลเองทั้งสิ้น เช่น เสียงที่เกิดจากการทำงานของเจ้าหน้าที่ เสียงของเครื่องมือทางการแพทย์ เสียงประกาศเรียกผู้ป่วย เสียงโทรทัศน์ เสียงล้อรถเข็นยาและอาหาร เสียงกระทบกันของเครื่องมือหรือภาชนะสแตนเลส (โกศล จึงเสถียรทรัพย์ และโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์,2559: 163-164) ตัวอย่างของผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ผู้ป่วยเด็กที่นอนรับการรักษาในห้องผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) ถูกรายล้อมด้วยเสียงต่าง ๆ ที่ดังอยู่ตลอดเวลา และบางคนมีเครื่องช่วยหายใจและเครื่องฉีดยาที่ส่งเสียงเป็นระยะต่ออยู่กับตัวมากถึง 6 เครื่อง (O'brien 2007) จะเห็นได้ว่าเสียงเป็นสิ่งที่ทำร้ายสุขภาพของผู้คนในโรงพยาบาลอย่างคาดไม่ถึง

แผนภูมิแสดงแหล่งกำเนิดเสียงรบกวนในโรงพยาบาล (Schweizer, 2015)

           งานศึกษาภาคสนามชิ้นสำคัญของ Tom Rice (2003) ศึกษาภูมิทัศน์ทางเสียงในโรงพยาบาลที่มีผลต่อการรับรู้และการปรับตัวของผู้ป่วยไว้อย่างน่าสนใจ Rice ชี้ให้เห็นว่า ในโรงพยาบาล การฟังเป็นวิธีการสำคัญที่ผู้ป่วยใช้ในการปรับตัวต่อโลกในโรงพยาบาล ผู้ป่วยจะรู้จักโรงพยาบาลและเข้าใจกิจวัตรและเหตุการณ์ต่าง ๆ ผ่านหูของพวกเขา ดังเช่นผู้ป่วยในของแผนกทางเดินหายใจท่านหนึ่งกล่าวว่า

“คุณจะได้ยินว่าพวกเขากำลังเตรียมอาหารเย็นหรือถึงเวลาทานยาจากการได้ยินเสียงรถเข็นอาหาร และรถเข็นยาที่กำลังเข็นมาห้องคุณ และคุณสามารถตั้งนาฬิกาข้อมือของคุณได้เมื่อได้ยินเสียงพยาบาลสับเปลี่ยนกะ”

           สำหรับผู้ป่วยบางคนการได้ยินเสียงรอบตัวกลายเป็นวิธีสำคัญในการทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาล แต่ Rice กลับชี้ให้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งว่า แม้ผู้ป่วยจะรู้สึกคุ้นเคยต่อเสียงในสภาวะแวดล้อมของโรงพยาบาล แต่ผู้ป่วยกลับไม่ได้มีความรู้สึกที่ดีต่อเสียงเหล่านี้และรู้สึกว่าเสียงเหล่านี้เป็นเสียงรบกวน (Noise) ที่พวกเขาไม่ได้ปรารถนาจะได้ยินเพียงแต่พวกเขาหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังเช่น คำบอกเล่าของผู้ป่วยรายหนึ่ง ซึ่งเคยเขียนจดหมายถึงฝ่ายบริหารของโรงพยาบาล โดยแนะนำว่าพยาบาลควรสวมรองเท้าที่ไม่ส่งเสียงรบกวน เนื่องจากเสียงกระแทกจากส้นรองเท้าปลุกเขาตื่นกลางดึกอยู่เสมอ นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายยังระบุเพิ่มว่า เสียงแหลมสูงของล้อรถเข็นที่เคลื่อนผ่านทั้งกลางวันและกลางคืนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอึดอัดและขาดความเป็นส่วนตัว เนื่องจากเสียงเหล่านี้ทำให้พวกเขารู้สึกถูกจับจ้องหรืออยู่ในสายตาของพยาบาลผู้ซึ่งมีอำนาจกว่าตัวเขาตลอดเวลา ผู้ป่วยจำนวนจึงหนึ่งเลือกใส่หูฟังเพื่อให้เพลงที่เขาชื่นชอบพาเขาออกจากสภาพแวดล้อมของเสียงรบกวนในโรงพยาบาลชั่วขณะ (Rice, 2003:4-8)

           นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการแพทย์สมัยใหม่ในการรักษาความผิดปกติของร่างกายตามองค์ความรู้ทางชีวการแพทย์ (biomedicine) แม้จะช่วยเพิ่มความแม่นยำและความรวดเร็วในเชิงเทคนิคการรักษา แต่เสียงแจ้งเตือนที่มาควบคู่กับอุปกรณ์เหล่านี้สามารถสร้างความรู้สึกแปลกแยกในผู้ป่วยบางรายและสร้างการรับรู้ตัวตนของผู้ป่วยในลักษณะตายตัว ดังเช่นงานศึกษาของ Helman (1984) ที่ติดตามการวินิจฉัยและการรักษากลุ่มผู้ป่วยที่ต้องใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการแพทย์จำนวนมาก เขาพบว่า การที่ผู้ป่วยต้องฟังเสียงสัญญาณชีพและเสียงแจ้งเตือนอุปกรณ์หลากหลายชนิดอย่างต่อเนื่อง ขณะนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ทำให้พวกเขารู้สึกเปราะบาง ไร้ซึ่งอำนาจในการจัดการและควบคุมตัวเอง ราวกับว่าตัวพวกเขากำลังเข้ารับการทดลองบางอย่างในห้องทดลอง ซึ่งสภาพแวดล้อมของเสียงรบกวนที่หลากหลายและปะปนกันในหอผู้ป่วยนี้ สร้างประสบการณ์และความรู้สึกเชิงลบซึ่งทำให้พวกเขาตั้งคำถามต่อตัวเองอยู่บ่อยครั้งว่า พวกเขากำลังรักษาตัวอยู่ในสถานที่ที่เรียกว่าโรงพยาบาลจริงหรือ (Helman, 1984)

           ห้องผ่าตัด ถือเป็นสถานที่น่าสนใจต่อการทำความเข้าใจภูมิทัศน์ทางเสียง เนื่องจากห้องผ่าตัดถือเป็นห้องที่ร่างกายผู้ป่วยวางอยู่กึ่งกลางระหว่างความเป็นและความตาย ผู้คนจึงมักคิดว่าห้องผ่าตัดเป็นห้องที่เสียงและบรรยากาศเงียบสงบ แต่ในความเป็นจริงห้องผ่าตัดกลับเต็มไปด้วยการปะทะกันของเสียงหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการผ่าตัดของแผนกประสาทและแผนกศัลยกรรมกระดูก ที่ต้องใช้เลื่อยและสว่านประกอบการผ่าตัด ดังนั้นระดับความดังของเสียงสูงสุดจึงมากกว่า 100 เดซิเบล ขึ้นไป (Kracht et al., 2007) ศัลยแพทย์กว่า 62-72% เลือกเปิดเพลงขณะทำการผ่าตัด แม้จะมีข้อถกเถียงว่าการเปิดเพลงอาจเป็นการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ แต่งานศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของดนตรี บทบาทวิชาชีพ และความเชี่ยวชาญในการผ่าตัด พบว่าการเปิดเพลงขณะผ่าตัดเป็นวิธีที่ที่ทำให้ศัลยแพทย์ พยาบาล และทีมงานมีสมาธิและรู้สึกผ่อนคลายขณะผ่าตัดมากกว่าห้องผ่าตัดที่มีเพียงเสียงของเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ดังก้องทั่วห้อง โดยวิสัญญีแพทย์มักเปิดเพลงคลาสสิกและเพลงแจ๊ส ในระดับเสียงที่เบากว่าเมื่อเทียบกับศัลยแพทย์ที่มักเปิดด้วยความดังในระดับที่สูงกว่า อีกทั้งเสียงเพลงยังทำให้การทำงานร่วมกันในทีมดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้คนไข้คลายกังวลและความเครียดระหว่างการผ่าตัดลงได้ถ้าหากเปิดเพลงได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยเพลงที่นิยมเปิดคือ เพลงร็อค เพลงคลาสสิก เเละเพลงท๊อปฮิต (Yamasaki A et al., 2016) จะเห็นได้ว่า เสียงเพลงมีส่วนช่วยในการสร้างบรรยากาศที่ดีและสร้างสภาพแวดล้อมทางเสียงที่เอื้ออำนวยต่อการทำงานและการเยียวยาผู้ป่วย

           บทความ How the noise of a hospital can become a healing soundscape (2022) ของ Victoria Bates นำเสนอแง่มุมเกี่ยวกับการเปลี่ยนเสียงรบกวนสู่เสียงเพื่อการเยียวยาไว้อย่างน่าสนใจ โดย Bates กล่าวว่าเสียงทุกประเภทไม่ได้สร้างแต่ความรู้สึกเชิงลบให้ผู้คนในโรงพยาบาล มีเสียงบางประเภทที่สามารถสร้างความรู้สึกเชิงบวกให้ผู้คนในโรงพยาบาลได้เช่นกัน ความพยายามที่จะลดเสียงรบกวนจึงปรากฏให้เห็นในพื้นที่ต่าง ๆ ของโรงพยาบาลมากขึ้น ผ่านการนำเสนอเสียงใหม่ ๆ เข้ามาแทนที่เสียงในสภาพแวดล้อมเดิม โดยบางโรงพยาบาลนำเสียงดนตรีที่ผลิตเสียงผ่านเครื่องดนตรีอะคูสติก (acoustic music) มาเปิดในลักษณะดนตรีคลอ (background music) บริเวณพื้นที่รอพบแพทย์ และพื้นที่รอรับยา เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวผู้ป่วยมักมีช่วงเวลาแห่งความตึงเครียด ความกังวลใจ และความวิตกกังวล จากการรอคอยเป็นระยะเวลายาวนาน เสียงดนตรีจึงเข้ามาช่วยสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อความรู้สึกผู้ป่วย (Bates, 2022)

           อย่างไรก็ตาม การนำเสนอเสียงใหม่ ๆ ในสภาพแวดล้อมทางเสียงเดิมเป็นสิ่งที่มีความซับซ้อนและควรต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากการเปิดเสียงดนตรีคลอในสภาพแวดล้อมโรงพยาบาลอาจกระตุ้นภาวะความเจ็บป่วยของผู้คนบางกลุ่มได้เช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีเครื่องช่วยฟังและผู้ป่วยออทิสติกในกลุ่มอาการที่มีความไวต่อเสียง (Hyperacusis) พวกเขาจะรับรู้เสียงบางประเภทดังกว่าคนทั่วไป เสียงดนตรีจึงสามารถสร้างความรู้สึกทุกข์ทรมานให้พวกเขามากกว่าความรู้สึกรื่นรมย์ใจ จากปัญหาดังกล่าวโรงพยาบาลบางแห่ง จึงหันไปใช้เสียงที่มีความผ่อนคลาย (soothing sound) หรือเสียงจากธรรมชาติ เช่น เสียงนกร้อง เสียงของลมอ่อน ๆ เสียงของน้ำไหล แทนเสียงดนตรี (Bates, 2021)

           แม้ผลของการศึกษาจะพบว่า เสียงจากธรรมชาติช่วยลดความเครียด ความดันโลหิต และการบาดเจ็บหลังการผ่าตัดได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับความเงียบ แต่อย่างไรก็ตามเสียงที่ผ่อนคลายสำหรับคนหนึ่งอาจเป็นเสียงรบกวนสำหรับอีกคนหนึ่ง และเสียงเงียบสงบสำหรับคนหนึ่งอาจให้ความรู้สึกโดดเดี่ยวสำหรับอีกคนหนึ่งได้เช่นกัน (Bates, 2021:50-75) งานศึกษาในปัจจุบันจึงมีความพยายามจัดการกับประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสและการรับรู้ที่หลากหลายนี้ โดย Yoko Sen คิดค้นและทดลองการออกแบบเสียงโดยให้ผู้ป่วยแต่ละคนมีส่วนในการสร้างเสียงเหล่านั้นด้วยตัวพวกเขาเอง ซึ่งถือเป็นการผสมผสานองค์ความรู้ทางด้านดนตรีเข้ากับองค์ความรู้ในการดูแลผู้ป่วย อีกทั้งเธอกำลังร่วมพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์รุ่นใหม่ ซึ่งช่วยปรับปรุงภูมิทัศน์ของเสียงรบกวนลงกว่า 80% ของหอผู้ป่วยหนักทั่วโลก (Westaway, 2023) ความพยายามเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการพยายามปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเสียงในโรงพยาบาลผ่านการลดแหล่งกำเนิดเสียงรบกวนและในขณะเดียวกันก็คำนึงถึงการรับรู้ที่หลากหลายของผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น

           การปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเสียงผ่านการนำเสนอเสียงใหม่ในภูมิทัศน์ทางเสียงเดิม อาจไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องเสียงรบกวนในโรงพยาบาล การศึกษาสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาผู้ป่วย โดยโกศล จึงเสถียรทรัพย์ และคณะ (2559) เสนอว่า อีกแง่มุมหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเสียงในโรงพยาบาล คือควรให้ความสนใจต่อการออกแบบโครงสร้างโรงพยาบาลควบคู่ไปด้วย เนื่องจากสถานพยาบาลเต็มไปด้วยแหล่งของเสียงจำนวนมาก และโรงพยาบาลยังขาดอุปกรณ์ดูดซับเสียง เนื่องจากวัสดุดูดซับเสียงส่วนใหญ่ เช่น พรมและผ้าม่านยากต่อการทำความสะอาดและดูแลรักษา การบุผนังด้วยผ้าหรือแผ่นดูดซับเสียงบางชนิดที่มีพื้นผิวเป็นรูพรุนไม่เหมาะต่อการใช้งานในโรงพยาบาล เพราะวัสดุดูดซับเสียงเหล่านี้ส่วนใหญ่มีคุณสมบัติในการสะสมฝุ่นและเชื้อแบคทีเรีย ส่วนวัสดุดูดซับเสียงที่มีการเคลือบสารกำจัดแบคทีเรียมักมีราคาสูงกว่างบประมาณของโรงพยาบาล แต่อย่างไรก็ตามโรงพยาบาลจำเป็นต้องมีมาตรการในการลดแหล่งกำเนิดเสียง โดยอาจเริ่มจากการลองพิจารณาเสียงรอบตัวอย่างละเอียดหรือฟังที่มาของเสียงรอบตัวอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินเสียงในกระบวนการต่าง ๆ ที่อาจรบกวนกันเองหรืออาจให้ผู้ป่วยและบุคลากรจดบันทึกรายการเสียงที่ดังอยู่ในโรงพยาบาล เมื่อนำมาศึกษาร่วมกันก็อาจพบความเป็นไปได้ที่จะลดแหล่งกำเนิดเสียงที่ไม่จำเป็นลงได้ โกศล จึงเสถียรทรัพย์ และ โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, 2559:163-170)

           กล่าวโดยสรุป การศึกษาภูมิทัศน์ทางเสียงเป็นวิธีการศึกษาเสียงที่ผสมผสานองค์ความรู้ทางด้านดนตรีมาใช้ในงานศึกษาทางด้านมานุษยวิทยา การศึกษาภูมิทัศน์ทางเสียงในโรงพยาบาลสะท้อนให้เห็นว่า สภาพแวดล้อมทางเสียงมีความสัมพันธ์ต่ออารมณ์ ความรู้สึก ประสบการณ์ การรับรู้ตัวตนของตัวพวกเขาขณะรักษาตัวที่โรงพยาบาล ตลอดจนสิ่งแวดล้อมรอบตัวและความทรงจำที่ผู้ป่วยมีต่อโรงพยาบาล โดยระดับเสียงที่ดังเกินความจำเป็น เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โรงพยาบาลกลายเป็นสถานที่ที่สร้างความทุกข์และซ้ำเติมภาวะความเจ็บป่วยมากกว่าจะเป็นสถานที่แห่งการเยียวยารักษา ดังนั้นการศึกษาภูมิทัศน์ทางเสียงจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ด้านการจัดการและการออกแบบโรงพยาบาลเพื่อลดแหล่งกำเนิดเสียงรบกวน สร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อการทำงานของบุคลากรและสร้างบรรยากาศของโรงพยาบาลให้กลายเป็นสถานที่แห่งการเยียวยาสำหรับผู้ป่วย

           งานศึกษาภูมิทัศน์ทางเสียงของโรงพยาบาลในประเทศไทยยังปรากฏอยู่จำนวนไม่มากนัก การศึกษาและทำความเข้าใจภูมิทัศน์ทางเสียงของโรงพยาบาลหลากหลายแห่งในประเทศไทยเป็นประเด็นที่มีความท้าทายในการศึกษาทางมานุษยวิทยาการแพทย์ ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นลักษณะเฉพาะของโรงพยาบาลในแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงวัฒนธรรมของเสียงในแต่ะละพื้นที่ที่อาจสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน เสียง และสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลในแง่มุมที่แตกต่างไปจากเดิม

 

บรรณานุกรม

Bauer, M. W. (2000). Analysing noise and music as social data. In M. W. Bauer & G. Gaskell (Eds.), Qualitative researching with text, image, and sound (pp. 263–281). London:SAGE.

Bates, V. (2021). Making Noise in the Modern Hospital (Elements in Histories of Emotions and the Senses). Cambridge: Cambridge University Press. doi:10.1017/9781108885010

Bates, V. (2022, August 2). How the noises of a hospital can become a healing soundscape. Psyche. https://psyche.co/ideas/how-the-noises-of-a-hospital-can-become-a-healing-soundscape

Choiniere, D B. (2010). The Effects of Hospital Noise. Nursing Administration Quarterly 34(4):327-333.

Erickson, F. (2004). Talk and social theory: Ecologies of speaking and learning in everyday life. Malden, MA: Polity Press.

Kracht, Jonathan M., et al. “Noise in the Operating Rooms of Johns Hopkins Hospital.” The Journal of the Acoustical Society of America, vol. 121, no. 5, 2007, pp. 2673–2680., https://doi.org/10.1121/1.2714921.

Helman, C.G. (1984). Culture, health and illness: An introduction for health professionals. Oxford: Butterworth-Heinemann

Mazer, S. E. (2010). Music, Noise, and the Environment of Care: History, Theory, and Practice. International Journal of Music and Medicine 2 (3):182-191.

O'brien, Dennis. (2007). A remedy for hospital noise: Noted acoustic expert works on turning down the volume at Johns Hopkins. http://articles.baltimoresun.com/2007-09-09/news/0709090013_1_johns-hopkins-ceilings-hopkins-hospital.

Pink, S. (2010). The future of sensory anthropology/the anthropology of the senses. Social Anthropology, 18(3), 331–333.

Schafer, M. (1997). The tuning of the world (1st ed., pp. 1-332). McClelland and Stewart, Toronto,1977. https://monoskop.org/images/d/d4/Schafer_R_Murray_The_Soundscape_Our_Sonic_Environment_and_the_Tuning_of_the_World_1994.pdf

Samuels, D. W., Meintjes, L., Ochoa, A. M., & Porcello, T. (2010). Soundscapes: Toward a sounded anthropology. Annual Review of Anthropology, 39, 329–345.

Rice, T. (2003). Soundselves An acoustemology of sound and self in the Edinburgh Royal Infirmary. Anthropology Today, Vol 19, 4-9. https://www.researchgate.net/publication/230061982_Soundselves_An_acoustemology_of_sound_and_self_in_the_Edinburgh_Royal_Infirmary

Rice, T. (2019). Ethnographies of sound. In Michael Bull (Ed.), The Routledge Companion to Studies (p.239-248). New York: Routledge.

Schweizer E. (2015). Sound Matters: Why All Hospital Noise is Not Created Equal. Retrieved 10 January 2023, From https://blog.se.com/buildings/healthcare/2015/06/04/sound-matters-why-all-hospital-noise-is-not-created-equal/

TheWorld Health Organization. (2018). Environmental Noise Guidelines for the European Region (1). Copenhagen Denmark: The WHO Regional Office for Europe. from https://www.euro.who.int/__data/assets/pdf_file/0008/383921/noise-guidelines-eng.pdf

Yoko Sen. (2022). The Sound of Healing. Retrieved 1 January 2023, From https://westaway.com/case-studies/yoko-sen-designing-sound-for-healing/

Yamasaki A et al. Musical preference correlates closely to professional roles and specialties in operating room: A multicenter cross-sectional cohort study with 672 participants. Surgery. 2016. https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0039606015009083.

โกศล จึงเสถียรทรัพย์,โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, พุทธชาติ แผนสมบุญ, และธนวรรณ สาระรัมย์. (2559). สถาปัตยกรรมโรงพยาบาลและสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา (พิมพ์ครั้งที่1). สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักพิมพ์สุขศาลา.


ผู้เขียน

ณัฐนรี ชลเสถียร

ผู้ช่วยวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


 

ป้ายกำกับ ผู้ไร้เสียง โรงพยาบาล โครงการเยียวยา ณัฐนรี ชลเสถียร

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share