เทศกาล (ประดิษฐ์) คริสต์มาส

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 782

เทศกาล (ประดิษฐ์) คริสต์มาส

           ถุงเท้าสีแดง ต้นสนสีเขียว กวางเรนเดียร์ และซานตาคลอส หากสัญลักษณ์เหล่านี้ปรากฏขึ้นตามท้องถนน ศูนย์การค้า พื้นที่สาธารณะ ตลอดจนอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ นั่นแสดงให้เห็นว่าการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสได้เริ่มขึ้นแล้ว เทศกาลคริสต์มาสไม่ใช่เทศกาลธรรมดา หากแต่เป็นเทศกาลที่ผู้คนทั่วโลกมีโอกาสเฉลิมฉลองไปพร้อมกันจนถึงวันขึ้นปีใหม่ จากวันสำคัญทางศาสนาจนถึงการเฉลิมฉลองอย่างเป็นสากลไปทั่วโลก คำถามใหญ่ ๆ ต่อความไม่ธรรมดาของเทศกาลคริสต์มาสในบทความนี้คือ ทำไมเทศกาลคริสต์มาสจึงได้รับการเฉลิมฉลองในหลายประเทศทั่วโลก ในแต่ละประเทศที่มีการเฉลิมฉลองเทศกาลนี้ คริสต์มาสถูกให้ความหมายต่อการเฉลิมฉลองในลักษณะเฉพาะอย่างไรบ้าง และในท้ายที่สุด คริสต์มาสในฐานะที่เป็นเทศกาลที่มนุษย์สร้างขึ้น สะท้อนภาพของมนุษย์เองในแง่มุมใดได้บ้าง


นิยามเทศกาล

           เทศกาล (festivals) เป็นภาพสะท้อนอย่างกว้างของวัฒนธรรมมนุษย์ ซึ่งรวบรวมผู้คนเข้าเป็นกลุ่มทางสังคม (social groups) ในหลายระดับ เทศกาลก่อตัวและพัฒนาขึ้นในบริบททางสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับโลกเมื่อไม่กี่ศตวรรษที่ผ่านมา ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีการเฉลิมฉลองเทศกาลเกิดขึ้นมากมาย การเกิดขึ้นของเทศกาลในปัจจุบันถูกอธิบายว่ามีความสัมพันธ์กับรูปแบบการใช้เวลาว่าง เทศกาลจึงเป็นปัจจัยที่มีพลวัตในแง่ของการท่องเที่ยวและการพักผ่อนหย่อนใจ (Derrett 2000; Arcrodia & Whitford 2006)

           มิติทางสังคมของเทศกาลถูกนิยามไว้หลากหลาย เอมิล เดอร์ไคม์ (Emile Durkheim) (2001) มองเทศกาลในฐานะที่เป็นกิจกรรมคึกคักที่ยึดโยงความเป็นปึกแผ่น (solidarity) ของผู้คน ตลอดจนสะท้อนภาพความสัมพันธ์ระหว่างสังคมและสมาชิกซึ่งถูกรักษา ผลิตสร้าง และผลิตซ้ำ สอดคล้องกับเจมส์ เฟรเซอร์ (James Frazer) (2009) ที่มองว่าเทศกาลเป็นกิจกรรมซึ่งผลิตซ้ำระบบความเชื่อและตำนานปรัมปรา ในขณะที่โดนัลด์ เก็ตซ์ (Donald Getz) (2005) อธิบายไว้เพียงสั้น ๆ ว่า เทศกาลเป็นธีมเฉลิมฉลองสาธารณะในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โรเจอร์ เคลลอยส์ (Roger Caillois) (2001) มองว่าเทศกาลเป็นการเฉลิมฉลองที่เปิดให้ผู้คนหลบหนีออกจากกิจวัตรประจำวัน อัลเบิร์ต เพียตต์ (Albert Piette) (1992) ขยายความว่าการจัดงานเทศกาลมีส่วนทำลายข้อตกลงทางสังคม (social convention) ในช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อสร้างมันขึ้นมาใหม่เมื่อเทศกาลสิ้นสุดลง เทศกาลจึงเป็นเรื่องของพิธีกรรม กฏระเบียบ การเล่น และความไม่แน่นอนในชั่วขณะหนึ่ง

           อย่างไรก็ดี วัลเดมาร์ คัดนี่ (Waldemar Cudny) (2014) อธิบายว่าเทศกาลเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมและพื้นที่ซึ่งถูกจัดการให้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่กำหนด เทศกาลหนึ่ง ๆ มีพัฒนาการขึ้นมาในแต่ละยุคสมัยนับตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงสมัยใหม่ เขาชี้ให้เห็นว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เทศกาลที่มีความเฉพาะในบริบททางสังคมวัฒนธรรมหนึ่ง ๆ ขยายตัวเป็นวงกว้าง คือพัฒนาการทางสังคม ระบบเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมไปถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในโลกสมัยใหม่


กำเนิดคริสต์มาส

           คริสต์มาส (Christmas) เป็นชื่อเทศกาลที่อ้างถึงการเฉลิมฉลองวันประสูติของพระเยซูคริสต์ (Jesus Christ) โดยเทศกาลดังกล่าวเริ่มมีการเฉลิมฉลองเมื่อราวศตวรรษที่ 4 เซ็กตัส จูเลียส อาฟริกานัส (Sextus Julius Africanus) นักเดินทางและนักประวัติศาสตร์ผู้นับถือศาสนาคริสต์ เป็นผู้คำนวณว่าพระเยซูได้ประสูติในวันที่ 25 ธันวาคม โดยนับเวลา 9 เดือนหลังจากมารดาของพระองค์ทรงตั้งครรภ์ ที่มาที่ไปของเทศกาลคริสต์มาสตามคำอธิบายนี้จึงยึดโยงกับระบบความเชื่อและชุมชนทางศาสนา อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่าที่มาที่ไปของเทศกาลคริสต์มาสอาจมาจากเทศกาลนอกรีต (pagan) (Forbes 2007) แดเนียล มิลเลอร์ (Danial Miller) (2017) ขยายความว่าต้นกำเนิดของเทศกาลคริสต์มาส เป็นการผสมผสานระหว่างสามเทศกาลในยุคโรมัน คือเทศกาลแห่งคาเลนด์ (the festival of the Kalends)1 เทศกาลฉลองพระเสาร์ (Suturnalia)2  และเทศกาลฉลองพระอาทิตย์ (Dies Natalis Solis Invicti)3  ซึ่งจักพรรดิคอนสแตนติน (Constantine)4  ผู้สนับสนุนคริสตศาสนาในจักรวรรดิโรมัน ได้ควบรวมเข้ามาเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองวันประสูติของพระเยซู

           หลังจักรวรรดิโรมันล่มสลาย เทศกาลคริสต์มาสยังคงได้รับการเฉลิมฉลองต่อมาในทวีปยุโรปและแผ่ขยายไปจนถึงทวีปอเมริกาเหนือ จนกระทั่งเสื่อมความนิยมไปในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ก่อนที่จะกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 หลังจากที่นวนิยาย A Christmas Carol (1843) ของชาร์ลส์ ดิกเคน (Charles Dickens) ตีพิมพ์เผยแพร่ อย่างไรก็ดี เทศกาลคริสต์มาสในโลกสมัยใหม่ที่เราคุ้นเคยกันในทุกวันนี้กลับเป็นเทศกาลจากการประดิษฐ์ประเพณี (the invention of tradition) ซึ่งอ้างความเชื่อมโยงถึงอดีตอันไกลโพ้น ทว่าในความเป็นจริงแล้วกลับเป็นของใหม่ มิลเลอร์ (2017) อธิบายว่าเทศกาลคริสต์มาสสมัยใหม่อย่างในปัจจุบัน เกิดขึ้นจากการรวบรวมองค์ประกอบต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน อาทิ การตกแต่งต้นสนจากเยอรมัน การใส่ของขวัญลงในถุงเท้าจากเนเธอร์แลนด์ การเขียนการ์ดอวยพรจากอังกฤษ กวางเรนเดียร์จากสแกนดิเนเวีย รวมถึงการเกิดขึ้นของซานตาคลอส (Santa Claus) จากสหรัฐอเมริกา ยิ่งไปกว่านั้น การแพร่กระจายไปทั่วโลกของเทศกาลคริสต์มาสยังเป็นผลมาจากอิทธิพลของระบอบอาณานิคมอังกฤษ อิทธิพลของกองทัพสหรัฐในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รวมถึงการแพร่ขยายของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

           สัญลักษณ์สำคัญของวันคริสต์มาสอย่างซานตาคลอส ถูกอธิบายว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวของนักบุญนิโคลาส (Saint Nicholas)5  จากศตวรรษที่ 4 ซึ่งส่งผลต่ออิทธิพลในยุโรปหลายประเทศ อาทิ ฟาร์เธอร์คริสต์มาส (Father Christmas) ในอังกฤษ แปร์ โนเอล (Pere Noel) ในฝรั่งเศส ซินเตอร์กลาส (Sinterklass) ในเนเธอร์แลนด์ และมอส คราชุุน (Mos Craciun) ในอิตาลี ภาพจำของนักบุญนิโคลาสมีอยู่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ชายผอมโกร่งไปจนถึงตาเฒ่าน่าขนลุก แต่ภาพจำของชายชราที่อบอุ่น ยิ้มแย้ม ไว้หนวดสีขาวและสวมชุดแดงในปัจจุบัน เกิดขึ้นจากโฆษณาน้ำอัดลมโคคาโคลา (Coca-Cola) โดย แฮดดอน ซันด์บลอม (Haddon Sundblom) ในปี 1931 (Coca-Cola Company 2022) ในแง่นี้ ภาพลักษณ์ที่กระจัดกระจายของนักบุญนิโคลาสในเทศกาลคริสต์มาส จึงถูกทำให้กลายเป็นหนึ่งเดียวด้วยพลังของสื่อโฆษณาทางการตลาดและความคิดแบบบริโภคนิยม โคลด เลวี-สโตรส (Claude Levi-Strauss) (1993) ชี้ว่าคริสต์มาสที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้เป็นเทศกาลสมัยใหม่ในภาพลักษณ์คร่ำคร่า มิลเลอร์ (2017) อธิบายว่าพัฒนาการของเทศกาลคริสต์มาสดังกล่าวมานี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของการนำสิ่งต่าง ๆ มาทำจับฉ่าย (hodge-podge) แต่ยังแสดงให้เห็นการประดิษฐ์สร้างตนเองใหม่ (reinvent itself) ของเทศกาลอย่างสม่ำเสมอ แต่ทว่ายังยึดโยงอยู่กับที่ไปที่มาบางอย่างในอดีตด้วย

 

ที่มา: https://shorturl.ac/79nvv

ภาพโฆษณาเครื่องดื่มโคคาโคลาโดยแฮดดอน ซันด์บลอม ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสในช่วงทศวรรษ 1930s-1960s


คริสต์มาสในที่ต่าง ๆ

           ในขณะที่ประเทศและชุมชนผู้นับถือศาสนาคริสต์ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับวันคริสต์มาสในฐานะที่เป็นวันประสูติของศาสดา และเฉลิมฉลองคุณค่าดังกล่าวกับชุมชนศาสนาและครอบครัว ประเทศและชุมชนแบบอื่น ๆ ก็มีวิถีการเฉลิมฉลองเทศกาลดังกล่าวเป็นของตนเอง บาร์บารา โบเดนฮอร์น (Barbara Bodenhorn) (1993) บอกว่าชาวอินูเพียต (Inupiat) ชนพื้นเมืองในอลาสกา มีการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาส ทว่าพวกเขาต่อต้านในการให้ความหมายของเทศกาลกับครอบครัว ด้วยเพราะเกรงกลัวต่ออิทธิพลของโลกภายนอกที่จะเข้ามาลดทอนความสัมพันธ์แบบชุมชนในสังคม สำหรับชาวอินูเพียต คริสต์มาสเปิดโอกาสให้การเฉลิมฉลอง ร้องเพลง เต้นรำ ไม่ใช่แค่กับครอบครัวและเครือญาติ แต่ยังรวมไปถึงการสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับการเป็นผู้ใหญ่และทักษะของชาวอินูเพียตกับทุก ๆ คน ในแง่นี้ คริสต์มาสในฐานะที่เป็นเทศกาลที่แพร่ไปในระดับโลกจึงมีอุดมการณ์แบบจารีตชุมชนของท้องถิ่นผสมผสานอยู่ด้วย คุณค่าของเทศกาลคริสต์มาสของชาวอินูเพียต จึงอาจกล่าวได้ว่ามีลักษณะตรงข้ามกับคุณค่าในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

           ในขณะที่ออร์วาร์ ลอฟเกรน (Orvar Lofgren) (1993) อธิบายว่าวิถีของการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสในสวีเดนเป็นภาพสะท้อนของสังคม ครอบครัว และความแตกต่างระหว่างช่วงอายุ ซึ่งนำไปสู่การสร้างจารีตแบบใหม่ ไบรอัน มอแรน (Brian Moeran) และลิส สคอฟ (Lise Skov) (1993) ชี้ให้เห็นว่าเทศกาลคริสต์มาสในญี่ปุ่นเป็นการเฉลิมฉลองทางสังคมของคนหนุ่มสาวที่จะออกไปเที่ยวกับคู่รัก (dating) และการกินดื่มเพื่อความสำราญ (hedonistic consumption) ซึ่งเกิดขึ้นภายนอกบริบทครอบครัว ผลสำรวจความคิดเห็นในเดือนธันวาคม ปี 1991 เผยให้เห็นความไม่พึงพอใจของบรรดาแม่ ๆ ชาวญี่ปุ่นต่อกิจกรรมคริสต์มาสเช่นนี้ของลูกสาวถึงร้อยละ 98 มอแรนและสคอฟบอกว่าความไม่พึงพอใจนี้สะท้อนให้เห็นความแตกต่างระหว่างช่วงอายุขนาดใหญ่ (great generation gap) ที่บรรดาลูกสาวใช้โอกาสของเทศกาลคริสต์มาสทำตามเสียงเรียกร้องในหัวใจของตนเอง เทศกาลคริสต์มาสในบริบทของญี่ปุ่นจึงแสดงให้เห็นภาพสะท้อนของสังคมซึ่งคริสต์มาสถูกตีความใหม่และใช้งานโดยคนหนุ่มสาว คริสต์มาสที่สะท้อนภาพของสังคมในกรณีนี้ กลายเป็นธีมในการเฉลิมฉลองเทศกาลที่หลุดจากคุณค่าดั้งเดิมอย่างเด่นชัด

           หากย้อนกลับมาพิจารณาเทศกาลคริสต์มาสในสังคมไทย เราอาจพบว่าคุณค่าของเทศกาลคริสต์มาสที่ให้ความสำคัญกับศาสนาและครอบครัวยังคงดำรงอยู่ในชุมชนผู้นับถือศาสนาคริสต์ แต่สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวพุทธ เทศกาลคริสต์มาสแสดงให้เห็นการผสมผสานความเชื่อและวัฒนธรรม (syncretism) ได้อย่างน่าประหลาดใจ เราอาจพบเห็นการประดับไฟตกแต่งต้นคริสต์มาสในบริเวณอาคารบ้านเรือนที่โยงใยไปถึงศาลพระภูมิหน้าบ้าน หรือแม้กระทั่งเราอาจเห็นคนไทยนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นสวดมนต์ในกิจกรรมที่ตกแต่งตามแบบเทศกาลคริสต์มาส บริบทที่น่าสนใจอย่างหนึ่งในการกล่าวถึงเทศกาลดังกล่าวในสังคมไทยเช่นนี้ คือการที่คริสต์มาสไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ เทศกาลคริสต์มาสจึงปราศจากค่านิยมทางศาสนาและการใช้เวลากับครอบครัวโดยพื้นฐาน หากแต่เทศกาลดังกล่าวเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับการเฉลิมฉลองปีใหม่ คริสต์มาสในบริบทเชิงเวลาตามปฏิทินเช่นนี้จึงอาจเชื่อมโยงไปถึงการเฉลิมฉลองก่อนเวลาปีใหม่จริงในบางลักษณะ

 

ที่มา: https://shorturl.ac/79nvw

พิธีทำบุญโดยพระสงฆ์ในโอกาสวันคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ของไทย

 

           รัสเซล เบล์ค (Russel Belk) (1993) ชี้ให้เห็นว่าเทศกาลคริสต์มาสในปัจจุบันปรากฎในรูปของอุดมการณ์ทุนนิยม เทศกาลคริสต์มาสซึ่งเฉลิมฉลองโดยการใช้จ่าย (spending) มีพัฒนาการสัมพันธ์อย่างยิ่งกับการลุกตื่นของห้างสรรพสินค้าและแคมเปญเพื่อการค้าขายในหลายลักษณะ การตกแต่งห้างสรรพสินค้าในเทศกาลคริสต์มาสเพื่อส่งเสริมการขายอาจย้อนกลับไปได้ถึงปี 1874 ในนครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา โดยหากเราสำรวจแคมเปญในลักษณะเดียวกันของห้างสรรพสินค้าในสังคมไทย จะพบว่ามหกรรมลดราคาสินค้ามักเริ่มตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคม อีกทั้งยังมีการจัดพื้นที่ตกแต่งต้นคริสต์มาสประดับไฟสำหรับถ่ายภาพ รายล้อมไปด้วยการออกซุ้มร้านต่าง ๆ (กรุงเทพธุรกิจ 2563; ผู้จัดการออนไลน์ 2564; ฐานเศรษฐกิจ 2565) การเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสในอีกลักษณะหนึ่งของสังคมไทยจึงดำเนินไปผ่านวัฒนธรรมการถ่ายภาพเพื่อเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียควบคู่ไปกับการใช้จ่ายและบริโภคสินค้าลดราคา โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นกลางในเขตเมือง สอดคล้องกับการนิยามเทศกาลของคัดนี่ (2014) ที่ชี้ให้เห็นปัจจัยพัฒนาการของเทศกาลในโลกร่วมสมัย อันนำไปสู่การพิจารณาการใช้เวลาว่างหลังเลิกงานและลักษณะการท่องเที่ยวในเมืองของชนชั้นกลางไทยได้ต่อไป

 

ที่มา: https://shorturl.ac/79nvx

การจัดพื้นที่ตกแต่งต้นคริสต์มาสประดับไฟที่ห้างสรรพสินค้าเซนทรัลเวิร์ล 2565

 

คริสต์มาสประดิษฐ์

           เทศกาลเป็นภาพสะท้อนอย่างกว้างของวัฒนธรรมมนุษย์ เพราะเทศกาลเป็นกิจกรรมที่มนุษย์กำหนดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ เพื่อเฉลิมฉลองร่วมกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ท่ามกลางบริบททางสังคมและเศรษฐกิจ หากพิจารณาไปที่เทศกาลคริสต์มาสในปัจจุบัน สัญลักษณ์ของเทศกาลอย่างซานตาครอส กวางเรนเดียร์ ต้นสนสีเขียว และถุงเท้าสีแดง ล้วนเป็นองค์ประกอบที่เกิดขึ้นมาจากการประดิษฐ์อย่างผสมผสานจนเกิดเป็นเทศกาลคริสต์มาสสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านวิธีคิดเชิงวัตถุนิยมและบริโภคนิยมในการแผ่ขยายของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม อย่างไรก็ดี เราไม่อาจกล่าวได้ว่าเทศกาลคริสต์มาสที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่นี้ เป็นเทศกาลประดิษฐ์ที่อ้างกลับไปถึงเทศกาลคริสต์มาสแบบดั้งเดิมเพียงอย่างเดียว เพราะจากพัฒนาการของตัวเทศกาลเอง จะเห็นว่าต้นกำเนิดของเทศกาลที่ถูกอ้างถึง ก็เกิดขึ้นบนฐานความคิดเชิงศาสนาที่ผนวกรวมเทศกาลอื่น ๆ เข้ามาผสมผสานและยกขึ้นเป็นวันประสูติของพระเยซูเช่นกัน การเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสแบบดั้งเดิมจึงมีสถานะเป็นเทศกาลประดิษฐ์ที่อ้างกลับไปถึงกำเนิดศาสดาของศาสนา

           ไม่ว่าที่มาที่ไปของเทศกาลคริสต์มาสในปัจจุบันเป็นที่ยึดถืออย่างไร ชุดคุณค่าในการเฉลิมฉลองคริสต์มาสในปัจจุบันมีอยู่ทั้งในแบบดั้งเดิมและแบบสมัยใหม่ สภาวะของการเฉลิมฉลองแบบดั้งเดิมและแบบสมัยใหม่เช่นนี้ชี้ชวนให้คำนึงถึงการเปรียบเทียบของเบล์ค (1993) ต่อตัวแทนของคริสต์มาสทั้งสองแบบว่าในขณะที่พระเยซูประนามประณามความคิดแบบวัตถุนิยม ซานตาคลอสกลับเที่ยวแจกของเล่นของของฟุ่มเฟือยทั่วไป ท่ามกลางความหลากหลายของผู้คนในสังคมที่ร่วมเฉลิมฉลองไปกับเทศกาล ความขัดแย้งของรูปแบบการเฉลิมฉลองเช่นนี้ดำรงอยู่ไปพร้อม ๆ กันในทุกครั้งที่เทศกาลถูกเฉลิมฉลอง เพราะคริสต์มาสเป็นทั้งธีมที่ช่วยให้ผู้คนเฉลิมฉลองร่วมกันอย่างเป็นสาธารณะ (Getz 2005) ไปพร้อม ๆ กับที่เป็นกิจกรรมผลิตซ้ำระบบความเชื่อและยึดโยงความสัมพันธ์ในชุมชนศาสนา (Durkheim 2001; Frazer 2009) ในการแพร่กระจายไปทั่วโลกของเทศกาล ผู้คนในแต่ละชุมชนและแต่ละพื้นที่ มีวิธีการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสในแบบของตนเอง ความไม่ธรรมดาของเทศกาลคริสต์มาสจึงเป็นเทศกาลประดิษฐ์ที่ห่อหุ้มความหลายหลายอันย้อนแย้งเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างผสมกลมกลืน

           คงจะไม่เกินเลยไปนักหากจะกล่าวว่าโดยเนื้อแท้แล้วเทศกาลคริสต์มาสเป็นเทศกาลประดิษฐ์ การรวบรวมเทศกาลอื่น ๆ เข้าไว้ด้วยกันจนเกิดเป็นคริสต์มาส เป็นกระบวนการแบบเดียวกับที่องค์ประกอบอันหลากหลายถูกรวบรวมเข้ามาเป็นคริสต์มาสสมัยใหม่ การประดิษฐ์คริสต์มาสเกิดขึ้นผ่านกระบวนการประกอบขึ้นจากสิ่งต่าง ๆ จนเกิดเป็นเทศกาล คุณสมบัติอันห่อหุ้มความหลากหลายอันย้อนแย้งเข้าไว้ด้วยกันอย่างผสมได้อย่างกลมกลืน อาจเป็นไปได้ด้วยธรรมชาติของการประกอบเช่นนี้ หากเทศกาลเป็นภาพสะท้อนอย่างกว้างของวัฒนธรรมมนุษย์ เทศกาลคริสต์มาสในตัวของมันเองแสดงให้เห็นแง่มุมของการประกอบสร้าง (bricolage) ในวัฒนธรรมมนุษย์ ผ่านการสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์จากสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในมือโดยไม่คำนึงถึงวัตถุประสงค์เดิม (Levi-Strauss 1966) การประดิษฐ์เทศกาลนี้เกิดขึ้นผ่านการประกอบ เช่นเดียวกับที่การประกอบของถุงเท้าสีแดง ต้นสนสีเขียว กวางเรนเดียร์ และซานตาคลอส จนเกิดเป็นคริสต์มาสที่เราเฉลิมฉลอง บอกใบ้กับเราว่ามีการ “ประดิษฐ์” หลบซ่อนอยู่ในเทศกาลนี้

 

รายการอ้างอิง

Arcrodia, Charles & Whitford, Michelle. 2006. Festival Attendance and the Development of Social Capital. Journal of Convention and Event Tourism. 8(2): 1-18.

Belk, Russel. 1993. Materialism and the Making of Modern American Christmas. In Unwrapping Christmas, Daniel Miller (Eds). Oxford: Oxford University Press.

Bodenhorn, Barbara. 1993. Christmas Present: Christmas Public. In Unwrapping Christmas, Daniel Miller (Eds). Oxford: Oxford University Press.

Caillois, Roger. 2001. Man and the Sacred. Illinois: University of Illinois Press.

Coca-Cola Company. 2022. Did Coca-Cola Create Santa Claus. https://shorturl.ac/79nvj

Cudny, Waldemar. 2014. The Phenomenon of Festivals: Their Origins, Evolution, and Classifications. Anthropos. 109(2014): 640-656.

Derrett, Ros. 2000. Can Festivals Brand Community Cultural Development and Cultural Tourism Simultaneously? In Proceedings of conference on event evaluation, research and education, J. Allen et al. (Eds.). 120-128.

Durkheim, Emile. 2001. The Elementary Forms of Religious Life. Oxford: Oxford University Press.

Forbes, Bruce David. 2007. Christmas: A Candid History. Los Angeles: University of California Press.

Frazer, James. 2009. The Golden Bough: A Study in Magic and Religion. Oxford: Oxford University Press.

Getz, Donald. 2005. Event Management and Event Tourism. New York: Cognizant Communication.

Levi-Strauss, Claude. 1966. The Savage Mind. Chicago: University of Chicago Press.

Levi-Strauss, Claude. 1993. Father Christmas Executed. In Unwrapping Christmas, Daniel Miller (Eds). Oxford: Oxford University Press.

Lofgren, Orvar. 1993. The Great Christmas Quarrel and Other Swedish Traditions. In Unwrapping Christmas, Daniel Miller (Eds). Oxford: Oxford University Press.

Miller, Daniel. 2017. Christmas: An anthropological Lens. Hau: Journal of Ethnographic Theory. 7(3): 409-442.

Moeran, Brian & Skov, Lise. 1993. Cinderella Christmas: Kitsch, Consumerism, and Youth in Japan. In Unwrapping Christmas, Daniel Miller (Eds). Oxford: Oxford University Press.

Piette, Albert. 1992. Play, Reality, and Fiction: Toward a Theoretical and Methodological Approach to the Festival Framework. Qualitative Sociology. 15(1): 37-52.

กรุงเทพธุรกิจ. 2563. เปิดแล้วที่สุดแห่งไฟต้นคริสต์มาสยักษ์หน้าเซ็นทรัลเวิลด์ https://shorturl.ac/79nvg 

ฐานเศรษฐกิจ. 2565. คริสต์มาส 2565 ถ่ายรูปที่ไหน เที่ยวที่ไหน ไว้อัพโซเชียล รวมไว้ให้ที่นี่ https://shorturl.ac/79nvi

ผู้จัดการออนไลน์. 2564. เซ็นทรัลพัฒนา จับมือดอยตุง ตกแต่งต้นคริสต์มาสเมืองเหนือในชื่อ ‘ต้นคริสต์มาสหมอกพันวา’ถักทอด้วยผ้าธรรมชาติจากฝีมือชาวบ้านและกลุ่มชนเผ่า https://shorturl.ac/79nvh


1  มิลเลอร์ (2017) อ้างถึงบันทึกของลิบาเนียส (Libanius) ว่ามีการกล่าวถึงเทศกาลแห่งคาเลนด์ในศตวรรษที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เทศกาลคริสต์มาสเริ่มมีการเฉลิมฉลอง ในฤดูหนาว งานเทศกาลมีการเลี้ยงอาหารมากมาย ผู้ใหญ่ไม่ต้องไปทำงาน เด็กไม่ต้องไปเรียนหนังสือ ทรัพย์สินที่เก็บไว้มักถูกนำมาใช้เพื่อผู้อื่น โบสถ์คริสต์ในสมัยนั้นประนามเทศกาลนี้ แสดงให้เห็นว่ามีการรับรู้ถึงเทศกาลนอกรีตนี้จากทางโบสถ์คริสตศาสนา

2  เทศกาลบูชาพระเสาร์ หรือแซตเทอร์น (Saturn) ซึ่งเป็นเทพแห่งเกษตรกรรมและการเก็บเกี่ยว บรูซ เดวิด ฟอร์บ (Bruce David Forbes) (2007) บอกว่าเทศกาลนี้มีการเฉลิมฉลองมาตั้งแต่ 200 ปีก่อนคริสตกาล โดยเริ่มจัดงานในวันที่ 17-23 ธันวาคมตามปีปฏิทินจูเลียน

3  เทศกาลบูชาพระอาทิตย์ของชาวบรูมา (Bruma) มีต้นกำเนิดในซีเรียและถูกนำเข้าสู่โรมันในปี 219 จากนั้นจึงถูกปรับเปลี่ยนให้มีความเป็นโรมันมากขึ้นโดยจักรพรรดิออเรเรียนในปี 274 การเฉลิมฉลองเทศกาลจัดในวันที่ 25 ธันวาคมโดยมีการแข่งรถเลื่อนและประดับต้นไม้ขนาดเล็ก ๆ

4  จักรพรรดิโรมันผู้นับถือศาสนาคริสต์และประกาศรับรองคริสต์ศาสนาในจักรวรรดิโรมัน นักประวัติศาสตร์ตีความว่าการที่คอนสแตนตินประกาศรับรองศาสนาคริสต์เป็นด้วยเหตุผลทางการเมืองที่มุ่งควบคุมผู้คนที่หลากหลายภายใต้ศาสนาอันมีพระเจ้าองค์เดียว

5  นักบุญนิโคลาสแห่งมิราเกิดในครอบครัวที่ร่ำรวยและมุ่งหมายแจกจ่ายทรัพย์สินให้กับคนอื่นที่ต้องการ เขาเป็นที่รู้จักในเรื่องความมีเมตตาและมักมอบของขวัญให้กับเด็ก ๆ เขายังมีชื่อเสียงในการให้ทานด้วยวิธีการแปลก ๆ เช่นการหย่อนถุงใส่ทองคำเข้าไปในบ้านของผู้เดือนร้อนผ่านทางหน้าต่าง


ผู้เขียน

วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์

นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ คริสต์มาส เทศกาลประดิษฐ์ วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share