Transhumanism, มนุษย์ภาวะ และมานุษยวิทยา

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 4052

Transhumanism, มนุษย์ภาวะ และมานุษยวิทยา

“ทรานสฮิวแมนนิสม์เป็นขบวนการที่มุ่งกล่าวถึงความเป็นจริงอันน่าเศร้า
นั่นคือความแก่เฒ่า ความเจ็บป่วย และความตาย
มันเป็นทั้งปรัชญาและโครงการที่ทำให้เราเป็นมากไปกว่ามนุษย์”
- เอลิส โบฮาน ใน The Guardian (2022)

           เมื่อไม่นานมานี้ สำนักพิมพ์เดอะการ์เดียน (the guardian) ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของเอลิส โบฮาน (Elise Bohan) นักปรัชญาและนักอนาคตวิทยาจากมหาวิทยาลัย อ็อกซ์ฟอร์ด ผู้เขียนหนังสือ Future Superhuman: Our Transhuman Lives in a Make-Or-break Century (2022) ข้อความที่ยกมาในข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ดังกล่าว เธอยังบอกด้วยว่าในคราวที่เผชิญหน้ากับปรัชญาทรานสฮิวแมนนิสม์เป็นครั้งแรก เธอรู้สึกว่ามันคล้ายกับเรื่องแต่งทางวิทยาศาสตร์ ฟั่นเฟือน แปลกประหลาด และไกลตัว แต่เมื่อเวลาผ่านไป เธอกลับเห็นว่า ไม่ว่าเราจะตระหนักหรือเข้าใจมันหรือไม่ ทรานสฮิวแมนนิสม์ ในฐานะที่เป็นโครงการได้เริ่มขึ้นแล้ว มันจะเปลี่ยนแปลงโลกของเราในช่วงชีวิตนี้ และมันไม่ใช่แค่เกิดขึ้นแต่เป็นแก่นสารสำคัญหากมนุษยชาติต้องการที่จะดำรงอยู่ต่อไป

“ทารกที่เกิดหลังปี 2030 อาจมีแผนที่จีโนมทั้งหมดตั้งแต่แรกเกิด ข้อมูลเหล่านี้จะถูกอัปโหลดไปบันทึกยังศูนย์สุขภาพส่วนกลางเพื่อใช้อ้างอิงการวินิจฉัยทางการแพทย์ไปตลอดชีวิต

มันไม่ใช่เรื่องห่างไกลอีกต่อไป
ที่จะคิดว่าปัญญาประดิษฐ์จะกลายเป็นขุมกำลังที่ทรงอำนาจที่สุดของศตวรรษ
จิตสำนึกของมนุษย์อาจถูกถ่ายโอนจากก้อนเนื้อของเราไปสู่ปริมณฑลทางเทคโนโลยี”
- เอลิส โบฮาน ใน The Guardian (2022)

           ทรานส์ฮิวแมนนิสม์ (transhumanism) เป็นแนวคิดที่นำเสนอโดยจูเลียน ฮักซ์ลีย์ (Julian Huxley) นักชีววิทยาวิวัฒนาการ นักสุพันธุศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการยูเนสโกคนแรก ในปี 19511 (Harrison & Wolyniak 2015) สาระหลักของแนวคิดนี้คือการสนับสนุนให้เผ่าพันธุ์มนุษย์หลุดพ้นจากข้อจำกัดพื้นฐานตามธรรมชาติ การใช้ชีวิตภายใต้มนุษย์ภาวะ (human condition)2  อย่างความแก่เฒ่า ความเจ็บป่วย และความตาย จะถูกแก้ไขผ่านทัศนะที่ต้องการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยเหลือ อาทิ การยืดอายุขัย การใช้ยารักษาโรคเฉพาะบุคคล การแช่แข็งร่างผู้ป่วย ตลอดจนการอัปโหลดจิตสำนึกไปยังความเป็นจริงเสมือน (Bostrom 1998) นักปรัชญาทรานส์ฮิวแมนนิสม์ยังเห็นร่วมกันอีกว่า รูปแบบชีวิตในปัจจุบันของมนุษย์ยังไม่ถึงจุดสิ้นสุด วิทยาศาสตร์แขนงต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีชีวภาพ (biotechnology) นาโนเทคโนโลยี (nanotechnology) สารสนเทศศาสตร์ (information science) และประชานศาสตร์ (cognitive science) จะมีบทบาทในการเอาชนะข้อจำกัดของการใช้ชีวิต (Farman 2022)

           ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับขบวนการทรานสฮิวแมนนิสม์เริ่มต้นขึ้นในปี 1998 เมื่อ นิค โบสตรอม (Nick Bostrom) และเดวิด เพียรซ์ (David Pearce) นักปรัชญาจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ร่วมกันก่อตั้งสมาคมทรานสฮิวแมนนิสต์โลก (the World Transhumanist Association)3  เพื่อสนับสนุนปรัชญาทรานสฮิวแมนนิสม์อย่างจริงจังในฐานะที่เป็นสาขาวิชา (discipline) ตลอดจนสนับสนุนการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปช่วยเสริมศักยภาพของมนุษย์อย่างเป็นกิจจะลักษณะ (Ostberg 2022) ความเคลื่อนไหวนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากผู้ประกอบการในซิลิคอนแวลลีย์ (Silicon Valley) ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีขั้นสูงของโลก อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เปิดตัวโครงการท่องอวกาศที่ชื่อสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ในปี 2002 และนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีการแช่แข็ง (cryonics) ในปี 2013 โครงการยืดขยายอายุขัยของมนุษย์ผ่านเทคโนโลยีชีวภาพที่ก้าวหน้า เริ่มต้นขึ้นโดยบริษัทกูเกิล (Google) เช่นเดียวกับที่ในปีเดียวกัน บริษัทแอมะซอน (Amazon) ลงทุนให้กับโครงการทางเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อค้นหาการย้อนวัยและความเจ็บป่วย ขณะที่ในปี 2022 บริษัทซีเนครอน (Synechron) ประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายชิปในสมองของผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงโดยระบบประสาท (amyotrophic lateral sclerosis) แม็กซ์เวลล์ เจ เมลแมน (Maxwell J. Mehlman) นักชีวจริยศาสตร์การแพทย์ วิจารณ์กิจกรรมของทรานฮิวแมนนิสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการตัดต่อสารพันธุกรรม ว่าเป็นการกำกับวิวัฒนาการของมนุษย์ (Mehlman 2009)4 โครงการที่มุ่งหมายให้เราเป็นมากกว่ามนุษย์เหล่านี้ กลายเป็นเรื่องของการหลอมรวมชีวิตเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่

           ผู้สนับสนุนทรานสฮิวแมนนิสม์ในปัจจุบันเห็นว่า มนุษย์สามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อกำจัดโรคภัยไข้เจ็บ ตลอดจนปรับปรุงเงื่อนไขต่าง ๆ ในการใช้ชีวิต แม้โอกาสของการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ประโยชน์จะยังอยู่ในขอบข่ายจำกัด แต่หน่วยของการพูดถึงมนุษย์ภายใต้ความคิดดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกล่าวถึงในระดับประชากร โดยทั่วไปแล้ว ขบวนการทรานสฮิวแมนนิสม์เป็นส่วนหนึ่งของความคิดแบบพ้นมนุษย์ (posthumanism) จากลักษณะของการนำสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในอนาคต แต่ก็มีนักคิดบางกลุ่มที่เห็นว่า ขบวนการดังกล่าวมีรากฐานมาจากความคิดแบบมนุษย์นิยม (humanism) อย่างเต็มเปี่ยม ด้วยเหตุที่พวกเขาตระหนักถึงความอยู่รอดในอนาคต (Farman 2022) ผ่านการนำเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น5  (Bostrom 2005) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ซึ่งเคยทำงานให้กับกูเกิลและนาซา (NASA) เรย์มอนด์ เคิร์ซเวล (Raymond Kurzweil) (1999) ทำนายว่าในอนาคต ปัญญาประดิษฐ์จะพัฒนาเจตจำนงเสรีและมีอารมณ์ความรู้สึกเชิงจิตวิญญาณ มนุษย์จะหลอมรวมกับปัญญาประดิษฐ์และมนุษย์สภาวะทั้งหมดจะถูกแก้ไข อย่างไรก็ดี ข้อวิพากษ์ต่อขบวนการดังกล่าวมีตั้งแต่ความกลัวที่มนุษยชาติจะถูกครอบงำโดยเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การนำไปใช้ในทางการทหาร รวมถึงผลลัพธ์ที่มนุษยชาติมีปัญหาประชากรล้นเกิน (overpopulation) จากความเจ็บป่วยที่ลดลงและการมีอายุขัยยืนยาวขึ้น (Ostberg 2022)

           แม้คำว่าทรานสฮิวแมนนิสม์เพิ่งจะเกิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แต่ความคิดในลักษณะเดียวกันได้เกิดขึ้นมานานแล้วในประวัติศาสตร์มนุษย์ โบสตรอม (2005) เห็นว่าความปรารถนาของมนุษย์ในการได้รับศักยภาพใหม่ ๆ ที่พ้นไปจากข้อจำกัดของชีวิต เป็นเรื่องเก่าแก่พอ ๆ กับการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ เรื่องเล่าในตำนานและประวัติศาสตร์จากหลายพื้นที่ สะท้อนให้เห็นการไขว่คว้าการมีชีวิตที่ยืนยาวหรือแม้แต่ความเป็นอมตะ มหากาพย์กิลกาเมซ (epic of Gilgamesh) ของอารยธรรมซูเมอร์เมื่อราว 2000 ปีก่อนคริสตกาล บอกเล่าเรื่องราวการค้นหาสมุนไพรวิเศษใต้ท้องทะเล เช่นเดียวกับเรื่องเล่าของการค้นหาน้ำพุแห่งความเยาว์วัย (fountain of youth) ตั้งแต่ช่วง 500 ปีก่อนคริสตกาลจนถึงยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 ในขณะที่การค้นหาวิธีปรุงน้ำอมฤทธิ์ (elixir of life) ของนักเล่นแร่แปรธาตุในยุโรปกลายเป็นรากฐานให้กับวิชาเคมีและเภสัชศาสตร์ หรือแม้กระทั่งการแสวงหาหนทางการมีชีวิตที่ยืนยาวของนักคิดสำนักเต๋า ก็นำไปสู่ตำรับการแพทย์แผนจีน ความคิดเรื่องการเอาชนะข้อจำกัดของมนุษย์ภาวะจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20 และ 21 คำว่าทรานสฮิวแมนนิสม์เพิ่งจะเกิดขึ้นในภายหลัง อีกทั้งผลลัพธ์ของความพยายามในอดีตจำนวนหนึ่งยังถูกส่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน เรื่องราวเหล่านี้ชี้ชวนให้คำนึงถึงมนุษย์ในปัจจุบันในฐานะที่เป็นอนาคตของผู้ดำรงอยู่ในอดีต

           ในทางมานุษยวิทยา ความคิดเรื่องทรานสฮิวแมนนิสม์ถูกจัดไว้เป็นส่วนหนึ่งของความสนใจเรื่องสภาวะพ้นมนุษย์ ความสนใจของมานุษยวิทยาพ้นมนุษย์ (posthuman anthropology) วางอยู่บนฐานความเชื่อที่ว่ามนุษย์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเผ่าพันธุ์หนึ่งบนผืนโลก มิได้สูงส่งเหนือกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกทั้งการดำรงอยู่ของมนุษย์เองยังเข้าไปพัวพัน (entangle) กับสิ่งอื่น ๆ มากมาย ทั้งที่มีและไม่มีชีวิต ดังนี้เอง การดำรงอยู่ของมนุษย์จึงสัมพันธ์กับสิ่งอื่นที่มากไปกว่ามนุษย์ (more-than-human) เสมอ บนหลักคิดนี้ นักมานุษยวิทยาชาวแคนาดา อลัน และโจเซฟิน สมาร์ท (Alan & Josephine Smart) (2017) เห็นว่า การพ้นมนุษย์ในมุมมองทางมานุษยวิทยาไม่ใช่ความคิดที่นิยมการพ้นมนุษย์ (posthuman-ism) แต่เป็นการพ้นไปจากความคิดแบบมนุษย์นิยม (post-humanism) ในขณะที่ขบวนการทรานส์ฮิวแมนนิสม์ในปัจจุบัน แสดงให้เห็นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาปรับปรุงมนุษย์ภาวะและก้าวไปให้ถึงความเป็นยอดมนุษย์ แต่ในทางมานุษยวิทยา การดำรงอยู่ของมนุษย์เป็นเพียงการเปลี่ยนผ่าน (trans) มาจากมนุษย์ซึ่งดำรงอยู่ในอดีต ที่องค์ประกอบและลักษณะของความเป็นมนุษย์ถูกยกระดับขึ้นจนกลายเป็นปกติ (normalized) และไม่คำนึงถึงอีกต่อไป (take for granted)

           ปลายศตวรรษที่ 20 ดอนนา ฮาราเวย์ (Donna Haraway) นักปรัชญาพ้นมนุษย์และนักสตรีนิยม กล่าวถึงสภาวะไซบอร์ก (cyborg) ว่าเป็นการหลอมรวมอัตลักษณ์และก้าวข้ามเส้นแบ่งที่ตายตัวระหว่างระหว่างมนุษย์และจักรกลด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ (Haraway 1991) อย่างไรก็ดี นักมานุษยวิทยาตระหนักถึงความเชื่อมโยงและความสัมพันธ์กับสิ่งอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์มาตลอดประวัติศาสตร์ เพราะการเป็นมนุษย์คือการดำรงอยู่ท่ามกลางการพัวพันกับสิ่งอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์อย่างใกล้ชิด คำอธิบายถึงความสัมพันธ์เช่นนี้ไม่จำกัดอยู่แค่เหตุการณ์ในโลกสมัยใหม่ แต่ยังย้อนกลับไปถึงโลกยุคก่อนประวัติศาสตร์ ริชาร์ด แรงแฮม (Richard Wrangham) (2009) นักมานุษยวิทยากายภาพ เสนอว่าการควบคุมไฟและการปรุงอาหารสุก เป็นปัจจัยสำคัญในวิวัฒนาการทางสมองและระบบการย่อยอาหารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นของบรรพบุรุษมนุษย์ ในขณะที่ ร็อบ ดูน (Rob Dunn) (2011) ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัย (mutualism) ระหว่างมนุษย์กับจุลินทรีย์บางชนิด ซึ่งช่วยป้องกันความเจ็บป่วยจากโรคภัยต่าง ๆ ตลอดจนเปลี่ยนผ่านจากวิถีชีวิตแบบหาของป่าล่าสัตว์ไปสู่วิถีชีวิตแบบเกษตรกรรม สอดคล้องกับ แอนเนมารี โมล (Annemarie Mol) (2021) ที่ชี้ให้เห็นว่านิคมจุลินทรีย์ในร่างกายมนุษย์ (human microbiome) มีส่วนช่วยย่อยอาหารบางชนิดที่มนุษย์ย่อยเองได้ยาก ตลอดจนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการได้รับสารอาหารและพลังงานมากขึ้น หากปราศจากสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์เหล่านี้ในโลกที่ไร้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เราอาจไม่ใช่มนุษย์อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

           นอกเหนือไปจากไฟและจุลินทรีย์ ในแง่ของเทคโนโลยีเอง แครี่ โวลฟี (Cary Wolfe) (2010) เห็นว่าโดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์ยังมีวิวัฒนาการร่วม (coevolved) กับเทคโนโลยีและวัตถุภาวะในหลายลักษณะ หากไม่นับเครื่องมือหินจากยุคก่อนสมัยใหม่ หนึ่งในเทคโนโลยีที่ โวลฟี ยกตัวอย่างคือการประดิษฐ์ตัวอักษรเพื่อบันทึกเสียงในการใช้ภาษาพูด การเกิดขึ้นของการเขียนเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางวัฒนธรรมขนานใหญ่ ความคิดที่พูดผ่านภาษาถูกจารึกและส่งต่อได้ผ่านการจดบันทึก อีกทั้งยังนำไปสู่การเกิดขึ้นของระบบราชการและการบริหารจัดการโดยรัฐอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ในขณะที่นักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษ มาริลีน สตราเธิร์น (Marilyn Strathern) (1992) บอกว่าการพยายามแบ่งแยกพรมแดนระหว่างร่างกายมนุษย์ที่มีชีวิต (that lives) และเทคโนโลยีที่ทำงาน (that works) ให้ชัดเจน เป็นการสร้างปัญหา เพราะในการศึกษาเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ วัฒนธรรมโดยตัวของมันเองเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับที่เทคโนโลยีได้เข้ามาปรับเปลี่ยนร่างกายมนุษย์ สตราเธิร์นชี้ว่าเทคโนโลยีช่วยให้ชีวิตทำงานต่อไปได้ (technology helps life to work) ดังนั้น ในโลกสมัยใหม่ คงไม่แปลกประหลาดอะไรที่จะผู้คนในปัจจุบันจะจินตนาการและไขว่คว้ารูปแบบชีวิต ที่เทคโนโลยีจะเข้ามาแก้ไขมนุษย์ภาวะในอนาคต

           ไม่ว่าจะเป็นยุคก่อนสมัยใหม่หรือสมัยใหม่ก็ตาม การเอาชนะมนุษย์ภาวะในอดีตจนเปลี่ยนผ่านมาเป็นมนุษย์ในปัจจุบัน แสดงให้เห็นการขยายตัวของเงื่อนไขและขอบเขตในการใช้ชีวิตที่กว้างขึ้นเป็นลำดับ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือการยืดขยายของอายุขัยโดยเฉลี่ยระดับโลกของมนุษย์ จากเพียง 29 ปีในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เป็นราว 73 ปีในช่วงเวลาปัจจุบัน นักระบาดวิทยา (epidemologist) อธิบายว่าอายุไขที่ยืนยาวขึ้นของมนุษย์เป็นผลมาจากการเปลี่ยนผ่านทางสุขภาวะ (health transition) (Roser et al., 2019) การดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมและทรัพยากรอาหาร การดำรงอยู่ร่วมกันเป็นสังคม รวมไปถึงการเอาชนะความเจ็บป่วยด้วยการแพทย์ที่พัฒนาขึ้น เป็นปัจจัยเปลี่ยนผ่านของมนุษย์ในอดีตที่ขยับขยายเงื่อนไขของมนุษย์ภาวะมาจนถึงวันนี้ ความแก่เฒ่าถูกชะลอตัว ความเจ็บป่วยลดน้อยลง เช่นเดียวกับที่ความตายถูกเลื่อนออกไป เราไม่อาจรู้ได้ว่าขบวนการทรานส์ฮิวแมนนิสต์ในปัจจุบันจะนำพามนุษย์ไปสู่การขยับขยายมนุษย์ภาวะในลักษณะใดอีกบ้างในวันข้างหน้า แต่หากมันเกิดขึ้น เรื่องราวอันดูฟั่นเฟือนและแปลกประหลาดของขบวนการทรานสฮิวแมนนิสต์สำหรับใครหลายคนในวันนี้ อาจกลายเป็นเพียงเรื่องราวปกติธรรมดาของผู้คนในอนาคต

 

กราฟแสดงอายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์นับตั้งแต่ปี 1770 จนถึงปี 2019
ที่มา: Roser, Max et al. (2019)

 

           ปลายศตวรรษที่ 20 FM-20306  นักปรัชญาและนักอนาคตวิทยา จากมหาวิทยาลัยเดอะนิวสคูล (the new school) ในนครนิวยอร์ค เขียนหนังสือแปลก ๆ ชื่อ Are You a Transhuman?: Monitoring and Stimulating Your Personal Rate of Growth in a Rapidly Changing World (1989) เพื่อให้ผู้อ่านตรวจสอบว่าตนเองเป็นทรานสฮิวแมนเพียงใด ผ่านชุดคำถามว่าด้วยการใช้งานเทคโนโลยีกับร่างกาย การใช้ชีวิต และทัศนคติ อาทิ “สมองของคุณติดตั้งขั้วไฟฟ้า (electrode) หรือไม่” “คุณเป็นกะเทย (androgynous) หรือไม่” รวมถึง “คุณเป็นอิสระจากเครือญาติ (kinship) ชาติพันธุ์ (ethnicity) และสัญชาติ (nationality) หรือไม่” ทว่าจากมุมมองทางมานุษยวิทยาในข้างต้น ไม่ว่าเราจะตรวจสอบตนเองด้วยชุดคำถามเหล่านี้อย่างไร เราทุกคนในวันนี้ล้วนแล้วแต่เป็นทรานส์ฮิวแมนซึ่งเปลี่ยนผ่านและดำรงอยู่ต่อมาจากผู้บุกฝ่าข้อจำกัดของชีวิตในอดีต ที่ทั้งการใช้ไฟ จุลินทรีย์ การใช้ตัวอักษร และอื่น ๆ เข้ามาช่วยให้พวกเขาค่อย ๆ ยกระดับการใช้ชีวิตจนกลายเป็นพวกเราในทุกวันนี้ โครงการที่เรียกว่าทรานสฮิวแมนนิสม์ในปัจจุบันไม่ใช่เพิ่งเริ่มในศตวรรษที่ผ่านมา แต่ได้เริ่มมาตลอดประวัติศาสตร์มนุษย์โดยไม่มีคำเรียก พวกเราในทุกวันนี้ต่างเป็นมนุษย์ที่มากไปกว่ามนุษย์ในกาลก่อน และตราบเท่าที่เผ่าพันธ์มนุษย์ยังคงดำรงอยู่ในกาลข้างหน้า พวกเราเวลานั้นจะไม่ใช่ยอดมนุษย์ แต่เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาที่มากไปกว่ามนุษย์ในปัจจุบัน

 

รายการอ้างอิง

Bostrom, Nick. 1998. What Is Tranhumanism? https://shorturl.ac/79ney

Bostrom, Nick. 2005. “A History of Transhumanist Thought”. Journal of Evolution and Technology. 14(1): 1-25.

Dunn, Rob. 2011. The Wild Life of Our Bodies: Predators, Parasites, and Partners That Shape Who We Are Today. New York: Harper.

Farman, Abou. 2022. Transhumanism. In Cambridge Encyclopedia of Anthropology. https://shorturl.ac/79nez

FM-2030. 1989. Are You a Transhuman?: Monitoring and Stimulating Your Personal Rate of Growth in a Rapidly Changing World. New York: Warner Books.

Haraway, Donna (1991). A Cyborg Manifesto: Science, Technology, and Socialist- Feminism in the Late Twentieth Century. In Simians, Cyborgs and Women: The Reinvention of Nature. New York: Routledge.

Harrison, Peter & Wolyniak, Joseph. 2015. “The History of Transhumanism”. Notes and Queries. 62(3): 465-467.

Kurzweil, Raymond. 1999. The Age of Spiritual Machine: When Computers Exceed Human Intelligence. New York: Penguin Books.

Mehlman, Maxwell J. 2009. "Will Directed Evolution Destroy Humanity, and If So, What Can We Do About It?”. Saint Louis University Journal of Health Law & Policy. 93(3): 93-122.

Mol, Annemarie. (2021). Eating in Theory. Durham: Duke University Press.

Ostberg, Rene. 2022. Transhumanism: Social and Philosophical Movement. In Encyclopaedia Britainica. https://shorturl.ac/79nf0

Roser, Max et al. 2019. Life Expectancy. In Our World in Data. https://shorturl.ac/79nf1

Smart, Alan & Smart, Josephine. 2017. Posthumanism: Anthropological Insight. Toronto: University of Toronto Press.

Strathern, Marilyn. 1992. Reproducing the Future: Anthropology, Kinship, and the New Reproductive Technology. New York: Cambridge.

The Guardian. 2022. Beyond Our ‘Ape-Brained Meat Sacks’: Can Transhumanism Save Our Species? https://shorturl.ac/79nf2

Wrangham, Richard. 2009. Catching Fire: How Cooking Made Us Human. Philadelphia: Perseus.


1  งานหลายชิ้นอ้างว่าฮักซ์ลีย์ใช้คำว่าทรานสฮิวแมนครั้งแรกปี 1957 โดยอ้างอิงจากบทความชื่อ Transhumanism (1957) แต่แฮร์ริสันและโวลีนิอัก (2015) ตรวจสอบพบว่าการอ้างถึงการใช้คำครั้งแรกในปี 1957 เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะฮักซ์ลีย์ใช้คำนี้ครั้งแรกในการบรรยายของเขาในปี 1951

2  คำว่ามนุษย์ภาวะถูกนิยามอย่างหลากหลายตามแต่ทัศนะของสาขาวิชา บทความนี้ใช้คำว่ามนุษย์ภาวะโดยหมายถึงภาวะอันคำนึงถึงธรรมชาติ สังคม ตลอดจนการดำเนินชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น การเกิด การเจริญเติบโต การเรียนรู้ การทำงาน ความเจ็บป่วย การสืบพันธุ์ และความตาย โดยภาวะเหล่านี้มักถูกกล่าวถึงในลักษณะเป็นความท้าทายร่วมกันของเผ่าพันธุ์มนุษย์

3  องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระหว่างประเทศที่มุ่งสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีมาปรับปรุงมนุษย์ภาวะ ความเป็นอยู่ที่ดี ตลอดจนการทำงานทางสรีระศาสตร์และประสาทวิทยาที่ได้รับผลกระทบจากความแก่เฒ่าและความเจ็บป่วย ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นฮิวแมนนิตี้พลัส (humanity+) ซึ่งสื่อถึงการเป็นมากไปกว่ามนุษย์ที่พ้นข้อจำกัดต่าง ๆ ไปสู่ความไม่ถือตัว ความคิดสร้างสรรค์ และมนุษยชาติ

4  เมลแมน (2009) อ้างถึงคำพูดของจูเลียน ซาวูเลสกู (Julian Savulescu) นักปรัชญาจากมาหาวิทยาลัย อ็อกซ์ฟอร์ดซึ่งพูดถึงการเปลี่ยนผ่านจากการวิวัฒนาการโดยธรรมชาติไปสู่การวิวัฒนาการด้วยการใช้เหตุผล ซึ่งมนุษย์เป็นเจ้านายแห่งชะตากรรมของตนเอง

5  โบสตรอม (2005) อ้างถึงหลักคิดเรื่องเครื่องมือใหม่ (Novum Organum) ของฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon) ในยุคเรืองปัญญา (enlightenment age) ซึ่งสนับสนุนการค้นคว้าเชิงประจักษ์และการใช้ประโยชน์จากทุกสิ่งเท่าที่เป็นไปได้ของมนุษย์เพื่อเอาชนะธรรมชาติ

6  เดิมชื่อ เฟอริดูน เอ็ม เอสฟานเดียรี (Fereidoun M. Esfandiary) อดีตนักกีฬาโอลิมปิกชาวอิหร่านที่ผันตัวเป็นนักอนาคตวิทยา เขาเปลี่ยนทั้งชื่อและสกุลเป็น FM-2030 เพื่อสะท้อนความเชื่อมั่นในอนาคต โดยให้เหตุผลว่าชื่อตามธรรมเนียมนิยมเป็นสิ่งสะท้อนอดีตของบุคคล อาทิ บรรพบุรุษ ชาติพันธุ์ สัญชาติ และศาสนา เขายังเชื่อว่าปี 2030 เป็นปีมหัศจรรย์ซึ่งเป็นทั้งความหวังและความฝันของเขา


ผู้เขียน

วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์

นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ Transhumanism มนุษย์ภาวะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share