สำนวนภาษาจากยาหม้อใหญ่ EP.01 ตอน ยักกระสาย

 |  วัฒนธรรมสุขภาพ
ผู้เข้าชม : 5576

สำนวนภาษาจากยาหม้อใหญ่ EP.01 ตอน ยักกระสาย

           ในโลกแห่งยุคสมัยที่เคลื่อนไหวด้วยระบบดิจิทัล หากมีโอกาสยังพอพบเจอกับบุคคลที่ยังพูดจาด้วยสำนวนโบร่ำโบราณสักหน่อย เราอาจจะเคยได้ยินสำนวนที่พูดถึงคนที่ไม่ตรงไปตรงมา พลิกแพลง หรือออกแนวเล่นตัวว่า ยักกระสาย

           ยักกระสาย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายว่า

           (ปาก) ก. เปลี่ยนแปลงหรือสับเปลี่ยน

           ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 และ 2554 ได้ให้ความหมายว่า

           (ปาก) ก. เปลี่ยนน้ำกระสายยาไปตามอาการของโรค, โดยปริยายหมายความว่า เปลี่ยนไปใช้อย่างอื่นหรือวิธีอื่นแทน

           ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานทั้งสามยุคสามฉบับระบุว่า ยักกระสาย เป็นภาษาปาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 มีความหมายคือการเปลี่ยนแปลงหรือสับเปลี่ยน โดยในปี 2542 และ 2554 ได้ระบุถึงความหมายดั้งเดิมที่เคยใช้กันมาก่อนในแวดวงการแพทย์แผนไทยว่า เปลี่ยนน้ำกระสายยาไปตามอาการของโรค สำนวนนี้สามารถแยกคำออกมาได้สองคำคือ คำว่า ยัก และคำว่า กระสาย

           คำว่า ยัก หมายถึง เปลี่ยน สับเปลี่ยน พลิกแพลง

           คำว่า กระสาย หมายถึง เครื่องแทรกยาซึ่งใช้เพิ่มลงในเครื่องยาที่ปรุงแล้ว เพื่อเพิ่มฤทธิ์ยาให้มีสรรพคุณยาสูงขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำ จึงเรียกว่า น้ำกระสาย หรือ น้ำกระสายยา อาจเป็นน้ำเปล่าต้มสุก น้ำผึ้ง น้ำมะนาว น้ำสุรา น้ำชะเอมต้ม น้ำรากถั่วพูต้ม น้ำผลยอต้มน้ำเปลือกมะรุมต้ม เป็นต้น

           เครื่องยาชนิดเดียวกันเมื่อเปลี่ยนน้ำกระสายยาก็จะใช้รักษาโรคได้ต่างกัน เช่น ยาขนานเดียวกันเมื่อใช้กระวาน กานพลู อบเชย เป็นต้น บดเป็นผง แล้วใช้น้ำผลยอต้มสุกเป็นน้ำกระสายยา จะใช้แก้อาเจียน แต่ถ้าใช้น้ำรากถั่วพูต้มเป็นน้ำกระสายยา จะใช้แก้อาการอ่อนเพลีย และถ้าใช้น้ำชะเอมต้มเป็นน้ำกระสายยา จะใช้แก้อาการเซื่องซึม เมื่อใช้ยากับน้ำกระสายอย่างหนึ่งแล้วโรคไม่ทุเลา หมอก็จะเปลี่ยนน้ำกระสายยา จึงเป็นที่มาของสำนวนว่า ยักกระสาย

 

 

           ในเอกสารโบราณตำรายาการแพทย์แผนไทยมีบันทึกถึงเรื่องการยักกระสาย คือ การเปลี่ยนน้ำกระสายยาที่เป็นเครื่องแทรกยา เพื่อให้ตัวยาเดียวกันนี้สามารถรักษาอาการของโรคได้มากขึ้นตามแต่สรรพคุณของน้ำกระสายนั้น ๆ ดังตัวอย่าง

 

 

           ๏ ยาแก้ไข้สัมประชวร เอาเท้ายายม่อม ๑ แห้วหมู ๑ หญ้าตีนนก ๑ ลูกผักชี ๑ ขิงแห้ง ๑ รากสะเดาดิน ๑ โกฐสอ ๑ รากมะเขือขื่น ๑ บอระเพ็ด ๑ ต้มกินก็ได้ทำแท่งก็ได้แก้ไข้ประชวร แก้ไข้รากสาดสายฟ้าฟาด อีดำอีแดงแสบร้อน ใจกระวนกระวาย แลจับไข้ยังรุ่งยังค่ำ กินข้าวมิได้ ให้ปวดกระบอกตา ให้หนาวร้อนทุกวันลมไข้ลงแล ๒ วัน ๓ วัน ๔ วันแล ไข้นานมาก็ดีกินหายมามากแล้วอย่าสนเท่เลย ยักน้ำกระสายละลายกินเถิด ทำแท่งละลายด้วยน้ำกินดูก่อน ถ้ามิฟังยักน้ำกระสายแทรกเอาเถิด ชื่อทลายกงจักร แล

ตำรายา วัดท่าพูด ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม NPT001-009

 

 

           ๏ ยาดอกงิ้วเป็นยาลมแก้สาระพัดไข้ ท่านให้เอาจันทน์แดง ๑ เถามวกแดง ๑ เถามวกขาว ๑ เถาวัลย์ย่านาง ๑ ดอกบุนนาค ๑ ดอกคำจีน ๑ ดอกคำไทย ๑ ครั่ง ๑ ดอกงิ้ว ๑ ฝางเส้นเท่ายาทั้งหลาย เมื่อบดน้ำเป็นกระสาย เมื่อทำออกชื่อท่านตามากเจ้าตำราเถิดประสิทธินัก แก้สารพัดโรค น้ำกระสายตามแต่จะยักใช้เถิด น้ำจันทน์ น้ำดอกไม้ น้ำซาวข้าว น้ำท่า ก็ได้แล

ตำรายา วัดท่าพูด ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม NPT001-010

           คำว่า กระสาย มักสับสนและใช้ผิดไปกับคำว่า กระษัย หรือ กษัย ที่แปลว่าโรคชนิดหนึ่ง เช่น บางคนมักดื่มสุราก่อนนอน หรือหลังอาหาร เมื่อมีคนทักก็จะบอกว่าดื่มเพียงนิดหน่อย พอเป็นกระสัย ซึ่งสำนวนพอเป็นกระสัยก็หมายถึงพอประมาณ นิด ๆ หน่อย ๆ ที่ถูกต้องควรใช้สำนวนว่า พอเป็นกระสาย มากกว่า เพราะกระสาย หรือน้ำกระสายจะใช้แทรกเครื่องยาเพียงนิดเดียว ไม่มาก ฟังดูเข้าความมากกว่าคำว่า กระษัย ที่หมายถึงชื่อโรคชนิดหนึ่ง

 

อ้างอิง

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑฺตยสถาน พ.ศ. 2525. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์, 2538.

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑฺตยสถาน พ.ศ. 2542 กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2546.

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2556.

 

เอกสารตัวเขียน

ตำรายา วัดท่าพูด ตำบลไร่ขิง อำเภสามพราน จังหวัดนครปฐม รหัสเอกสาร NPT001-009 https://www.sac.or.th/databases/manuscripts/main.php?m=document&p=item&id=238

ตำรายา วัดท่าพูด ตำบลไร่ขิง อำเภสามพราน จังหวัดนครปฐม รหัสเอกสาร NPT001-010 https://www.sac.or.th/databases/manuscripts/main.php?m=document&p=item&id=239

 

ป้ายกำกับ ยักกระสาย สำนวนภาษา ตำรายาโบราณ ดอกรัก พยัคศรี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share