พื้นที่ความรู้ มานุษยวิทยา คนสามัญ: 70 ปี อานันท์ กาญจนพันธุ์

 |  ระเบียบวิธีวิจัย และการศึกษาภาคสนาม
ผู้เข้าชม : 2830

พื้นที่ความรู้ มานุษยวิทยา คนสามัญ: 70 ปี อานันท์ กาญจนพันธุ์

หน้าปกหนังสือ พื้นที่ความรู้ มานุษยวิทยา คนสามัญ: 70 ปี อานันท์ กาญจนพันธุ์ โดย อานันท์ กาญจนพันธุ์ มีให้บริการที่ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

 

           พื้นที่ความรู้ มานุษยวิทยา คนสามัญ: 70 ปี อานันท์ กาญจนพันธุ์ ตีพิมพ์ครั้งที่ 1 ในเดือน กันยายน พ.ศ. 2560 เขียนโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือรวมบทความจากการแสดงปาฐกถาที่อาจารย์ได้รับเชิญให้ไปบรรยายในช่วงปี พ.ศ. 2552-พ.ศ. 2559 เช่น ปาฐกถาพิเศษ "อาณาบริเวณศึกษา" การประชุมวิชาการเรื่อง อาณาบริเวณศึกษา: แนวคิด วิธีวิทยา และแนวทางการพัฒนา 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ณ ห้องประชุมพระยาศรีสารวาจา สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปาฐกถาเรื่อง “ขอบเขตวัฒนธรรมล้านนา” ในการประชุมสัมมนาวิชาการล้านนาคดีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระดับชาติ ครั้งที่ 1 วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2558 ณ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

           วสันต์ ปัญญาแก้ว ได้กล่าวถึงงานเขียนชิ้นนี้ไว้ในคำนำของหนังสือว่า

“ภาษาของหนังสือจะไม่ได้ขึงขังจริงจัง ทว่า คือ ประสบการณ์ ความคิด ที่ถูกถ่ายทอดผ่าน “เรื่องเล่า” และลีลาการบรรยายสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ของท่าน นอกจากองค์ความรู้หลากรสที่จะสัมผัสการอ่านหนังสือเล่มนี้จะนำท่านออกเดินทางไปติดตามสิ่งที่อานันท์รู้ และที่ท่านอยากรู้”1

           หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือที่จะพาผู้อ่านเพลิดเพลินไปกับสาระสำคัญของการปาฐกถาแต่ละหัวข้อที่อาจารย์ได้มีโอกาสไปบรรยาย และจะทำให้ผู้อ่านได้รู้จักตัวตนของอาจารย์มากขึ้นผ่านเนื้อหาทั้ง 9 บท ดังนี้

บทที่ 1: พัฒนาการของสังคมศาสตร์ไทย

           อาจารย์ได้กล่าวถึงพัฒนาการของแนวคิด-ทฤษฎีที่ใช้ในการวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ในประเทศไทยที่สามารถสรุปเนื้อหาออกเป็น 4 ยุค ดังนี้

           1) ก่อน พ.ศ. 2490: ยุคสังคมศาสตร์ไทยก่อนการรับสังคมศาสตร์ตะวันตก (ยุคสังคมศาสตร์นอกสถาบัน) เป็นยุคที่สังคมศาสตร์ไทยมีองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น ความรู้เหล่านี้ถูกรวบรวมและประมวลผ่านการจดบันทึก ผ่านประสบการณ์ผู้รู้ของชุมชนทำให้มีผลผลิตออกมาเป็นหนังสือ บทกลอน ภาพถ่าย และเรื่องเล่าท้องถิ่นของชุมชนอาจารย์ได้ยกตัวอย่างผลงานของบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ เช่น หนังสือ 30 ชาติในเชียงราย ซึ่งถือเป็นงานเขียนทางด้านชาติพันธุ์วรรณนาในยุคแรก

 

รูปหนังสือ 30 ชาติในเชียงราย เขียนโดย บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ มีให้บริการที่ห้องสมุด ศมส. สืบค้นจาก https://www.naiin.com/product/detail/165062

 

           2) พ.ศ. 2490-2510: ยุคบุกเบิกสังคมศาสตร์ตะวันตกในสถาบันการศึกษาไทย (ยุคสังคมศาสตร์ในสถาบัน) มีเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นคือการก่อตั้งคณะการเรียนการสอนทางด้านสังคมศาสตร์ขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การก่อตั้งนี้จึงเป็นการรับเอาแนวคิด-ทฤษฎีจากฝั่งตะวันตกมาสอนในมหาวิทยาลัย โดยมีนักทฤษฎีสำคัญหลายท่าน เช่น อีมิล เดอไคหม์ (Emil Durkheim), คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx), แมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber) และ รู้ธ เบเนดิกต์ (Ruth Benedict)

           3) พ.ศ. 2510-2530: ยุคก่อร่างสร้างตนของสังคมศาสตร์ในสังคมไทยเป็นยุคที่คนไทยได้กลับมาจากการศึกษาต่อที่ต่างประเทศ แนวคิด-ทฤษฎีตะวันตกที่ได้รับมาจึงเริ่มถูกหยิบมามองผ่านเลนส์ในบริบทของสังคมไทย เช่น ผลงานของศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม มักจะใช้งานภาคสนามและการตรวจสอบประวัติศาสตร์ของประเทศเข้าเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ศึกษาวิจัย2

           4) พ.ศ. 2530-ปัจจุบัน: ยุคเชื่อมต่อสังคมศาสตร์ไทยกับสังคมศาสตร์โลก3 เป็นยุคที่สังคมศาสตร์ไทยก้าวเข้าสู่วงวิชาการโลกเป็นยุคที่นำเอาประสบการ์จากการนำแนวคิด-ทฤษฎีที่เคยใช้ในการศึกษาสังคมไทยก่อนหน้านี้มาวิพากษ์ วิจารณ์ และการโต้เถียงกันมากยิ่งขึ้น

           จากพัฒนาการของสังคมศาสตร์ไทยทั้ง 4 ยุค จะทำให้ผู้อ่านเห็นสังคมศาสตร์ที่เริ่มก่อตัวขึ้นจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นอาจารย์ยังได้นำเสนอให้เห็นว่าการศึกษาสังคมศาสตร์ไทยแม้ว่าจะมีการรับเอาแนวคิดตะวันตกมาใช้ในการศึกษาวิจัยแล้วอาจจะไม่สามารถบอกได้ว่าแนวคิด-ทฤษฎีที่นำมาใช้ถูกหรือผิด แต่การรู้จักเอาแนวคิด-ทฤษฎีนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง

บทที่ 2 : มานุษยวิทยา/อาณาบริเวณศึกษา

           ในบทนี้อาจารย์ได้หยิบยกประสบการณ์เพื่ออธิบายเรื่อง อาณาบริเวณศึกษา (Area Studies) ซึ่งเป็นความหมายในมุมมองของอาจารย์ที่ถ่ายทอดจากประสบการณ์ในการเรียน ประสบการณ์ในการทำงาน เพื่อให้เห็นว่าอาณาบริเวณศึกษาสำหรับอาจารย์ถูกหล่อหลอมขึ้นมาอย่างไร

           อาจารย์กล่าวว่าหลังจากที่อาจารย์เรียนจบปริญญาตรีรัฐศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ก็มีโอกาสได้เรียนต่อต่างประเทศทำให้อาจารย์ได้มีโอกาสร่ำเรียน และศึกษางานเขียนชิ้นสำคัญของบรมครูหลายท่านทั้งสายประวัติศาสตร์ และสายมานุษยวิทยาที่ช่วยให้อาจารย์เริ่มสนใจอาณาบริเวณศึกษา

           1) Oliver William Wolters (O. W. Wolters) หรืออาจารย์วอลเตอร์ส นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษที่สนใจการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคโบราณ อาจารย์ วอลเตอร์สมักจะเน้นความสำคัญกับความคิด เรื่อง มันดาลา (Mandala) ในภาษาไทย คือ มณฑล ซึ่งผลงานอาจารย์วอลเตอร์สเป็นการศึกษาอาณาบริเวณที่ไม่ได้จำกัดอยู่ที่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง

           2) David K.Wyatt หรืออาจารย์วัยอาจ นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันสนใจเกี่ยวกับการศึกษาจากเอกสาร อาจารย์วัยอาจมักจะวิพากษ์และตรวจสอบความน่าเชื่อถือจากเอกสารประวัติศาสตร์ อาจารย์อานันท์จึงถือว่าอาจารย์วัยอาจได้ปลูกฝังทักษะสำคัญในเรื่องของ “การอย่าเชื่อตามที่เอกสารระบุ” เพราะการตรวจสอบการวิพากษ์จะช่วยให้สนับสนุนความน่าเชื่อถือของเอกสาร

           3) Daniel George Edward Hall (D.G.E. Hall) หรืออาจารย์ดี. จี. อี. ฮอลล์ นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษที่อาจารย์อานันท์ยกให้เป็นบรมครูอีกท่านหนึ่ง โดยเฉพาะหนังสือ A History of South East Asia ที่ช่วยให้อาจารย์อานันท์เห็นบริบทความเชื่อมโยงของประวัติศาสตร์ อำนาจ และความเคลื่อนไหวของกลไกเชิงสถาบัน


 

รูปหนังสือ A history of South-East Asia / by D. G. E. Hall. มีให้บริการที่ห้องสมุด ศมส.
สืบค้นจาก https://opac.perpusnas.go.id/DetailOpac.aspx?id=301253

 

           4) A.Thomas Kirsch หรืออาจารย์เคิร์ช อาจารย์สายมานุษยวิทยาที่ศึกษาศาสนา และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในสังคมไทย บรมครูที่ช่วยให้อาจารย์เริ่มมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างการศึกษาทางประวัติศาสตร์และการศึกษาทางมานุษยวิทยา

           อาจกล่าวได้ว่าอาจารย์อานันท์เริ่มรับอิทธิพลทางความคิดทั้งจากบรมครู จากการค้นคว้าศึกษาตำราและจากการสังเกตุจึงทำให้อาณาบริเวณศึกษาของอานันท์เป็นอาณาบริเวณที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น และสกัดมาเป็นอาณาบริเวณศึกษาฉบับอาจารย์อานันท์เพราะตลอดการเรียนปริญญาตรีทางด้านรัฐศาสตร์ ปริญญาโททางด้านประวัติศาสตร์ และปริญญาเอกทางด้านมานุษยวิทยา อาจารย์จึงได้นิยามตนเองไว้อย่างหนักแน่นภายในหนังสือว่า “ตนเองเป็นนักอาณาบริเวณศึกษา4 เพราะเป็นการศึกษาที่ต้องใช้องค์ความรู้จากหลากหลายสาขาเพื่อทำความเข้าใจและศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคม

บทที่ 3: พื้นที่วัฒนธรรมล้านนา

           ล้านนากับอาจารย์อานันท์อาจจะเปรียบเป็นความสัมพันธ์ที่ยาวนานดั่งเพื่อนที่ร่วมเดินทางมาด้วยกัน เมื่ออาจารย์ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่อาจารย์มีความสนใจ และค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ล้านนาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2507 ในช่วงที่อาจารย์เรียนต่อที่ต่างประเทศอาจารย์ก็ได้เขียนวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ล้านนา และในปัจจุบันอาจารย์อานันท์ก็ทำงานสอนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงกล่าวได้ว่าอาจารย์รู้จักล้านนามากกว่าครึ่งชีวิตของอาจารย์

           ในบทนี้อาจารย์ได้ให้ความหมายของคำว่า “พื้นที่วัฒนธรรม” หมายถึง “เฉพาะพื้นที่ของความสัมพันธ์ในพื้นที่ทางวัฒนธรรม”5 ซึ่งล้านนาเป็นพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมร่วมที่น่าสนใจเพราะขอบเขตของพื้นที่ล้านนาในอดีต คือ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยในปัจจุบัน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และมีการความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันในหลายมิติทั้งทางด้านวัฒนธรรม, ความเชื่อ, เศรษฐกิจ และการค้า ตัวอย่างเช่น ผ้าล้านนาของภาคเหนือที่มีความหมายมากกว่าการนุ่งห่มและการบ่งบอกถึงการแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะผ้าล้านนาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ และผ้าล้านนามักจะแอบแฝงไปด้วยความศรัทธาและความเชื่อของชาวล้านนา เช่น ผ้าห่อคัมภีร์ใบลานของทางล้านนา นอกจากจะห่อเพื่อเก็บรักษาป้องกันฝุ่น แมลง ความร้อนและความชื้น ความตั้งใจในการทำลวดลายผ้าและเลือกสีผ้าในการห่อยังผูกติดคติความเชื่อที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ฉะนั้นการศึกษาล้านนาจึงต้องศึกษาจากความสัมพันธ์ และกลไกที่ถูกสถาปนาขึ้นเป็นล้านนาไม่ควรศึกษาพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หรือกลุ่มชาติพันธ์ใดชาติพันธุ์หนึ่ง


รูปอาณาเขตล้านนา
สืบค้นจาก https://mapio.net/pic/p-41570255/

 

     

รูปผ้าเช็ดน้อย และรูปผ้าห่อคัมภีร์
สืบค้นจาก https://db.sac.or.th/museum/festival/443

 

บทที่ 4: พหุสังคมกับประชาคมอาเซียน

           พหุสังคม (Plural Society) หมายถึง กลุ่มสังคมที่แยกย่อยออกเป็นกลุ่มภาษา กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มศาสนาหรือเชื้อชาติต่าง ๆ และกลุ่มชุมชน6 ในบทนี้อาจารย์ได้กล่าวถึงพหุสังคมโดยการยกกรณีศึกษาของพื้นที่ลุ่มน้ำโขงซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและผสมผสานทางวัฒนธรรม หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม (Multicultural Society)

           อาจารย์ได้ให้แนวคิดสำคัญในเรื่องของการมองและศึกษา “พหุสังคมที่ไร้พรมแดน” ที่ไม่ควรมองหรือศึกษาที่พื้นที่ กลุ่มชาติพันธุ์ หรือภาษาแบบแยกขาดออกจากกันโดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำโขงที่ไม่ได้จำกัดแค่พื้นที่ในประเทศไทยแต่กินพื้นที่ตั้งแต่บริเวณตอนเหนือของทิเบต ผ่านจีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนามด้วยความสัมพันธ์ของพื้นที่ที่หลากหลายจึงทำให้พหุสังคมของลุ่มน้ำโขงจึงมีความลื่นไหล ไม่ตายตัวและมีความซับซ้อนการค้า เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

           นอกจากนั้นอาจารย์ยังได้อธิบายถึงการก้าวเข้าสู่สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations) หรืออาเซียน (ASEAN) ที่มุ่งเน้นเรื่องของ 3 เสาหลัก ดังนี้ เสาหลักที่ 1 ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน เสาหลักที่ 2 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเสาหลักที่ 3 ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งเป็นการมุ่งเน้นที่เศรษฐกิจมากกว่าการรักษาวัฒนธรรมจากการพยายามแสวงหาประโยชน์บางอย่างซึ่งจะทำให้เกิดการลดทอนวัฒนธรรมพื้นถิ่นของอาเซียนจากการพยายามช่วงชิงวัฒนธรรมร่วม

บทที่ 5: การปรับโครงสร้างชนบทไทย

           อาจารย์ได้กล่าวถึงปัญหาเรื่องโครงสร้างชนบทไทยโดยได้อ้างอิงถึงประสบการณ์การทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของอาจารย์ เรื่อง The partial commercialization of rice production in Northern Thailand (1900-1981) เป็นการลงพื้นที่ทำวิจัยในอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2523-2524 จากความสนใจศึกษาเรื่อง “สังคมชนบทเปลี่ยนแปลงอย่างไร” ทำให้อาจารย์พบว่าการศึกษาชนบทในประเทศไทยที่มีความซับซ้อน และเชื่อมโยงกับอำนาจรัฐ และยังมี “ปัญหาที่มองไม่เห็นของโครงสร้างชนบทไทย”
อีกหลายข้อ

           ในบทความนี้อาจารย์จึงพยายามศึกษาการก่อร่างสร้างตัวของแนวคิดโครงสร้างชนบท และศึกษาความสัมพันธ์ของโครงสร้างทำให้พบว่าโครงสร้างชนบทมีความสัมพันธ์กับอำนาจรัฐ และการช่วงชิงทรัพยากร อาจารย์จึงได้สรุปปัญหาที่มองไม่เห็นออกเป็น 3 ข้อหลัก ๆ ดังนี้7

           1) โครงสร้างการผลิตในชนบทถูกแอบแฝงค่าเช่าหรือค่าส่วนเกิน (High Rent) จากการถูกกีดกันการเข้าถึงทรัพยากร

           2) ความเสี่ยงในการดำเนินชีวิต (High Risk) จากการแบกรับความเสี่ยงของราคาผลผลิตและค่าจ้างแรงงาน

           3) ชาวบ้านสูญเสียตัวตน (High Loss) จากการมีสถานภาพที่ไร้ตัวตน และไร้อำนาจในการควบคุมชีวิตตนเอง

 

รูปวิทยานิพนธ์ The partial commercialization of rice production in Northern Thailand (1900-1981) ของอานันท์ กาญจนพันธุ์ มีให้บริการที่ห้องสมุด ศมส.

 

           จากข้อสรุปของอาจารย์นำมาสู่การนำเสนอเรื่องของ “การเปิดพื้นที่ความรู้” ซึ่งไม่ใช่ความรู้ในทางวิชาการ แต่เป็นความรู้ให้ชาวบ้านได้สามารถแลกเปลี่ยน โต้แย้งและผลิตความรู้ เพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมให้แก่ตนเองได้

บทที่ 6: พลเมืองไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน

           อาจารย์ได้นำเสนอการทบทวนแนวคิดของคำว่า “พลเมือง” เพื่อนำเสนอว่าความหมายของคำว่าพลเมืองไม่ได้มีความหมายถึงมิติทางการเมืองในระบบประชาธิปไตยเพียงเท่านั้น โดยร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อลงมติ) ได้ระบุเนื้อหาของหมวดที่ 2 ประชาชน ออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้

  • ส่วนที่ 1 ความเป็นพลเมืองและหน้าที่ของชาวไทย
  • ส่วนที่ 2 สิทธิและเสรีภาพของบุคคล
  • ส่วนที่ 3 การมีส่วนร่วมทางการเมืองของชนชาวไทย
  • ส่วนที่ 4 การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบของชาวไทย8

           ในบทนี้อาจารย์พยายามเสนอว่าไม่ควรผูกขาดแนวคิดพลเมืองกับเรื่องของระบบประชาธิปไตยที่แสดงถึงอำนาจทางการเมืองเพราะเป็นการให้ความหมายในมิติเดียวซึ่งในความเป็นจริงวางอยู่บนฐานคิดที่หลากหลาย ดังเช่นการร่างรัฐธรรมนูญที่ควรมีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชานได้มีสิทธิในการร่วมแสดงออก และนำเสนอความคิดเห็นในมุมมองอื่น ๆ ที่มากกว่ามิติทางการเมือง

บทที่ 7: สิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากร

           สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะทรัพยากรทางธรรมชาติ เช่น ทรัพยากรน้ำที่มักจะประสบปัญหาเรื่องของภัยแล้งและน้ำท่วมแต่สิทธิเบ็ดเสร็จในการจัดการปัญหาเหล่านี้มักถูกขาดโดยภาครัฐ ซึ่งในขณะที่ชุมชนที่เป็นผู้อยู่ร่วมกับธรรมชาติเองไม่มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร

           อาจารย์ ดร. ชยันต์ วรรธนะภูติ ได้ให้ความหมายของสิทธิชุมชนไว้ว่า

การอยู่รวมกันของกลุ่มคนจำนวนหนึ่งในพื้นที่แห่งหนึ่ง เพื่ออาศัยทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณนั้นในการดำรงชีวิต9

           ศาสตราจารย์ ดร.ยศ สันตสมบัติ ได้ให้ความหมายของสิทธิชุมชนไว้ว่า

“สิทธิร่วมเหนือทรัพย์สินของชุมชน สมาชิกของชุมชนซึ่งทำหน้าที่ดูแลรักษาป่าเท่านั้น จึงจะมีสิทธิใช้และได้ประโยชน์จากป่า10

           ในบทนี้อาจารย์จึงพยายามนำเสนอให้เห็นว่าแนวคิดสิทธิชุมชนอาจมีนิยาม และความหมายได้หลายนัยขึ้นอยู่กับมิติของชุมชน ซึ่งจากประสบการณ์การทำงานวิจัยและการลงพื้นที่ภาคสนามเฝ้าสังเกตุชุมชน อาจารย์ได้เสนอว่าแนวคิดสิทธิชุมชนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถรวบรัดเพื่อขมวดไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ และประเด็นของสิทธิชุมชนในมุมมองของอาจารย์ประกอบด้วย 4 มิติดังนี้

           1) มิติที่หนึ่ง สิทธิชุมชนในมิติของสังคมพหุวัฒนธรรม

           2) มิติที่สอง สิทธิชุมชนในมิติของการจัดการแบบมีส่วนร่วม

           3) มิติที่สาม สิทธิชุมชนในมิติการปกป้องวิถีชีวิต

           4) มิติที่สี่ สิทธิชุมชนในมิติของการยกระดับความคิดให้ทันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง11

           ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนถึงพลังของแนวคิดสิทธิชุมชน คือ กรณีการขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิชุมชนจากการรวมตัวกันของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล มันนิ และกะเหรี่ยง ในงาน "รวมญาติพันธุ์ชาวเลครั้งที่ 11" ระหว่างวันที่ 7-29 พฤศจิกายน พ.ศ. 256312” ข้อสังเกตุที่ได้จากการรวมตัวกันถือว่าเป็นตัวอย่างภาพสะท้อนที่ทำเห็นว่าหัวใจสำคัญของแนวคิดสิทธิชุมชน คือ การมีส่วนร่วมของทั้ง 3 กลุ่มชาติพันธุ์ ที่ออกมาสร้างพลังในการขับเคลื่อนเพื่อปกป้องสิทธิชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์

 

รูปรวมญาติพันธุ์ชาวเลครั้งที่ 11
สืบค้นจาก https://web.codi.or.th/20201129-20124/

 

บทที่ 8: ชีวิตไร้ตัวตนของคนงานข้ามชาติ

           ในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแรงงานข้ามชาติคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทยโดยมีตัวเลขจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการอนุญาตให้ทำงานสูงถึง 2,337,154 คน13 ซึ่งยังไม่รวมกับจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย ในบทนี้อาจารย์ได้นำเสนอประเด็นปัญหา “การไร้ตัวตน” จากการถูกเอารัดเอาเปรียบ และสภาวะจำทนที่มีผลพวงมาจากการถูกบิดเบือนกลไกโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของระดับโลก และของสังคมไทย เช่น ค่าจ้างแรงงานที่ประเทศไทยให้อัตราสูงกว่าประเทศพม่าจึงทำให้แรงงานพม่าหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทย

           อาจารย์ได้ยกกรณีตัวอย่างกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่น่าสนใจ คือ กรณีแรงงานข้ามชาติชาวพม่าที่มักจะถูกมองว่าเป็นแรงงานที่มีความขยันขันแข็งและให้ค่าแรงถูกได้14 ทำให้นายจ้างมักจะเลือกจ้างแรงงานข้ามชาติเพราะไม่ต้องแบกรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เหมือนการจ้างคนไทย อาจารย์ให้ความเห็นว่าแนวคิดในกรณีดังกล่าวเป็นการมองแรงงานข้ามชาติในฐานะทรัพยากรที่ตอบสนองเศรษฐกิจเท่านั้นซึ่งถือเป็นความคิดที่ลิดรอนสิทธิมนุษยชนซึ่งยังเป็นปัญหายังหาทางออกไม่ได้ อาจารย์ได้เสนอว่ารัฐบาลควรมีการพิจารณานโยบายที่เอื้อประโยชน์ และสอดคล้องกับบทบาททางสังคมของแรงงานข้ามชาติแทนที่จะผลักภาระต้นทุนต่าง ๆ ให้กับสังคม

บทที่ 9: ทุนทางสังคมกับการพัฒนาเมือง

           “เมือง” ในฐานะภาพแทนความเจริญที่บ่งบอกวิถีชีวิตของมนุษย์ผ่านแต่ละยุคสมัย ในปัจจุบันเมืองเป็นพื้นที่ที่มีสลับซับซ้อนและมีการใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย พื้นที่บางส่วนถูกทดแทนด้วยสิ่งปลูกสร้างสูงระฟ้า, สนามหญ้า, เส้นทางของรถไฟความเร็วสูงตลอดจนตรอกซอกซอยของชุมชน แต่เมืองยังคงไม่สามารถเป็นเมืองที่น่าอยู่และปลอดภัยสำหรับทุกคนได้ ในบทนี้อาจารน์ได้เริ่มนำเสนอประสบการณ์จากการศึกษาแนวคิดทุนทางสังคมและแนวคิดการพัฒนาเมือง เพื่ออธิบายว่าเมืองจะไม่สามารถพัฒนาได้หากไม่มีทุนทางสังคมที่ดีในการขับเคลื่อนเพราะทั้งสองปัจจัยนี้มีความสัมพันธ์ที่สนับสนุนกัน อาจารย์ได้สรุปว่าทุนทางสังคมจะประกอบด้วย 2 มุมมอง ดังนี้

           1) ทุนทางสังคมจากมุมมองของความขัดแย้ง อาจารย์ได้ข้อสรุปจากการศึกษาหนังสือหลายเล่มโดยเฉพาะหนังสือ Distinction: a social critique of the judgement of taste เป็นผลงานเขียนของ Pierre Bourdieu นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสที่นำคำว่า Social Capital มาแปลเป็นภาษาอังกฤษ และนำเสนอว่า “ทุน” สามารถแปรรูปกลับไปกลับมาได้15


รูปหนังสือ Distinction: a social critique of the judgement of taste โดย Pierre
มีให้บริการที่ห้องสมุด ศมส. สืบค้นจาก https://bookshop.org/books/distinction-a-social-critique-of-the-judgement-of-taste/9780674212770

 

           2) ทุนทางสังคมจากมุมมองแบบชุมชนนิยม โดยเฉพาะบทความ Social Capital in the Creation of Human Capital ของ James Coleman ที่ให้อธิบายไว้ว่าทุนทางสังคมต้องมีแนวคิดร่วมกัน16


รูปหนังสือ Education: culture, economy, and society โดย A.H. Halsey มีให้บริการที่ห้องสมุด ศมส. สืบค้นจาก https://www.amazon.com/Education-Culture-Economy-H-Halsey/dp/0198781873

 

           จากการศึกษาค้นคว้าของอาจารย์ได้อธิบายทุนทางสังคมว่าเป็นพื้นที่สำคัญในการแสดงออก เพื่อออกมาเคลื่อนไหวและต่อรองซึ่งต้องอาศัยพลังเหล่านี้ในการการพัฒนาเมืองเพราะหากไม่มีพื้นในการแสดงออกแล้วปัญหาเมืองก็จะไม่สามารถแก้ไขได้ ดังเช่นเมื่อกลางปี พ.ศ. 2557 มีข่าวการล็อคลิฟท์สำหรับผู้พิการของสถานีรถไฟฟ้าทำให้นายมานิตย์ อินทร์พิมพ์ ทุบกระจกลิฟต์บีทีเอส สถานีอโศก17 กรณีนี้สะท้อนให้เห็นว่ายังมีกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบในเรื่องของความไม่เท่าเทียมกันในสังคมเพราะการวางโครงสร้างมักจะคำนึงถึงคนปกติมากกว่าผู้พิการจากกรณีของนายมานิตย์ อินทร์พิมพ์ จึงทำให้เห็นว่าทุนทางสังคมสามารถเป็นพื้นที่ที่ผู้พิการออกมาเรียกร้อง ต่อรองเกี่ยวกับสิทธิที่ผู้พิการควรจะได้รับซึ่งการต่อรองนี้ต้องมีพลังมากพอที่จะนำไปสู่การพัฒนาจนสามารถลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมได้

           จากเนื้อหาทั้ง 9 บท ที่อาจารย์ได้หยิบยกกรณีศึกษาขึ้นมาบรรยายในมิติต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าอาจารย์ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่มากมายของอาจารย์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพัฒนาการของสังคมศาสตร์ไทย อาณาบริเวณศึกษา สิทธิชุมชน ตลอดจนทุนทางสังคมกับการพัฒนาเมืองมาย่อไว้ในหนังสือพื้นที่ความรู้ มานุษยวิทยา คนสามัญ: 70 ปี อานันท์ กาญจนพันธุ์ เพื่อที่จะช่วยให้ผู้อ่านได้รู้อย่างที่อาจารย์รู้

           นอกเหนือจากผลงานหนังสือของอาจารย์แล้วผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงเอกสารบันทึกภาคสนามประกอบการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผู้เขียนในหัวข้อ “The partial commercialization of rice production in Northern Thailand (1900-1981)” ซึ่งเป็นภาพถ่ายการเก็บข้อมูลที่บ้านสันโป่ง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2523-2524 และภาพถ่ายพิธีเลี้ยงผีปู่ย่า จ.แพร่ ปี พ.ศ. 2529 และ จ.ลำปาง ปี พ.ศ. 2530 พิธีไหว้ผีอารักษ์ และพิธีแต่งงานของชาวลัวะ บ้านดง อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ปี พ.ศ. 2530 ได้ในฐานข้อมูลจดหมายเหตุมานุษยวิทยา

 

รูปกาดวัวกาดควายที่ทุ่งฟ้าบด
เป็นตลาดที่หมุนเวียนและเคลื่อนย้ายวัวควายสำหรับคนที่ไม่มีที่เลี้ยงในภาคการเกษตร สืบค้นจาก  https://www.sac.or.th/databases/anthroarchive/series.php?collection_name=AG&level_name=Series&s_reference=AG_01&s_id=31

 

รูปบรรยากาศภายในหมู่บ้าน
คนแก่และเด็กชาวลัวะ แต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง สืบค้นจาก https://www.sac.or.th/databases/anthroarchive/file.php?collection_name=AG&level_name=File&s_reference=AG_03&ss_reference=&f_reference=AG_03_01&s_id=33&ss_id=0&f_id=21

 

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องมานุษยวิทยาประเทศไทย พร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-library


1  คำนำหนังสือ โดย วสันต์ ปัญญาแก้ว, หน้า 3

2  มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. (2559). รศ.ศรีศักร วัลลิโภดมได้รับรางวัลวัฒนธรรมแห่งเอเชียเมืองฟูกูโอกะ ประจำปี 2550 (ครั้งที่ 18). สืบค้น 12 สิงหาคม 2565, จาก https://lek-prapai.org/home/view.php?id=216

3  อานันท์ กาญจนพันธุ์. พื้นที่ความรู้ มานุษยวิทยา คนสามัญ: 70 ปี อานันท์ กาญจนพันธุ์. เชียงใหม่: ภาควิชาสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2560, หน้า 2.

4  อานันท์ กาญจนพันธุ์. พื้นที่ความรู้ มานุษยวิทยา คนสามัญ : 70 ปี อานันท์ กาญจนพันธุ์. เชียงใหม่: ภาควิชาสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2560, หน้า 78-79.

5  อานันท์ กาญจนพันธุ์ . พื้นที่ความรู้ มานุษยวิทยา คนสามัญ : 70 ปี อานันท์ กาญจนพันธุ์. เชียงใหม่: ภาควิชาสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2560, หน้า 84.

6  มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. (2559). พหุลักษณ์ทางสังคมวัฒนธรรม . สืบค้น 12 สิงหาคม 2565, จาก https://lek-prapai.org/home/view.php?id=444

7  อานันท์ กาญจนพันธุ์ . พื้นที่ความรู้ มานุษยวิทยา คนสามัญ : 70 ปี อานันท์ กาญจนพันธุ์. เชียงใหม่: ภาควิชาสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2560, หน้า 162-163.

8  คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ. (2558). ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อลงมติ). สืบค้น 20 สิงหาคม 2565, จาก https://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/draftconstitution/more_news.php?cid=67

9  สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ, 2555, หน้า 11-17.

10  สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ, 2555, หน้า 11-17.

11  อานันท์ กาญจนพันธุ์ . พื้นที่ความรู้ มานุษยวิทยา คนสามัญ : 70 ปี อานันท์ กาญจนพันธุ์. เชียงใหม่: ภาควิชาสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2560, หน้า 188-202.

12  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน. (2563). ชาวเล-มันนิ-กะเหรี่ยงรวมพลังร่วมประกาศปฏิญญา ‘หลีเป๊ะ’ พร้อมขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิชุมชนกลุ่มน้อย. สืบค้น 15 สิงหาคม 2565, จาก https://web.codi.or.th/20201129-20124/

13  กรมการจัดหาแรงงาน. (2565). สถิติจำนวนคนงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร ประจำเดือน กรกฎาคม 2565 . สืบค้น 16 สิงหาคม 2565, จาก https://www.doe.go.th/prd/alien/statistic/param/site/152/cat/82/sub/0/pull/category/view/list-label

14  อานันท์ กาญจนพันธุ์ . พื้นที่ความรู้ มานุษยวิทยา คนสามัญ : 70 ปี อานันท์ กาญจนพันธุ์. เชียงใหม่: ภาควิชาสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2560, หน้า 230-231.

15  อานันท์ กาญจนพันธุ์ . พื้นที่ความรู้ มานุษยวิทยา คนสามัญ : 70 ปี อานันท์ กาญจนพันธุ์. เชียงใหม่: ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2560, หน้า 237-240.

16  อานันท์ กาญจนพันธุ์ . พื้นที่ความรู้ มานุษยวิทยา คนสามัญ : 70 ปี อานันท์ กาญจนพันธุ์. เชียงใหม่: ภาควิชาสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2560, หน้า 241.

17  The Standard. (2561). 4 ปีผ่านไป บีทีเอสยังสร้างลิฟต์ผู้พิการไม่ครบทุกสถานี หลังศาลสั่งสร้างให้เสร็จใน 1 ปี ตั้งแต่ปี 2557. สืบค้น 18 สิงหาคม 2565, จาก https://thestandard.co/bts-disabled-elevator-conflict/


ชื่อผู้เขียน

วิภาวดี โก๊ะเค้า

นักบริการสารสนเทศ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ป้ายกำกับ พื้นที่ความรู้ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร คนสามัญ 70 ปี อานันท์ กาญจนพันธุ์ วิภาวดี โก๊ะเค้า

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share