โรคฝีในตำรายาไทย

 |  วัฒนธรรมสุขภาพ
ผู้เข้าชม : 9164

โรคฝีในตำรายาไทย

           ในช่วงเวลานี้ที่ภัยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้เริ่มทุเลาเบาบางลงบ้างแล้ว ทำให้ผู้คนค่อย ๆ เริ่มฟื้นฟูชีวิตของตนเองให้ดีขึ้นตามลำดับ ถึงแม้ว่าสถานการณ์ทางด้านโควิด-19 กำลังดีขึ้นนั้นกลับมีข่าวเรื่องโรคภัยชนิดอื่นที่กำลังคุกคามชีวิตมนุษย์ จนทำให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเฝ้าระวังและป้องกัน “โรคฝีดาษลิง” (Monkeypox) ที่เกิดจากเชื้อไวรัส Othopoxvirus ที่อยู่ในตระกูลเดียวกันกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษ พบในสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาหรือมีวัคซีนป้องกันโดยเฉพาะ แต่สามารถควบคุมการระบาดได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ สามารถช่วยป้องกันได้ประมาณ 85%

           โรคฝีดาษลิง หรือโรคฝีดาษ เป็นการเรียกชื่อโรคตามอาการของโรคไข้ทรพิษ โรคนี้เมื่อเป็นแล้วจะมีอาการไข้ ปวดหัว และผิวหนังมีตุ่มผื่นขึ้น โดยเป็นตุ่มที่มีรูปแบบการเปลี่ยนแปลงตามลำดับ โดยเริ่มจากรอยจุดแดง ๆ เป็นตุ่มนูนแดง ตุ่มน้ำใส ตุ่มน้ำหนอง และจากนั้นจะแห้งออกหรือแตกออกแล้วหลุดออกไป ตุ่มที่ขึ้นตามผิวหนังนี้จะเรียกว่า “ฝี” เมื่อขึ้นตามร่างกายเป็นจำนวนมากจะเรียกว่า “ฝีดาษ” ดาษ แปลว่า มากมาย เกลื่อนกลาด

           ในเอกสารโบราณตำรับตำรายาการแพทย์แผนไทยที่บันทึกเกี่ยวกับโรคฝีทีเกิดขึ้นกับมนุษย์ หรือที่โบราณมักเรียกว่า “ฝีมะเร็ง” จะอธิบายถึงอาการของโรค ประเภทของโรคฝีต่าง ๆ ตำรับยาสมุนไพรที่ใช้รักษา รวมไปถึงภาพแผนฝีที่วาดเป็นรูปร่างคนและชี้ตำแหน่งการเกิดฝีต่าง ๆ บนร่างกาย ตำราฝีมะเร็งนี้มักบันทึกในเอกสารโบราณประเภทหนังสือสมุดไทยเพราะมีพื้นที่ และสะดวกในการวาดแผนผังฝีได้อย่างชัดเจน

           แผนผังฝีมะเร็งในตำรายาเท่าที่พบจะมีสองลักษณะใหญ่ ๆ ได้แก่ ภาพแผนฝีที่วาดเป็นรูปเทวดา รูปยักษ์ หรือรูปบุคคลที่ไม่ใช่มนุษย์ โดยวาดเป็นภาพบุคคลจำนวน 12 ภาพตามเดือนในแต่ละปี และภาพฝีประจำตำแหน่งตามร่างกาย โดยภาพแรกจะเป็นเดือน 5 หรือตรงกับเดือนเมษายนของไทยซึ่งถือเป็นเดือนที่ขึ้นปีใหม่อีกด้วย ไล่เรียงไปจนถึงเดือน 4 จนครบ 12 เดือน

 

ภาพแผนฝีในหนังสือสมุดไทย

 

ภาพแผนฝี (ยักษ์) จากตำราฝีมะเร็ง ในฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย

รหัสไฟล์ภาพ NPT002-002.TamraFiMareng-001-007

 

           ภาพวาดแผนฝีอีกประเภทหนึ่งจะวาดภาพเป็นรูปมนุษย์ทั้งชายและหญิง พร้อมภาพฝีที่เกิดขึ้นในตำแหน่งต่าง ๆ ตามร่างกายตั้งแต่ศีรษะจนถึงฝ่าเท้า พร้อมบอกชื่อของฝี จำนวนวันที่เกิดขึ้นของฝีแล้วจะรอดหรือไม่รอด

 

ภาพแผนฝี(ผู้ชาย)จากตำราฝีมะเร็ง ในฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย

รหัสไฟล์ภาพ NPT002-002.TamraFiMareng-001-018

 

ปริวรรตเป็นอักษรไทยและอักขรวิธีปัจจุบัน โดยผู้เขียน

 

ภาพแผนฝี(ผู้หญิง)จากตำราฝีมะเร็ง ในฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย

รหัสไฟล์ภาพ NPT002-002.TamraFiMareng-001-020

 

ปริวรรตเป็นอักษรไทยและอักขรวิธีปัจจุบัน โดยผู้เขียน

 

ตำรับยาแก้ฝีดาษ

           ในเอกสารโบราณตำรับตำรายาการแพทย์แผนไทย ได้กล่าวถึงการรักษาฝีดาษด้วยยาสมุนไพรหลายตำรับตามความเหมาะสมในการรักษาดังนี้

           สิทฺธิการิยะ จะกล่าวถึงยาฝีดาษทั้งหลาย ยาแปร ยาพ่น ยากิน อยู่ด้วยกัน เอารากส้อม รากพุงดอ รากเฉียงพร้ามอญ รากย่านาง แก่นประดู่ ไม้สัก รากมะนาว รากมะกรูด แก่นปรู เอาเท่ากันแช่น้ำพ่น ฯ

           ถ้าเห็นหัวได้ ๒ วัน ๓ วัน ๔ วัน ๕ วัน เอาหญ้าแพรก หญ้าปากควาย ใบระงับ ใบตำลึง ใบบัวหลวง ใบหมอน้อย ฆ้องสามย่าน หางตะเข้ ใบถั่วแระ ถ้าเห็นหัวได้ ๖ วัน ๗ วัน ๘ วัน เอายานี้แทรก เอาใบสะอึก ผักบุ้งรวม ใบก้างปลา ใบพุงดอ ถ้าเห็นหัว ๘ วัน ๙ วัน เอายานี้แทรก เอาใบส้มขาม ใบส้มป่อย ใบมะระ ตำพ่นให้กระจายออกแล ๚๚

           ยาจุดฝีดาษ เอายาดำ เจตมูลเพลิง ลูกในสะบ้า บดแท่งลายน้ำเหล้า น้ำมะนาว จุดแล ๚๚

           ยาแปรใน เอาใบมะตูม ใบทองหลางน้ำ น้ำประสานทอง บดลายให้กินแปรในให้ดีแล๚๚

           ยาแบ่งฝี เอาใบหมากเมีย ใบหมากผู้ ระแง้หมากดิบ ขมิ้นอ้อย ข่า มะกรูด บอระเพ็ด ใบหมาก ต้มกินแทรกดีเกลือ๚๚

           ยาต้มตัดรากฝีเมื่อทรงหัวแล้ว เอารากขี้กาแดง รากตองแตก รากมะนาว รากมะกรูด รากท้าวยายม่อม รากพุงดอ รากย่านาง ขมิ้นอ้อย ฝักราชพฤกษ์ ใบหมาก ยาดำ ๑ บาท พญามือเหล็ก เอาเสมอภาคกันต้มเหล้า ต้มน้ำ ครึ่งกินแล ๚๚

ยากระทุ้งฝีให้ขึ้น เอาฝักส้มป่อยคั่ว ลูกมะกรูดเผา บอระเพ็ดเอาน้อยกว่ายาทั้งหลาย บดแท่ง ลายเหล้ากินขึ้นแล ๚๚

           เนื้อหาของโรคฝียังมีอยู่อีกมากในเอกสารโบราณตำรับตำราการแพทย์แผนไทย ซึ่งสามารถดูเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน)

           ตำราฝีมะเร็ง ฉบับวัดดอนขนาก ต.ดอนยายหอม อ.เมือง จ.นครปฐม สืบค้นได้ที่นี่

           https://www.sac.or.th/databases/manuscripts/main.php?m=article&p=item&id=23

           ตำราฝีมะเร็ง สืบค้นได้ที่นี่

           https://www.sac.or.th/databases/manuscripts/main.php?m=document&p=item&id=2


ผู้เขียน

ดอกรัก พยัคศรี

นักวิชาการคลังข้อมูล ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ดาษ โรคฝี ตำรายาไทย เอกสารโบราณ ดอกรัก พยัคศรี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share