Digital anthropology

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 6156

Digital anthropology

หนังสือ Digital Anthropology โดย Heather A. Horst และ Daniel Miller

มีให้บริการที่ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

           แก่นแท้ของมานุษยวิทยาคือการเข้าใจความเป็นมนุษย์ เพื่อตอบคำถาม how to be human? และเพื่อที่เราจะเป็นมนุษย์ที่เข้าใจคนอื่นมากกว่าเดิม เข้าใจโลกที่ซับซ้อนมากขึ้น

           พัฒนาการของอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนอิทธิพลของอินเทอร์เน็ตและพื้นที่ดิจิทัลมีบทบาทต่อสังคม-วัฒนธรรม ส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คน ชุมชน และสังคมแทบทุกด้าน การใช้พื้นที่ดิจิทัลในการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างชุมชนออนไลน์อย่าง เว็บบอร์ด บล็อก โปรแกรมสนทนาต่างๆ ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิติของมนุษย์ในทุกๆ ด้านโดยเฉพาะระยะทาง คนที่อยู่ต่างที่กันทั้งใกล้และไกลสามารถสื่อสารและทำงานร่วมกันได้ เส้นแบ่งเรื่องพื้นที่ลดน้อยลง เกิดพื้นที่ใหม่อัตลักษณ์ใหม่ๆ ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ความเป็นส่วนตัวลดลงความเป็นสาธารณะมีมากขึ้น เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตของผู้คนมากขึ้น ปัญญาประดิษฐ์หลายอย่างเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ หรือมาช่วยมนุษย์ให้ทำงานได้เร็วขึ้นได้ปริมาณที่มากขึ้นทำให้มนุษย์สบายและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ก็เปลี่ยนแปลงสังคมและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ทำให้มนุษย์แสดงออก และดำรงชีวิตต่างไปจากเดิม เป็นเหตุให้นักมานุษยวิทยาเริ่มหันมาตั้งคำถามกับนิยามของ “ความเป็นมนุษย์” ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจวัฒนธรรมระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยีดิจิทัล ที่เน้นในการวิเคราะห์และอภิปรายปรากฎการณ์ทางสังคมในวงกว้างบนสื่อสังคมออนไลน์ สื่อดิจิทัลต่างๆ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการศึกษาวิจัยมานุษยวิทยา ใช้พื้นที่ดิจิทัลเป็นสนามแบบใหม่ หรือ ชี้ให้เห็นสภาพปัญหาของการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในโลกปัจจุบันและอนาคต

 

แดเนียล มิลเลอร์ (Daniel Miller)

 

           นักมานุษยวิทยาที่สนใจและเป็นผู้บุกเบิกศาสตร์มานุษยวิทยาดิจิทัล (Digital Anthropology) คนสำคัญคือ แดเนียล มิลเลอร์ (Daniel Miller) ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาแห่ง University College London มิลเลอร์ ได้วิจัยผลกระทบของโซเชียลมีเดียที่มีผลต่อสังคมในหัวข้อต่างๆ ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000 ให้ความสำคัญกับการวิจัยเกี่ยวกับชาติพันธุ์วรรณาทั้งเรื่องการใช้และผลที่ตามมาของโซเชียลมีเดียและสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนทั่วไป รวมทั้งบรรณาธิการหนังสือ “มานุษยวิทยาดิจิทัล (Digital Anthropology)” ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในปี ค.ศ. 2012

           หนังสือ Digital Anthropology มีนักวิชาการที่มีชื่อเสียงร่วมเขียนบทความทั้งสิ้น 13 คน โดยเฉพาะ Tom Boellstorff, Daniel Miller และ John Postill หนังสือแบ่งเป็น 4 หัวข้อหลัก (Part) ได้แก่ Positioning Digital Anthropology, Socializing Digital Anthropology, Politicizing Digital Anthropology และ Designing Digital Anthropology ในบทนำ เฮทเธอร์ เอ. ฮอร์สท์ (Heather A. Horst) และแดเนียล มิลเลอร์ (Daniel Miller) บรรณาธิการ ได้เสนอหลักพื้นฐาน 6 ประการซึ่งประกอบด้วยการตั้งคำถามและความสนใจหลักของมานุษยวิทยาดิจิทัล ได้แก่

  1. หลักวิภาษวิธีในการพัฒนานิยามพื้นฐานของ "ดิจิทัล" (defining the digital through the dialectic) ได้แก่ การใช้สัญญาณกระแสไฟฟ้าที่ต่างจากสัญญาณแอนะล็อก (analog) พัฒนาเป็นรหัสด้วยการแทนค่าตัวเลข 1 และ 0 บันทึกคลื่นเสียงด้วยสัญญาณไฟฟ้า ซึ่งกระทำผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ การพัฒนารหัสดังกล่าวทำให้เราสามารถผลิต ทำซ้ำ แบ่งปัน และหาข้อมูลได้ง่ายขึ้น
  2. หลักวิพากษ์การอ้างสรุปถึง "ความจริงแท้" ของ "วัฒนธรรม" (culture and the principle of false authenticity) มานุษยวิทยาดิจิทัลไม่ได้ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลางของการศึกษา แต่ยึดเอาธรรมชาติโดยรอบเป็นศูนย์กลางของโลก (ที่ไม่ใช่ดิจิทัล) ดังปรากฏในบทความของ Tom Boellstorff ที่ชี้ให้เห็นว่าโลกออนไลน์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเท่านั้น
  3. หลักการศึกษาอย่างเป็นองค์รวม: บูรณาการเชิงวิธีวิทยา (transcending method through the principle of holism) มุ่งเน้นจารีตเดิมของการศึกษามานุษยวิทยาแบบองค์รวม ไม่มีใครใช้ชีวิตในรูปแบบดิจิทัลได้ตลอดเวลา ดังนั้นการอภิปรายพฤติกรรมทางดิจิทัลของมนุษย์จึงควรปรากฏในการศึกษามานุษยวิทยาสาขาต่างๆ ในปัจจุบัน อนึ่ง สื่อดิจิทัลทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ สื่อที่มีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยหนุนเสริมซึ่งกันและกัน นิเวศวิทยาการสื่อตามแนวคิดของ มาร์แชล แมคลูฮัน (Marshall McLuhan) นักวิชาการสื่อชาวอเมริกันคือ เทคโนโลยีสื่อไม่เพียงแต่ทรงพลังต่อสังคมเท่านั้น ยังเป็นสาเหตุหลักในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วย ดังบทความของ เฟย์ จินส์เบิร์ก (Faye Ginsburg) เรื่อง Disability in the Digital Age นำเสนอเกี่ยวกับชาติพันธุ์วรรณาของชีวิตในโลกเสมือนที่ถูกสร้างขึ้นด้วยโมเดลซอฟต์แวร์แบบสามมิติ เป็นความรู้สึกโดยรวมของผู้พิการที่สามารถทำอะไรหลายอย่างได้ในโลกเสมือน แต่ทำไม่ได้จริงในโลกปัจจุบัน
  4. หลักสัมพัทธ์นิยม: การศึกษาเชิงเปรียบเทียบกับการตระหนักถึงเสียงของคนเล็กคนน้อย (voice and the principle of relativism) หลักการนี้ชี้ให้เห็นว่า การวิจัยสื่อดิจิทัล จะเห็นโอกาสในการแก้ปัญหาคนเล็กคนน้อยและเห็นโอการในการขยายผลวิจัย หรือต่อยอดงานวิจัย มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในประเด็นประชาธิปไตย ซึ่งมีความสำคัญมากในการศึกษาด้านการสื่อสารที่ตอกย้ำหลักการพื้นฐานทางมานุษยวิทยาว่า ทุกคนเกิดมามีความเท่าเทียมทางวัฒนธรรม ดังที่ ฟรานซ์ โบแอส (Franz Boas) ได้นำเสนอไว้ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ว่า โลกนี้เต็มไปด้วยวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย มากกว่าวิวัฒนาการทางสังคมที่วัดจาก อารยธรรมที่มนุษย์เคยมีมา ดังบทความของ Jo Tacchi เรื่อง Digital Engagement: Voice and Participation in Development ซึ่งเธอชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดโตงจากความสัมพันธ์แนวตั้งเป็นความสัมพันธ์แนวนอน
  5. หลักความเปิดกว้างและการปิดกั้น: คู่ความสัมพันธ์อันคลุมเครือในโลกดิจิทัล (ambivalence and the principle of openness and closure) หลักการนี้เกี่ยวข้องกับความไม่ชัดเจนของวัฒนธรรมดิจิทัลในเรื่องความเป็นสาธารณะ และความเป็นส่วนตัว บทบาทของโซเชียลมีเดียมีความสำคัญมากในการลุกฮือขึ้นมาต่อต้านสงคราม ซึ่งเกิดขึ้นในโลกอาหรับและมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ประเด็นนี้มีความขัดเจนในบทความของ John Postill ที่แสดงหลักฐานมากมายใน Facebook, WikiLeaks และ Twitter ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเหตุการณ์อาหรับสปริง (Arab Spring) ที่เริ่มขึ้นในช่วงท้าย ค.ศ. 2010
  6. หลักวัตถุสภาวะ: การเปลี่ยนแปลงเชิงเทคโนโลยีกับการผลิตซ้ำแบบแผนความสัมพันธ์ตามบรรทัดฐานทางสังคมในโลกดิจิทัล (normativity and the principle of materiality) วัฒนธรรมดิจิทัลไม่ได้มีความสำคัญมาก หรือน้อยไปกว่าวัฒนธรรมอื่นที่ไม่ใช่ดิจิทัล มันเป็นไปได้ยากที่มนุษย์จะมีวัฒนธรรมแบบอื่น เมื่อมนุษย์ผ่านการชุบเลี้ยงในสิ่งแวดล้อมทางวัตถุรอบๆ ตัวเราปัจจุบัน วัตถุเป็นพื้นฐานของมานุษยวิทยาดิจิทัล วัตถุอยู่ในทั้งเทคโนโลยีดิจิทัล เนื้อหาดิจิทัล และสภาพแวดล้อมดิจิทัล Horst และ Miller เชื่อว่าดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ปัจจุบัน เพราะสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นมากกว่าเจตนารมณ์ของมนุษย์

           หลักพื้นฐานทั้งหกประการนี้ เป็นการเปิดประเด็นให้เราได้ทบทวนปฏิบัติต่างๆ ในโลกดิจิทัล อาจเป็นทั้งสิ่งใหม่ที่เราไม่สามารถคาดการณ์มาก่อน หรือมีความเชื่อมโยงกับแบบแผนดั้งเดิม หรืออาจเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ฯลฯ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ท้าทายให้เราพิจารณาโลกดิจิทัลที่จะช่วยให้เราได้ใคร่ครวญถึงความหมายของการเป็นมนุษย์ อันเป็นภารกิจหลักของการศึกษาทางมานุษยวิทยา อย่างไรก็ดี แม้การนำเสนอหลักพื้นฐานดังกล่าวอาจมีลักษณะของการสร้างคำอธิบายในภาพรวม แต่มานุษยวิทยาดิจิทัลจะต้องไม่ละเลยมิติของความหลากหลาย มิติความสัมพันธ์ ตลอดจนการสร้างความต่างทางวัฒนธรรม ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นคุณูปการพื้นฐานสำคัญของมุมมองทางมานุษยวิทยาในการทำความเข้าใจชีวิตมนุษย์และสังคมวัฒนธรรม

           หนังสือเล่มนี้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการสื่อสารทั้งในบริบทของมานุษยวิทยาและบริบทดิจิทัล และยังเป็นผลงานที่น่าสนใจเกี่ยวกับการอภิปรายพื้นที่ดิจิทัล ที่สำคัญคือผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้มีการพยายามกำหนดองค์ประกอบพื้นฐานของมานุษยวิทยาดิจิทัลขึ้น ดังนั้นหนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับผู้ที่อยู่ในแวดวงมานุษยวิทยาดิจิทัลหรือชาติพันธุ์วรรณาออนไลน์ ที่ต้องการศึกษาและร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นนี้ นอกจากนี้ยังแนะนำสำหรับนักศึกษามานุษยวิทยา วารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์ วัฒนธรรมศึกษา และสังคมวิทยา

           ใครสนใจหนังสือผลงานของแดเนียล มิลเลอร์ หรือหนังสือ Digital Anthropology สามารถเข้ามาอ่านได้ในฐานข้อมูลหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้ที่ https://lib.sac.or.th/catalog/BibItem.aspx?BibID=b00085747

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องมานุษยวิทยาดิจิทัลพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-library

 

อ้างอิง

Holappa, Anne. Book review: Digital Anthropology. (eds. Daniel Miller &Heather A. Horst) (2013) สืบค้นเมื่อ 24 พ.ค. 2565. จาก. https://www.researchgate.net/publication/237089972_Book_review_Digital_Anthropology_eds_Daniel_Miller_Heather_A_Horst

สัมมนาเชิงปฏิบัติการว่าด้วยแนวการศึกษา Digital Anthropology. (2018). สืบค้นเมื่อ 24 พ.ค. 2565. จาก.  https://socanth.tu.ac.th/ccscs/digital-sea/workshop-miller-digital-anthropology/


ผู้รีวิว

อนันต์ สมมูล

บรรณารักษ์ ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มานุษยวิทยาดิจิทัล Digital Posthuman Anthropology อนันต์ สมมูล

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา