Hope cluster โควิดนี้ยังมีหวัง ลำดับที่ 37

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 1240

Hope cluster โควิดนี้ยังมีหวัง ลำดับที่ 37

เรียบเรียงโดย จุฑามณี สารเสวก

 

 

           คุณดิษฐ์ (อายุ 58 ปี) เจ้าของผับบาร์และธุรกิจกลางคืนในถนนข้าวสาร

           เหล่าผู้ประกอบการผับบาร์และธุรกิจกลางคืนในถนนข้าวสาร ต้องเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเพราะพิษโควิด เช่นเดียวกับเรื่องราวของคุณดิษฐ์ หนึ่งในเจ้าของกิจการสถานบันเทิงย่านข้าวสาร กับชีวิตในวัย 58 ปีที่ต้องดิ้นรนและไร้การเยียวยา

           ภาพถนนข้าวสารที่เราคุ้นเคยกับแสงสี เสียงดนตรี และผู้คนมากหน้าหลายตา เรียกได้ว่าไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติคนไหนไม่รู้จักย่านอันโด่งดังแห่งนี้ หากแต่ว่าบรรยากาศของพื้นที่แห่งความสนุกสนานที่มีชีวิตชีวากลับไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังที่ คุณดิษฐ์ เจ้าของธุรกิจสถานบันเทิงมาเปิดเผยเรื่องราวเหล่านี้ให้เราได้ทราบกัน

           “... ผมเริ่มต้นทำร้านพวกนี้เมื่อปี 56 ก็ขยายกิจการมาเรื่อย ๆ มันโอเคเลยนะ ข้าวสารเป็นแหล่งท่องเที่ยว ต่างชาติเยอะ ยังไงก็มีลูกค้ามาแวะหรือพักที่นี่อย่างต่ำวัน 2-3 คืนอยู่แล้ว จนเมื่อต้นปีที่แล้ว(2563)วางแผนโปรเจคใหม่ จะลงทุนทำร้านเพิ่มเติมกับหุ้นส่วน ตกแต่งร้านใหม่ เตรียมจัดงานเรียกลูกค้า ตั้งใจจะเปิดตัวช่วงสงกรานต์ แต่ต้องพับโครงการไปทันที เพราะเจอโควิด-19 นี่ล่ะ

           เมื่อก่อนรายได้ธุรกิจผับบาร์มันดีมาก ต่างชาติทุกคนรู้จักถนนข้าวสาร นักท่องเที่ยวเขาต้องมา กำไรต่อวันปกติแค่ร้านเดียวก็ 2-3 หมื่น ยิ่งหน้าเทศกาลนี่แทบจะเหยียบกันตาย คนเต็มถนน ลูกค้าเต็มทุกร้าน แต่ทีนี้มาช่วงโควิดที่ต้องปิดประเทศ รายได้เราก็ลดลงฮวบ มีช่วงที่ต้องปิดร้านชั่วคราวและกลับมาเปิดใหม่ ก็ขายให้คนไทย ส่วนใหญ่ได้เฉพาะวันศุกร์-วันเสาร์ หรือบางวันไม่มีสักโต๊ะก็มี ถ้าได้วันละหมื่นกว่าๆ ก็ดีใจแล้ว อย่างน้อยมันก็ได้หมุนเวียน ดูอย่างวันปีใหม่ตั้งใจกันมากว่าวันนี้ล่ะลูกค้าเข้าเยอะจะได้สนุกกัน แต่เคาท์ดาวน์ได้ไม่ถึง 10 นาทีก็มีตำรวจมาไล่แล้ว ยิ่งมาสั่งปิดร้านอีกระลอกนี้ รายได้เราก็เท่ากับศูนย์ ...”

           คุณดิษฐ์ เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่เขาเผชิญอยู่ ไม่น่าเชื่อว่าถนนข้าวสารที่เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวแลนมาร์คสำคัญ จากรายได้เป็นกอบเป็นกำของธุรกิจที่สร้างผลกำไรเม็ดงามให้เขามาตลอดหลายปี ต้องมามีสภาพซบเซาอย่างที่เราเห็นแบบทุกวันนี้

 

 

           “... หลังโควิดระลอกแรกถึงประเทศปิดไม่มีนักท่องเที่ยวเลย มันก็ยังดีที่พอมีลูกค้าคนไทยเข้ามาเที่ยวข้าวสารบ้าง รายได้ลดจริงแต่เราก็ยังพออยู่ได้ ตอนโควิดระลอก 2 ผมก็ยังไม่คิดว่าจะหนักมาก มันยังพอเป็นไปได้อยู่ ผมก็เห็นพื้นที่ร้านตรงเนี้ยมันว่างก็เลยกะจะเช่าทำอีกร้านนึง เราเตรียมการละ สั่งทำโต๊ะ เก้าอี้ ป้ายหน้าร้าน รอเลย เปิดได้แค่วันเดียว ก็มีคำสั่ง1 ต้องปิดร้านอีก เพราะโควิดระลอก 3 มาอีกแล้ว

           นักดนตรีที่เราจ้างเขารายวันก็ต้องให้เลิกจ้างไป ส่วนลูกน้องพนักงานเสิร์ฟที่จ้างรายวันเหมือนกันและเป็นแรงงานข้ามชาติ บางส่วนเราก็ให้เขากลับบ้าน บางส่วนเราก็พยายามหางานให้เขาใหม่ในช่วงที่รอร้านเปิด เราก็พูดให้เขาฟังยอมรับตรง ๆ ว่าดูแลเขาไม่ไหว แต่ก็ยังติดต่อกันอยู่ว่าถ้าผ่านช่วงนี้ไปได้ ผมจะเรียกเขากลับมาช่วยงานแน่นอน เราอยู่กันมานานแบบครอบครัว เขาพูดภาษาอังกฤษได้ ยังไงเราก็ไม่ได้ทิ้งเขา ก็ช่วยเหลือกันไปเท่าที่ทำได้ …”

           คุณดิษฐ์ อภิบายเสริมว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้วงการสถานบันเทิงได้รับผลกระทบอย่างหนัก การถูกสั่งปิดชั่วคราวตามนโยบายของภาครัฐหลายครั้ง มีผลทำให้เกิดการเลิกจ้างงานจำนวนมาก ร้านต่าง ๆ ในถนนข้าวสารทยอยปิดตัวลง เนื่องจากแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว

           “... ช่วงที่ต้องปิดร้านเราก็ไปขอเขาลดค่าเช่า เขาก็ลดให้นะ จาก 2 แสน เหลือแสนเดียว แต่มันก็ลำบากอ่ะ เพราะเราไม่มีรายได้เลย ค่าน้ำ ค่าไฟ เราก็ยังต้องจ่ายปกติ นี่แค่เสียบตู้เก็บความเย็นแช่ของทิ้งไว้เฉย ๆ เดือนที่แล้วค่าไฟก็ปาไป 5 พัน ช่วงที่มีคนติดโควิดในระแวกนี้ ภรรยาผมก็เป็นคนหนึ่งที่เคยติดโควิด เราก็หมดค่ารักษาอีกไปเป็นแสน เพราะประกันเบิกไม่ได้ทั้งหมด เครียดนะ ก็ไม่รู้จะทำยังไง แน่นอนว่าเราก็หวังพึ่งรัฐให้มาช่วยแต่ก็ไม่รู้เมื่อไหร่ มันหลายความคิดตีกันนะ เมื่อไหร่เราจะได้ทำมาหากิน

           เรากู้เงินธนาคารมาเหมือนกับคนที่ทำธุรกิจในย่านนี้ มีหนี้ มีภาระต้องใช้จ่าย ทุกคนที่ข้าวสารเขาก็เครียดพอกัน หลาย ๆ คนก็รอว่าเมื่อไหร่จะเปิดร้านได้ เวลาเจอหน้ากันก็หวังว่าจะสบายใจ ได้พูดคุยคนหัวอกเดียว หลังๆ มากลายเป็นว่าทุกข์และเครียดกว่าเดิม เพราะทุกคนไม่มีทางออก อย่างน้อยถ้าเปิดร้านมันก็พอมีรายได้นิด ๆหน่อย ๆ แต่นี่เราปิดยาว แถมไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดตอนไหน มันก็ลำบาก

           ตอนนี้ถนนข้าวสารก็เงียบยาว ปิดกันทั้งแถบ บางร้านเขาอยู่ไม่ได้ อย่างร้านนวดใหญ่ ๆ ตรงข้ามนี่ เมื่อก่อนรายได้เป็นแสนต่อวัน ตอนนี้เจ๊งไปแล้ว กลายเป็นว่าใครจะไปขอกู้แบงค์หรือทำธุรกรรมอะไร ถ้าบอกว่าเปิดร้านผับบาร์ เขาก็ไม่ให้ผ่าน ถึงจะมี statement เดือนละเท่าไหร่ เขาก็ไม่สนใจ เพราะความเสี่ยงมันมีเยอะ ถามว่ารัฐเขามาสนใจตรงนี้มั้ย เขาพูดอย่างดีว่าการท่องเที่ยวสำคัญ แล้วดูสิ ไม่เห็นใครสักคนมาช่วยเราเลย อย่างเรารวมกลุ่มกันทำเรื่องขอฉีดวัคซีนไปหน่วยงานต่างๆ ก็เงียบ พอลงทะเบียนคิวฉีดก็ช้าอีก ตอนนี้เราก็เลยได้แต่รอและอดทน ประคองตัวเองกันไป …”

           ท่ามกลางสภาวะที่ไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้นในเร็ววัน คุณดิษฐ์ ต้องปรับตัวอีกครั้งเพื่อต่อ
ลมหายใจเฮือกสุดท้าย ด้วยการเปลี่ยนผับบาร์ให้กลายเป็นร้านอาหารและเครื่องดื่ม โดยหวังเพียงว่าร้านเล็ก ๆ นี้จะนำรายได้เข้ามาจุนเจือคนในครอบครัว

           “... เราลองเปลี่ยนมาขายกับข้าว ขายผัดไทย ขายอาหารตามสั่ง มันก็ขายได้นะ แต่เท่าทุน ไม่มีกำไรเลย ทีนี้เราเลยปรับล็อคร้านนึงให้เป็นร้านขายน้ำผลไม้ปั่น ขายชานมไข่มุก ขายให้ลูกค้าคนทั่วไปที่เขาผ่านไปผ่านมาแถวนี้ จริง ๆ กะว่าจะซื้อแฟรนด์ไชน์ แต่สู้ราคาลงทุนไม่ไหว ก็เลยพากันหัดทำกันเองกับภรรยา แล้วก็ให้ลูกหลานช่วยนิด ๆหน่อย ๆ อย่างน้อยก็ให้พอมีรายได้เข้าบ้าน เปิดตั้งแต่ 11 โมง ถึง 2 ทุ่ม ได้วันละประมาณ 200-300 ผมก็เลยคิดว่าโอเค ได้เท่านี้ก็คือเท่านี้ล่ะ นี่ก็ทำกันมาได้เดือนกว่าแล้ว แต่ถึงจะปรับตัวมาขายอะไรก็แล้วแต่ ผมว่ามันก็ไม่มีคนมาเดินแถวนี้ หรือถ้ามีคนมาเขาก็ไม่รู้ว่าร้านเราดังหรือขายอะไรอีก เพราะเราไม่ได้โปรโมทหรือขายออนไลน์

           ผมหวังอยู่นะ ยังมีความหวังอยู่ว่ามันจะดีขึ้น ถ้าประเทศเปิด เราได้เปิดร้านเราจะอยู่ได้ ไม่รู้ว่าเราหวังเยอะเกินไปรึเปล่า แต่ถามว่าถ้าข้าวสารยังเปิดได้แบบที่ผ่านมา อาจจะไม่ได้ยอดเท่าเดิม แต่อย่างน้อยให้มันเหมือนก่อนโควิดรอบที่แล้ว ยอดขายมันก็พอไปได้ ละเดี๋ยวนี้คนไทยกลับมาเที่ยวข้าวสารเยอะขึ้น หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือกำไรนิดหน่อยแบบนี้ผมว่ามันก็ยังพอไปรอดนะ …”

           คุณดิษฐ์ ยังคงยืนยันว่าอยากทำธุรกิจสถานบันเทิงต่อ ด้วยความที่อยู่ในวงการนี้มานานและความต้องการให้ลูกสานต่อกิจการที่เขาสร้างไว้ ทั้งยังคาดหวังว่าจะมีมาตรการเยียวยา และ ฟื้นฟูเศรษฐกิจจากภาครัฐ เพื่อให้บรรยากาศของการเที่ยวในถนนข้าวสารกลับมาคึกคักอีกครั้ง แม้ตอนนี้จะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนก็ตาม

           “... ถ้าในอนาคตทุกอย่างดีขึ้น ค่าเช่าแต่ละร้านค่านั่นค่านี้ยังพอคุยกันได้ ผมก็ยังคิดว่าจะยังทำธุรกิจกลางคืนแบบนี้อยู่ ตอนนี้ผมกำลังดูสถานการณ์ว่ามันจะดีขึ้นมั้ยจนถึงสิ้นปี ถ้ามันแย่ลงไปมากกว่านี้ อันนี้ผมคงไม่ไหวแล้วล่ะ ต้องจบละ ผมอายุจะ 60 ก็คงพอ จะให้ไปเริ่มใหม่มันยาก ตอนนี้เท่าที่ทำคือทำให้ลูก สู้เพื่อลูก คิดอยู่อย่างเดียวว่าจะทำยังไงให้เขารอด ให้เขายืนได้ด้วยตัวเองเผื่อเขาอยากสานต่อ ส่วนตัวเราเริ่มทำใจได้บ้างละ ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น อยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็พอ
ถือว่าได้ทำเต็มที่แล้ว …”

 

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2564

 


1  คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีมติให้ปิดสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ อาบอบนวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ทุกแห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อย่างน้อย 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.64 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามที่ ศบค. ได้ออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 19) (ที่มา: http://www.prbangkok.com/th/post/view/MDY1cDBzNnM0NHIyb3Ezc3E2NnEyNDk0cDRyOTQzcjQ4NzAzMg==)


 

ป้ายกำกับ โควิด-19 ระลอก 3 covid-19 ระลอก 3 ผู้ประกอบการผับบาร์และธุรกิจกลางคืน ถนนข้าวสาร จุฑามณี สารเสวก

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share