Isan Writers, Thai Literature: Writing and Regionalism In Modern Thailand “นักเขียนอีสานในวรรณกรรมไทย”

 |  ศิลปะ ผัสสะ และสุนทรียภาพ
ผู้เข้าชม : 3236

Isan Writers, Thai Literature: Writing and Regionalism In Modern Thailand “นักเขียนอีสานในวรรณกรรมไทย”

 

หนังสือ Isan Writers, Thai Literature: Writing and Regionalism in Modern Thailand ของ มาร์ติน บี แพลตต์ (Martin B. Platt)

 

           หนังสือ Isan Writers, Thai Literature: Writing and Regionalism in Modern Thailand ของ มาร์ติน บี แพลตต์ (Martin B. Platt) ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ในสาขาไทย/เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (Thai/Southeast Asian Studies) ณ Department of Cross-Cultural and Regional Studies มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน (University of Copenhagen) นับเป็น “งานบุกเบิกที่กล่าวถึงผลงานเขียนในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษก่อน ของชายและหญิงจำนวนน้อยนิดที่ถ่ายทอดประสบการณ์โดยส่วนใหญ่ในชนบท โลกที่ผู้คนใช้ภาษาลาวพื้นถิ่น และอีกบางส่วนใช้ภาษาเขมร แต่เขียนในภาษาประจำชาติ [ภาษาไทย] และมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อวรรณกรรมของไทยในระดับชาติ” (Keyes 2014, 299)

           หนังสือของแพลตต์เล่มนี้ให้ความสำคัญกับการสำรวจชีวิตของนักเขียนอีสาน และอิทธิพลของนักเขียนเหล่านั้นต่อพัฒนาการวรรณกรรมไทย ตั้งแต่บทที่สองของหนังสือที่กล่าวถึงนักเขียน ชีวิตและผลงานตั้งแต่ทศวรรษ 1950 จนถึง ค.ศ. 1999 แพลตต์เรียบเรียงเนื้อหาด้วยโครงสร้างที่มีลักษณะเดียวกัน นั่นคือ สังเขปลักษณะงานเขียนในแต่ละยุค จากนั้น กล่าวถึงนักเขียนคนสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว แพลตต์เริ่มต้นกล่าวถึงชีวประวัติอย่างย่นย่อ ความสนใจในวรรณกรรม การเริ่มต้นการประพันธ์ งานเขียนสำคัญ และหยิบยกงานเขียนบางส่วนด้วยการสรุปสาระของผลงาน เพื่อวิเคราะห์แก่นเนื้อหา (theme) และลักษณะเด่นในงานของนักเขียนผู้นั้น เบ็ดเสร็จมีนักเขียนจำนวน 24 คน ที่ได้รับการกล่าวถึงใน Isan Writers, Thai Literature

           อย่างไรก็ดี หากกล่าวว่าสิ่งใดที่ทำให้นักเขียนเป็นนักเขียน “อีสาน” นั้น แพลตต์ชี้ให้เห็นความแตกต่างของอีสานในมิติต่างๆ ไว้อย่างชัดเจนในบทแรก “What Makes Isan a Region” อีสานเป็นภูมิภาคที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะมรดกชาติพันธุ์ที่กอปรด้วยคนลาวโดยส่วนใหญ่ และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น เขมร กุย นอกจากนี้ มีลักษณะภูมิประเทศที่ร้อนและแห้งแล้ง รวมถึงประวัติศาสตร์ทางการเมืองของความขัดเคือง ตั้งแต่การบังคับให้คนลาวอพยพยังสยามตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ความเปลี่ยนแปลงในการศึกษาแบบรวมศูนย์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ การลดบทบาทของผู้ปกครองในท้องถิ่นด้วยข้าราชการจากส่วนกลาง หรือแม้แต่การจัดระบบคณะสงฆ์ในศตวรรษที่ 20

           แพลตต์พึงชี้ให้เห็นว่า ทางการพยายามถอนรากอัตลักษณ์ท้องถิ่น และปรับให้อีสานกลายเป็น “ไทย” ในหลายคำรบ “คนอีสานนั้นขัดเคือง คับข้องใจ ยอมจำนน ถูกกดขี่ และภูมิใจในภูมิภาค เมื่อต้องสัมพันธ์กับส่วนกลาง ด้วยความพยายามแข็งขืนต่อส่วนกลางเช่นนี้ ...จึงนำมาสู่การต่อกรในหลายลักษณะ ดังเช่น การสอนวรรณกรรมและอักษรดั้งเดิม (ในวัด) ขบวนการต่อสู้ด้วยกำลัง การรวมตัวประท้วงและเรียกร้องในประเด็นทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพ รวมถึงข้อเรียกร้องทางการเมืองในพื้นที่สาธารณะ” (Platt 2013, 35) ด้วยมุมมองในความสัมพันธ์ของภูมิภาคกับส่วนกลางเช่นนี้เอง แพลตต์จึงเสนอให้ศึกษาพลวัตความสัมพันธ์ระหว่างงานเขียนอีสานสมัยใหม่กับวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ ที่ไม่ใช่เพียงการพิจารณาว่างานเขียนอีสานนั้นพยายามส่งเสียงอย่างไร ในทางกลับกัน “ภูมิภาคอีสาน รวมถึงนักเขียนและผลงานเหล่านั้นส่งอิทธิพลและได้รับอิทธิพลกับสังคมไทยและวรรณกรรมไทยในภาพรวม” (Platt 2013, xviii)

           “Early Isan Writers” ในบทที่สอง แพลตต์กล่าวถึงนักเขียนจำนวน 3 คน แม้ทั้งสามมีพื้นเพมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ยังไม่เรียกตนเองหรือรับการขนานนามว่า “นักเขียนอีสาน” สิ่งสำคัญที่สุดในงานเขียนยุคแรกนี้คือ “...การเขียนเกี่ยวกับอีสานที่มาจากประสบการณ์ของตนเองในฐานะคนอีสาน” (Platt 2013, 36) แพลตต์สำรวจชีวิตและผลงานของรมย์ รติวัน, กาญจนา นาคนันท์ และลาว คำหอม (นามปากกาของ คำสิงห์ ศรีนอก) ทั้งสามเป็นนักเขียนที่ย้ายจากอีสานสู่กรุงเทพ ทั้งรมย์และคำสิงห์เริ่มต้นการทำงานด้วยการเป็นนักหนังสือพิมพ์ ส่วนกาญจนานั้นศึกษาต่อทางกฎหมาย งานเขียนของรมย์และคำสิงห์มีเป้าหมายในทางการเมือง (politicization) เนื้อหาในงานเขียนของทั้งสองสะท้อนลักษณะ “socialist realist” โดยอย่างยิ่ง งานของคำสิงห์มักฉายภาพของการปะทะระหว่างวิถีชีวิตชาวบ้านกับการบังคับหรือควบคุมของทางการ จนอาจกล่าวได้ว่างานเขียนของทั้งสองส่งอิทธิพลต่อนักเขียนจากที่ราบสูงในทศวรรษ 1960 และ 1970 (Platt 2013, 61) ส่วนงานเขียนของกาญจนานั้นมีลักษณะแตกต่างไป แก่นเรื่องในผลงานกาญจนาเกี่ยวข้องกับอีสานมีจำนวนไม่มากนัก แต่แพลตต์รวมเธอไว้ในกลุ่มนักเขียนจากอีสานยุคแรก เพราะผลงานเหล่านั้นฉายภาพ

“คนอีสาน หรือกล่าวให้กว้างกว่านั้นผู้คนในชนบทที่มีความคิดความรู้สึกที่หลากหลาย สมจริง และควรค่ากับความเห็นอกเห็นใจและการให้ความเคารพ” (Platt 2013, 48)

           ในระยะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และผลกระทบสงครามสหรัฐฯ ในเวียดนาม โดยเฉพาะการตั้งฐานกำลังทางทหารของสหรัฐฯ ในไทย และบริการ “เพื่อการผ่อนคลายและหย่อนใจ” ให้กับทหารจีไอ สัดส่วนของคนชนบทจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้ามาทำงานในกรุงเทพเพิ่มมากขึ้น การบริหารประเทศในเวลานั้นเป็นเผด็จการทหาร การฉ้อราษฎร์บังหลวงและความไม่เท่าเทียมระหว่างเมืองกับชนบทเพิ่มมากขึ้น (Keyes 2014, 300) ปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้สำนึกทางการเมืองของผู้คนในสังคมมากขึ้น นักเขียนในช่วงเวลานั้นจึงถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตและการต่อสู้ของผู้ยากไร้ แพลตต์เชื่อมโยงงานเขียนอีสานในบริบททางการเมืองในเวลานั้นไว้ในบทที่สาม “Isan Comes to the Center”

           แพลตต์อภิปรายถึงบทบาทของนักเขียนอีสานในกระแส “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” กล่าวถึงนักเขียนหลายคน เช่น สุรชัย จันทิมาธร, สมคิด สิงสง, อุดร ทองน้อย และประเสริฐ จันดำ งานเขียนในช่วงเวลานั้นสะท้อนเป้าหมายของการเมืองฝ่ายซ้ายที่เติบโต เนื้อหามักหยิบยก “คนงานในโรงงาน ชาวนาที่ยากจน คนไร้บ้านในเมือง โสเภณี ชนกลุ่มน้อย คนพิการ คนสูงวัย และผู้คนที่ถูกขับออกจากสังคม” (Platt 2013, 68) โดยมีจุดมุ่งหมายในการให้คุณค่ากับชาวนา ยกย่องวิถีชีวิตชนบทที่พึ่งพาตนเอง และความทุกข์เข็ญของคนจนและความยากลำบากของคนในชนบท (Elinoff 2014) นอกเหนือจากวรรณกรรมเพื่อชีวิตแล้ว นอกจากนี้ ศิลปะเพื่อการเคลื่อนไหวของประชาชน และเพลงเพื่อชีวิต เกิดขึ้นและพัฒนาไปในเวลาเดียวกัน เช่นภาพยนตร์เรื่อง “ทองปาน” (พ.ศ.2519) ที่เขียนบทโดยคำสิงห์ ศรีนอก (Platt 2013, 52) และสุรชัย จันทิมาธร เล่นแคนและร้องเพลงของวงดนตรีคาราวาน (วงดนตรีเพื่อชีวิต) ในภาพยนตร์ (Platt 2013, 73) เป้าหมายของผลงานดังกล่าวเพื่อต่อต้านโครงการพัฒนาของรัฐและตอบโต้กับอิทธิพลของสหรัฐฯ ที่มีต่อประเทศไทย

           จากเรื่องราวการต่อสู้ของประชาชน แพลตต์นำพาผู้อ่านให้รู้จักงานเขียนของนักเขียนคนสำคัญสองคนในบทที่สี่ “Isan Writings Enters the Mainstream” ได้แก่ คำพูน บุญทวี และคำหมาน คนไค แพลตต์ระบุไว้ว่า “งานเขียนในช่วงทศวรรษ 1970 ของทั้งสองอยู่เหนือพันธะทางการเมือง และได้รับความสนใจในระดับชาติ” (Platt 2013, 137)

           สำหรับงานของคำพูน บุญทวี ที่ได้รับการกล่าวขานมากที่สุดคือ ลูกอีสาน (1976) งานดังกล่าวได้รับ “รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน” หรือ “รางวัลซีไรต์ (SEA Write) เมื่อ ค.ศ. 1979 แม้งานเขียนดังกล่าวใช้วัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับอีสานเช่นเดียวกับนักเขียนในกระแสวรรณกรรมเพื่อชีวิต แต่คำพูนใช้ในลักษณะที่แตกต่างไป แพลตต์กล่าวถึงเนื้อหาตอนหนึ่งในข้อเขียนของนพพร ประชากุล “ในลูกอีสาน คุณค่าของความเป็นอีสานอยู่ที่การเรียนรู้ที่จะ “อยู่” กับความยากลำบาก ความสามารถที่จะต่อสู้กับมันอย่างมีศักดิ์ศรี สรุปแล้วคือ ความเป็นอีสานอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง ไม่ต้องให้ใครอื่นมาสงสาร เพราะความสงสารมักควบคู่ไปกับการดูถูกแบบลึกๆ นั่นเอง” (Platt 2013, 125) คำพูนแสดงอย่างชัดเจนว่างานเขียนขอนตนนั้นไม่อยู่ในกระแสวรรณกรรมเพื่อชีวิต แม้คำพูนใช้องค์ประกอบของเรื่องราว

           ส่วนงานของคำหมาน คนไค (นามปากกาของ สมพงษ์ พละสูรย์) แพลตต์วิเคราะห์งานเขียนของคำหมานนั้น “ได้รับอิทธิพล...วรรณกรรมเพื่อชีวิต” (Platt 2013, 135) แต่ประเด็นหลักที่คำหมานให้ความสำคัญอย่างยิ่งนั่นคือการศึกษา ดังผลงานของคำหมานที่ได้รับการกล่าวขานมากที่สุดคือ ครูบ้านนอก “สำหรับคำหมานแล้ว การศึกษาเป็นความผูกพันทั้งชีวิตการทำงานและงานเขียน...คำหมานทำงานเพื่อพัฒนาอีสานและการศึกษาในชนบท ด้วยการถ่ายทอดสภาพแวดล้อมสู่สาธารณชนในงานเขียน และทำหน้าที่ของตน [ในฐานะนักการศึกษา] ในระบบ” (Platt 2013, 137)

           อย่างไรก็ดี ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ มีความคิดเห็นที่แตกต่างถึงข้อสรุปของแพลตต์ที่กล่าวว่างานเขียนของทั้งสอง “อยู่เหนือพันธะทางการเมือง” นั้น “...ผมเห็นว่า การให้รางวัลซีไรต์กับนวนิยายเรื่องนี้ ในช่วงเวลานั้น มีความเป็นการเมืองในตัวเอง ...จากเหตุการณ์ 6 ตุลา และตามมาด้วยรัฐประหาร ได้ทำลายความเป็นไปได้ทั้งหมดในวิวาทะทางวรรณกรรม เหตุการณ์เหล่านั้นเปิดทางให้กับนักวิจารณ์และนักวิชาการวรรณกรรมสายอนุรักษ์นิยมใหม่ตบเท้าสู่เวทีวรรณกรรม โดยปราศจากความท้าทายทางอุดมการณ์หรือการเมือง ...รางวัลจึงเป็นการแสดงออกทางการเมือง ความตั้งใจในการปรองดองระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา การกระทำในการฟื้นฟูทางการเมือง หรือในการฉวยใช้อุดมการณ์” (Pattarakulvanit 2014, 521–22)

           “The Rise of Regionalism” และ “Isan Writing at the End of the 20th Century” ในบทที่ห้าและหก ตามลำดับ แพลตต์ไล่เรียงถึงกระแสนิยมท้องถิ่นในงานเขียนและนักเขียนอีสานในตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 จนสิ้นศตวรรษ ภูมิภาคอีสานกลายเป็น “แหล่งและสถานที่ของการผลิตวัฒนธรรมและวงสนทนาทางวรรณกรรม (a source and a site of cultural production and literary discussion)...ในปลายศตวรรษนักเขียนอีสานสามารถสร้างเครือข่ายในภูมิภาค และสร้างทั้งผลงานในระดับภูมิภาคและผลงานของนักเขียนหน้าใหม่” (Elinoff 2014) ดังเช่น กลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูล (ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1983) และกลุ่มนักเขียนอีสาน (ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1989)

           แพลตต์แสดงให้เห็นบทบาทของเครือข่ายนักเขียนอีสานที่พยายามค้นหา นิยาม และรังสรรค์ผลงานเขียนท้องถิ่น รวมทั้งการเปิดพื้นที่ให้กับนักเขียนในภูมิภาครุ่นใหม่ได้มีที่ทางในแวดวงวรรณกรรม และมีส่วนสำคัญในการสร้างกระแสวัฒนธรรมนิยม จนนำมาสู่การก่อตั้ง “อีสานศึกษา” ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งในภูมิภาค (Platt 2013, 152–57) อย่างไรก็ดี แพลตต์พยายามชี้ให้เห็นว่าอีสานศึกษานั้นมีนัยและความหมายที่เฉพาะ นั่นคือความสนใจในมรดกและอารยธรรมดั้งเดิม เช่น ตัวอักษรธรรมและหนังสือใบลาน คติชนวิทยา และภูมิปัญญาท้องถิ่น ในตอนหนึ่ง แพลตต์ กล่าวถึงการเยี่ยมชมศูนย์สารนิเทศอีสานสิรินธร สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ค.ศ. 1999 “เมื่อเดินทางถึงศูนย์ฯ พบกับภาพและหนังสือของกษัตริย์ ประหนึ่งให้ผู้เข้าใช้บริการเข้าใจว่า แม้เอกลักษณ์วัฒนธรรมอีสานได้รับการเชิดชู แต่ความเป็นหนึ่ง (หรือความภักดี) ต่อประเทศนั้นหาได้ต้องกังขาไม่”

           ในทัศนะของคายส์ เห็นว่า “หนังสือของแพลตต์เล่มนี้ ด้วยส่วนผสมจากการอ่านอย่างวิพากษ์วิจารณ์ในวรรณกรรมไทยของนักเขียนอีสาน การสัมภาษณ์นักเขียนหลายคน และบทสะท้อนที่มีต่อวิธีการที่นักเขียนพัฒนาในระยะหลายทศวรรษช่วงปลายศตวรรษที่ 20 นั้น นับได้ว่าเป็นงานที่ช่วยสร้างความเข้าใจนักเขียน พร้อมกับรากเหง้าที่แตกต่างของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทย” (Keyes 2014, 302) แต่สำหรับชูศักด์แล้วกลับเห็นว่า “การวิเคราะห์ของแพลตต์นั้นเนียบ หมดจด และไม่สมจริงเกินไป […] หนังสือกลับลดความสลับซับซ้อนและมองข้ามความขัดแย้งในส่วนลึกระหว่างงานเขียนอีสานสมัยใหม่กับงานเขียนไทยสมัยใหม่” (Pattarakulvanit 2014, 521;522)

           สำหรับผู้สนใจวรรณกรรมไทยและท้องถิ่นศึกษา Isan Writers, Thai Literature น่าจะช่วยชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างงานเขียนกับพื้นเพที่หลากหลายของนักเขียน ดังที่แพลตต์ได้นำเสนอชีวิตและวิถีบนเส้นทางนักเขียนทั้งยี่สิบสี่ชีวิต โดยมีจุดมุ่งหมาย “...ในประการแรก เพื่อให้ความรู้กับคนภายนอก เพื่อนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมือง (และนำมาสู่การพัฒนาสภาพอีสาน) หรืออย่างน้อยที่สุด เพื่อให้คุณค่าและความสำคัญของอีสานนั้นปรากฏ” (Platt 2013, 230)

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสือที่ว่าด้วยเรื่อง Isan people in Contemporary World มีพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร–SAC Library และ Line: @sac-library

 

บรรณานุกรม

Elinoff, Eli. 2014. “Book Review: Review of Isan Writers, Thai Literature.” New Mandala: New Perspectives on Mainland Southeast Asia. 2014. http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/2014/02/21/ review-of-isan-writers-thai-literature-tlc-nmrev-lxviii/.

Keyes, Charles F. 2014. “Book Review: Isan Writers, Thai Literature.” Journal of the Siam Society 102: 299–302.

Pattarakulvanit, Chusak. 2014. “Book Review: Isan Writers, Thai Literature.” Aséanie 33: 520–23.

Platt, Martin B. 2013. Isan Writers, Thai Literature: Writing and Regionalism in Modern Thailand. Singapore : Copenhagen K, Denmark: NUS Press ; NIAS Press.

 


ผู้เขียน   ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ

กราฟิก   อริสา ชูศรี


 

ป้ายกำกับ นักเขียนอีสาน วรรณกรรมไทย Martin B. Platt ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา