ความเกลียดคนต่างชาติ (Xenophobia)

 |  อคติทางวัฒนธรรม และความรุนแรง
ผู้เข้าชม : 5272

ความเกลียดคนต่างชาติ (Xenophobia)

 

สถานการณ์ความเกลียดคนต่างชาติ

           หลังจากเหตุการณ์ก่อการร้ายในเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 2001 เมื่อตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนิวยอร์กถูกพุ่งชนโดยเครื่องบิน ชาวตะวันตกจำนวนมากมีภาพจำเกี่ยวกับชาวมุสลิมในแง่ลบ เช่นเดียวกับเหตุการณ์สงครามในพื้นที่ตะวันออกกลางและเขตภาคเหนือของแอฟริกาในช่วงปี ค.ศ. 2015 ทำให้มีชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวมุสลิมอพยพและลี้ภัยไปอยู่ในยุโรปหลายประเทศ เนื่องจากคาดหวังว่าดินแดนในยุโรปจะเป็นพื้นที่สงบสุขและสามารถปกป้องคุ้มครองพวกเขาได้ ในทางตรงกันข้าม ชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในยุโรปกลับถูกรังเกียจและถูกทำร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ

           ในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 2008 เกิดการต่อต้านและใช้ความรุนแรงต่อชาวต่างชาติที่อพยพเข้าไปในประเทศแอฟริกาใต้ (Bekker, 2015) ในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2017 ชาวโปแลนด์แสดงอาการรังเกียจและใช้คำดูถูกเหยียดหยามชาวอัลจีเรีย ชาวตูนิเซีย และชาวมุสลิมที่เข้ามาทำงานและเปิดร้านค้า นำไปสู่การจลาจลและการทำร้ายร่างกาย (Buchowski, 2017) ในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 2017 นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ประกาศนโยบายต่อต้านการเข้ามาทำงานของชาวต่างชาติ (Koning & Modest, 2017) ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2017-2020 นโยบายกีดกันชาวต่างชาติก็ทวีความรุนแรงขึ้น

 

Wall Street Journal พาดหัวข่าวเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ปี 2020 ว่า China Is the Real Sick Man of Asia ที่มา:https://www.wsj.com/articles/china-is-the-real-sick-man-of-asia-11580773677

 

           เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนว่าสังคมโลกในปัจจุบันมีการใช้ความรุนแรงอันเนื่องมาจากความเกลียดชาวต่างชาติ สถานการณ์ดังกล่าวถูกผลิตซ้ำโดยสื่อกระแสหลักที่เสนอภาพลักษณ์ชาวต่างชาติและชาวมุสลิมเป็น “ผู้ก่อการร้าย” และผู้ที่เข้ามาแย่งชิงทรัพยากรของคนผิวขาว โดยเฉพาะชาวมุสลิมจะตกเป็นเป้าของการเหยีดหยาม และเป็นสัญลักษณ์ของความหวาดกลัว (symbol of fears) ตัวอย่างเช่น Wall Street Journal พาดหัวข่าวเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ปี 2020 ว่า “จีนคือคนป่วยแห่งเอเชีย” (China Is the Real Sick Man of Asia)

 

ความหมายของ Xenophobia

           Yakushko (2009) อธิบายว่า ความเกลียดคนต่างชาติ (Xenophobia) หมายถึงความกลัวคนแปลกหน้าหรือคนที่มิใช่พวกเดียวกัน แต่ความรู้สึกนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องเชื้อชาติและวัฒนธรรม ซึ่งนำไปสู่การแบ่งแยกกีดกันคนอื่นและพยายามยกย่องชาติของตนเองให้เหนือกว่าชาติอื่น ในกลุ่มนักจิตวิทยาสังคมมักจะใช้คำนี้เพื่อบ่งชี้ถึงอคติ ทัศนคติเชิงลบ และความคิดที่ต่อต้านและเป็นปฏิปักษ์กับคนที่มิใช่เชื้อชาติเดียวกับตน โดยเฉพาะผู้อพยพต่างชาติที่เข้ามาอาศัยในประเทศ บางครั้งความรู้สึกเกลียดชังคนต่างชาติจะถูกอธิบายด้วยคำอื่นๆ ที่มีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น xeno-racism, anti-immigrant prejudice, immigration-phobia และ ethno-exclusionism อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางคนตั้งข้อสังเกตว่า Xenophobia จะบ่งบอกถึงอาการเกลียดคนแปลกหน้า ซึ่งเป็นภาวะทางอารมณ์ส่วนบุคคล (Misago, Freemantle, & Landau, 2015)

           ความเกลียดคนต่างชาติ (Xenophobia) แตกต่างจากการเหยียดเผ่าพันธุ์ (Racism) เนื่องจากประวัติความเป็นมาของคำสองคำนี้แตกต่างกัน ในขณะที่การเหยียดเผ่าพันธุ์จะเกี่ยวข้องกับลัทธิอาณานิคมและการเมืองของคนผิวขาวตะวันตก ที่เข้าไปปกครองคนพื้นเมืองและบังคับให้คนเหล่านั้นทำงานรับใช้คนผิวขาวในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ส่วนความเกลียดคนต่างชาติเกิดขึ้นในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมาภายใต้บริบทการเคลื่อนย้ายและอพยพแรงงานข้ามชาติ ที่ต้องการแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจและที่พำนักที่ปลอดภัย ซึ่งมีการแข่งขันสูงในระบอบเสรีนิยมใหม่ (Adler, 1996) ส่งผลให้รัฐบาลหวาดวิตกว่าแรงงานเหล่านี้จะเข้ามาสร้างปัญหา บ่อนทำลายความมั่นคงและเพิ่มภาระให้กับชาติ Yakushko (2009) อธิบายว่า ปัญหาความเกลียดคนต่างชาติที่ลี้ภัยสงคราม หรือปัญหาทางการเมืองเกี่ยวข้องกับสภาวะที่รัฐบาลแต่ละประเทศกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ และมีทรัพยากรไม่เพียงพอต่อการให้ความช่วยเหลือผู้อพยพ รัฐบาลจึงมีมาตรการเข้มงวดที่จะลดจำนวนและปิดกั้นการเข้ามาของผู้อพยพ

           เท่าที่ผ่านมา ในวงวิชาการจะศึกษาความเกลียดคนต่างชาติใน 4 แนวทาง (Peterie & Neil, 2020) คือ แนวทางที่หนึ่ง ศึกษาทัศนคติและการรับข้อมูลข่าวสารของบุคคลที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับคนแปลกหน้า (false belief accounts) นำไปสู่ความรู้สึกรังเกียจคนต่างชาติ (Pedersen et al., 2006) แนวทางที่สอง อธิบายความเกลียดคนต่างชาติในฐานะเป็นรูปแบบใหม่ของการเหยียดเผ่าพันธุ์ (new racism) ซึ่งผลิตซ้ำมายาคติเกี่ยวกับช่วงชั้นที่สูงกว่าและต่ำกว่าของมนุษย์ (Linke & Smith, 2009) แนวทางที่สาม อธิบายเงื่อนไขการสร้างกลุ่มทางสังคม (sociobiological explanations) ที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกพวกเราออกจากพวกเขา ซึ่งทำให้เกิดการเกลียดคนต่างกลุ่ม (Haidt, 2012) แนวทางที่สี่ อธิบายความเกลียดคนต่างชาติในฐานะผลลัพธ์ที่เกิดจากระบบทุนนิยมโลก (effect of capitalist globalization) ซึ่งประเทศตะวันตกเป็นผู้ควบคุมทรัพยากรและผลประโยชน์ (McGrew, 2010) แนวทางการศึกษาเหล่านี้ให้คำอธิบายและคำตอบที่ต่างกัน ประเด็นท้าทายคือ ความเกลียดคนต่างชาติอาจมีสาเหตุหลายอย่างร่วมกัน และบริบทของท้องถิ่นและชุมชนต่างๆ อาจทำให้การแสดงความเกลียดคนต่างชาติมีลักษณะเฉพาะที่ต่างกัน

 

ความเกลียดชังในมิติการเมือง

           Lee (2020) อธิบายว่า รากเหง้าของปัญหาความเกลียดคนต่างชาติมาจากลัทธิคลั่งชาติ (chauvinism) และชาตินิยมที่รัฐสมัยใหม่ได้สถาปนาระบอบการปกครองที่ปลูกฝังความคิดชาติพันธุ์บริสุทธิ์ของตัวเองให้ประชาชนยึดมั่น ขณะที่ปฏิเสธคนต่างถิ่นและแรงงานข้ามชาติที่มีภาษา การแต่งกาย และวัฒนธรรมต่างไปจากพลเมืองของรัฐ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ยุโรปและอเมริกาต้องการแรงงานจำนวนมาก เพราะบริษัทชั้นนำต่างขยายการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม แรงงานจากประเทศโมร็อคโคและตุรกี รวมถึงคนท้องถิ่นในแอฟริกาที่เคยเป็นเมืองขึ้นของชาวตะวันตกได้อพยพเข้ามาทำงานจำนวนมาก ทำให้สังคมยุโรปมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย (multicultural society) แต่หลังจากที่ฐานการผลิตได้เปลี่ยนไปอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและลาตินอเมริกา ทำให้แรงงานต่างชาติตกค้างอยู่ในยุโรปจำนวนมาก (Bhambra, 2009) ลูกหลานของแรงงานต่างชาติจึงกลายเป็นพลเมืองชั้นสองที่ถูกรัฐบาลทอดทิ้ง (Gilroy, 2005)

           ภายใต้ระบอบทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ (neoliberal capitalism) ประเทศตะวันตกหวาดผวาและกลัวคนต่างชาติที่อพยพเข้ามาทำงานและเป็นแรงงานในประเทศของตน โดยคิดว่าคนเหล่านั้นจะเข้ามาแย่งงาน รายได้ และสวัสดิการสังคม ทำให้พลเมืองในประเทศตะวันตกรู้สึกไม่ปลอดภัยและคิดว่าแรงงานต่างชาติกำลังริดรอนสิทธิ เสรีภาพ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ Buchowski (2017) อธิบายว่า ในปัจจุบันปัญหาความเกลียดชังชาวต่างชาติถูกผนวกเข้ากับปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ที่ชาวตะวันตกเชื่อว่าความรุ่งเรืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะต้องอยู่ในมือของประชาชนในประเทศเท่านั้น

           Tafira (2011) ตั้งข้อสังเกตว่า ความเกลียดชังคนต่างชาติคือรูปแบบใหม่ของลัทธิเหยียดเผ่าพันธุ์ (New Racism) ในขณะที่ Wimmer (1997) อธิบายว่าความเกลียดชังคนต่างชาติก่อตัวขึ้นพร้อมกับภาวะสมัยใหม่ที่รัฐต่างๆ พยายามสร้างชาติของตัวเองให้ยิ่งใหญ่ ก้าวหน้าและเจริญรุ่งเรืองภายใต้เศรษฐกิจแบบทุนนิยมในการสร้างชาติด้วยระบอบนี้ รัฐและผู้ปกครองยังสร้างวาทกรรมเกี่ยวกับรากเหง้าและอัตลักษณ์ของชาติ เพื่อควบคุมพลเมืองให้ยึดมั่นในเอกภาพเดียวกัน (Vertovec, 2011) Koning and Modest (2016, 2017) วิเคราะห์ว่าการเมืองแบบชาตินิยมในโลกตะวันตก คือการเมืองแบบฝ่ายขวาที่เต็มไปด้วยความวิตกกังวล (anxious politics) ต่อคนต่างเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศ คนต่างชาติเหล่านี้ถูกมองเป็น “ผู้บั่นทอนความมั่นคง” และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาชาติให้เดินต่อไปในอนาคต (Silverstein, 2005) รวมทั้งหวาดกลัวว่าชาวต่างชาติจะทำลายวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ของชาวยุโรปซึ่งเคยรุ่งเรืองและเป็นแหล่งอารยธรรมของโลก (Hage, 2000)

           วิธีคิดดังกล่าวรุนแรงขึ้นในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อประเทศในยุโรปกลายเป็นพื้นที่รองรับการเข้ามาอาศัยของผู้ลี้ภัยจากสงครามและความขัดแย้งทางการเมือง หลายประเทศในยุโรปกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านทางสังคมและวัฒนธรรม ที่จะต้องโอบอุ้มคนต่างเชื้อชาติและวัฒนธรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพลเมือง สถานการณ์ดังกล่าวท้าทายอุดมการณ์ชาตินิยมและสิทธิมนุษยชน ซึ่งดูเหมือนจะขัดแย้งและเข้ากันไม่ได้ (Vertovec & Wessendorf, 2010) พรรคการเมืองฝ่าขวาในยุโรปจึงผลักดันให้มีมาตรการและนโยบายเพื่อปกป้องคุ้มครองชาติของตน โดยปิดกั้นและห้ามคนต่างชาติเข้ามาอยู่ในประเทศ (Rensmann & Miller, 2017)

 

รูปแบบความเกลียดคนต่างชาติที่ซับซ้อน

           ในช่วงเวลาที่ประชากรโลกมีการเดินทางเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนชาติที่สะดวกรวดเร็วโดยการคมนาคมที่เข้าถึงมวลชนอย่างแพร่หลาย การเข้ามาของคนต่างชาติจึงขยายวงกว้างและมีเหตุผลของการเข้ามาแตกต่างหลากหลาย ปัจจุบัน คนต่างชาติที่เข้ามาอาศัยในแต่ละประเทศจึงไม่จำเป็นต้องเป็นผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย หรือเป็นแรงงานที่ยากจนเท่านั้น แต่อาจเป็นผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นายทุน หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพต่างๆ ซึ่งมีรายได้สูง คนต่างชาติที่ร่ำรวยจึงอาจเป็นผู้มีสิทธิพิเศษและได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเหนือกว่าคนในชาติที่มีรายได้น้อย สถานการณ์นี้คือความเหลื่อมล้ำทางสังคมอีกรูปแบบหนึ่ง (Deiss-Helbig, & Remer-Bollow, 2017) คนในชาติคิดว่าคนต่างชาติที่ร่ำรวยที่เข้ามาอาศัยในประเทศคือผู้ที่ได้เปรียบทางเศรษฐกิจและใช้ชีวิตหรูหรา อาจรู้สึกไม่พอใจและนำไปสู่ความเกลียดชังคนต่างชาติได้เช่นกัน

 

ผู้ประท้วงชาวมุสลิมในเมืองกัลกัตตา ได้ออกมาละหมาดโดยมีป้ายข้อความประท้วงอยู่ข้างหน้า

ที่มา: https://www.bbc.com/thai/international-50800337

 

           Crush and Ramachandran (2010) ตั้งข้อสังเกตว่า การศึกษาส่วนใหญ่ที่อธิบายความเกลียดคนต่างชาติมักจะใช้ตัวอย่างจากประเทศร่ำรวยในสังคมตะวันตก ยังมีการศึกษาน้อยที่จะทำความเข้าใจประเทศยากจนที่มีคนต่างชาติที่ร่ำรวยจากตะวันตกเข้าไปอยู่อาศัย และได้ประโยชน์ในประเทศเหล่านั้น รวมทั้งประสบการณ์ของแรงงานต่างด้าวที่เข้าไปทำงานในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและลาตินอเมริกา การศึกษาความเกลียดคนต่างชาติที่เกิดในประเทศนอกตะวันตกจึงอาจให้แง่มุมที่ต่างไป ตัวอย่างเช่น รัฐบาลอินเดียมีนโยบายต่อต้านและกีดกันผู้อพยพชาวมุสลิมจากประเทศเพื่อนบ้าน (Ramachandran, 2019) ในปี ค.ศ. 2016 ชาวต่างชาติในประเทศแซมเบียถูกเผาทั้งเป็นโดยชาวบ้านที่รู้สึกเกลียดคนต่างชาติ และนำไปสู่การจลาจลที่คนในประเทศออกมาทำลายร้านค้าของชาวต่างชาติ (Tonga, 2017) เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้เห็นว่าความเกลียดคนต่างชาติมีเงื่อนไขที่ซับซ้อน มิได้เป็นเพียงการกีดกันที่ชาวตะวันตกมีต่อคนเชื้อชาติอื่นเท่านั้น

 

เอกสารอ้างอิง

Adler, M.A. (1996). Xenophobia and Ethnoviolence in Contemporary Germany. Critical Sociology, 22(1), 29-51.

Bekker, S. (2015). Violent Xenophobic Episodes in South Africa, 2008 and 2015. African Human Mobility Review, 1: 229-252.

Bhambra, G. K. (2009). Postcolonial Europe, or Understanding Europe in Times of the Postcolonial.” In Chris Rumford, (Ed.), The SAGE Handbook of European Studies, (pp.69–85). London: SAGE.

Buchowski, M. (2017). A New Tide of Racism, Xenophobia, and Islamophobia in Europe: Polish Anthropologists Swim Against the Current. American Anthropologis, 119(3), 519-523.

Crush, J. & Ramachandran, S. (2010). Migration, Xenophobia and Human Development. Journal of Human Development and Capabilities, 11: 209-228.

Deiss-Helbig, E. & Remer-Bollow, U. (2017). Exploring the Impact of Local Presence on Attitudes towards Asylum Seekers. Paper prepared for the ECPR General Conference Oslo, September 1, 2017.

Gilroy, P. (2005). Postcolonial Melancholia. New York: Columbia University Press Hage, G. (2000). White Nation: Fantasies of White Supremacy in a Multicultural Society. New York: Routledge.

Haidt, J. (2012). The Righteous Mind: Why Good People Are Divided by Politics and Religion. New York: Pantheon Books.

Koning, A.D. & Modest, W. (2016). Anxious Politics in the European City: An Introduction. Patterns of Prejudice, 50(2), 97–108.

Koning, A.D. & Modest, W. (2017). Anxious Politics in Postcolonial Europe. American Anthropologis, 119(3), 524-526.

Lee, E. (2020). America First, Immigrants Last: American Xenophobia Then and Now. The Journal of the Gilded Age and Progressive Era, 19(1), 3-18.

Linke, U., & Smith, D.T. (2009) Fear: A Conceptual Framework’, in Linke, U., Smith, D.T. (eds) Cultures of Fear: A Critical Reader. (pp. 1–17). London: Pluto Press.

McGrew, A. (2010). Globalization and Global Politics. in Baylis, J., Owens, P., Smith, S. (eds) The Globalization of World Politics. (pp. 13–31). Oxford: Oxford University Press.

Misago, J. P., Freemantle, I., & Landau, L.B. (2015). Protection from Xenophobia: An Evaluation of UNHCR’s Regional Office for Southern Africa’s Xenopobia Related Programmes. Geneva, Switzerland: UNHCR.

Pedersen, A., Watt, S., & Hansen, S. (2006) The Role of False Beliefs in the Community’s and the Federal Government’s Attitudes towards Australian Asylum Seekers. Australian Journal of Social Issues, 41(1), 105–24

Peterie, M. & Neil, D. (2020). Xenophobia towards asylum seekers: A survey of social theories. Journal of Sociology, 56(1), 23-35.

Rensmann, L. & Miller, J. (2017). Xenophobia and Anti-Immigrant Politics. In R. Denemark and R. Marlin-Bennett (eds.), The International Studies Encyclopedia. Oxford: Wiley- Blackwell.

Ramachandran, S. (2019) Border Disorder: ‘Irregular Bangladeshis’, Xenophobia and Crimmigration Control in India. PhD Thesis, Wilfrid Laurier University, Waterloo.

Silverstein, P. A. (2005). Immigrant Racialization and the New Savage Slot: Race, Migration, and Immigration in the New Europe. Annual Review of Anthropology, 34, 363–84.

Tafira, K. (2011). Is xenophobia racism? Anthropology Southern Africa, 34(3-4), 114-121.

Tonga, D. (2017), Xenophobia and its impact on culture integration. A critical analysis of Zambia's case, Munich, GRIN Verlag, https://www.grin.com/document/417398

Vertovec, S., & Wessendorf, S. (2010). The Multicultural-ism Backlash: European Discourses, Policies and Practices. New York: Routledge.

Vertovec, S. (2011). The Cultural Politics of Nation and Migration. Annual Review of Anthropology, 40, 241–56.

Wimmer, A. (1997). Explaining xenophobia and racism: A critical review of current research approaches. Ethnic and Racial Studies, 20(1), 17-41.

Yakushko, O. (2009). Xenophobia: Understanding the Roots and Consequences of Negative Attitudes toward Immigrants. Educational Psychology Papers and Publications, 1-2009, University of Nebraska, Lincoln.

 


 

ผู้เขียน

ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

กราฟิก

กนกเรขา นิลนนท์

เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์

 


 

ป้ายกำกับ ความเกลียดคนต่างชาติ Xenophobia ศัพท์มานุษยวิทยา นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share