เพลินเส้นสีฝีพระหัตถ์กรมสมเด็จพระเทพฯ

 |  ศิลปะ ผัสสะ และสุนทรียภาพ
ผู้เข้าชม : 4044

เพลินเส้นสีฝีพระหัตถ์กรมสมเด็จพระเทพฯ

 

ปุญญิศา เปล่งรัศมี

 

           สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเชี่ยวชาญในศาสตร์ต่างๆ หลายแขนง หนึ่งในนั้นคือผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ที่ทรงสร้างสรรค์ไว้ ในบทความนี้ผู้เขียนจึงขอนำเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการวาดภาพของพระองค์ มาถ่ายทอดให้ผู้อ่านได้ชมและอ่านกันค่ะ

 

ภาพจากหนังสือ ทอสีเทียบฝัน

 

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีกับการวาดภาพ

           สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดการวาดรูปตั้งแต่ทรงพระเยาว์ว่าเพราะ “เห็นพี่ๆ วาด ก็อยากวาดบ้าง” และทรงได้เริ่มต้นเรียนวาดภาพ เมื่อเข้าศึกษาในชั้นอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดากับ ครูสุนามัน ประนิช พระอาจารย์ประจำชั้น ขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมพรรษา 3 พรรษาครึ่ง “เราเขียนรูปด้วยสีเทียน ผู้สอนคือครูสุนามัน ครูประจำชั้นตลอดการ จะวาดรูปอะไรได้บ้างนั้นลืมไปแล้ว ที่ติดตาอยู่นั้นก็คือ เกิดแฟชั่นในการเอาสีสีเดียวระบายสมุดวาดเขียนทั้งหน้า ใครเป็นผู้ริเริ่มแฟชั่นนี้หรือมีอะไรเกิดขึ้นก็จำไม่ได้” ทรงใช้สีเทียนในชั้นประถมตอนต้น และใช้สีน้ำในชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ครูเทรุโอะ โยมูระ เป็นพระอาจารย์ และทรงเรียนวาดภาพลายรดน้ำโดยมี ครูประพาส ปานพิพัฒน์ เป็นพระอาจารย์ นอกจากนี้ยังทรงเรียนกับครูพิเศษคือ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ในวันเสาร์ อาทิตย์ และทรงเคยวาดภาพกับ อาจารย์พิริยะ ไกรฤกษ์ เป็นครั้งคราว

 

ภาพจากหนังสือ ศิลปกรรมฝีพระหัตถ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ชื่อภาพ: แจกันสีม่วง ปี: 2506 เทคนิค: สีน้ำมัน

 

           หลังจากทรงจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ไม่ได้ทรงเรียนวาดภาพกับใครอย่างจริงจัง ทรงวาดภาพการ์ตูนในสมุดจดงานสมุดจดศัพท์เล่นบ้าง แต่ยังโปรดการวาดภาพ จึงมีผลงานออกมาให้เห็น เช่น ภาพที่ถวายและพระราชทานให้แก่บุคคลต่างๆ ในวาระต่างๆ อย่างวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

           จนเมื่อทรงศึกษาต่อในระดับปริญญาโทสาขาจารึกที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงได้ทรงใช้ความรู้ในการวาดภาพลายเส้นศิลปะขอมประกอบในรายงานของพระองค์ หลังจบปริญญาโททรงรับราชการที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในปี 2523 และได้มีโอกาสทรงศึกษาวิชาศิลปะจากหลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) สถาปนิกเอกสถาปัตยกรรมไทยและเป็นผู้ครอบครูช่างถวายแด่พระองค์

           ในการเตรียมงานเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดให้สมเด็จพระกนิษฐา   ธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นแม่กองควบคุมการซ่อมแซมอนุรักษ์บูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตั้งพระทัยอย่างเต็มที่ ทรงศึกษาค้นคว้าความเป็นมาของจิตรกรรมในแต่ละแห่งบนฝาผนังในวัดพระศรีรัตนศาสดารามอย่างถ่องแท้ จากนั้นจึงทรงวิเคราะห์ปัญหาความเสื่อมโทรมโดยทรงไต่ถามจากผู้ชำนาญการและพบว่ามีปัญหาหลายปัญหาที่แก้ไขด้วยวัสดุวิธีการแบบไทยไม่ได้แล้ว จึงทรงหารือกับนักวิชาการจากต่างประเทศ แล้วได้ทดลองนำมาใช้ซึ่งได้ผลดี การอนุรักษ์จิตรกรรมครั้งนี้ทำให้ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดพระศรีรัตนศาสดารามกลับมามีชีวิตอีกครั้งโดยเฉพาะภายในอุโบสถ

 

 

ภาพจากหนังสือ ทอสีเทียบฝัน

ชื่อภาพ: วนาศรม ปี: 2525 เทคนิค: สีโปสเตอร์

 

           ภาพวาดฝีพระหัตถ์ที่ทรงวาดในแบบศิลปะไทยแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2525 ซึ่งตรงกับวันที่ทรงตรวจรับงานบูรณปฏิสังขรณ์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จุดเด่นของภาพ คือ ศาลาใหญ่ตั้งตระหง่านท่ามกลางธรรมชาติอันงดงามในป่า ท้องฟ้าเปิด มองเห็นภูเขาและก้อนเมฆเป็นทิวทัศน์อันแสนงดงาม มีสัตว์ตัวน้อยๆ และพรรณไม้ต่างๆ ที่มองแล้วราวกับเคลื่อนไหว เต็มไปด้วยชีวิตชีวา ทรงวาดภาพนี้โดยมีหลวงวิศาล ศิลปกรรม      (เชื้อ ปัทมจินดา) เป็นผู้ถวายคำปรึกษา โดยทรงตั้งใจจะใช้เป็นแบบปัก

           จากความสนพระราชหฤทัยและทรงตระหนักว่าจิตรกรรมไทยกำลังจะเริ่มสูญหายไป สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงฟื้นฟูโรงเรียนในวังเพื่อรักษางานช่างไทยให้สืบต่อและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาติไปยังคนรุ่นหลัง การทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในการอนุรักษ์และทรงศึกษาค้นคว้าการสร้างสรรค์งานศิลปะ ทั้งในแบบประเพณีและร่วมสมัย แสดงให้เห็นถึงความรู้รอบและทรงพระปรีชาสามารถ พระราชกรณียกิจของพระองค์สร้างคุณูปการอย่างยิ่งต่อศิลปะในประเทศไทย นับเป็นพระกรุณาธิคุณอันล้นพ้นแก่วงการศิลปวัฒนธรรมของชาติ

 

ดอกไม้ ผลไม้ และทิวทัศน์

           ในบรรดาสิ่งที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงวาดนั้น ดอกบัวนับเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ทรงไว้หลายภาพ เพราะพระองค์โปรดดอกบัวมากและหาได้ง่ายในที่ประทับ นอกจากนี้พระองค์ยังเคยทรงพระราชทานสัมภาษณ์ว่า “เวลาไปต่างจังหวัด เห็นดอกบัวอยู่ในบึงข้างทางเราต้องชะโงกหน้าไปดูทุกที”  ในทางพุทธศาสนาดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ของความตื่น ความเบิกบาน สำหรับสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ความหมายของดอกบัวยังหมายถึงสมเด็จยาย คือ หม่อมหลวงบัวกิติยากร อีกด้วย นอกเหนือจากดอกบัว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีก็ทรงวาดภาพดอกไม้ชนิดอื่นๆ ภาพผลไม้ และภาพทิวทัศน์ที่น่าชมไว้อีกด้วย

 

ภาพจากหนังสือ ทอสีเทียบฝัน

ชื่อภาพ: ดอกบัว ปี: 2526 เทคนิค: สีน้ำมัน

           ภาพดอกบัวฝีพระหัตถ์ที่ทรงวาดพระราชทานให้แก่หม่อมหลวงบัวกิติยากร ในโอกาสวันเกิด 25 พฤศจิกายน 2526 เป็นภาพสีน้ำมันที่ใช้พื้นหลังสีเข้มจัดทั้งภาพคล้ายกับเวลากลางคืน ทรงอธิบายว่า “คุณยายชื่อบัว จึงวาดรูปดอกบัว... ภาพนี้สีพื้นยังไม่แห้งก็ลงสีดอกบัว เข้าใจว่าคนอื่นที่เขียน เขาคงไม่มีปัญหา เขาคงรอจังหวะ แต่เราไม่เคยศึกษาเทคนิค สีดอกบัวกับพื้นหลังก็ปนกัน” แต่การเขียนภาพลงซ้ำในขณะที่สียังเปียกเช่นนี้กลับทำให้สีกลมกลืนกัน เกิดบรรยากาศร่วม สีในภาพไม่โดด และจะอย่างไรก็ตามพระองค์ก็โปรดภาพนี้อยู่ดี เพราะสีชมพูกับสีแดงแก่และสีน้ำตาลให้ความรู้สึกหนักแน่น แปลกไปกว่ารูปอื่นๆ

 

ภาพจากหนังสือ ทอสีเทียบฝัน

ชื่อภาพ: ดอกกุหลาบ 2 ปี: 2533 เทคนิค: สีน้ำ

           ภาพดอกกุหลาบฝีพระหัตถ์ที่ทรงวาดขณะพักผ่อนจากแบบของจริงหรือที่เรียกว่า ภาพหุ่นนิ่ง ซึ่งเป็นแจกันบนโต๊ะกินข้าวที่สำนักงานชลประทานที่ 1 ในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ไม่ได้ทรงเจตนาจะให้ภาพออกมาเป็นภาพหุ่นนิ่ง ทรงสนุกกับการแสดงออกในเชิงศิลปะ โดยจุ่มสีลงบนกระดาษให้เป็นดอกกุหลาบ และทรงป้ายปัดพู่กันให้เป็นใบกุหลาบ

 

ภาพจากหนังสือ ทอสีเทียบฝัน

ชื่อภาพ: ถาดผลไม้ ปี: 2533 เทคนิค: สีน้ำ

           ภาพถาดผลไม้ฝีพระหัตถ์ที่ทรงวาดให้มีลักษณะเป็นภาพหุ่นนิ่ง ดูเหมือนจริง ทรงจำแนกแยกแยะรูปทรงและลักษณะเด่นของผลไม้แต่ละชนิดได้ชัดเจน ทั้งมังคุด เงาะ มะม่วง ลางสาด กระท้อน ลิ้นจี่และกล้วย เมื่อได้รับการกราบบังคมทูลถามว่า ผลไม้ที่ทรงวาดอยู่นี้ชอบชนิดไหนมากที่สุด ทรงตอบว่า “ถ้าพูดถึงการวาด ชอบมังคุดที่สุด ถ้าพูดถึงชอบกิน ชอบหมดทุกอย่าง”

 

ภาพจากหนังสือ ทอสีเทียบฝัน

ชื่อภาพ: ฟ้าอุ้มฝน ปี: 2526 เทคนิค: สีน้ำมัน

           ภาพทิวทัศน์ฝีพระหัตถ์ทรงวาดตามแบบจากหนังสือ วันที่วาดพระองค์ทรงเขียนบันทึกในสมุดส่วนพระองค์ไว้ว่า “วันอาทิตย์เป็นวันที่เราไม่ค่อยทำอะไร ดูภาษาจีน เปิดศัพท์ในพจนานุกรมหรือหนังสือ สลับกับวาดรูปสีน้ำมัน วาดในแผ่นสเกตช์ดีเหมือนกัน พยายามวาดตามแบบในหนังสือฝรั่ง แต่ไม่ค่อยจะเหมือน”

 

บทกวีจีน

           สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนพระราชหฤทัยในบทกวีของนักประพันธ์จีน พระองค์ได้ทรงแปลบทกวีที่ทรงคุณค่าจากภาษาจีนเป็นภาษาไทย ภายหลังมีการรวมเล่มไว้เป็นหนังสือพระราชนิพนธ์ชื่อ หยกใสร่ายคำ ทรงนำแรงบันดาลพะราชหฤทัยจากบทกวีมาวาดเป็นภาพจำนวนหนึ่ง

 

ภาพจากหนังสือ ทอสีเทียบฝัน

ชื่อภาพ: แลจันทร์ ปี: 2526 เทคนิค: สีน้ำมัน

           ภาพวาดฝีพระหัตถ์เด็กหญิงนั่งบนเตียงมองดูพระจันทร์เต็มดวงนอกหน้าต่างซึ่งได้แรงบันดาลพระราชหฤทัยจากบทกวีจีนของหลี่ไป๋ ชื่อว่า จิ้งเย่ซือ หรือในหนังสือ หยกใสร่ายคำ ทรงแปลไว้ว่า ความคิดคำนึงในคืนสงบ ว่าไว้ดังนี้

หน้าเตียงแสงจันทร์กระจ่าง

ประดุจว่าน้ำค้างแข็งบนพื้นดิน

เงยหน้ามองดูจันทร์สว่าง

ก้มหน้านึกถึงบ้านเกิด

 

ภาพการ์ตูนช้าง สุนัขและสัตว์อื่นๆ

           ในสมุดบันทึกส่วนพระองค์มีภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์น่ารักๆ ที่ทรงวาดเล่นไว้มากมาย สุนัขเป็นสัตว์ชนิดที่ทรงวาดบ่อย เพราะทรงเลี้ยงและพระองค์ได้ใกล้ชิด ส่วนสัตว์โปรดคือช้าง จึงโปรดวาดช้างด้วย และในที่สุดทรงใช้รูปช้างเป็นตัวแทนของพระองค์ นอกจากนี้พระองค์ก็ทรงวาดภาพในลักษณะการ์ตูนเนื่องในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปในงานต่างๆ

 

ภาพจากหนังสือ ทอสีเทียบฝัน

ชื่อภาพ: ช้างสีเขียวชูดอกไม้ ปี: 2532 เทคนิค: สีน้ำ

           ภาพฝีพระหัตถ์ที่ทรงวาดอย่างรวดเร็วขณะนักดนตรีเล่นเพลงพม่าเขว หรือเพลงช้าง ในงานวันสมเด็จพระเทพฯ 6 พ.ย. 2532 ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร

 

ภาพจากหนังสือ ทอสีเทียบฝัน

ชื่อภาพ: กบคางเหลือง ปี: 2538 เทคนิค: สีน้ำ

           ภาพฝีพระหัตถ์รูปกบ ทรงวาดระหว่างที่ทรงเฝ้าพระอาการพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ โรงพยาบาลศิริราช ทรงระบายสีคางของกบเป็นสีเหลืองเพราะมีที่มาจากครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงหยอกเย้าเรื่องเครื่องปั้นจากมูลนิธิศิลปาชีพชิ้นหนึ่งที่ทำเป็นรูปกบว่า “ตัวสีเขียวคางสีเหลือง คงจะไม่สบายปวดฟัน” ภาพนี้ติดไว้ที่ห้องประทับ ณ ตึก 84 ปี โรงพยาบาลศิริราช

 

ภาพจากหนังสือ

นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีกับงานศิลปะและวัฒนธรรม

ชื่อภาพ: โป๊ยเซียน ปี: 2545 เทคนิค: สีน้ำ

ภาพฝีพระหัตถ์สุนัขทรงเลี้ยงพันธุ์พุดเดิ้ล ทรงวาดเพื่อทดลองสีน้ำที่มหาวิทยาลัยศิลปากรผลิตขึ้น

 

ภาพจากหนังสือ ทอสีเทียบฝัน

ชื่อภาพ: แมวที่เมืองอัสตราคาน ปี: 2538 เทคนิค: สีเทียน

           ภาพฝีพระหัตถ์ทรงวาดจากภาพถ่ายที่พระองค์บันทึกไว้เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหพันธรัฐรัสเซีย ระหว่างวันที่ 14-24 มีนาคม 2536 เป็นรูปแมวอ้วนนอนหลับบนต้นไม้

 

           จากเรื่องราวและภาพวาดฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ผู้เขียนได้คัดเลือกมาเล่าทั้ง 11 ภาพ หวังว่าผู้อ่านคงจะรู้สึกเพลิดเพลิน ได้แรงบันดาลใจและซาบซึ้งในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไม่มากก็น้อย และคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า พระองค์ทรงมีทั้งพระปรีชาสามารถทางด้านศิลปะ ทรงเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ พระอารมณ์ขันและความน่ารัก ผลงานภาพวาดฝีพระหัตถ์ของพระองค์มีเอกลักษณ์ในแบบพระองค์เอง และทรงเป็นเจ้าฟ้าผู้หนึ่งที่มีศิลปะในหัวใจ

           ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ยังมีหนังสือที่เกี่ยวกับสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีอีกมากมาย สำหรับผู้ที่สนใจสามารถค้นคว้าข้อมูลได้ที่ห้องสมุด ชั้น 8 มุมหนังสือสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สอบถามเพิ่มเติมช่องทางออนไลน์ได้ที่ Facebook Fanpage: ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร–SAC Library และ Line: @sac-anthropology

 

วันและเวลาให้บริการ

ห้องสมุด ชั้น 7-8 วันจันทร์–ศุกร์ : 08.30–16.30 น. และวันเสาร์ : 09.00–16.00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ วันจันทร์–ศุกร์ : 08.00-18.00 น. และวันเสาร์ : 09.00–17.00 น.

ช่วงทดลองขยายเวลาให้บริการ 1 เม.ย. – 31 พ.ค. 2564

วันจันทร์ – ศุกร์     เวลา 08.30–19.00 น.

วันเสาร์     เวลา 09.00–16.30 น.

 

อ้างอิง

ทอสีเทียบฝัน : จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2538.

นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีกับงานศิลปะและวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ, 2552.

ศิลปกรรมของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. กรุงเทพฯ : คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2539.

ศิลปกรรมฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. กรุงเทพฯ : หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545.

เทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระ, หยกใส ร่ายคำ. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการอักษรศาสตรบัณฑิต รุ่นที่ 41 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541.

 

ป้ายกำกับ ฝีพระหัตถ์ ภาพวาด สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยาม บรมราชกุมารี กรมสมเด็จพระเทพฯ ปุญญิศา เปล่งรัศมี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share