ศิลปะ – สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ โดย ชาตรี ประกิตนนทการ

 |  ศิลปะ ผัสสะ และสุนทรียภาพ
ผู้เข้าชม : 7970

ศิลปะ – สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ โดย ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ศิลปะ – สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์

โดย ชาตรี ประกิตนนทการ

 

จรรยา ยุทธพลนาวี

บรรณารักษ์

ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

           ในช่วงเวลาที่ประชาชนให้ความสนใจกับสถานการณ์ทางการเมืองและเส้นทางประชาธิปไตยในประเทศไทย ประวัติศาสตร์การเมืองจึงเป็นเรื่องที่ถูกสนใจมากเป็นพิเศษ และหนึ่งในห้วงเหตุการณ์ที่ได้รับความสนใจมากคือเหตุการณ์ในยุคคณะราษฎรเรืองอำนาจ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ประชาธิปไตยของประเทศไทยเฟื่องฟูที่สุดยุคหนึ่ง

           ความน่าสนใจของเหตุการณ์ในสมัยคณะราษฎรเป็นสนใจมากขึ้น ทั้งนี้เพราะผลงานศิลปะและสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ค่อยๆ ถูกเคลื่อนย้าย ปรับเปลี่ยน และถูกทำลายไปภายหลังจากที่รัฐบาลจากคณะปฏิวัติได้เข้ามาบริหารประเทศ สิ่งเหล่านี้สร้างความสงสัยแต่กลับไม่มีคำอธิบายใดๆ ที่ชัดเจนมากนัก

           หนังสือ ศิลปะ – สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ ที่เขียนโดยชาตรี ประกิตนนทการ จึงเปรียบเสมือนตัวแทนของผู้ตั้งคำถามต่อการหายไปของผลงานศิลปะและสถาปัตยกรรมในสมัยคณะราษฎร

 

      

ภาพหนังสือ ศิลปะ – สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์

เขียนโดย ชาตรี ประกิตนนทการ

 

หมุด – หมาย ที่หายไป

           “หมุดคณะราษฎร” ที่สื่อความหมายถึงการประทับรอยการเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าสู่ประชาธิปไตย ได้หายไปอย่างไร้ร่องรอยในปี พ.ศ.2560 ถือเป็นการลบหลักฐานชิ้นสำคัญของคณะราษฎรในช่วงหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2557  

           ไม่เพียงแต่ “หมุดคณะราษฎร” เท่านั้นที่หายไป ศิลปะและสถาปัตยกรรมคณะราษฎรชิ้นต่างๆ อย่างเช่น อนุสาวรีย์ปราบกบฎ รูปปั้นจอมพล ป. ที่สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ การเปลี่ยนชื่อจากพิพิธภัณฑ์พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นพิพิธภัณฑ์ศูนย์การทหารปืนใหญ่ รวมถึงตึกเทเวศประกันภัยซึ่งสร้างด้วยศิลปะแบบคณะราษฎร ก็ถูกเปลี่ยนใหม่ให้เป็นศิลปะแบบนีโอคลาสสิค1  ได้ถูกทำลาย – เคลื่อนย้ายโดยไม่แสดงเหตุผลต่อสาธารณะ

           ศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นักวิชาการที่เรียกร้องให้ประเมินคุณค่าผลงานของคณะราษฎรใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องของศิลปะและสถาปัตยกรรม2  ได้เขียนหนังสือ ศิลปะ – สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2552 และเมื่อ 11 ปีผ่านไป ในการพิมพ์ครั้งที่ 2 มีการเพิ่มบทความอีก 4 เรื่อง ผู้เขียนกล่าวไว้ในคำนำว่าหนังสือรวมบทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ “คณะราษฎรศึกษา” และหวังว่าจะช่วยทำความเข้าใจคณะราษฎรผ่านงานศิลปะและสถาปัตยกรรมได้ลุ่มลึกกว่าเดิม

           ผู้เขียนยังได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับศิลปะและสถาปัตยกรรมคณะราษฎร ที่ถูกรื้อทำลายลงไปในระยะเวลาไม่นานมานี้ว่า หากมองด้วยความคิดที่ปราศจากอคติทางการเมืองแล้ว อย่างน้อยที่สุดวัตถุเหล่านั้นก็มีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์รูปแบบอื่น โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลาที่คณะราษฎรเป็นแกนนำสำคัญในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง และดำรงบทบาททางการเมืองด้วยระยะเวลาเพียง 15 ปี ก่อนที่การเมืองจะพลิกผันจนคณะราษฎรหมดบทบาททางการเมืองไปอย่างสิ้นเชิง

           ในบทความเรื่อง “เหตุผลที่สังคมไม่ควรยอมให้ “รื้อ – สร้าง” กลุ่มอาคารศาลฎีกา” เป็นตัวแทนที่แสดงให้เห็นความสำคัญของ ศิลปะ – สถาปัตยกรรมคณะราษฎร ได้เป็นอย่างดี กลุ่มอาคารศาลฎีกานี้มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ ได้รับรางวัลอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์จากสมาคมสถาปนิกสยาม อีกทั้งสถานที่เป็นโบราณสถานตามนิยามที่กฎหมายกำหนด แต่สิ่งที่ปรากฏออกมาจากการพิจารณาโครงการนี้กลับไม่เป็นไปตามความถูกต้องตามวิชาการและหลักการอนุรักษ์เท่าที่ควร

           ศิลปะและสถาปัตยกรรมคณะราษฎร มีเอกลักษณ์ในการนำเสนอเรื่อง “ความเสมอภาค” และสร้างสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับ “หลักหกประการ” ซึ่งเป็นแนวคิดในการวางรากฐานประชาธิปไตย สิทธิ และเสรีภาพของคณะราษฎร ได้แก่ เอกราช ความปลอดภัย การเศรษฐกิจ สิทธิเสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา3  ด้วยการออกแบบอาคารที่เรียบง่าย ไร้ศิลปกรรมตกแต่ง แตกต่างจากสถาปัตยกรรมจารีตของไทยที่มักมีแนวคิด “ฐานานุศักดิ์สถาปัตยกรรม” ที่แสดงออกด้วยความซับซ้อนของรูปทรงอาคารและศิลปกรรมตกแต่ง โดยการออกแบบสถาปัตยกรรมใช้แนวทางการออกแบบศิลป์แบบสมัยใหม่ ซึ่งเป็นลักษณะศิลปะที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้น รวมถึงการเกิดขึ้นของ “สถาปัตยกรรมไทยเครื่องคอนกรีต” ซึ่งพัฒนาขึ้นตามความนิยมใช้วัสดุใหม่ รูปแบบสถาปัตยกรรมจึงมีความเรียบง่าย ลดทอนลวดลายและมักพบในสถาปัตยกรรมทางศาสนา จนนำมาสู่การสร้าง “เมรุถาวร” สำหรับสามัญชนในการเผาศพ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายด้านสาธารณสุขที่คำนึงถึงระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านมากขึ้น

 

 

ภาพที่ 1 ตัวอย่างงานสถาปัตยกรรมแบบทันสมัย โรงภาพยนตร์เฉลิมบุรี

จากหนังสือ ศิลปะ – สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ หน้า 16

 

ภาพที่ 2 ยอดโดมธรรมศาสตร์ ซึ่งประกอบไปด้วยหน้าต่าง 6 ช่อง อันอาจหมายถึงหลักหกประการของคณะราษฎร

จากหนังสือ ศิลปะ – สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ หน้า 179

 

ภาพที่ 3 ตัวอย่างอาคารที่แสดงสัญลักษณ์ “หลักหกประการ” ของคณะราษฎร อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก

จากหนังสือ ศิลปะ – สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ หน้า 35

 

ภาพที่ 4 เจดีย์วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน

จากหนังสือ ศิลปะ – สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ หน้า 35

 

           ส่วนงานศิลปะภาพบุคคล มักนิยมปั้นรูปที่แสดงออกถึง “เรือนร่างอุดมคติ” ตามลักษณะปรากฏการณ์ทางศิลปะที่พบได้ในหลายประเทศ โดยการสร้างร่างกายในอุดมคติเป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างภาพความเชื่อให้เห็นถึงเป้าหมายของรูปร่างที่สมบูรณ์ เกิดเป็นกระแสการสร้างวินัยทางร่างกายตามคำชวนเชื่อของรัฐที่พยายามสร้างอำนาจในการควบคุมพลเมือง

 

ภาพที่ 5 หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ฉบับวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2484 ที่นำเสนอร่างกายในอุดมคติในยุคคณะราษฎร

จากหนังสือ ศิลปะ – สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ หน้า 150

 

ภาพที่ 6 รูปปั้นผู้หญิงในอุดมคติใหม่ แต่งกายตามรัฐนิยม รูปร่างค่อนข้างใหญ่ แสดงความแข็งแรงของร่างกาย

จากหนังสือ ศิลปะ – สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ หน้า 150

 

           บทความของ ศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ จึงเป็นตัวแทนเพื่ออธิบายรูปแบบ ความเป็นมาและความสำคัญของ “ศิลปะ – สถาปัตยกรรม” ที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยคณะราษฎร ซึ่งนอกจากจะเชื่อมโยงเข้ากับประวัติศาสตร์ศิลปะของไทยแล้ว ยังแฝงด้วยอุดมการณ์แห่งประชาธิปไตยที่คณะราษฎรมุ่งหวังให้สังคมไทยก้าวเข้าสู่เกมการเมืองที่มี “ประชาธิปไตย” เป็นกติกาใหญ่ในการลงสนามนั่นเอง

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสือที่ว่าด้วยมานุษยวิทยาการเมืองมีพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-anthropology

 

วันและเวลาให้บริการ

ห้องสมุด ชั้น 7-8 วันจันทร์ – ศุกร์ : 08.30 – 16.30 น. และวันเสาร์ : 09.00 – 16.00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ วันจันทร์ – ศุกร์ : 08.00 – 18.00 น. และวันเสาร์ : 09.00 – 17.00 น.

 

 

1  ผศ.จรัล ดิษฐาอภิชัย, เรื่องสิทธิมนุษยชน : 24 มิถุนายน 2475 และหลักหกประการของคณะราษฎร (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อ 4 Nov. 20, เข้าถึงผ่าน http://www.fpps.or.th/news.php?detail=n1123578563.news.

2  อดิเทพ พันธ์ทอง, ชาตรี ประกิตนนทการ เดินตามร่องรอยศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อ 3 Nov. 20, เข้าถึงผ่าน https://thepeople.co/chatri-prakitnonthakan-trace-back-art-architecture-people-party/

3  ผศ.จรัล ดิษฐาอภิชัย, เรื่องสิทธิมนุษยชน : 24 มิถุนายน 2475 และหลักหกประการของคณะราษฎร (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อ 4 Nov. 20, เข้าถึงผ่าน http://www.fpps.or.th/news.php?detail=n1123578563.news.

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา