ความลื่นไหลของวัตถุในงานโบราณคดีและมุมมอง Material Culture

รับชมวิดีโอย้อนหลัง

บรรยายวิชาการออนไลน์สาธารณะ หัวข้อ "ความลื่นไหลของวัตถุในงานโบราณคดีและมุมมอง Material Culture"

กิจกรรม | บรรยายวิชาการสาธารณะ
รับชมวิดีโอย้อนหลัง
19 มกราคม 2565
13:00 - 15:00 น.

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เชิญฟังบรรยายวิชาการออนไลน์สาธารณะ

Posthuman Anthropology Series หัวข้อ "ความลื่นไหลของวัตถุในงานโบราณคดีและมุมมอง Material Culture"

ชวนพูดคุยเกี่ยวกับวัตถุทางวัฒนธรรมผ่านมุมมองโบราณคดี แนวคิด การเปลี่ยนแปลงของมุมมองทางโบราณคดีที่มีต่อวัตถุทางวัฒนธรรม และแนวทางการนำมาใช้ในงานโบราณคดี รวมไปถึงการเลื่อนไหลของความหมายของโบราณวัตถุในโลกปัจจุบัน

จากโบราณวัตถุ (artefacts) โบราณสถาน หรือภูมิทัศน์ทางโบราณคดี (archaeological landscape) มนุษย์ในอดีตใช้โลกแห่งวัตถุเพื่อเป็นสื่อกลางแสดงถึงความคิด ตัวตน และการกระทำ รวมถึงมิติด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ การเมือง สัญลักษณ์ และความเชื่อ และในขณะเดียวกันมนุษย์ไม่ได้เป็นฝ่ายเดียวที่ให้ความหมายกับวัตถุ แต่วัตถุก็ถูกมองในฐานะผู้กระทำที่มีอิทธิพลย้อนกลับไปหามนุษย์ได้เช่นเดียวกัน และยังสามารถเปลี่ยนแปลงความหมายเมื่อเวลาผ่านไป

การสร้างอดีตของโบราณคดีส่วนหนึ่งจึงตั้งอยู่บนการมองหา พัฒนา และทดลองแนวทาง และวิธีการศึกษาเพื่อแปลความวัตถุทางวัฒนธรรม ( Material Culture) หรือก็คือวัตถุที่หลงเหลือและเป็นตัวแทนของกิจกรรมของมนุษย์ และปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น ในช่วงเวลาและสถานที่ต่างๆ อาจจะนำไปสู่การทำความเข้าใจบทบาทของวัตถุในโลกของมนุษย์ในอดีต และปัจจุบัน

วิทยากร 

อ.ดร. ภีร์ เวณุนันทน์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ผู้ดำเนินรายการ

ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

 

วันพุธที่ 19 มกราคม 2565

เวลา 13.00-15.00 น.

ถ่ายทอดสดทาง Facebook Fanpage: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-SAC

กำหนดการ
บรรยายวิชาการออนไลน์สาธารณะ หัวข้อ "ความลื่นไหลของวัตถุในงานโบราณคดีและมุมมอง Material Culture"

 

สรุปการบรรยายวิชาการออนไลน์สาธารณะ

หัวข้อ “การเลื่อนไหลของวัตถุในงานโบราณคดี และมุมมอง Material Culture” 

วิทยากร: ดร.ภีร์ เวณุนันทน์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

วันพุธที่ 19 มกราคม 2565 เวลา 13.00-15.00 น. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) 

 

           มนุษย์ไม่ใช่สัตว์ประเภทเดียวที่ใช้เครื่องมือหรือสิ่งของ แต่สัตว์ก็สามารถนำวัสดุต่างๆ รอบตัวมาจัดการให้เป็นบางอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง เช่น ชิมแปนซีใช้ไม้แหย่รูเพื่อเอาอาหาร หรือการสร้างรังผึ้งถือเป็นวิศวกรรมชั้นสูงของสัตว์ แต่อีกมุมมองหนึ่ง มนุษย์เอาเครื่องมือมาใช้ในแนวคิดที่ซับซ้อนมากกว่าสัตว์ชนิดอื่น จึงทำให้มีความซับซ้อนในการใช้เครื่องมือหรือวัสดุต่างๆ มากกว่าสัตว์ชนิดอื่น นอกจากนี้ กระบวนการใช้วัตถุของมนุษย์​ไม่ได้ตอบสนองในเชิงกายภาพหรือหน้าที่เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับจิตใจ แนวคิด และความหมายที่แทรกอยู่ในตัววัตถุ

           Christopher Tilley (2007) พูดถึง โบราณวัตถุ (Material Culture) ว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น ทำซ้ำ และเปลี่ยนแปลงในสภาวะความสัมพันธ์ทางสังคม เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ปรากฏให้เห็นความคิดของคน สิ่งที่กระทำ และสิ่งที่พยายามแสดงออก ซึ่งมีความเลื่อนไหลที่เปลี่ยนแปลงจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง นอกจากนี้ยังเป็นสื่อที่แสดงให้เห็นความคิด การกระทำต่อโลก ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี เศรษฐกิจ การเมือง ความหมายเชิงสัญลักษณ์ ฯลฯ

           Hodder (2012) เสนอให้ใช้คำว่า “things” ที่ดูจะเลื่อนไหลมากกว่าการใช้ คำว่า “objects” ที่ดูเป็นวัตถุที่หยุดนิ่ง ในความเป็นจริงวัตถุเปลี่ยนแปลงในเชิงกายภาพและความหมายไปตามกาลเวลา ซึ่งความหมายของวัตถุเลื่อนไหลไปตามมุมมองของบุคคลและบริบทที่วัตถุปรากฏขึ้น

           ในทางโบราณคดี การทำความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ในอดีตสามารถศึกษาได้จากโบราณวัตถุ นิเวศวัตถุ โครงกระดูก และร่องรอยกิจกรรมในอดีต แต่สิ่งที่สำคัญในการศึกษาคือ โบราณวัตถุ หรือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นและหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน โบราณวัตถุเป็นสิ่งประกอบสร้างหรือตัวแทนภาพในอดีตและกลายเป็นแหล่งข้อมูลให้นักโบราณคดี โดยแนวคิดเรื่องวิวัฒนาการ (Evolutionism) เป็นฐานรากสำคัญในการจัดลำดับอายุสมัยของนักโบราณคดี ประกอบด้วยระบบ 3 ยุค แยกออกเป็นสมัยหิน สมัยทองแดง/สำริด สมัยเหล็ก แต่ในปัจจุบัน 3 กระบวนทัศน์ที่มีอิทธิพลประกอบด้วย ประวัติวัฒนธรรม (Cultural History) โบราณคดีกระบวนการ (Processual Archaeology) และโบราณคดีหลังกระบวนการ (Post-processual) ที่เริ่มมีอิทธิพลตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 หรือต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 จนมาถึงปัจจุบัน

           กระบวนทัศน์ของประวัติวัฒนธรรม (Cultural History) เปรียบเสมือนชุดของบรรทัดฐาน พฤติกรรม หรือความเชื่อแบบหนึ่ง ที่วัตถุวัฒนธรรมจะสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของคนในอดีต เมื่อต้องการพูดถึงพฤติกรรมของคนในอดีตก็สามารถอธิบายได้จากหลักฐานทางโบราณคดี จนนำไปสู่การจัดกลุ่มวัฒนธรรม โดย V. Gordon Childe (1929) ได้กล่าวว่า ความซับซ้อนทางวัฒนธรรมคือสิ่งที่แสดงออกมาทางวัตถุ วัตถุก็คือภาพแทนความเป็นมนุษย์ เมื่อเจอวัตถุที่เหมือนกันในพื้นที่ๆ ต่างกันจะอธิบายด้วย 4 หัวข้อ ดังนี้ (1) ศูนย์กลางหรือจุดกำเนิด (Invention/Centre of Creation) (2) การแพร่กระจายของคนและวัฒนธรรม (Diffusion) เป็นการเคลื่อนย้ายของความคิดหนึ่งไปยังความคิดหนึ่งผ่านการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน การค้าขาย การแลกเปลี่ยน ฯลฯ จึงส่งผลให้ความคิดตามไปด้วย (3) การเคลื่อนย้ายของคนและวัฒนธรรม (Migration) (4) การรุกราน (Invasion) เป็นการทำสงครามเพื่อยึดพื้นที่และนำความคิดของตัวเองไปครอบงำ

           ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของงานโบราณคดีคือ การเกิดขึ้นของโบราณคดีใหม่ (New Archaeology) ที่ต่อมากลายเป็นโบราณคดีกระบวนการ (Processual Archaeology) โดย Lewis Binford (1965) กล่าวว่า การอธิบายแบบกระบวนทัศน์ประวัติวัฒนธรรมไม่ได้ตอบโจทย์เกี่ยวกับมนุษย์ รับรู้แค่พื้นที่ที่เจอวัตถุเท่านั้น จึงได้เสนอว่า ถ้ามองโบราณคดีให้เป็นมานุษยวิทยามากขึ้น วัฒนธรรมจะเป็นสื่อหรือเครื่องมือหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้น เป็นผลมาจากการที่มนุษย์ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบตัว เพราะฉะนั้น วัฒนธรรมคือสิ่งที่มนุษย์ปรับตัวเข้าหาธรรมชาติ หรือเป็นโครงสร้างที่ประกอบด้วยเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม การเมือง วิธีคิด ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ส่งผลระหว่างกัน ต้องมองเป็นระบบ ไม่สามารถมองแยกกันได้ เพื่อทำให้วัฒนธรรมก้าวต่อไปได้

           โบราณคดีใหม่หรือโบราณคดีกระบวนการ จึงมองโบราณวัตถุว่าเป็นผลจากสิ่งที่มนุษย์ปรับตัว ซึ่งวัตถุเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้โครงสร้างทางสังคมดำเนินต่อไป หลักฐานทางโบราณคดีควรเป็นแหล่งข้อมูลที่ช่วยให้นักโบราณคดีสามารถบอกแบบแผนทั่วไปของพฤติกรรมมนุษย์ในช่วงเวลานั้น และสามารถสร้างเป็นกฎเกณฑ์เกี่ยวกับพฤติกรรมของคนได้ อย่างกรณีของคูน้ำคันดินที่พบในเขตอีสานใต้จำนวนมาก เมื่อพิจารณาจากสภาพอากาศหรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในช่วงเวลานั้น จะเห็นว่าช่วงที่คูน้ำคันดินเกิด (ประมาณ 300 – 200 BC) เป็นช่วงที่ปริมาณน้ำฝนลดลง ส่งผลให้พื้นที่แห้งแล้ง ดังนั้น สิ่งที่มนุษย์ทำคือการขุดคูน้ำคันดินเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ใช้สำหรับกักเก็บน้ำ ทำเกษตรกรรม เลี้ยงชีพในช่วงที่น้ำขาดแคลน แบบแผนของชุมชนคูน้ำคันดินสะท้อนให้เห็นถึงการตอบสนองต่อสภาพอากาศ และเกิดชนชั้นทางสังคม (elite) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีวิธีบริหารจัดการที่ดี จนกลายเป็นผู้ควบคุมทรัพยากร

 

 

           โบราณคดีหลังกระบวนการ (Post-processual) หรือโบราณคดีแปลความ (Interpretative Archaeology) จะสนใจกลุ่มที่ทำให้เกิดวัตถุวัฒนธรรม ที่ควรจะต้องมีบริบท ความหมาย คุณค่า สัญลักษณ์ ผู้กระทำการ เพศสภาพ ความหลากหลายของเสียง ความเป็นปัจเจก โดยแนวคิดนี้กลายเป็นแนวคิดพื้นฐานของนักโบราณคดีในปัจจุบันที่ใช้มองวัตถุวัฒนธรรม สามารถอธิบายได้ว่าวัตถุวัฒนธรรมควรจะต้องมีความหมาย เป็นผู้กระทำการได้ ไม่ใช่เพียงวัตถุที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อตอบสนอง ปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติเท่านั้น

           ศูนย์กลางวิธีคิดของการมองวัตถุวัฒนธรรมในปัจจุบันคือ วัตถุสภาพหรือวัตถุสภาวะ (Materiality) และผู้กระทำการ (Agency) วิธีคิดแบบวัตถุสภาวะกล่าวว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่สอดรับหรืออยู่กับโลกแห่งวัตถุอย่างกลมกลืน ไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ และยังเป็นโครงสร้างหรือมิติทางสังคมรูปแบบหนึ่ง ถ้าจะทำความเข้าใจสภาพทางสังคมจำเป็นต้องมองจากทั้งมุมมองมนุษย์และวัตถุ เพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับวัตถุ อีกทั้งวัตถุมีอำนาจเป็นของตัวเอง สามารถเป็นผู้กระทำการและย้อนกลับไปสู่มนุษย์ได้ ไม่ใช่เพียงสิ่งที่มนุษย์ผลิตขึ้น ส่วนวิธีคิดผู้กระทำการมองว่า วัตถุวัฒนธรรมมีความหมายและสามารถกระทำการกลับไปหามนุษย์ในฐานะที่เป็นผู้สร้างและผู้ใช้ได้เช่นกัน

           วัตถุวัฒนธรรมมีหน้าที่เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับบันทึกข้อมูลต่างๆ โดยมนุษย์พยายามถ่ายทอดความคิดไปสู่ผู้อื่นผ่านทางวัตถุที่ถูกสร้างขึ้น อย่างกรณีภาพเขียนสีหรืองานเขียนต่างๆ สามารถนำมาอธิบายว่าเป็นข้อมูลรูปแบบหนึ่ง ที่ผู้สร้างพยายามจะถ่ายทอดความคิดของตนเองให้กับผู้ที่เข้ามาใช้พื้นที่ ผู้ที่อ่านข้อมูล หรือผู้ที่มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับวัตถุวัฒนธรรมชิ้นนั้น ความสามารถในการบันทึกข้อมูลของวัตถุวัฒนธรรมมีส่วนสำคัญในการถ่ายทอดความทรงจำ ที่สามารถสืบทอดความหมายไปยังรุ่นต่อๆ ไปได้ อีกหนึ่งข้อเสนอของแนวคิดเรื่องการรับรู้ (Cognitive archaeology) เกี่ยวกับวัฒนธรรมว่าเป็นส่วนต่อขยายทางความคิด ด้วยการส่งต่อข้อมูลหรือความคิดผ่านการสร้างตัวแทน แนวคิดดังกล่าวน่าจะเกี่ยวข้องกับการสร้างรูปเคารพ ตัวแทนหรือรูปแทนความเชื่อทางศาสนาให้เป็นสื่อสำหรับถ่ายทอดวิธีคิดทางศาสนาไปสู่รุ่นต่อไป อีกทั้งยังเป็นการพยายามอธิบายสิ่งที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เหนือธรรมชาติให้อยู่ในรูปที่มนุษย์สามารถเข้าใจได้

           หากศึกษาเรื่องวัตถุวัฒนธรรมจำเป็นต้องศึกษาการส่งถ่ายความรู้หรือวัฒนธรรม เนื่องจากมีความสัมพันธ์ในทางโบราณคดีและวิวัฒนาการของมนุษย์ การส่งถ่ายความรู้ทำให้วัฒนธรรมสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ ซึ่งกระบวนการนี้มนุษย์สามารถรับความรู้ ปรับปรุงความรู้ และส่งถ่ายความรู้ที่ถูกเปลี่ยนผ่านไปให้ผู้อื่น เป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดการคิดค้นหรือนวัตกรรม

           โบราณวัตถุมีความสามารถในการเปลี่ยนความหมายใหม่ (Secondary agency) เมื่อเวลาเปลี่ยนผ่าน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า โบราณวัตถุเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง เปลี่ยนแปลงได้ตลอด ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนมอง มองในช่วงเวลาใด มองจากจุดใด เช่น ลูกปัดแก้วที่มีส่วนประกอบเป็น Silica, Flux และส่วนประกอบที่ให้สี ทำหน้าที่เป็นเครื่องประดับ แต่ในปัจจุบันลูกปัดโบราณมีความหมายใหม่ในฐานะสิ่งที่เชื่อมโยงทางความเชื่อและความศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งสีของลูกปัดยังสามารถอธิบายได้ในคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ การรักษา การป้องกันภัย การเสริมอำนาจ การเสริมโชคลาภ ฯลฯ และต้องมีการบูชา

 

ลูกปัดโบราณกลายเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อในปัจจุบัน

ที่มา: http://www.amulet24lnwshop.com/category/5/

 

ลูกปัดโบราณกลายเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อในปัจจุบัน

ที่มา: http://www.rudraamulet.com/product/47/

 

           นักโบราณคดีจะใช้เครื่องมือจากการสัมภาษณ์คนในวัฒนธรรม (Ethnoarchaelolgy) หรือโบราณคดีทดลอง (Experimental Archaeology) ในการศึกษาวัตถุวัฒนธรรม นอกจากนั้นนักโบราณคดีจะต้องรู้บริบทที่พบวัตถุสำหรับอธิบายวัตถุวัฒนธรรมได้ อีกแนวคิดที่สามารถใช้ศึกษาวัตถุวัฒนธรรมคือ การมองวัตถุวัฒนธรรมว่าเป็นประวัติชีวิตบุคคล ตั้งแต่กว่าที่จะมาเป็นวัตถุจนถึงหลักฐานทางโบราณโบราณคดี การมองวัตถุด้วยมุมมองประวัติของวัตถุจำเป็นต้องมองในเชิงเทคโนโลยีเพราะเป็นการอธิบายวัตถุตั้งแต่กระบวนการผลิต ถูกใช้ ถูกส่งผ่าน และกลายเป็นหลักฐานทางโบราณคดี นอกจากนี้การมองในเชิงเทคโนโลยียังชี้ให้เห็นถึงสภาพของวัสดุ ที่นำไปสู่การอธิบายเรื่องหน้าที่การใช้งานของวัตถุที่ศึกษา

 

เรียบเรียงโดย แพรพรรณ งอมกระโทก

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

Share