สื่อมวลชน

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

           ปัญหากะเหรี่ยงบางกลอยคือความล้มเหลวของการพัฒนา ชี้สังคมควรทบทวนมุมมองที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผอ.ศมส. ชี้ปัญหาของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยคือผลพวงของการพัฒนาที่ล้มเหลว จากการนำชาวกะเหรี่ยงที่อยู่อาศัยในกลางป่าแก่งกระจาน อพยพโยกย้ายมาอยู่ในพื้นที่แห่งใหม่ ที่ไม่สามารถดำรงชีวิตตามวิถีดั้งเดิมได้ สร้างความเดือดร้อนและทุกข์ยากแก่ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยมานานนับ 20 ปี กระทั่งปัจจุบันเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดกลับมาระบาดใหม่เป็นรอบที่ 2 จึงตอกย้ำความทุกข์ยากต่อการดำรงอยู่ ทางเลือกสุดท้ายที่พอจะเป็นความหวัง คือการกลับไปอยู่อาศัยในแผ่นดินดั้งเดิมที่จากมา “ใจแผ่นดิน” ในระยะสั้นจึงมีการเสนอให้ยุติการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหากับชาวกะเหรี่ยงที่เดินทางกลับไปใจแผ่นดิน และให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ขึ้นมาทำหน้าที่ศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อเสนอทางออก และเร่งผลักดันกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิต ซึ่งเป็นการขยายผลจากการขับเคลื่อนมติคณะรัฐมนตรีว่าการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชาวเลเมื่อปี 2553

           เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ร่วมกับ The Active และองค์กรภาคีเครือข่าย จัดเสวนาออนไลน์ เรื่อง “จากกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ถึงอนาคตกฎหมายคุ้มครองวิถีชาติพันธุ์”

           อภิสิทธิ เจริญสุข ตัวแทนจากชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยเล่าว่า สถานการณ์ปัญหาของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่เผชิญกับความทุกข์ยากมานานนับ 20 ปี ตั้งแต่ถูกบังคับโยกย้ายจากใจแผ่นดิน ซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมมาอยู่ในพื้นที่แห่งใหม่ที่รัฐจัดไว้ให้ แต่ก็ไม่เพียงพอและไม่สามารถทำกินตามวิถีดั้งเดิมได้ แม้จะมีหน่วยงานเข้ามาพัฒนาให้เป็นนาขั้นบันได แต่ก็ไม่เป็นผล เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นหิน ไม่มีแหล่งน้ำที่เพียงพอต่อการทำการเกษตร หลายครอบครัวต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปเป็นแรงงานรับจ้างนอกชุมชน เมื่อสถานการณ์โควิดกลับมาระบาดอีกรอบ จึงซ้ำเติมความเดือดร้อน และทุกข์ยาก เพราะคนในชุมชนไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้เลย การดำรงชีวิตตามวิถีดั้งเดิม เช่น การทำไร่หมุนเวียนที่ถือเป็นรูปแบบของการพี่งพาตนเอง จึงรูปแบบของการพึ่งพาตนเอง ที่เราสามารถจัดการตนเองได้ เพราะไม่ต้องใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอก “ถ้าทำไร่หมุนเวียนก็ไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี ตอนนี้อยู่อยู่ข้างล่างต้องใช้ตลอด ต้องซื้อ ถ้าอยู่ข้างบนเราซื้อแค่เกลือ กับยารักษาโรค ปีนึงใช้ตังค์ไม่กี่พัน แต่พอมาอยู่ข้างล่างจะกินอะไร ก็ต้องใช้เงินอย่างเดียว มันไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต”

           ท่ามกลางสภาพปัญหาและความยากลำบากของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ที่ผ่านมาได้มีความพยายามที่จะนำเสนอปัญหา ยื่นข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวจ้อง เพื่อเข้ามาให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาและตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้านได้ โดยเฉพาะข้อเสนอการกลับไปอยู่ในชุพื้นที่ชุมชนดั้งเดิมที่ชาวบ้านจากมา

           สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ย้ำในเวทีเสวนาครั้งนี้ว่า พื้นที่บางกลอยใจแผ่นดินเป็นแผ่นดินที่มีมนุษย์อาศัยอยู่มาก่อนตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์นับพันปี เห็นได้จากขวานหินที่ชาวบ้านพบในถ้ำ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าในบริเวณนั้นมีมนุษย์อยู่อาศัยมานาน กระทั่งในยุคอยุธยาตอนต้นถึงรัตนโกสินทร์ตอนนต้นก็ปรากฏหลักฐานที่จดบันทึกไว้ว่าต้นน้ำเพชรซึ่งเป็นพื้นที่ใจแผ่นดินก็เป็นเส้นทางทางน้ำที่ใช้สำหรับเดินทางด้วยเรือเข้าสู่อยุธยาและกรุงเทพฯ และในปี พ.ศ.2455 ก็ปรากฏชื่อ “บ้านใจแผ่นดิน” ในแผนที่ของกรมทหาร แสดงให้เห็นว่ารัฐเองก็รับรู้ว่ามีหมู่บ้านตั้งอยู่ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานอื่นๆ ที่ยืนยันให้เห็นความเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม เช่น ในปี พ.ศ.2512 ได้มีการออกเหรียญชาวเขาให้ชาวบ้านในพื้นที่เพื่อยืนยันความเป็นคนไทย ปี พ.ศ.2528 ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขากาญจนบุรีได้มีการเดินเท้าเข้ามาสำรวจ และได้มีการจัดทำเอกสารการสำรวจชาวเขาขึ้นในปี พ.ศ.2531 เพื่อยืนยันว่าชาวบ้านเป็นคนไทย กระทั่งปี พ.ศ.2539 ที่มีเจ้าหน้าที่ไปบังคับโยกย้ายชาวบ้านลงอยู่อาศัยในพื้นที่ข้างล่างหรือที่เรียก บางกลอยล่าง เป็นจุดเริ่มต้นของการเผชิญความยากลำบากในการดำรงชีวิต และใน พ.ศ.2553-2554 ถือเป็นช่วงเวลาที่มีความเลวร้าย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้ใช้ยุทธการตะนาวศรี เผาและทำลายบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของชาวบ้านจนหมด นำมาสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีระหว่างชาวบ้านบางกลอยกับเจ้าหน้าที่อุทยาน จนในปี พ.ศ.2561ศาลปกครองได้ตัดสินคดีแล้วว่าบ้านใจแผ่นดินคือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมชาวปกาเกอญอที่อาศัยอยู่มานาน การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสั่งให้รัฐต้องชดเชยค่าเสียหายให้แก่ชาวบ้าน และดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 โดยให้ยุติการจับกุม

           ผอ.ศมส. ยังกล่าวอีกว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิดเป็นโอกาสที่ทำให้สังคมต้องทบทวนมาตราการและแนวทางการพัฒนาของรัฐที่ผ่านมา เพราะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าหลายปัญหาได้ปรากฏขึ้น โดยเฉพาะกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์จากเดิมที่เคยพึ่งพาและจัดการตนเองได้ เมื่อต้องถูกอพยพโยกย้ายจากพื้นที่ดั้งเดิมที่สัมพันธ์กับทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและพึ่งพารัฐและระบบตลาดภายนอกมากขึ้น บทเรียนที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ได้นำไปสู่การมีความมั่นคงในการดำรงชีวิต “วิถีเดิมของเขา กับระบบกฎหมาย การศึกษา สาธารณสุข หรือยุติธรรม ไม่ได้เอื้อต่อวิถีชีวิตของเขา เขาเดินทางมายังไงในการขึ้นศาล เขาลำบากขนาดไหนในการพาลูกไปเรียน หรือการเรียนการสอนมัน สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเขาจริงไหม เขาลำบากขนาดไหนในการขอสัญชาติ เขาต้องเผชิญชะตากรรมเช่นนี้”

           ผอ.ศมส. จึงชวนสังคมตั้งคำถามต่อการอยู่ร่วมกันกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งต้องมีการทบทวนมุมองที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะการให้ภาพเหมารวมใน 3 รูปแบบคือ เป็นผู้ตัดไม้ทำลายป่า, เข้าเมืองผิดกฎหมาย, ค้ายาเสพติด ภาพเหมารวมเหล่านี้ได้ถูกผลิตซ้ำ ก่อให้เกิดความไม่เข้าใจ นำมาสู่อคติและการประนามกลุ่มชาติพันธุ์มาตลอด และเสนอว่ามาตรการและแนวทางการพัฒนาที่ผ่านมา ต้องมีการทบทวนและปรับเปลี่ยนมุมมอง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา การใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ขณะเดียวกันการนำชาวบ้านมาอยู่อาศัยในพื้นที่แห่งใหม่นั้นยืนยันแล้วว่าไม่ได้เป็นแนวทางที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงในการดำรงชีวิตได้อย่างแท้จริง ชี้ในสถานการณ์โควิด รัฐต้องมีมาตรการเยียวยาที่เหมาะสม โดยเสนอให้ชาวบ้านบางกลอยสามารถกลับไปอยู่ในพื้นที่ชุมชนดั้งเดิมได้ ในระยะยาวต้องมีการขยายผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง สอดคล้องกับข้อเสนอของ สุรพงษ์ กองจันทึก ที่เสนอให้ใช้กลไกตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยเฉพาะในด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

           “ในการเสวนาครั้งนี้ยังได้มีการนำเสนอการจัดทำกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำ ประกอบด้วยร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นร่างที่คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎรกำลังดำเนินการพิจารณารายละอียด และร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งเป็นร่างของภาคประชาชน อยู่ระหว่างการรวบรวบรายชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอต่อรัฐสภาให้พิจารณาร่วมกันต่อไป โดยการจัดทำกฎหมายทั้ง 3 ฉบับนั้น ถือเป็นความหวังที่จะทำให้เกิดมาตราการและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเป็นระบบ บนพื้นฐานของการเคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม ขณะเดียวก็เป็นการเปิดพื้นที่ให้มีกลไกในเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์” ผอ.ศมส. กล่าวปิดท้าย