banner image

หนังสือแนะนำ

หน้าแรก / หนังสือแนะนำ / ชาติพันธุ์สัมพันธ์ : การเมืองของความสัมพันธ์และแนวคิดการศึกษา

detail image

ชาติพันธุ์สัมพันธ์ : การเมืองของความสัมพันธ์และแนวคิดการศึกษา

รายละเอียด


ปีที่พิมพ์ :

2565


ผู้แต่ง :

ประสิทธิ์ ลีปรีชา


เลขเรียกหนังสือ :

GN495.6. ป46 2565


Collection :

Books (7th floor)


ลิงก์หนังสือ :

รายละเอียด :

ชาติพันธุ์สัมพันธ์ : การเมืองของความสัมพันธ์และแนวคิดการศึกษา

รูปที่ 1 ชาติพันธุ์สัมพันธ์ : การเมืองของความสัมพันธ์และแนวคิดการศึกษา
หมายเหตุจาก. ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

           หนังสือ “ชาติพันธุ์สัมพันธ์ : การเมืองของความสัมพันธ์และแนวคิดการศึกษา” ไม่ได้อธิบายให้เห็นถึงความหลากหลายและความงดงามของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศต่าง ๆ แต่ผู้เขียนได้เลือกที่จะชวนให้ผู้อ่านหันมาสนใจการศึกษาชาติพันธุ์ในแง่มุมของประเด็นการเมือง รวมทั้งเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับการศึกษาชาติพันธุ์ในมิติที่หลากหลาย

           ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ ลีปรีชา อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์กับการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ซึ่งมีความสนใจในประเด็นเกี่ยวกับชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง และการท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ ได้รวบรวมองค์ความรู้ด้านชาติพันธุ์ที่สั่งสมมาจากการเรียนในระดับปริญญาเอก สาขามานุษยวิทยาวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยแห่งวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา รวมทั้งประสบการณ์การสอนวิชาทฤษฎีชาติพันธุ์สัมพันธ์และการพัฒนา ประกอบกับประสบการณ์การทำวิจัยภาคสนาม และการเข้าร่วมกิจกรรมกับขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชน นำมาเรียบเรียงและถ่ายทอดลงในหนังสือเล่มนี้ โดยเนื้อหาจะมุ่งเน้นและให้ความสำคัญในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับประเด็นทางการเมือง สังคม และการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งภายในเล่มจะประกอบด้วยเนื้อหา 8 บท ได้แก่

           บทที่ 1 นิยามและพัฒนาการของชาติพันธุ์สัมพันธ์

           เป็นการปูพื้นฐานเบื้องต้นให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงความหมายของคำว่า “กลุ่มชาติพันธุ์ (ethnic group)” ซึ่งเป็นคำที่คนกลุ่มใหญ่ใช้เรียกชนกลุ่มน้อยที่ด้อยอำนาจกว่าทั้งในด้านการเมือง สังคม และวัฒนธรรม กับอีกคำหนึ่งคือคำว่า “ชาติพันธุ์สัมพันธ์ (ethnicity)” เป็นความสัมพันธ์ทางสังคมของคนภายในกลุ่มชาติพันธุ์หรือการมีปฏิสัมพันธ์กันในชีวิตประจำวันของผู้คนในกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งความสัมพันธ์ที่มีกับประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กระบวนการสร้างชาติ นโยบายของรัฐที่ส่งผลต่อกลุ่มชาติพันธุ์ เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว เป็นต้น และอธิบายให้เห็นถึงพัฒนาการของทั้งสองคำนี้ ซึ่งเป็นคำที่เกิดขึ้นในสังคมตะวันตกและได้ขยายไปยังภูมิภาคอื่นของโลก ซึ่งในศาสตร์ทางด้านมานุษยวิทยาจะมีทั้งการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์หรือชาติพันธุ์ศึกษา และการศึกษาชาติพันธุ์สัมพันธ์ แต่จะแตกต่างกันตรงที่ชาติพันธุ์ศึกษา เป็นการศึกษาอัตลักษณ์หรือลักษณะเฉพาะด้านต่างของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ประวัติศาสตร์ ภาษาพูด การแต่งกาย ดนตรี เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหากิน ลักษณะทรงบ้าน ความเชื่อ พิธีกรรม เป็นต้น แต่การศึกษาชาติพันธุ์สัมพันธ์ จะมุ่งเน้นไปที่การศึกษาความสัมพันธ์ทางสังคมหรือการปฏิสัมพันธ์กันในชีวิตประจำวันของผู้คนในกลุ่มชาติพันธุ์ การปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น รวมทั้งความสัมพันธ์ที่มีกับบริบทอื่น ซึ่งการศึกษาชาติพันธุ์สัมพันธ์มีความสำคัญมากในยุคโลกาภิวัตน์หรือยุคหลังสงครามเย็น คือ ตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม การเมืองและวัฒนธรรม อีกทั้งยังมีการเชื่อมโยงกันของกลุ่มคนข้ามพรมแดนกันไปมา ทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้คนกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงเกิดความสัมพันธ์กันในบริบทอื่น

           บทที่ 2 การเมืองของการเรียกชื่อ

           คำที่ใช้เรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์มาจากคนกลุ่มใหญ่ที่มองว่าตัวเองอยู่ในสังคมที่เจริญกว่า มีอำนาจทางการเมืองและวัฒนธรรมที่เหนือกว่า ใช้เรียกชนกลุ่มน้อยที่ด้อยอำนาจและล้าหลังกว่า ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ

           1) ชื่อเรียกแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ มีทั้งชื่อที่กลุ่มชนใช้เรียกตัวเอง ซึ่งมักมีความหมายว่า คนหรืออิสระชน เช่น ปกาเกอะญอ ม้ง เมี่ยน อ่าข่า กุย มลายู มอญ ลาว ไทยวน ฯลฯ และชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งจะเป็นชื่อที่มีความหมายในทางไม่ดีหรือเชิงดูถูก เช่น กะเหรี่ยง แม้ว เย้า อีก้อ ผีตองเหลือง ส่วย ลาว เจ๊ก ฯลฯ

           2) คำที่ใช้เรียกกลุ่มชนโดยรวม เป็นคำที่ใช้อธิบายถึงกลุ่มชนโดยทั่วไป ได้แก่ คำว่า เชื้อชาติ ชนเผ่า ชนชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ หรือชนพื้นเมือง

           ซึ่งเนื้อหาภายในบทผู้เขียนได้นำเสนอให้เห็นถึงที่มาของคำหลักที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ คือ

           เชื้อชาติ เป็นการยึดเอาลักษณะของสีผิว รูปร่างหน้าตาและสายเลือดมาจำแนกกลุ่มคนในสังคม แต่การจำแนกคนด้วยวิธีนี้ ทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น การเหยียดเชื้อชาติในสังคมอเมริกาที่คนผิวขาวมีความคิดอคติกับคนผิวดำ เป็นต้น

           ชนเผ่า เป็นคำเรียกที่ตกทอดมาจากลัทธิล่าอาณานิคม ซึ่งคนยุโรปใช้เรียกกลุ่มชนดั้งเดิมที่ล้าหลังกว่า เช่น ชาวอินเดียนแดง เป็นต้น ถือเป็นการเมืองอย่างหนึ่งที่ว่าด้วยการแบ่งชนชั้นของคนยุโรปกับกลุ่มชนดั้งเดิม และคำเรียกนี้ก็ได้ขยายมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ในประเทศไทยที่ใช้คำว่า ชนเผ่า ในการเรียกกลุ่มชนที่อยู่บนภูเขาในภาคเหนือ ซึ่งแฝงนัยของความเป็นกลุ่มชนล้าหลัง ด้อยพัฒนาในด้านต่าง ๆ และเป็นกลุ่มที่อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อประเทศ เป็นต้น

           ชนชาติหรือชาติ ใช้เรียกคนกลุ่มใหญ่หรือคนกลุ่มหลักที่มีบทบาททางการเมืองสังคมและวัฒนธรรมเดียวกัน ในพื้นที่หรือดินแดนเดียวกัน

           กลุ่มชาติพันธุ์ ในแต่ละประเทศ จะใช้คำนี้เรียกชนกลุ่มน้อยที่ด้อยอำนาจกว่าในทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรม เช่น คนจีนในประเทศจีน เรียกว่า ชนชาติ แต่คนจีนที่อยู่ในประเทศไทย เรียก กลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น

           ชนพื้นเมือง เป็นกลุ่มชนพื้นถิ่นที่อาศัยอยู่ในดินแดนของตนเองมายาวนาน มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเฉพาะของตนเอง แต่ถูกกลุ่มคนที่อพยพมาใหม่ยึดครอง และเข้ามาครอบงำทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เช่น การที่คนยุโรปเข้าไปตั้งรกรากและรุกล้ำที่ดินของชนพื้นเมืองอินเดียนแดง เป็นต้น

           ซึ่งจะเห็นว่า แม้แต่เรื่องของการเรียกชื่อกลุ่มคนก็ยังสัมพันธ์เรื่องของการเมือง เพราะมีการแบ่งแยกชนชั้นในสังคม หากกลุ่มชนใดที่มีอำนาจน้อยกว่า จะถูกเรียกด้วยชื่อที่มีความหมายในทางลบ หรือชื่อที่แฝงนัยทางการเมืองว่าเป็นกลุ่มที่ด้อยอำนาจกว่าคนกลุ่มใหญ่หรือชนชาติหลักของประเทศ และต้องยอมรับว่าในสังคมไทยปัจจุบัน ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์มีผลต่อความรู้สึกของกลุ่มคนไทย เพราะเพียงแค่ได้ยินชื่อ กะเหรี่ยง แม้ว ม้ง ฯลฯ เราจะมีความรู้สึกทันทีว่า พวกเขาคือชนกลุ่มน้อย คือกลุ่มคนชายขอบที่ด้อยกว่าเรา ถึงแม้บางทีเรายังแยกไม่ออกด้วยซ้ำ ว่าพวกเขาคือกลุ่มชาติพันธุ์ใด แต่เพราะเราเติบโตในกลุ่มคนไทยหรือกลุ่มคนกระแสหลักที่เป็นผู้สร้างคำเรียกเหล่านี้ขึ้นมา จึงถูกปลูกฝังความคิดว่าเราคือคนที่อยู่เหนือกว่า มีอำนาจมากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์ และไม่ว่าจะได้ยินชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ใดก็ตาม ก็จะมีความรู้สึกว่าพวกเขาคือคนที่ด้อยกว่า และเราคือกลุ่มคนที่อยู่เหนือกว่าเสมอ

           บทที่ 3 การเมืองของการจำแนกกลุ่มคนในสังคม

           ในบทที่แล้วผู้เขียนได้กล่าวถึงประเด็นการเรียกชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ไปแล้วว่า แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มีชื่อว่าอะไรบ้าง ในบทนี้จึงเป็นเรื่องของการจำแนกกลุ่มคนภายใต้ดินแดนของตน โดยเกิดขึ้นหลังยุคอาณานิคม เป็นต้นมา ซึ่งผู้นำรัฐบาลของแต่ละประเทศต้องการทราบว่าภายใต้ดินแดนของตนมีใครบ้าง เป็นชนกลุ่มใด อาศัยอยู่ที่ไหน มีจำนวนมากน้อยเพียงใด เพื่อนำมาวางแผนและกำหนดนโยบายในการสร้างชาติ ดังนั้น ผู้นำรัฐบาลจึงต้องพึ่งพานักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านชาติพันธุ์ในการศึกษาข้อมูลทางชาติพันธุ์ของคนในประเทศและจำแนกกลุ่มคนเหล่านั้นโดยใช้หลักทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งนักวิชาการทางด้านมานุษยวิทยาและนักชาติพันธุ์วิทยาในเอเชียต่างก็รับเอาวิธีคิดและหลักการในการจำแนกความแตกต่างของกลุ่มชนมาจากตะวันตก ซึ่งเนื้อหาในบทนี้กล่าวถึง 2 ทฤษฎี คือ

           ทฤษฎีเชื้อชาติ เป็นการจำแนกคนตามเชื้อชาติและอยู่บนความคิดทางชีววิทยา คือ แบ่งตามลักษณะทางกายภาพ รูปร่างลักษณะ แต่วิธีนี้ก็ยังมีช่องว่างตรงที่เกิดการแต่งงานข้ามเชื้อชาติกันไปมา ทำให้ลักษณะทางกายภาพของมนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงไป

           ทฤษฎีภาษา ซึ่งอยู่บนความคิดทางวัฒนธรรมเป็นหลัก โดยการใช้แนวทางภาษาศาสตร์ในการจำแนกความแตกต่างของผู้คน ซึ่งวิธีนี้ก็มีข้อบกพร่อง คือ เมื่อมนุษย์มีการติดต่อสื่อสารถึงกัน จึงมีความเป็นไปได้ที่แต่ละภาษาจะมีส่วนที่เหมือนกัน เช่น ภาษาเวียดนามที่มีคำศัพท์ที่ยืมมาจากภาษาจีน ภาษาอื่น ๆ หลายภาษาที่รับเอาอิทธิพลจากภาษาสันสกฤตเข้ามา เป็นต้น แต่ถึงแม้ว่าการใช้แนวทางภาษาศาสตร์ในการจำแนกความแตกต่างของผู้คนจะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาษาก็ยังคงเป็นเกณฑ์หลักที่นำมาใช้จำแนกความแตกต่างทางชาติพันธุ์อยู่

           จากทฤษฎีข้างต้น ทำให้เกิดสำนักคิด 2 สำนัก ที่มีแนวคิดที่แตกต่างกันและมีบทบาทสำคัญในการจำแนกผู้คนออกเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่

           - สำนักคิดแรก คือ สำนักมาร์กซิสต์-เลนินซิสต์ ซึ่งเริ่มต้นมาจากงานของ Lewis Henry Morgan (ค.ศ. 1818-81) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ที่นำเสนอว่า สังคมมนุษย์ทุกสังคม สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ สังคมป่าเถื่อน (savagery) สังคมอารยชน (barbarism) และสังคมทันสมัย (civilization) ซึ่งแนวทางของ Morgan ส่งผลอย่างมากต่อความคิดของ Karl Marx, Friedrich Engels, V.I. Lenin และ Josef Stalin ซึ่งต่อมาประเทศที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ได้นำมาใช้ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าด้วยชนชาติ (nation) ที่ Stalin นิยามว่าเป็น “วิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ชุมชนที่คงตัวของผู้คน การก่อรูปบนพื้นฐานของภาษา อาณาบริเวณ วิถีเศรษฐกิจ และการสร้างขึ้นในทางจิตวิทยา แล้วสำแดงออกมาเป็นวัฒนธรรมร่วม” (Stalin 1953, p.307) ซึ่งนิยามดังกล่าวได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก แต่นักชาติพันธุ์วิทยาสายมาร์กซิสต์ ก็ใช้นิยามและเกณฑ์ของ Stalin ในการจำแนกความแตกต่างของกลุ่มชนที่ยังก้าวไม่ถึงขั้นของสังคมแบบทุนนิยม ซึ่งอิทธิพลของสำนักคิดนี้ส่งผลต่อนักวิชาการในประเทศสังคมนิยมอย่างจีนและเวียดนาม

           - สำนักคิดที่สอง เป็นมานุษยวิทยาสายอังกฤษ-อเมริกัน ที่ไม่ใช่สายมาร์กซิสต์ ซึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา นักมานุษยวิทยาสายนี้เลือกที่จะให้ความสนใจกับผู้คนที่ยังอยู่ใน “สังคมป่าเถื่อน (savagery)” และ “สังคมอนารยชน (barbarism)” ตามแนวคิดของ Morgan แต่ใช้คำเรียกพวกเขาว่า “ชนเผ่า” ซึ่งก็คือ กลุ่มคนที่ชีวิตเรียบง่าย มีทั้งที่เร่ร่อนและตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ที่แน่นอน พูดภาษาที่มีสำเนียงเดียวกัน มีรูปแบบการปกครองอย่างหลวม ๆ และสามารถรวมตัวกันเพื่อกิจกรรมส่วนรวมได้ เมื่อเข้าสู่ช่วงปี 1950 นักมานุษยวิทยาสายอเมริกัน จึงเริ่มใช้คำว่า “กลุ่มชาติพันธุ์ (ethnic group)” แทนคำอื่น ๆ ที่เคยใช้มา และพัฒนามาเป็น “ชาติพันธุ์สัมพันธ์” ซึ่งให้ความสำคัญกับทฤษฎีภาษามากกว่า โดยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างคนกลุ่มต่าง ๆ ว่าแต่ละกลุ่มคนมีความสัมพันธ์กันอย่างไร และมองว่าลักษณะของกลุ่มคนมีความเป็นพลวัต คือ เป็นสิ่งที่สามารถปรับเปลี่ยนและสร้างขึ้นใหม่ได้ เมื่อเกิดการปฏิสัมพันธ์กับคนกลุ่มอื่นหรือบริบทอื่น เช่น ผลงานของ Edmund Leach เรื่อง Political Systems of Highland Burma เมื่อปี 1954 ซึ่งได้ทำการศึกษากลุ่ม “คะฉิ่น” ที่อยู่บนพื้นที่สูงในพม่า และพบว่า ชาวคะฉิ่นมีภาษาพูดที่หลากหลาย ไม่ใช่ภาษาเดียว มีโครงสร้างทางสังคมหรือความสัมพันธ์ของคนในสังคมที่ผสมผสานกันระหว่าง “คะฉิ่น” กับ “ฉาน” และมีระบบการเมืองการปกครองแบบชนชั้น เป็นต้น ทั้งนี้ อิทธิพลของสำนักคิดนี้ส่งผลต่อการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยและพม่า

           ในกรณีของประเทศไทย ที่ถึงแม้ในระยะแรก คือช่วงปี 2500 – 2510 นักวิชาการด้านชาติพันธุ์จะรับเอาอิทธิพลจากสำนักคิดแรกมาใช้มากกว่า แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2530 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน นักมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาของไทยกลับรับเอาวิธีคิดของสำนักคิดที่สองมาใช้เพื่อศึกษาชาติพันธุ์สัมพันธ์มากขึ้น เนื่องจากลักษณะเฉพาะของแต่ละกลุ่มชนมีความหลากหลาย ไม่คงที่ และมีความเป็นพลวัต ประกอบกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง สังคม และวัฒนธรรมอยู่ตลอด จึงทำให้รัฐบาลและนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับด้านชาติพันธุ์ ต้องศึกษาและหาวิธีในการจำแนกกลุ่มคนให้เหมาะสมต่อไป

           บทที่ 4 กระบวนทัศน์การศึกษาชาติพันธุ์สัมพันธ์

           ในบทนี้นำเสนอให้เห็นถึงกระบวนทัศน์ของการศึกษาชาติพันธุ์ในมุมมองด้านมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา คำว่า “กระบวนทัศน์” คือ มุมมองหรือกรอบในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งในบทนี้กล่าวถึง กระบวนทัศน์ที่นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ใช้ทำความเข้าใจปรากฏการณ์ชาติพันธุ์สัมพันธ์ 3 กระบวนทัศน์ คือ

           1) กระบวนทัศน์พื้นฐานนิยม มองว่า ความเป็นชาติพันธุ์เป็นสิ่งพื้นฐานที่มีอยู่แล้วในแต่ละสังคม เป็นสิ่งที่แต่ละคนในกลุ่มชาติพันธุ์เลือกไม่ได้ ซึ่งเท่ากับว่า หากเกิดมาในกลุ่มชาติพันธุ์ใด ก็จะต้องมีลักษณะพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด เช่น ภาษาที่ใช้สื่อสารกัน จารีตประเพณี ความเชื่อ ศาสนาและพิธีกรรมที่ปฏิบัติกันอยู่แล้วในกลุ่มชน เป็นต้น ซึ่งกระบวนทัศน์นี้มีจุดอ่อน คือ มองทุกอย่างเป็นรูปแบบที่ตายตัว ซึ่งความจริงแล้ว ความเป็นชาติพันธุ์ไม่ได้มีรูปแบบที่ตายตัว แต่มีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงได้ไม่หยุดนิ่ง ดังเช่น งานศึกษาของ Edmund Leach (1954) ที่พบว่า ในประเทศพม่า คนคะฉิ่นที่เป็นกลุ่มชนบนพื้นที่สูง ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นคนฉานหรือไทใหญ่ที่เป็นชนพื้นราบ เป็นต้น ทำให้ปัจจุบันนักวิชาการไม่นิยมใช้กระบวนทัศน์นี้อีกแล้ว

           2) กระบวนทัศน์เครื่องมือนิยม มองว่า ความเป็นชาติพันธุ์เป็นเครื่องมือหรือกลไกในการแสดงบทบาทและสถานภาพทางสังคม เพื่อให้บรรลุผลประโยชน์บางอย่าง ซึ่งในปัจจุบันปรากฏให้เห็นในหลายเหตุการณ์ เช่น การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ที่ชาวกะเหรี่ยงได้ชูอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ ว่าเป็นกลุ่มชนที่อยู่อาศัยและดูแลรักษาป่า เพื่อให้ได้สิทธิในการจัดการทรัพยากรจากรัฐและคนภายนอก หรือในทางการเมืองและการเลือกตั้งที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งพยายามชูอัตลักษณ์ร่วมทางชาติพันธุ์เพื่อเรียกคะแนนเสียงจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่นั้น ๆ เป็นต้น

           3) กระบวนทัศน์การสร้างนิยม มองว่าความเป็นชาติพันธุ์และอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ มีความหลากหลาย สามารถหายไปและสร้างขึ้นใหม่ได้อยู่ตลอดเวลา เช่น “ชาวเขา” ที่หมายถึง 10 กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงในภาคเหนือกับภาคตะวันตกของประเทศไทย คำนี้ไม่เคยมีในสังคมไทย จนกระทั่งเมื่อปี 2502 รัฐบาลมีการจัดตั้งคณะกรรมการชาวเขาขึ้นมาทำงานกับกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าว จึงได้เกิดคำว่า ชาวเขา ขึ้นมา และเมื่อเข้าสู่ปี 2540 ได้มีการสร้างคำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” ขึ้นมาแทนคำว่า “ชาวเขา” เป็นต้น

           ซึ่งการศึกษาชาติพันธุ์สัมพันธ์ในปัจจุบัน เน้นไปที่การใช้กระบวนทัศน์การสร้างนิยม เนื่องจากมีการสร้างตัวตนหรืออัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ให้สัมพันธ์กับบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีทั้งที่เป็นการสร้างโดยคนในกลุ่มชาติพันธุ์และโดยคนภายนอกกลุ่ม ซึ่งการสร้างตัวตนโดยคนภายนอกกลุ่มสร้างให้จะอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และจะเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มคนกระแสหลักหรือกลุ่มผู้ที่มีอำนาจมากกว่าเข้ามามีปฏิสัมพันธ์และควบคุมชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมักเป็นการสร้างให้กลุ่มชาติพันธุ์ดูด้อยกว่า แต่การสร้างตัวตนของคนในกลุ่มชาติพันธุ์เอง ซึ่งจะมีจุดประสงค์เพื่อให้ตนเองได้รับการยอมรับ มีอำนาจต่อรองเพื่อไม่ให้เสียผลประโยชน์ และมีสิทธิเท่าเทียมกับคนในสังคม ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มชาติพันธุ์ “ปกาเกอะญอ” ที่รัฐบาลนิยามให้พวกเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มชาวเขาที่ “ทำไร่เลื่อนลอย” เป็นต้นเหตุของการตัดไม้ทำลายป่าและระบบนิเวศ แต่ชาวปกาเกอะญอ ตอบโต้ด้วยการสร้างชุดความคิดใหม่เกี่ยวกับอัตลักษณ์ของพวกเขาว่า ระบบการผลิตของเขาเป็นการ “ทำไร่หมุนเวียน” และมีวิถีชีวิตที่ผูกพันและอนุรักษ์ธรรมชาติ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนหรือบริบทเปลี่ยน กระบวนทัศน์ที่ใช้ในการอธิบายประเด็นใดประเด็นหนึ่งย่อมสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์และบริบทที่เปลี่ยนไป

           บทที่ 5 รัฐชาติกับชาติพันธุ์สัมพันธ์

           คำว่า รัฐชาติ (nation-state) เป็นคำที่ใช้อธิบายถึงกลุ่มคนที่ผูกติดกับอาณาบริเวณที่มีเส้นแบ่งเขตแดนอย่างชัดเจน และมีรัฐบาลที่มีอำนาจทางการเมืองการปกครองสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักวิชาการแบ่งพัฒนาการของรัฐออกเป็นสองรูปแบบ คือ รัฐก่อนสมัยใหม่และรัฐชาติสมัยใหม่ ซึ่งในบทนี้จะนำเสนอการเมืองว่าด้วย รัฐชาติสมัยใหม่กับชาติพันธุ์สัมพันธ์ ชาตินิยมกับชาติพันธุ์สัมพันธ์ และรัฐกับการพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์

           - รัฐชาติสมัยใหม่กับชาติพันธุ์สัมพันธ์ รัฐ-ชาติสมัยใหม่ (modern nation-state) หรือเรียกสั้น ๆ ว่ารัฐชาติ เกิดขึ้นในยุโรป เมื่อกษัตริย์ที่มีอำนาจมาก ๆ ในฝรั่งเศส อังกฤษ รัสเซีย สเปน สวีเดนและเดนมาร์ก ได้ทำสงครามเพื่อรวมชาติของตนเอง หลังสิ้นสุดสงครามรัฐชาติสมัยใหม่จึงเริ่มก่อรูปขึ้น และขยายตัวไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก โดยองค์ประกอบของรัฐชาติสมัยใหม่มี 4 อย่าง คือ 1) ดินแดนที่มีเส้นแบ่งพรมแดนกับรัฐเพื่อนบ้านอย่างชัดเจน 2) ประชาชนที่เป็นพลเมืองภายใต้รัฐ หรือผู้คนที่ต้องถือสัญชาติตามกฎหมายของรัฐนั้น ๆ 3) รัฐบาลที่เป็นศูนย์กลางของอำนาจหรือเมืองหลวง และ 4) อำนาจอธิปไตยของรัฐที่สามารถใช้กฎหมายหรือนโยบายต่าง ๆ บังคับได้ภายใต้ดินแดนของรัฐ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ไม่สามารถใช้อำนาจข้ามเส้นแบ่งเขตแดนไปยังรัฐอื่นได้ ซึ่งองค์ประกอบของรัฐชาติสมัยใหม่ดังกล่าว มีนัยสำคัญของชาติพันธุ์สัมพันธ์อยู่ เพราะภายใต้ดินแดนของแต่ละรัฐ ประกอบไปด้วยพลเมืองหลากหลายชาติพันธุ์ ไม่ได้มีเพียงชนชาติเดียวที่อาศัยอยู่เท่านั้น โดยจะมีกลุ่มชนกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มหลัก เช่น ประเทศไทยที่มีกลุ่มชนชาติไทเป็นกลุ่มหลัก และมีกลุ่มคนลาว เขมร กูย มอญ กะเหรี่ยง มลายู จีน เวียดนาม ฯลฯ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อยที่ด้อยอำนาจกว่าในทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรม ฉะนั้น ในรัฐชาติจึงไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รัฐบาลของแต่ละประเทศจึงพยายามสร้าง “ชาตินิยม” โดยอยู่บนพื้นฐานของชนชาติกลุ่มใหญ่เป็นหลัก

           - ชาตินิยมกับชาติพันธุ์สัมพันธ์ “ชาตินิยม” ถูกนิยามว่า เป็นการแสดงตัวตนว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของชาติและสนับสนุนประเด็นร่วมต่าง ๆ ของชาติ แต่ในทางตรงกันข้ามก็เป็นการถูกกีดกันหรือทำให้ตัวตนสูญหาย เพราะถูกกลืนกินจากชาติอื่น ซึ่งในมิติของชาตินิยมกับชาติพันธุ์สัมพันธ์ ชาตินิยมถือเป็นอุดมการณ์ทางชาติพันธุ์ที่ยึดถือว่า กลุ่มชาติพันธุ์ของตนควรเป็นกลุ่มที่มีอำนาจเหนือกลุ่มอื่น ๆ และมีอำนาจเหนือรัฐ ดังนั้น ความเป็นรัฐชาติจึงถูกครอบงำโดยกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่มีอำนาจเหนือกลุ่มอื่น ๆ อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ อย่างเช่น ประวัติศาสตร์ ภาษา และศาสนา ของกลุ่มชาติพันธุ์หลักที่มีอำนาจดังกล่าว จึงถูกนำมากำหนดให้เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติและกฎหมายของรัฐ

           จากนิยามของ “ชาตินิยม” ที่ได้กล่าวไปข้างต้น ถึงแม้ชาตินิยมจะเป็นการแสดงตัวตนของการเป็นส่วนหนึ่งของชาติ แต่อีกทางหนึ่งก็เป็นการถูกกีดกันและทำให้ตัวตนสูญหายไปได้ ทำให้เมื่อรัฐบาลมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์เกิดการตอบสนองต่อนโยบายนั้น ซึ่งมีทั้งที่ยอมรับและถูกผสมกลมกลืนให้เป็นส่วนหนึ่งของชาติ ถึงแม้จะต้องสูญเสียตัวตนหรืออัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ไป แต่อีกด้านหนึ่งกลับพบว่ากลุ่มชนบางส่วนมีปฏิกิริยาตอบโต้ที่รุนแรง โดยการใช้อาวุธตอบโต้ต่อรัฐบาล และบางกลุ่มใช้การเจรจาอย่างสันติ แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบในหลายประเทศแล้ว พบว่ารัฐชาติที่ใช้นโยบายรวมกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชาติ เช่น ประเทศไทย เวียดนามและจีน จะประสบความสำเร็จในการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในชาติ แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการที่อัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ถูกกลืนกิน จนทำให้ในปัจจุบันเริ่มเห็นการออกมาอนุรักษ์และเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานในหลาย ๆ ด้าน ขณะที่ประเทศพม่าและศรีลังกาที่ใช้นโยบายกีดกันกลุ่มชาติพันธุ์ออกไปจากกระบวนการสร้างชาติ ต้องประสบปัญหาความขัดแย้งและการถูกต่อต้านจากกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งในบางกลุ่มถึงขั้นจับอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับรัฐบาล และนำมาสู่ความพยายามขอแยกดินแดนหรือการมีประเทศของตนเองในที่สุด

           - รัฐกับการพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์ การเมืองของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับการพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์ ถูกกระทำผ่านวาทกรรมการพัฒนา ซึ่ง “วาทกรรม” หมายถึง รูปแบบความคิดหรือกรอบความคิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และวาทกรรมหรือกรอบความคิดนั้น ก็จะถูกสร้างโดยกลุ่มชนชาติหลักซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐหรือผู้ปกครองรัฐ โดยมักจะสร้างชุดวาทกรรมว่า กลุ่มชาติพันธุ์เป็นพวกล้าหลัง จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องนำเอาความเจริญหรือการพัฒนาในด้านต่าง ๆ เข้าไปให้ ยกตัวอย่างเช่น กรณีของประเทศไทยที่เห็นได้ชัดเจนในกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่บนพื้นที่สูงทางภาคเหนือหรือกลุ่มชาวเขา ที่ถูกสร้างด้วยชุดสร้างด้วยชุดวาทกรรมหรือกรอบความคิดว่า ชาวเขาเป็นคนชายขอบที่รัฐบาลต้องนำการพัฒนาเข้าไปให้ เป็นต้น แต่ทั้งนี้เบื้องหลังของการพัฒนานั้นแฝงไปด้วยวิธีคิดในการหลอมรวมให้กลุ่มชาติพันธุ์เกิดสำนึกในความเป็นชาติเดียวกันกับกลุ่มคนกระแสหลักในประเทศด้วย ดังนั้น รัฐบาลต้องคำนึงถึงผลที่จะตามมา หรือการตอบสนองกลับในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งอาจจะมีทั้งรูปแบบที่นุ่มนวลหรือรุนแรง และยิ่งในยุคโลกาภิวัตน์อย่างในปัจจุบันด้วยแล้ว การตอบสนองของกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับรัฐยิ่งมีพลังมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและแสดงออกมาในหลากหลายรูปแบบ ดังตัวอย่างของการท่องเที่ยวที่ผู้เขียนได้นำเสนอในบทต่อไป

           บทที่ 6 โลกาภิวัตน์กับการท่องเที่ยวชาติพันธุ์

           ในยุคที่กระแสโลกาภิวัตน์ได้แผ่กว้างไปทั่วทุกชุมชน ไม่เว้นแม้แต่ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ห่างไกลจากสังคมเมือง นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศได้เดินทางออกไปสัมผัสกับธรรมชาติและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กันมากขึ้น ทำให้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ถูกทำให้กลายเป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าแก่ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งเจ้าของธุรกิจการท่องเที่ยวและประเทศชาติด้วย ซึ่งการท่องเที่ยวดังกล่าว ทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักท่องเที่ยวกับผู้คนเจ้าของสถานที่ โดยอาจมีเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบุคลากรของภาคธุรกิจการท่องเที่ยวที่เข้ามาเป็นคนกลางในการเชื่อมโยงกระบวนการของการท่องเที่ยวชาติพันธุ์ ซึ่งการปฏิสัมพันธ์ของคนจากหลายภาคส่วนนี้ ทำให้เกิดความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนท่องเที่ยวชาติพันธุ์ในประเทศไทย คือ ชุมชนกะยันหรือกะเหรี่ยงคอยาวในอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งชาวกะยันหรือกะเหรี่ยงคอยาวเป็นกลุ่มผู้อพยพมาจากประเทศพม่าเมื่อประมาณปี 2530 เนื่องจากปัญหาการสู้รบของชนกลุ่มน้อยกับฝ่ายรัฐบาล จึงต้องลี้ภัยเข้ามาอยู่ในประเทศไทย แต่พวกเขาก็ไม่ได้ถูกจัดให้เข้าไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนแบบกะเหรี่ยงทั่วไป แต่เจ้าหน้าที่รัฐของจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้จัดตั้งชุมชนใหม่ขึ้นสำหรับชาวกะยันหรือกะเหรี่ยงคอยาว แล้วชูวิถีชีวิตที่มีลักษณะเฉพาะของพวกเขาเพื่อดึงดูนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชม จนปัจจุบันกะเหรี่ยงคอยาวกลายเป็นสัญลักษณ์หรือจุดขายของการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอนไปแล้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ คือ คนกะเหรี่ยงเป็นจุดขายให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชม แต่พวกเขาต้องถูกจำกัดสถานที่ให้อยู่เฉพาะในหมู่บ้านที่ทางราชการจัดให้เท่านั้น ไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีบัตรประชาชนไม่สามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ ต้องอยู่ภายใต้การกำกับของหัวหน้าที่เป็นคนไทย หากหญิงชาวกะยันคนใดที่ไม่แต่งตัวด้วยชุดคอยาว ก็จะไม่ได้รับค่าตอบแทนรายเดือน รวมทั้งข้าวสารและอาหารจากหัวหน้าที่เป็นคนไทย แต่ทั้งนี้ การที่พวกเขามีวิถีชีวิตที่เป็นลักษณะเฉพาะ ก็สามารถใช้ต่อรองกับรัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ ถึงแม้ว่าชาวบ้านจะเป็นกลุ่มที่ด้อยอำนาจกว่าก็ตาม ซึ่งจากการที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวที่มีกะเหรี่ยงคอยาวเป็นจุดดึงดูด ปัจจุบันจึงมีการทยอยให้สัญชาติแก่พวกเขา เพื่อให้สามารถอยู่ในประเทศไทยได้และลดความกดดันจากองค์กรทางด้านสิทธิมนุษยชนด้วย

           นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้นำเสนอ กระบวนการกลายเป็นสินค้าของการท่องเที่ยวชาติพันธุ์ คือ การเปลี่ยนสินค้าชนิดหนึ่งที่ไม่ได้ถูกระบุว่าเป็นสินค้า ให้กลายเป็นสินค้า โดยผ่านวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดมูลค่าขึ้นมา เช่น ความคิด อัตลักษณ์ เป็นต้น ซึ่งชาวกะยันหรือกะเหรี่ยงคอยาวในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ได้กล่าวไปข้างต้น ก็สามารถใช้เป็นตัวอย่างของการท่องเที่ยวชาติพันธุ์ที่ถูกทำให้กลายเป็นสินค้าได้ เพราะเป็นจุดขายของจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ก่อให้เกิดรายได้แก่ผู้ที่มีอำนาจในควบคุมและจัดการพวกเขา และที่มากไปกว่านั้นคือ พวกเขากลายเป็นสินค้าที่มีการแย่งชิงระหว่างจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดอื่น ๆ ที่ลักลอบนำกะเหรี่ยงคอยาวออกไปจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน เช่น การนำไปแสดงในเทศกาลลอยกระทงที่จังหวัดเชียงใหม่ หรือลักลอบนำออกไปโดยภาคธุรกิจเอกชนที่เป็นเจ้าของรีสอร์ต นอกชุมชนและนอกจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เป็นต้น

           ซึ่งประเด็นของการท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ สำหรับผู้รีวิวมีความคิดเห็นว่า เป็นประเด็นที่มีเรื่องการเมืองและความสัมพันธ์เชิงอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างชัดเจน เพราะเบื้องหลังการท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยจะควบคุมโดยรัฐบาลหรือกลุ่มคนที่มีอำนาจและใช้ประโยชน์จากความเป็นชาติพันธุ์ในการหารายได้ โดยแลกกับสวัสดิการและความสะดวกสบายที่ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์จะได้รับ เช่น ที่อยู่อาศัย ข้าวสารอาหารแห้งสำหรับการดำรงชีพ หรือเงินค่าตอบแทนตามที่ทางราชการจัดให้ อาจจะเรียกได้ว่าต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ ถึงแม้ว่าฝ่ายรัฐบาลดูจะได้ประโยชน์มากกว่า แต่เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อฝ่ายกลุ่มชาติพันธุ์เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากขึ้น สร้างรายได้ให้กับภาคธุรกิจเป็นจำนวนมหาศาลและเริ่มเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์เริ่มมีอำนาจต่อรอง เพื่อเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานได้บ้าง

           ในปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ได้ขยายวงกว้างออกไป ไม่ได้เป็นเพียงแค่การที่คนนอกเข้าไปเที่ยวในชุมชนชาติพันธุ์เท่านั้น แต่ยังเกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันที่อยู่ต่างชุมชนหรือต่างประเทศด้วย เช่น ลูกหลานคนมลายูมุสลิมในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในจังหวัดปัตตานีและจังหวัดใกล้เคียง หรือชาวม้ง ชาวเวียดนาม ชาวลาว และอื่น ๆ ในประเทศตะวันตกที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม เพื่อเยือนถิ่นฐานที่ครั้งหนึ่งตัวเองหรือคนรุ่นพ่อแม่ของตัวเองเคยอาศ

user image

ผู้แนะนำ : ปริยฉัตร เวทยนุกูล


ตำแหน่ง :

นักบริการสารสนเทศ

การศึกษา :

ปริญญาตรี สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์และบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ประสบการณ์ :


ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ