banner image

หนังสือแนะนำ

หน้าแรก / หนังสือแนะนำ / Forests are gold : trees, people, and environmental rule in Vietnam

detail image

Forests are gold : trees, people, and environmental rule in Vietnam

รายละเอียด


ปีที่พิมพ์ :

2016


ผู้แต่ง :

McElwee, Pamela D


เลขเรียกหนังสือ :

SD657.V5 M33 2016


Collection :

Books


ลิงก์หนังสือ :

รายละเอียด :

            Forests Are Gold ผลงานของพาเมลา ดี. แมคเอลวี (Pamela D. McElwee) จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ University of Washington Press (2016)  งานเรื่องนี้ศึกษาวิธีการที่รัฐในเวียดนามใช้จัดการป่าไม้ โดยผู้เขียนได้เรียงลำดับการอธิบายประเด็นศึกษาตามช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์นับตั้งแต่สมัยฝรั่งเศสปกครองเวียดนามจนถึงช่วงเวลาที่เวียดนามเปิดเสรีทางเศรษฐกิจเพื่อมุ่งตอบคำถามสำคัญ คือ ลักษณะของการป่าไม้ในเวียดนามซึ่งสัมพันธ์ต่อการควบคุมพลเมืองและสังคม ตลอดจนทิศทางของการใช้ประโยชน์และจัดการป่าไม้ที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา 

            แมคเอลวีชี้ให้เห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในการป่าไม้ของเวียดนามสามารถเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการอธิบายลักษณะการควบคุมสังคมโดยใช้สิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่การปกครองของฝรั่งเศส ทั้งการวางกฎระเบียบเพื่อควบคุมและป้องกันการท้าทายอำนาจของรัฐอาณานิคม ดังเห็นได้จากการให้คำอธิบายว่าวิถีปฏิบัติเดิมของชาวบ้านตัวการทำลายป่าและระบบนิเวศมากกว่าการจัดการที่ผิดพลาดโดยรัฐ ซึ่งนำไปสู่การกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างรัฐกับคนในพื้นที่ห่างไกลของเวียดนาม นอกจากนี้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการป่าไม้ของฝรั่งเศสยังลงพื้นที่สำรวจและกำหนดพื้นที่ป่าสงวนไว้เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของรัฐเป็นหลักโดยไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของการคำนึงเรื่องระบบนิเวศและความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้แนวการวิเคราะห์ของ แมคเอลวี ยังช่วยให้ผู้อ่านมองเห็นการผสานความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองไว้ในการจัดการป่าไม้ของเวียดนามได้อย่างน่าสนใจ  การป่าไม้ของเวียดนามสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับการควบคุมทางสังคม การกีดกัน และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้เพื่อโครงการพัฒนาแห่งชาติโดยรวม การจัดการป่าไม้ในเวียดนามได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการควบคุมสิ่งแวดล้อมเพื่อควบคุมทั้งทรัพยากรและคน  ด้วยเหตุดังนั้น การปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์และสังคมใหม่จึงเป็นกลไกหนึ่งของรัฐเพื่อกลืนกลายชนกลุ่มน้อยของเวียดนาม  ทั้งนี้ภายใต้บริบทของการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ กลไกการตลาดที่ปรับเปลี่ยนไปไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่เร่งการตัดไม้ในเวียดนาม หาก แมคเอลวี ยังชี้ให้เห็นว่าความไม่ลงรอยระหว่างท้องถิ่นกับหน่วยงานที่ดูแลการป่าไม้ส่วนกลาง นโยบายของรัฐที่สนับสนุนให้เกิดการเคลื่อนย้ายเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ ตลอดจนการบริหารจัดการพื้นที่อย่างไม่มีประสิทธิภาพของกรมป่าไม้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการตัดไม้ในปริมาณมากและไม่สามารถควบคุมได้

            Forests Are Gold จึงเป็นหนังสือแนะนำอีกเล่มที่จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจภาพการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและการควบคุมโดยใช้สิ่งแวดล้อมในเวียดนามได้โดยไม่ผูกติดอยู่เฉพาะกรอบการอธิบายตามทฤษฎีประชากรของมัลธูเชียน มาร์กซิสต์ หรือเสรีนิยมใหม่เท่านั้น หากแต่ในช่วงเวลาอันยาวนานของประวัติศาสตร์เวียดนามนั้นประกอบด้วยแรงขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายและต่างมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน หนังสือเล่มนี้เป็นอีกหนึ่งในงานวิชาการที่พยายามเปิดประเด็นศึกษาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของเวียดนามด้วยมิติทางประวัติศาสตร์ นิเวศวิทยาการเมือง และภูมิศาสตร์วัฒนธรรม  การนำเสนอข้อมูลที่เป็นผลจากการวิจัยภาคสนามอย่างต่อเนื่องทำให้หนังสือเล่มนี้มีความโดดเด่นเรื่องในเรื่องการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างลุ่มลึกท่ามกลางงานวิชาการอื่นๆ ที่ศึกษาประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมของเวียดนาม

หนังสือแนะนำเพิ่มเติม
Danaiya, Usher Ann. Thai Forestry: A Critical History. Chiang Mai: Silkworm Book, 2009.
Forsyth, Timothy, and Walker, Andrew.  Forest Guardians, Forest Destroyers: The Politics of Environmental Knowledge in Northern Thailand. Seattle: University of Washington Press, 2008.

Grove, H. Richard and Sangwan, Satpal.  Nature and the Orient: The Environmental History of South and Southeast Asia. New York: Oxford University Press, 1998.
Kathirithamby-Wells,  Jeyamalar.  Nature and Nation: Forests and Development in Peninsular Malaysia. Singapore: Singapore University Press, 2005.
Sikor, Thomas and Stahl, Johannes.  Forests and People : Property, Governance, and Human Rights. Oxen: New York, 2011.

user image

ผู้แนะนำ : นายธนภาษ เดชพาวุฒิกุล


ตำแหน่ง :

อาจารย์

การศึกษา :

Ph.D. Candidate, International Studies, GSAPS, Waseda University

ประสบการณ์ :

ความสนใจทางวิชาการ 1. ประวัติศาสต์พม่า เน้นยุคอาณานิคม 2. การเมืองชาติพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3. สภาวะสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป 4. ประวัติศาสตร์นิพนธ์พม่าและไทย 5. ประวัติศาสตร์ความคิดว่าด้วยกำเนิดไทยศึกษา


ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ