banner image

หนังสือแนะนำ

หน้าแรก / หนังสือแนะนำ / ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง (ไม่) ห้ามเรื่องการเมือง?

detail image

ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง (ไม่) ห้ามเรื่องการเมือง?

รายละเอียด


ปีที่พิมพ์ :

2564


ผู้แต่ง :

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง


เลขเรียกหนังสือ :

BQ4570.ก65 ค42 2564


Collection :

Books (7th floor)


ลิงก์หนังสือ :

รายละเอียด :

ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง (ไม่) ห้ามเรื่องการเมือง

รูปที่ 1 ปกหนังสือ ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง (ไม่) ห้ามเรื่องการเมือง
หมายเหตุจาก. https://lib.sac.or.th/catalog/BibItem.aspx?BibID=b00099464

 

           สังคมไทยรับเอาอารยธรรมจากอินเดียเข้ามาแต่นานเนิ่น ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอินเดีย เป็นความสัมพันธ์ในมิติทางศาสนาและวัฒนธรรม ทั้งศาสนาพุทธและพราหมณ์ คติความเชื่อแบบพุทธ-พราหมณ์ เข้ามามีอิทธิพลเหนือจิตใจของประชาชนแถบนี้มายาวนานนับพันปี สยามหรือไทยรับเอาคติความเชื่อ จารีต และวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั้งภาษา วรรณกรรม ศิลปกรรม และประเพณีต่าง ๆ จากนั้นนำมาประยุกต์ และปรับให้เหมาะสมกับความเป็นสยาม หรือความเป็นรัฐไทย มีโครงสร้างของอำนาจที่กำหนดไว้ตามคติแห่งพุทธ-พราหมณ์ จึงไม่เกินความเป็นจริงหากจะกล่าวว่า เราสร้างสังคมไทยและชาติไทยขึ้นมาจากองค์ประกอบทางความเชื่อที่นำเข้ามาจากอินเดีย

           ศาสนากับการเมืองในสังคมไทย ที่สังคมมองว่า “ไม่เกี่ยวข้องกัน” การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจทางโลก อำนาจที่ฉ้อฉล แสวงหาประโยชน์ ไม่เป็นธรรม ขณะที่ “ศาสนา” จะถูกมองว่าอยู่ฝั่งตรงข้าม ปล่อยวางอำนาจ เสียสละ มุ่งสู่การหลุดพ้นทางธรรม แสวงหาความจริงสูงสุด หรือ ความสุขอันเป็นนิรันดร์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช เขียนไว้ในคำนิยมหนังสือเล่มนี้ว่า “ศาสนาแบบจารีตในสังคมไทยเป็นการเมืองเสียยิ่งกว่าการเมือง อีนุงตุงนังกับชีวิตเราอย่างแยกไม่ออก เข้ามาก้าวก่าย หรือ ละเมิดสิทธิ์ของเราโดยที่เราไม่รู้ตัว หรือรู้ตัวแต่ทำอะไรไม่ได้ ศาสนาพุทธ (ไทย) เป็นการเมืองที่สุด ฝักใฝ่อำนาจที่สุด ตรวจสอบไม่ได้ที่สุด” ขณะที่มหาเถรสมาคม หรือฝ่ายปกครองคณะสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนไม่ยอมรับ และมักอ้างว่า “ศาสนาไม่ควรเกี่ยวข้องกับการเมือง” ต้องแยกขาดจากกัน พระภิกษุ สามเณร ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่หากนิยามการเมืองคือ “อำนาจนานาชนิด ที่ใช้บริการจัดการทรัพยากร” แล้ว ศาสนาเองก็ไม่อาจรอดพ้นไปจากการเมืองได้ การใช้อำนาจต่าง ๆ ทางศาสนา  การปกครองคณะสงฆ์ การจัดอันดับฐานันดรพระ สมณศักดิ์ของพระ และอื่น ๆ ที่แฝงเร้นอยู่ เป็นสิ่งยืนยันความมีอยู่ของการเมืองในพุทธศาสนา (ไทย) หนังสือ “ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง (ไม่) ห้ามเรื่องการเมือง” เปิดมุมมองใหม่ของผู้อ่านต่อเรื่องศาสนากับการเมืองทั้งเรื่องผี พราหมณ์ ฮินดู ไสยศาสตร์ พุทธศาสนา และข้อเสนอการปฏิรูปศาสนาไปพร้อมกับการเมือง

           ผู้ช่วยศาสตราจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา  คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ คอลัมนิสต์ประจำในมติชนสุดสัปดาห์ เจ้าของคอลัมน์ “ผี-พราหมณ์-พุทธ” จบการศึกษา ศิลปศาสตรบัณฑิต (การสื่อสารมวลชน) เกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (2547) และอักษรศาสตรมหาบัณฑิต (ปรัชญา) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2551) มีความถนัดและสนใจด้านปรัชญาอินเดีย ศาสนาฮินดู ศาสนากับสังคม

           หนังสือ “ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง (ไม่) ห้ามเรื่องการเมือง” เป็นหนังสือรวมบทความจากคอลัมน์ “ผี พราหมณ์ พุทธ” ในมติชนสุดสัปดาห์ ผู้เขียนต้องการรวบรวมและนำเสนอประเด็นปรากฏการณ์ทางศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเอาไว้ด้วยกันโดยแบ่งบทความทั้งหมดออกเป็น 4 ประเด็นคือ พุทธธรรมกับการเมือง พราหมณ์-ฮินดูกับการเมือง และความศักดิ์สิทธิ์ ไสยศาสตร์กับการช่วงชิงความหมายในการเมืองไทย และส่วนสุดท้าย เป็นข้อเสนอแนวทางการปฏิรูปศาสนาไปพร้อมกับการเมือง

           ประเด็นแรก “พุทธธรรมกับการเมือง” มี 14 บทความ เป็นบทความเกี่ยวกับการ “ตีความ” พุทธธรรม ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองในมุมมองต่าง ๆ ทั้งสร้างสรรค์ และไม่สร้างสรรค์ บทความส่วนหนึ่งเป็นตัวอย่างของการตีความศาสนธรรมอย่างสร้างสรรค์ เช่น บทความเกี่ยวกับโพธิจิต หรือ จิตแห่งการตรัสรู้ ตามคำสอนของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และวัชรยาน เป็นคำสอนเกี่ยวพันกับ “หัวใจ” และ “ความรู้สึก” ที่ละเอียดอ่อน ลึกซึ้งในการที่จะรัก และรับรู้ความทุกข์ของผู้อื่นหรือ “สรรพสัตว์” อีกส่วนนำเสนอการตีความศาสนธรรมที่ไม่สร้างสรรค์ มีการตีความหลักศาสนธรรมเพื่อเป้าหมายทางการเมืองบางอย่าง โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์บ้านเมือง เหตุการณ์ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย ทั้งการเมืองภายนอกและการเมืองภายในศาสนจักร ซึ่งเป็นไปตามแนวทางอำนาจนิยมและเผด็จการนิยม

           ประเด็นที่ 2 พราหมณ์-ฮินดูกับการเมืองและความศักดิ์สิทธิ์ มี 11 บทความ เป็นบทความเกี่ยวกับอิทธิพลอินเดียกับศาสนาฮินดู หรือวัฒนธรรมพราหมณ์ที่ส่งผลต่อความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรมของไทย เป็นหนึ่งในเครื่องมือสถาปนาอำนาจของชนชั้นสูงผ่านพิธีกรรม หรือความเชื่อแบบพราหมณ์ เช่น วัฒนธรรมหมอบกราบ งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ขณะเดียวกันผู้แต่งมองว่าอินเดียเป็นสังคมขนาดใหญ่และมีวัฒนธรรมคล้ายกับไทย ซึ่งปัจจุบันศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีพลวัต และกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังเช่น ข้อถกเถียงเรื่องสถานที่เกิดของพระราม หรือการที่เทพต้องขึ้นศาล เทพกับการเมืองถือว่าเป็นตัวอย่างของการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับศาสนาอย่างเปิดเผย และควรเรียนรู้เพื่อเป็นกรณีศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางศาสนาในสังคมไทย

           ประเด็นที่ 3 ไสยศาสตร์กับการช่วงชิงความหมายในการเมืองไทย มี 7 บทความ นำเสนอประเด็นความเชื่อและไสยศาสตร์ในสังคมไทย เพราะไสยศาสตร์และความเชื่อผสมผสานเข้ากับวิถีชีวิตของคนไทยได้อย่างกลมกลืน และมีมาทุกยุคทุกสมัย การนำเอาไสยศาสตร์หรือเวทมนตร์ มาใช้ในพิธีกรรมเพื่อจุดหมายทางการเมือง เป็นเครื่องมือในการชักนำความเชื่อและสร้างความชอบธรรมให้แก่กลุ่มตน เพื่อสร้างความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งการใช้อำนาจ และความชอบธรรมในการคัดค้าน ต่อต้าน และการขับไล่ผู้นำ/ชนชั้นสูง

           ประเด็นที่ 4 ข้อเสนอ : ปฏิรูปศาสนาไปพร้อมกับการเมือง มี 6 บทความ เป็นข้อเสนอเบื้องต้น โดยเฉพาะเรื่องการแยกศาสนาออกจากรัฐ เนื่องจากมองเห็นโทษและภัยของการที่องค์กรทางศาสนากำลังรับใช้รัฐ หรือทำตัวเป็นรัฐ ด้วยปรารถนาให้ศาสนาสามารถดำรงอยู่อย่างมีความหมายต่อในสังคมไทย ผู้เขียนตั้งคำถามเกี่ยวกับวัฒนธรรมการอวย หรือการอำนวยประโยชน์ระหว่างกันของคณะปกครองสงฆ์ กับผู้มีอำนาจปกครอง การใช้ราชาศัพท์กับพระราชาคณะ และระบบสมณศักดิ์ของคณะสงฆ์ ขณะเดียวกันก็เสนอแนะหลายเรื่อง เช่น ให้พรรคการเมืองมีนโยบายทางศาสนาในการหาเสียงเลือกตั้ง ให้ตั้งฌาปนสถานสำหรับผู้ไม่นับถือศาสนา ให้แยกศาสนาออกจากรัฐ พร้อมยกตัวอย่างการสร้างรัฐฆราวาสแบบอินเดีย

           หนังสือ “ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง (ไม่) ห้ามเรื่องการเมือง” เป็นความพยายามของผู้เขียนในการนำเสนอเกร็ดทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ปรัชญา และมุมมองต่อประเด็นศาสนาและการเมืองในสังคมไทย-อินเดีย ด้วยท่าทีสนใจใคร่รู้ ชวนคิด ชวนคุย ชวนตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เราสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมและทำความเข้าใจได้ หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับนักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ศาสนา-การเมือง อาจารย์ นักศึกษา ครู และนักเรียนที่สนใจประวัติศาสตร์ศาสนา โดยเฉพาะประเด็นศาสนากับสังคมและการเมืองไทย

user image

ผู้แนะนำ : อนันต์ สมมูล


ตำแหน่ง :

นักบริการสารสนเทศ

การศึกษา :

บรรณารักษ์ศาสตร์

ประสบการณ์ :


ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ