banner image

หนังสือแนะนำ

หน้าแรก / หนังสือแนะนำ / เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว : ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียนไทย

detail image

เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว : ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียนไทย

รายละเอียด


ปีที่พิมพ์ :

2565


ผู้แต่ง :

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์


เลขเรียกหนังสือ :

LB3607 .ภ62 2565


Collection :

Books (7th floor)


ลิงก์หนังสือ :

รายละเอียด :

เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว: ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียนไทย

หนังสือ เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว: ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียนไทย 

มีให้บริการที่ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสรินธร

 

           แค่เพียงได้เห็นชื่อหนังสือข้าพเจ้าก็เลือกที่จะหยิบไว้ในรายการหนังสือที่อยากอ่าน ด้วยความสนเท่ห์กับการลงโทษลงทัณฑ์ และความต้องการจัดระเบียบร่างกายของเยาวชนผ่านกฎระเบียบที่สถานศึกษากำหนดขึ้นมาโดยอ้างถึงความเหมาะสม ความเรียบร้อย วัฒนธรรมและ “กฎ” ของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ยังคงไม่รู้สาเหตุและประโยชน์ที่แน่ชัดว่าเพราะเหตุใดจึงมีการให้ความสนใจกับการจัดการร่างกายของนักเรียนมากเกินความจำเป็น

           ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณฑ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ได้ใช้ “โรงเรียน” และ “ปรากฏการณ์ที่มีความเคลื่อนไหวของนักเรียนต่อระบบการศึกษา” เป็น “สนาม” และ “แหล่งข้อมูล” ในการวิเคราะห์ปัจจัยและบริบทต่าง ๆ สำหรับการสำรวจความรุนแรงในสถานศึกษา ตลอดจนการนำไปสู่การลุกขึ้นสู้ของนักเรียน ในห้วงเวลาตั้งแต่ หลังการปฏิวัติวัติสยาม ปี พ.ศ. 2475 จนถึง ปี พ.ศ. 2563

           ผู้เขียนได้ให้คำจำกัดความของการจัดระเบียบร่างกายของเยาวชนในประวัติศาสตร์รัฐชาติไทยด้วยคำว่า “ระเบียบวินัยฉบับวัฒนธรรม” ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการปฏิวัติสยาม 2475 ที่มีรูปแบบตั้งต้นมาจากระเบียบวินัยแบบทหารในการควบคุมเรือนร่าง การแต่งกาย การเข้าแถวหน้าเสาธง เป็นต้น แนวคิดดังกล่าวมีส่วนในการสร้างความชอบธรรมต่อการจัดระเบียบเรือนร่างและพื้นที่ในโรงเรียนด้วยความปรารถนาของรัฐที่ต้องการควบคุมพลเมืองให้เป็นไปตามคุณลักษณะที่รัฐพึงประสงค์ โดยผู้เขียนได้กล่าวถึงกฎหมาย แนวปฏิบัติ การดำเนินงานโดยคณะกรรมการต่างๆ ที่รัฐนำมาใช้เพื่อการควบคุมพฤติกรรมและวัฒนธรรมของเยาวชน ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดมารยาทผ่านกฎหมายวัฒนธรรมแห่งชาติ, กัมการสอดส่องวัธนธัมของประชาชนชาวไทย, พระราชบัญญัติจัดการฝึกและอบรมเด็กบางจำพวก พุทธศักราช 2479, การประกาศคุณลักษณะเยาวชนที่รัฐพึงประสงค์ผ่านคำขวัญวันเด็ก, การออกเพลงหน้าที่เด็ก รวมถึงการประกาศค่านิยมหลัก 12 ประการ ตามนโยบาย คสช.

           เพื่อให้เยาวชนมีคุณลักษณะทางพฤติกรรมและวัฒนธรรมตามที่รัฐต้องการ โรงเรียนจึงเป็นสถานที่สำคัญที่ต้องขัดเกลาเยาวชนให้เป็นไปตามกรอบที่รัฐกำหนดไว้ กระทรวงศึกษาธิการจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการวางมาตรฐานทั้งทางด้านการศึกษาและคุณลักษณะของนักเรียน โดยรับนโยบายจากรัฐถ่ายทอดเป็นหลักสูตรการจัดการศึกษาและการปฏิบัติตนให้เป็นพลเมืองที่ดีของชาติ

           การควบคุมเครื่องแบบและทรงผมของนักเรียนจึงเป็นเครื่องมือแบบหนึ่งที่รับไทยนำมาใช้ในการควบคุมเรือนร่างของนักเรียนอย่างเป็นรูปธรรม

“ชุดนักเรียนกลายเป็นเครื่องแบบสำหรับสามัญชนในร่างของเยาวชน มันได้จัดระเบียบเรือนร่างของเด็กและเยาวชนที่มีลักษณะแตกต่างกันไปตามสถานภาพของครอบครัวให้อยู่ในเรือนร่างแบบเดียวกัน”

           ขณะที่ทรงผมของนักเรียนนั้น มีการกำหนดสิ่งที่สามารถทำได้และไม่สามารถทำได้ ทั้งในเรื่องความยาวของผม การดัดและจัดแต่งทรงผม ซึ่งระเบียบเหล่านี้จะสอดคล้องกับแนวทางของรัฐโดยเฉพาะหากเป็นช่วงยุคสมัยที่รัฐบาลมาจากคณะปฏิวัติ หรือยุคที่ผู้นำรัฐมาจากกองทัพ ความเคร่งครัดของเครื่องแบบนักเรียน การแต่งกาย ทรงผม รวมถึงกิริยามารยาทจะถูกควบคุมมากเป็นพิเศษ

           อย่างไรก็ตาม รั้วสถานศึกษากลับเป็นพื้นที่หนึ่งที่ปรากฏเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น สาเหตุหนึ่งมาจากการควบคุมวินัยและการลงโทษที่มากเกินกว่าเหตุ ไม่ว่าจะเป็น การกล้อนผมนักเรียน การยึดโทรศัพท์มือถือของนักเรียนที่ทรงผมผิดระเบียบ การตัดแต้มนักเรียนที่ทรงผมผิดระเบียบ รวมไปถึงความรุนแรงจากกรณีอื่น เช่น การล่วงละเมิดทางเพศ การลงโทษด้วยการเฆี่ยนตี การลงทำด้วยการทำให้อับอาย เป็นต้น สิ่งที่ทำให้ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนไม่ทุเลาลง ไม่เพียงแค่เรื่องของแนวคิดที่เกี่ยวข้องการการลงโทษนักเรียนที่ความประพฤติไม่เหมาะสมจากกรอบของโรงเรียนหรือครู แต่ปัญหาใหญ่น่าจะเกิดจากการใช้อำนาจ และความเชื่อที่ของครูในการละเมิดสิทธิเสรีภาพต่อร่างการและชีวิตของเด็กได้

           ไม่เพียงแต่การควบคุมต่อรูปลักษณ์ภายนอก รัฐไทยยังคงบรรจุกลไกการจัดระเบียบวินัยต่อเยาวชนในสถานศึกษาด้วยการจัดพื้นที่ทำกิจกรรมหน้าเสาธง ซึ่งเป็นพิธิกรรมที่ถูกทำให้เป็นมาตรฐานสถานศึกษาที่ถูกระบุไว้ในการทำประกันคุณภาพของสถานศึกษา กิจกรรมหน้าเสาธงนั้นถูกใช้เป็นพื้นที่ในการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัติรย์ ขณะที่กิจกรรมหน้าเสาธงนั้น ถูกนับเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่งในสถานศึกษาเนื่องจากสภาพอากาศในประเทศไทยที่ส่งผลต่อปัญหาในด้านสุขภาพของนักเรียน

           แม้ว่ารัฐไทยจะพยายามกำหนดกรอบความประพฤติของเยาวชนที่พึงประสงค์ไว้ในแต่ละยุคสมัย สิ่งหนึ่งที่ปรากฏควบคู่กันไปก็คือการลุกขึ้นสู้ของคณะนักเรียนที่ไม่ยอมถูกโครงสร้างอำนาจของรัฐกดทับไว้ตลอดเวลา ในประวัติศาสตร์ช่วง 14 ตุลาฯ 2516 พบขบวนการนักศึกษาที่พยายามออกมามีบทบาทในการเรียกร้องประชาธิปไตยและแสดงออกเพื่อทวงถามสิทธิเสรีภาพผ่านกิจกรรมการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่าง ๆ ขณะที่ในยุคปัจจุบันพลังของโซเชียลมีเดียเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการออกมาเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้ของนักเรียนและนักศึกษาต่อความไม่เป็นธรรม การลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และทวงถามต่อการปฏิรูประบบการศึกษา ดังจะเห็นได้จากข่าวคราวความเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชน เช่น สมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษา กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท กลุ่มเยาวชนปลดแอก กลุ่มนักเรียนเลว โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาสมัยใหม่ที่ใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนเรื่องการรณรงค์ต่าง ๆ

           ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ทำให้สังคมเริ่มหันมาให้ความสนใจความรุนแรงและปัญหาที่เกิดขึ้นในรั้วสถานศึกษาของประเทศไทย โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง มักจะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน แต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ก็พบกับแรงต้านจากกลุ่มครูและผู้ปกครองที่ไม่เห็นด้วยอยู่มากพอสมควร นอกจากแรงต้านจากกลุ่มครูและผู้ปกครองแล้ว สิ่งที่โต้ตอบความเคลื่อนไหวของเหล่านักเรียนนักศึกษาอย่างรุนแรง คือปฏิกิริยาจากภาครัฐที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่อนุญาตให้กลุ่มเยาวชนสามารถทำกิจกรรมเคลื่อนไหวได้อย่างใจชอบ ไม่ว่าจะเป็น การฉีดน้ำผสมสารสีเพื่อสลายการชุมนุม การสั่งห้ามแสดงจุดยืนด้วยการชูสามนิ้ว รวมไปถึงการดำเนินคดีต่อแกนนำกลุ่มเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหว

           สมรภูมิการต่อสู้เพื่อสิทธิในร่างกายของเยาวชนยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางข้อกำหนดเพื่อการควบคุมทางด้านร่างกายและพฤติกรรมที่รัฐพึงใช้ต่อประชาชน การตรวจตราสอดส่องความเรียบร้อยของเยาวชนที่รัฐมอบหมายให้เป็นอำนาจของสถานศึกษาจึงกลายเป็นเครื่องมือในการตรวจตรา จับผิด ขณะเดียวกันก็กลายเป็นการควบคุมและละเมิดเสรีภาพในเรือนร่างของเยาวชน ลดทอนความเป็นปัจเจกให้อยู่ภายใต้ระเบียบวินัยเดียวกัน

user image

ผู้แนะนำ : จรรยา ยุทธพลนาวี


ตำแหน่ง :

รักษาการผู้จัดการฝ่ายบริการสารสนเทศ

การศึกษา :

ปริญญาโท สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ประสบการณ์ :


ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ