banner image

หนังสือแนะนำ

หน้าแรก / หนังสือแนะนำ / พจนานุกรมสร้างชาติ : อุดมการณ์รัฐไทยในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน

detail image

พจนานุกรมสร้างชาติ : อุดมการณ์รัฐไทยในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน

รายละเอียด


ปีที่พิมพ์ :

2565


ผู้แต่ง :

มานิตา ศรีสิตานนท์ เหลืองกระจ่าง


เลขเรียกหนังสือ :

JQ1745 .ม63 2565


Collection :

Books (7th floor)


ลิงก์หนังสือ :

รายละเอียด :

พจนานุกรมสร้างชาติ: อุดมการณ์รัฐไทยในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน

หนังสือ พจนานุกรมสร้างชาติ: อุดมการณ์รัฐไทยในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน มีให้บริการที่ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสรินธร

 

           หนังสือ พจนานุกรมสร้างชาติ: อุดมการณ์รัฐไทยในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
เขียนโดย ดร.มานิตา ศรีสิตานนท์ เหลืองกระจ่าง อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยพัฒนาและสาธิตการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน เมื่อปี พ.ศ.2565

           หนังสือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งเป็นหนังสือประเภทอ้างอิงที่มีความสำคัญ ทำหน้าที่รวบรวมคำ การกำหนดอักขรวิธี การอ่าน ความหมาย ตลอดจนประวัติที่มาของคำ และเป็นแบบมาตรฐานอ้างอิงทางภาษาชนิดหนึ่ง1 นอกจากหน้าที่ของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ดังที่กล่าวมา ยังได้สอดแทรกอุดมการณ์รัฐไทย ในเรื่อง “ชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์” สู่ภาษาไทยที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งหนังสือพจนานุกรมสร้างชาติฯ จะช่วยจุดชนวนความคิดเรื่องอุดมการณ์รัฐไทยนี้ผ่านการศึกษาพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานให้กระจ่างและเข้าใจมากขึ้น

           โดยหนังสือได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 6 บท ที่ทำความเข้าใจตั้งแต่จุดเริ่มต้นของพจนานุกรมต่างประเทศ สู่พจนานุกรมในประเทศไทย และใช้พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานในการทำการศึกษา โดยศึกษาผ่านพลวัตความหมาย “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ทั้ง 4 เล่ม ได้แก่ ฉบับ พ.ศ.2493,ฉบับ พ.ศ.2525, ฉบับ พ.ศ.2542 และ ฉบับ พ.ศ.2554

           ผู้เขียนเริ่มจากการอธิบายว่าพจนานุกรมในยุคแรกจัดทำอยู่ในรูปแบบศิลาจารึก โดยเป็นการบันทึกคำศัพท์และความหมาย ต่อมาได้พัฒนามาจนสู่ยุคที่มีการเขียน และการพิมพ์ ประวัติศาสตร์พจนานุกรมในต่างประเทศ ยุคแรกจะเริ่มเขียนด้วยบุคคล เช่น อิซิดอร์ ออฟ เซอวิลล์ (Isidore of Seville) นักบวชชาวสเปน ผู้จัดทำ Etymologicaeพจนานุกรมภาษาละติน และต่อมาผู้ผลิตได้ขยายใหญ่เป็นองค์กรในการจัดทำพจนานุกรม ในประเทศไทยเริ่มในยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์สมัยอยุธยา หนังสือคำศัพท์ไทยเล่มแรกรู้จักในชื่อของ “จินดามณี” ที่รวบรวมคำศัพท์และแบบเรียนภาษาไทย หลังจากนั้นก็หนังสือคำศัพท์อื่น ๆ เกิดขึ้นมา จนถึงในปัจจุบันที่มีพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ในการศึกษาภาษานอกจากจะเป็นเครื่องมือในการสื่อสารยังเป็นเครื่องมือที่สามารถสะท้อนถึงความรู้สึก ความคิด ทั้งการเชื่อมโยงความคิดและจิตใจ รวมถึงบริบททางสังคมและการเมือง การศึกษามานุษยวิทยาทางภาษาอาจช่วยให้ทราบถึงลักษณะที่แท้จริงของภาษา ที่มาของภาษาและผลกระทบที่ได้มาจากภาษา เช่น ภาษาศาสตร์มาร์กซิสม์ ที่กล่าวว่าภาษาเป็นสิ่งที่แทรกอุดมการณ์ในชีวิตของคน ภาษามาตรฐาน ที่มีการแบ่งออกทั้งภาษากับปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เป็นการให้ความสำคัญกับภาษาในเชิงวัสดุสื่อสาร การพูด การอ่าน ภาษากับการสร้างชาติ หากพูดภาษาแบบเดียวกันก็ถือเป็นชาติเดียวกัน และอุดมการณ์ทางภาษา ที่เป็นการศึกษาภาษาเชื่อมโยงกับมิติอื่น ๆ ที่หลากหลาย เช่น สังคม การเมือง กฎหมาย การศึกษาในโรงเรียน

           เนื่องจากพจนานุกรมเป็นหนังสือรวบรวมคำที่มีอยู่ในภาษาตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน พจนานุกรมจึงสามารถสะท้อนบันทึกประวัติศาสตร์ทางสังคมที่มีประโยชน์ มีการใช้อย่างแพร่หลายและเข้าใจความหมายของคำในภาษา หนังสือเล่มนี้จึงเลือกศึกษาพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมคำ การกำหนดอักขรวิธี การอ่าน ความหมาย ตลอดจนประวัติที่มาของคำ และเป็นแบบมาตรฐานอ้างอิงทางภาษาชนิดหนึ่ง ในฐานะบันทึกประวัติศาสตร์ไม่ได้มองว่าใช้เพียงแค่สำหรับการเรียนภาษาเท่านั้น แต่เพื่อให้เห็นถึงกระบวนการการสร้างและเปลี่ยนแปลงนิยาม “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ในแต่ละยุค ที่สามารถสะท้อนอุดมการณ์รัฐได้ เช่น เมื่อพิจารณาหนังสือพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ในคำว่า “ชาติ” ฉบับ พ.ศ. 2493 ให้ความหมายเน้นไปที่การสร้างความเป็นหนึ่งในเชื้อชาติที่นำไปสู่อุดมการณ์ชาตินิยมในยุคสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ฉบับ พ.ศ. 2525 กล่าวถึงชาติที่มีพื้นฐานจากการสร้างสำนึกในความเป็นชาติผ่านภาษา วัฒนธรรม และประเพณี เพื่อความเป็นชาติสู่การสร้างมาตรฐาน ในฉบับ พ.ศ. 2542 ที่สร้างมาตรฐานของภาษาในประเทศโดยกำหนดให้ภาษาไทยเป็นภาษาวัฒนธรรมของชาติ และในฉบับ พ.ศ. 2554 ได้สะท้อนคำว่าชาติในภาพของประวัติศาสตร์ สำนึกความเป็นชาติ ให้เห็นเป็นรูปธรรมและเน้นมโนทัศน์ความเป็น “ชาติ” ในสิ่งที่รัฐต้องการนำเสนอ

           มองได้ว่าการศึกษาพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานในคำว่า “ชาติ” ก็สามารถสะท้อนได้ว่ารัฐพยายามสร้างนิยามคำว่าชาติในแต่ละยุค เพียงเพื่อสร้างสำนึกความเป็นชาติ ให้เห็นเป็นรูปธรรมและเน้นมโนทัศน์ความเป็น “ชาติ” ผ่านคำในภาษา ยกตัวอย่างอุดมการณ์ในการสร้างชาติของรัฐ เช่น การอาศัยสถาบันการศึกษาภาษาไทย ผ่านการใช้พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานในการสอนหรือการให้นิยามคำศัพท์ในการเรียนหรือการใช้คำราชาศัพท์กับสถาบันกษัตริย์ ที่แทรกซึมทำให้คนได้รับวัฒนธรรมและอุดมการณ์ผ่านการใช้ภาษา ภาษาจึงเป็นกลไกหนึ่งที่รัฐนำมาใช้ในการปกครองพลเมืองไว้ ซึ่งจัดอยู่ในประเภทกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ (Ideological State Apparatuses-ISAs) เช่น องค์กรศาสนา สถาบันการศึกษา ครอบครัวการเมือง พรรคการเมือง ฯลฯ และได้นำภาษานั้นส่งผ่านอุดมการณ์ที่ชนชั้นปกครองถ่ายทอดสู่ชนชั้นแรงงานเพื่อทำให้ระบบได้ดำเนินการอย่างราบรื่น

           จากการอ่านหนังสือพจนานุกรมสร้างชาติ: อุดมการณ์รัฐไทยในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พบว่าความคิดเรื่องของ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งที่รัฐมักจะกำหนดให้ประชาชนรู้สึกหรือปฏิบัติตาม ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง หากแต่เป็นการอาศัยทุนทางวัฒนธรรมในเรื่องภาษาสอดแทรกผ่านสื่อการศึกษาทางภาษาหลักในประเทศ เช่น พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน แต่ถึงอย่างนั้นหนังสือพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานก็ไม่สามารถบังคับความคิดประชาชนได้เสมอไป เนื่องจากภาษามีการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา เช่น การรับวัฒนธรรมอื่น ๆ เข้ามา หรือการเกิดคำศัพท์ใหม่ในสังคมปัจจุบัน ทำให้ภาษาไม่มีความตายตัว เช่นเดียวกับความคิดของคน สุดท้ายแล้วหนังสือเล่มนี้ต้องการให้เกิดการตระหนักความสำคัญของภาษา เกิดความเคารพทางความคิดและความหลากหลายทางภาษา และยังมีการศึกษาภาษา
ในเครื่องมืออื่น ๆ ที่ไม่ใช่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เช่น วรรณกรรมแบบเรียนหรือการพูดภาษาท้องถิ่น เพื่อเข้าใจบริบทของภาษามากขึ้น

user image

ผู้แนะนำ : วรินกานต์ ศรีชมภู


ตำแหน่ง :

นักบริการสารสนเทศ

การศึกษา :

ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร

ประสบการณ์ :


ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ