banner image

หนังสือแนะนำ

หน้าแรก / หนังสือแนะนำ / When we vote พลวัตการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในอาเซียน

detail image

When we vote พลวัตการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในอาเซียน

รายละเอียด


ปีที่พิมพ์ :

2563


ผู้แต่ง :

ประจักษ์ ก้องกีรติ


เลขเรียกหนังสือ :

JQ1749.A15 ป463 2563


Collection :

Books


ลิงก์หนังสือ :

รายละเอียด :


 “การเลือกตั้ง” และ “ประชาธิปไตย” ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ก็อยู่ในสถานการณ์ที่พลิกผันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะเช่นกัน ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในบทแรกของเนื้อหาว่า
“...ทั้ง 4 ประเทศ กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายสำคัญซึ่งสะท้อนออกมาจากแบบแผนพฤติกรรมและการตัดสินใจทางการเมืองที่กลุ่มชนชั้นนำและพรรคการเมืองที่ครองอำนาจอยู่เดิมสูญเสียอำนาจไป หรือถูกสั่นคลอนอำนาจจนไม่อาจครองสถานะการผูกขาดทางการเมืองอย่างเหนียวแน่นและมั่นคงเหมือนเดิม  ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สะท้อนว่าการเลือกตั้งในภูมิภาคเอเชีตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่ที่มีการแข่งขันทางการเมืองสูงขึ้น มิใช่พื้นที่ของารผูกขาดครอบงำอำนาจแบบที่นักวิชาการในอดีตนำเสนอ...”[i]

มาเลเซีย : ประเด็นปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งของมาเลเซียคือการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบไม่ยุติธรรมและการกระจายผู้ลงคะแนนระหว่างเขตเลือกตั้งต่างๆ อย่างไม่เสมอกัน ซึ่งฝ่ายพรรครัฐบาลที่มีฐานเสียงกับชาวมาเลย์ชนบทได้จัดเขตเลือกตั้งที่ตนเองจะได้รับผลประโยชน์มากที่สุด ใช้นโยบายหาเสียงกับความกังวลของคนมาเลย์เรื่องอัตลักษณ์ของประเทศที่อาจเปลี่ยนไป
ขณะที่คนรุ่นใหม่ ชาวมาเลย์ในเขตเมือง และกลุ่มชาวจีนได้ลงคะแนนเสียงให้พรรคฝ่ายค้านมากขึ้น รวมถึงการควบคุมสื่อของรัฐบาลมาเลเซียที่ปิดกั้นการเสนอความคิดที่ไม่ต้องการให้ถกเถียงในสาธารณะทั้งประเด็นชาติพันธุ์และการวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล แต่พลวัตที่สำคัญที่มีผลต่อการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 2013 คือการเข้าถึงโซเชียลมีเดียที่เพิ่มขึ้นของประชาชนมาเลเซียที่ทำให้การเข้าถึงข่าวสาร การรณรงค์และการให้ความรู้ของภาคประชาสังคมเกิดเพิ่มขึ้นและกว้างขวางกว่าแต่ก่อน
การเลือกตั้งทั่วไปปี ค.ศ. 2018 เป็นการยุติการเมืองแบบพรรคเดียวของ UMNO หรือพรรคฝ่ายรัฐบาล ประชาชนชาวมาเลเซียลงคะแนนเสียงเพื่อปรับเปลี่ยนทิศทางของประเทศหลังจากผิดหวังกับการเมืองแบบอุปถัมภ์ คอร์รัปชั่น และปัญหาค่าครองชีพที่รัฐบาลพรรค UMNO ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

อินโดนีเซีย : ภายหลังการปกครองระบอบเผด็จการทหารของนายพลซูฮาร์โต ในปี ค.ศ.1988 อินโดนีเซียก็เดินหน้าปรับเปลี่ยนประเทศเข้าสู่ประชาธิปไตย ถึงแม้มีการเลือกตั้งมาแล้ว 5 ครั้งแต่ก็มีการปรับกฎหมายการเลือกตั้งและพรรคการเมืองโดยตลอด ความซับซ้อนของระบบการเมืองในอินโดนีเซียเริ่มต้นจากพรรคการเมืองถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยสัมพันธ์กับกลุ่มทางสังคมและวัฒนธรรม ทั้งจากกลุ่มมุสลิมสายเคร่งครัดและกลุ่มเคร่งครัดน้อยกว่า นโยบายของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ไม่แตกต่างกันมากนักสะท้อนให้เห็นว่าพรรคการเมืองต่างมุ่งหวังที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองรูปแบบอุปถัมภ์
การเลือกตั้งครั้งล่าสุดของอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 2019  เป็นครั้งแรกของประเทศที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสภาผู้แทนราษฎรพร้อมกัน โดยโจโก วิโดโด หรือโจโกวี ยังคงได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดหลังจากได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองทรงอิทธิพลอย่าง Golkar และมีแนวร่วมกว่า 10 พรรคด้วยกัน ซึ่งต่างจากการเลือกตั้งที่เขาชนะมาในปี ค.ศ. 2014 ที่ใช้การหาเสียงโดยพึ่งพิงเครือข่ายอาสาสมัครและการใช้สื่อ

ฟิลิปปินส์ : ถึงแม้จะเป็นประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยเก่าแก่มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มที่มีบทบาทหลักในการเมืองคือกลุ่มผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นและตระกูลการเมืองซึ่งครอบงำการเมืองฟิลิปปินส์มาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าการโค่นล้มผู้นำเผด็จการอย่างเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส เมื่อปี ค.ศ. 1986 จะทำให้ประชาชนมีความหวังว่าการครอบงำจากชนชั้นนำจะจบลง แต่ผลการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในปี ค.ศ. 2013 และ 2016 กลับไม่เป็นเช่นนั้น
โรดริโก ดูแตร์เต ผู้ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์รอบล่าสุดเป็นทายาทจากตระกูลการเมืองที่แข็งแกร่ง เขาใช้นโยบายเดียวกับที่เคยทำสำเร็จในระดับท้องถิ่นคือเรื่องของความมั่นคงและความปลอดภัยมาเป็นประเด็นหลัก รวมถึงการใช้สื่อออนไลน์และแคมเปญทางโซเชียลมีเดียด้วยการสนับสนุนจากผู้มีอิทธิพลทางความคิด (Influencers) มาเป็นกระบอกเสียง เชื่อมต่อมวลชนทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ การวางแผนหาเสียงอย่างมีประสิทธิภาพทำให้เขาได้รับความไว้วางใจจากประชาชนฟิลิปปินส์และได้เป็นประธานาธิบดี

ไทย :  ผู้เขียนเห็นว่า การเมืองของประเทศไทยที่ค่อนข้างซับซ้อนกว่าประเทศเพื่อนบ้าน มีจุดเปลี่ยนและจุดพลิกผันอยู่หลายประการด้วยกัน นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยภายหลังรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด ภายหลังจากการเกิดรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 โดยพลเอกสนธิ บุญยรัตนกลิน ได้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญเดิมและจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่ส่งผลให้การแข่งขันในการเลือกตั้งมีเสรีภาพที่จำกัด
ขณะที่การเลือกตั้งที่ถูกบันทึกว่าเต็มไปด้วยความรุนแรงอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เกิดขึ้นภายหลังจากรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผลักดันพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเข้าสู่สภา และพรรคประชาธิปัตย์ขอลาออกจากการเป็น ส.ส. เพื่อกดดันให้เกิดการยุบสภา รวมถึงการประกาศ “บอยคอต” การเลือกตั้ง นำมวลชนไปสู่การชุมนุม กปปส. และขัดขวางการเลือกตั้ง จนคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งในวันนั้น และกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นมาใหม่
แต่ประเทศไทยก็ยังไม่ได้มีโอกาสพบกับการเลือกตั้ง เพราะกองทัพที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเข้ายึดอำนาจด้วยรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และอยู่ในอำนาจนานกว่า 5 ปี ก่อนที่จะประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม 2562

การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นอีกครั้งที่การเลือกตั้งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เริ่มจากการที่คณะ คสช. ออกแบบระบบเลือกตั้งใหม่ มีการแบ่งเขตเลือกตั้งที่สร้างความได้เปรียบให้กับพรรคการเมืองที่สนับสนุนคณะรัฐประหาร และจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐเพื่อเข้าแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนี้
นอกจากนี้ ยังมีความผิดปกติจากผลการลงคะแนนอันเป็นข้อครหาที่นำไปสู่การกำหนดศัพท์ “บัตรเขย่ง”  องค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งและผู้เชี่ยวชาญต่างลงความเห็นตรงกันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ “ไม่อิสระ ไม่ยุติธรรม และขาดความเป็นประชาธิปไตย”
เมื่อนำระบบการเมืองและการเลือกตั้งของทั้ง 4 ประเทศมาเปรียบเทียบกัน จะเห็นว่ามาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์กำลังอยู่ในช่วงของการสร้างพรรคการเมืองที่เข้มแข็งซึ่งจะส่งผลสู่การพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศ แตกต่างจากในประเทศไทยซึ่งเคยมีการปฏิรูปการเมืองในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 และถูกตัดทิ้งความสำคัญไปในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

นอกจากระบบพรรคการเมือง ระบบเลือกตั้ง ระบบอุปถัมภ์ จะเป็นตัวแปรสำคัญในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง อีกปัจจัยหนึ่งที่มีบทบาทไม่น้อยก็คือ “สื่อ” ซึ่งสามารถชี้นำและเป็นตัวการควบคุมช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของคู่ต่อสู้ทางการเมืองแต่ละฝ่ายได้อย่างดี รวมถึงการแบ่งแยกทางสังคมที่นำไปสู่ความขัดแย้งและการแบ่งแยกขั้วการเมืองได้

 
[i] จากเนื้อหาบางส่วนของบทที่ 1 สัญญาณแห่งความเปลี่ยนแปลง: การเลือกตั้งและประชาธิปไตยในมาเลเซีย อินโดนีเซีย          ฟิลลิปปินส์และไทย หน้า 3

user image

ผู้แนะนำ : จรรยา ยุทธพลนาวี


ตำแหน่ง :

รักษาการผู้จัดการฝ่ายบริการสารสนเทศ

การศึกษา :

ปริญญาโท สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ประสบการณ์ :


ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ