banner image

หนังสือแนะนำ

หน้าแรก / หนังสือแนะนำ / Culture for sale : จุดเปลี่ยน ทางกลับ วัฒนธรรมโลกาภิวัตน์

detail image

Culture for sale : จุดเปลี่ยน ทางกลับ วัฒนธรรมโลกาภิวัตน์

รายละเอียด


ปีที่พิมพ์ :

2546


ผู้แต่ง :

ณัฐกานต์ ลิ่มสถาพร


เลขเรียกหนังสือ :

HM101.ณ63 2546


Collection :

Books (7th floor)


ลิงก์หนังสือ :

รายละเอียด :

Culture for Sale จุดเปลี่ยน ทางกลับ วัฒนธรรมโลกาภิวัตน์

หนังสือ “Culture for sale จุดเปลี่ยน ทางกลับ วัฒนธรรมโลกาภิวัฒน์” โดย ณัฐกานต์ ลิ่มสถาพร

มีให้บริการที่ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

 

           ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ ล้วนต้องการเอาผลประโยชน์จากวัฒนธรรม ซึ่งก็คือการแปลงวัฒนธรรมให้กลายเป็นสินค้าแล้วขาย!! “ณัฐกานต์ ลิ่มสถาพร” นักเขียนที่ผลิตผลงานภายใต้กรอบความคิดทางวัฒนธรรม และเชื่อมั่นว่าวัฒนธรรมเป็นแกนกลางของสังคม จึงได้นำความคิดนี้มากลั่นกรองและแปลงออกมาเป็นหนังสือ “Culture for Sale จุดเปลี่ยน ทางกลับ วัฒนธรรม โลกาภิวัตน์” เล่มนี้

           หากกล่าวถึงประเทศไทย ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและกลไกตลาดเสรี กำลังมุ่งหน้าเพื่อพัฒนาประเทศในด้านเศรษฐกิจประเทศอาจมีทางรอด แต่ในด้านวัฒนธรรมอาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเราเปิดประตูต้อนรับวัฒนธรรมโลกาภิวัตน์ในทุกๆ ด้านของการเปลี่ยนแปลง ในหนังสือเล่มนี้จะชี้ให้เห็นถึงการรุกรานทางเศรษฐกิจจากประเทศมหาอำนาจในโลกตะวันตก การครอบงำให้ผู้คนหันมาหลงความทันสมัยทางวัตถุมากกว่าความเจริญทางวัฒนธรรมและจิตใจ การปล่อยให้ลัทธิบริโภคนิยมเข้ามาแทนที่ค่านิยมขนบธรรมเนียมประเพณี และยังมีเรื่องต่างๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย“

           ณัฐกานต์ ลิ่มสถาพร” ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ต้องการให้ผู้อ่านมองเห็นทิศทางการเคลื่อนย้ายทางวัฒนธรรมของโลก ผ่านกระบวนการทุนนิยมโลกในมิติเศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ จนกลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยหนังสือเล่มนี้มีทั้งหมด 20 บท และเคยตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ (ปีที่ 49 ฉบับที่ 29 -49/2546) รวมเป็นระยะเวลา 5 เดือนเต็ม โดยในแต่ละบทจะเชื่อมโยงกัน ทำให้สามารถอ่านต่อไปได้อย่างลื่นไหล

           ยกตัวอย่างในบทแรก ผู้เขียนเริ่มที่เรื่อง “เทคโนโลยีกับแรงกระเพื่อมทางวัฒนธรรม” ซึ่งในบทนี้ ผู้เขียนได้กล่าวไว้ว่าสิ่งที่เชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตเข้าด้วยกันคือวัฒนธรรม อดีตได้กลายเป็นเครื่องนำทางความคิด ความต้องการ และการแสวงหาความเป็นไปต่างๆ ของอนาคต “ค่าของอดีตเท่ากับประวัติศาสตร์เท่ากับผลผลิตทางวัฒนธรรม” ซึ่งการเปลี่ยนแปลงผลผลิตทางวัฒนธรรมนั้น เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมและมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหลากหลายรูปแบบนี้ ได้บอกเราว่าเราได้เข้ามาอยู่ในอีกยุคสมัยหนึ่งแล้วและเราเรียกยุคที่สภาวะของปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมได้ก่อตัวเป็นกระแสครอบคลุมไปทั่วโลกนี้ว่า “โลกาภิวัตน์ (Globalization)” ซึ่งจะทำให้เกิดวัฒนธรรมนานาชาติขึ้น

           ผู้เขียนกล่าวว่าเนื้อแท้ของโลกาภิวัตน์ คือ การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านสารสนเทศ การขนส่งและโทรคมนาคม ทำให้เกิดเครือข่ายการติดต่อเชื่อมโยงกันในทุกๆ ด้าน ซึ่งมาพร้อมกับการขยายตัวของระบบทุนนิยม เกิดเป็นเศรษฐกิจที่ไร้พรมแดนขึ้น ที่สำคัญก็คือกระแสวัฒนธรรมที่มีรากฐานอยู่ที่ทุนนิยมตะวันตกได้แพร่ขยายไปทั่วโลก ส่งผลกระทบในการเข้าไปมีอิทธิพลครอบงำวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างๆ และเป็นเรื่องยากที่จะจับทิศทางของการเปลี่ยนแปลงว่ามีจุดหมายปลายทางไปทางไหน การเผชิญหน้ากับโลกาภิวัตน์จึงจำเป็นต้องใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ มากกว่าความถูกต้องของหลักวิชาและทฤษฎีต่าง ๆ

           เมื่อเริ่มบทแรกด้วยการกล่าวถึงเรื่องเทคโนโลยีกับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ผู้เขียนได้เชื่อมโยงไปยังบทที่ 2 “ปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและความเข้าใจยุคสมัย” โดยผู้เขียนได้หยิบยกประเด็นที่ว่า ปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์ในขณะนี้มีผลต่อปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและความเข้าใจต่อยุคสมัย ทั้งในอดีตและปัจจุบันอย่างไร? ซึ่งผู้เขียนได้กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะปิดกั้นกระแส โลกาภิวัตน์ เพราะกระแสที่ว่านี้ได้รับการต้อนรับและส่งเสริมจากนโยบายการค้าเสรีของแทบทุกประเทศทั่วโลก จะเห็นว่าประเทศต่างๆ พากันแสวงหาพันธมิตรทางการค้า ธุรกิจ และอุตสาหกรรม มาสนับสนุนทั้งด้านทุน เทคโนโลยีการผลิต และช่องทางการตลาด อาจเรียกได้ว่า การยอมรับระบบการตลาดและแบบแผนการดำเนินธุรกิจที่เหมือนๆ กันนี้ คือ “วัฒนธรรมร่วม” ที่ซึมเข้ามาผสานกับวัฒนธรรมเดิมของเราจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งสังคมไทยมีลักษณะวัฒนธรรมแบบผสมผสาน ทั้งสายจีน อินเดีย รวมไปถึงตะวันตก เรารับมาประยุกต์ใช้กับสิ่งที่เรามีอยู่ เราไม่ใช่ประเทศที่มีเทคโนโลยีเป็นของตนเองจนเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ เราไม่ใช่ประเทศที่ส่งออกด้านนวัตกรรม เราจึงไม่มีอะไรให้ต่างชาติเจริญรอยตามทางวัตถุ ในขณะที่เราอยากส่งออกทางด้านวัฒนธรรม แต่ก็ไม่มีขีดความสามารถที่ได้มาตรฐานในการนำเสนอภาพพจน์ทางวัฒนรรม เราเป็นได้แค่ผู้ซื้อเทคโนโลยีที่ดีจากประเทศตะวันตก และมีพฤติกรรมที่ชอบใช้เทคโนโลยีทันสมัย จนในที่สุด เราก็ถูกบีบให้เจริญรอยตามเส้นทางของประเทศเจ้าของเทคโนโลยี

           ในกระแสความเปลี่ยนแปลงโลกาภิวัตน์ที่ไหลทะลักเข้าสู่สังคมไทย ส่งผลกระทบกับวัฒนธรรมไทยทั้งทางบวกและทางลบ อยู่ที่ว่าเราสามารถที่จะเลือกกลั่นกรองสิ่งที่เป็นบวกมาประยุกต์ใช้มากน้อยแค่ไหน การไหลทะลักของโลกาภิวัตน์นี้ทำให้เกิดการถ่ายเททางวัฒนธรรม วัฒนธรรมที่ไม่แข็งแรงจะค่อยๆ หดหายไป จากนั้นจะมีการพัฒนาวัฒนธรรมของตนให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งในปัจจุบันอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันออกได้เข้าไปปรากฏในวัฒนธรรมตะวันตกบ้างแล้ว เช่น มีผู้กำกับภาพยนตร์และนักแสดงจากเอเชียเข้าไปมีบทบาทสูงในอุตสาหกรรมการผลิตภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด เป็นต้น เรียกได้ว่าเป็นการรู้จักใช้ความเข้มแข็งทางความคิดไปแปรเป็นทุนทางเศรษฐกิจ

           ผู้เขียนยังได้กล่าวอีกว่า ขณะที่ยุคสารสนเทศและการค้าเสรีกำลังบีบโลกให้กลายเป็นสังคมและวัฒนธรรมเดียวกัน เมื่อโลกาภิวัตน์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมเช่นนี้ แต่ละประเทศก็ได้หันกลับมาค้นหาเอกลักษณ์ของตนเอง ด้วยกลัวว่าจะถูกกลืนโดยกระแสของระบบทุนนิยมและการค้าเสรี ทุกประเทศหันมาใช้วัฒนธรรมเป็นอาวุธในการป้องกันตัวเอง ด้วยการทำวัฒนธรรมให้เป็นสินค้าแล้วแข่งกันขาย เพื่อรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเอง ไม่ให้ถูกกลืนหายไป

           โดยการเขียนหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่บทที่ 2 เป็นต้นไป ไม่ว่าผู้เขียนจะจับกรอบความคิดใดขึ้นมาพิจารณา สุดท้ายแล้ว ผู้เขียนจะยกกรอบความคิดนั้นมาเชื่อมโยงในบริบทของสังคมและวัฒนธรรมไทยเสมอ ซึ่งนอกจาก 2 เรื่องที่ยกตัวอย่างไปข้างต้นแล้ว ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกหลายบทที่น่าสนใจ เช่น จุดเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรม เศรษฐศาสตร์วัฒนธรรม โลกยุคใหม่ในความเชื่อไสยศาสตร์สงครามทางวัฒนธรรม ความรุนแรงทางวัฒนธรรม โลกไร้พรมแดนในมิติวัฒนธรรม เป็นต้น ซึ่งผู้อ่านจะได้สัมผัสถึงสำนวนภาษา สไตล์การเขียนที่น่าสนใจและไม่น่าเบื่อของ “ณัฐกานต์ ลิ่มสถาพร” และยังได้ฉุกคิดกับคำถามที่ผู้เขียนได้ทิ้งไว้ในตอนท้ายของแต่ละบทเสมอ

user image

ผู้แนะนำ : ปริยฉัตร เวทยนุกูล


ตำแหน่ง :

นักบริการสารสนเทศ

การศึกษา :

ปริญญาตรี สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์และบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ประสบการณ์ :


ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ