
|
นักสะสมรักษาเมล็ดพันธุ์แห่งขุนเขา
ประเด็นร้อนแรงทางสังคมที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง ‘CPTPP’ อันว่าด้วยเรื่องความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ที่เกิดข้อถกเถียงทั้งจากภาครัฐ นักวิชาการ สื่อสาธารณะ หรือแม้กระทั่งภาคประชาสังคมต่างตื่นตัวต่อสภาวะการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยคำถามยอดฮิตที่ว่า “ประเทศไทยได้หรือเสียประโยชน์” กระแสหนึ่งถูกโหมกระหน่ำถึงผลกระทบต่อภาคการเกษตร ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องสิทธิในเมล็ดพันธุ์พืชที่ดูจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและอ่อนไหวหลายประการถูกหยิบมาพูดถึง จากที่กล่าวมาในข้างต้นเลยจะชวนทุกคนลองหันมามองกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่มีวิถีการดำรงชีพอิงอยู่กับการเกษตร พึ่งพาธรรมชาติ พวกเขาสั่งสมความรู้ประสบการณ์ กระทั่งภูมิปัญญา จนได้รับการขนานนามว่า “นักสะสมเมล็ดพันธุ์แห่งขุนเขา”
นักสะสมเมล็ดพันธุ์แห่งขุนเขาคือใคร ?
“เขาอยู่กับไร่ เขาอยู่ที่สูง เขาทำอาหาร เขาสะสมเมล็ดพันธุ์” จากคำใบ้ใครทายถูกยกนิ้วให้ แต่ถ้าใครยังฉงนสงสัยเราจะชวนมาทำความรู้จักเขากัน
นักสะสมเมล็ดพันธุ์ที่กล่าวถึงไม่ใช่ใครที่ไหน เขาคือ หญิงสาวและแม่บ้านชาวกะเหรี่ยง นั่นเอง โดยหน้าที่แล้วผู้หญิงจะมีบทบาทและผูกพันอยู่กับไร่มากกว่าผู้ชาย ตั้งแต่การปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยว หรือแม้กระทั่งการคัดเลือกและกระบวนการเก็บรักษาพันธุ์พืชเช่นกัน ส่วนผู้ชายจะเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือในขั้นตอนที่ผู้หญิงทำไม่ได้ เช่น การล้อมรั้ว การสร้างกระท่อมไร่ และทำพิธีกรรมต่างๆ
รอบปีการผลิตในไร่หมุนเวียนเริ่มตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ ถางไร่ ทำแนวกันไฟแล้วจึงเผาไร่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่คนทั้งหมู่บ้านต้องช่วยกันดูแลไม่ให้ออกนอกเขตแนวกันไฟ ก่อนวันเผาไร่ ผู้หญิงหรือแม่บ้านแต่ละครัวเรือนจะนำเมล็ดพันธุ์พืชที่เก็บไว้ตามที่ต่างๆ เช่น เหนือเตาไฟและยุ้งข้าวมาเตรียมไว้ เช้าตรู่ของวันใหม่ หลังจากเผาไร่ หญิงสาวและแม่บ้านจะนำพันธุ์พืชนานาชนิดไปปลูกในไร่ การที่ออกไปปลูกพืชแต่เช้าตรู่เพราะพืชบางชนิดสามารถขึ้นได้ดีในขณะที่ดินยังร้อนระอุอยู่ เช่น ข้าวโพด เผือก มัน และฟักทอง เป็นต้น ผู้หญิงชาวกะเหรี่ยงจะแบ่งประเภทเมล็ดพันธุ์ที่ต้องปลูกก่อนและปลูกหลังการปลูกข้าวไร่ ขณะเดียวกันก็เชี่ยวชาญและสังเกตเห็นว่าพันธุ์พืชประเภทไหนเจริญเติบโตได้ดีในดินประเภทใด เช่น ดินจอมปลวก เหมาะแก่การปลูกพืชบางอย่าง มันเทศ พริก ส่วนดินที่มีการเผาเศษไม้เหมาะแก่การปลูกพริก มะเขือ เป็นต้น ผู้หญิงกะเหรี่ยงจึงได้รับการยกย่องจากชุมชนว่า เป็นผู้ที่มีความละเอียดรอบคอบ และเป็นนักสะสมเมล็ดพันธุ์พืชที่ดี ถ้าไม่มีพันธุ์พืชใดก็จะตระเวนไปเยี่ยมญาติพี่น้องและขอมา
แคร่เหนือเตาไฟ ภูมิปัญญาการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์
นอกเหนือจากยุ้งข้าวที่อยู่บริเวณไม่ไกลจากเรือนที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งสะสมอาหาร เครื่องปรุง และเมล็ดพันธุ์โดยทั่วไปแล้ว ยังมีอีกแหล่งหนึ่งทำหน้าที่เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไว้อย่างดีเช่นกัน “แคร่เหนือเตาไฟ” ภูมิปัญญาการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์
เมื่อมองเข้าไปเราจะเห็นความหลากหลายที่ซุกซ่อนอยู่ ห้องครัวของกะเหรี่ยงถูกออกแบบมาให้เหมาะสมสำหรับการเก็บรักษาพันธุ์พืช กล่าวคือโครงสร้างหลักทำด้วยไม้ ไม้ไผ่สับฝาก หลังคามุงด้วยใบตองตึง หญ้าคาหรือใบหวาย กลางห้องมีเตาไฟสำหรับหุงต้มอาหารลักษณะเป็นเหลี่ยม มีเสาตั้งอยู่แต่ละมุม และมีแคร่เป็นชั้นวางของบนเตาไฟ 2-3 ชั้นด้วยกัน
ชั้นแรกมีไว้สำหรับตากข้าวเปลือกให้แห้ง สำหรับตำข้าวเปลือกในวันรุ่งขึ้นหรือตากห่อถั่วเน่าให้แห้ง ทั้งยังเป็นที่เก็บถนอมอาหาร เนื้อ ปลา รมควันแห้ง เครื่องเทศ เป็นต้น
ชั้นที่สองมีไว้สำหรับเก็บรักษาพันธุ์พืชเป็นส่วนใหญ่ เช่น พริกกะเหรี่ยง ข้าวโพด โดยอาจเก็บเมล็ดในภาชนะต่างๆ เก็บทั้งฝักหรือช่อของเมล็ด นอกจากนี้ยังเก็บสัมภาระต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เครื่องครัวต่างๆ หรืออุปกรณ์การเกษตรบางส่วน เช่น ดอกด้ามมีด ด้ามค้อน
ชั้นที่สามจะเก็บอุปกรณ์ทำการเกษตรมากกว่า เช่น เสื่อตีข้าว ใบพัดข้าว เป็นต้น และบางครั้งยังเก็บรักษาสมุนไพรบางชนิดไว้ด้วย
สาเหตุที่ต้องเก็บรักษาพันธุ์พืชในห้องครัวเพราะเป็นห้องที่มีไออุ่นจากเตาไฟตลอด ฉะนั้นสัตว์ต่างๆ เช่น มอด หนู และแมลงต่างๆ จึงไม่สามารถเข้ามากินหรือทำลายเมล็ดพันธุ์ได้ อีกทั้งห้องครัวเป็นห้องที่ไม่ชื้น เมล็ดพันธุ์ที่เก็บรักษาจะไม่ขึ้นรา พร้อมปลูกกับข้าวไร่หมุนเวียนปีถัดไป
เชื่อมโยงพิธีกรรม
พิธีกินข้าวใหม่ พิธีกรรมของชาวกะเหรี่ยง นอกจากจะนำข้าวมาทำพิธีเพื่อยกย่องและให้คุณค่าข้าวว่าเป็นของสูงแล้ว ยังมีการนำอุปกรณ์ในครัว เช่น เตาไฟ หม้อหุงข้าว ครกตำข้าว ถังข้าวสาร รวมถึงแคร่เหนือเตาไฟ (เสอะ กิ๊ เต่อ) มาทำพิธีด้วยเช่นกัน โดยอุปกรณ์ทุกชิ้นจะถูกมัดรวมกันด้วยเถาวัลย์ชนิดหนึ่ง เรียกว่า “กิ๊ โก่ เด๊าะ” จากนั้นนำอุปกรณ์หรือพืชและสัตว์ที่เป็นของแสดง เช่น ผักขม เผือกมัน กบ เขียด มาต้มรวมกันเป็นแกงป่า เมื่อสุกแล้วนำพืชผักและสัตว์เหล่านี้มาคลุกกับข้าวใหม่ ปั้นเป็นข้าว 8 คำ ซึ่ง 3 คำแรก วางบนเตาไฟ 3 เตา และอธิษฐานต่อเตาว่า “ท่านเป็นแม่เป็นพ่อ ท่านเป็นนักเฝ้าดูแล ทำให้ท่านร้อนหน้าร้อนตาตลอดเวลา ท่านเป็นผู้อดทนอดกลั้น ตอนนี้เราทำพิธีกินข้าวใหม่ เราจะให้ท่านกินเป็นคนแรก” เมื่ออธิษฐานจบ จะนำข้าวอีก 4 คำ ไปวางบนแคร่เหนือเตาไฟ ที่เหลืออีก 1 คำ ให้ผู้เป็นพ่อหรือแม่กิน เพื่อตอกย้ำให้ลูกหลานสำนึกคุณค่าของข้าว และเครื่องมือทุกชิ้น รวมทั้งการยกย่องให้ความเคารพเตาไฟและแคร่หรือชั้นวางของเหนือเตาไฟว่าเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับข้าวก่อนที่จะมาถึงคน จึงนับว่าเป็นการให้คุณค่าอย่างสูงต่อสิ่งเหล่านี้
รู้จักเมล็ดพันธุ์
การเก็บรักษาพันธุ์พืชเป็นการปลูก/ผลิตซ้ำ ผ่านการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ที่สุดตามประสบการณ์ความเชื่อ และคุณลักษณะเหมาะสำหรับการขยายพันธุ์ คือ เมล็ดอวบอ้วน ไม่ลีบ ข้อดีของเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นมีคุณสมบัติแข็งแรง ต้านทานโรคสูง และด้วยความที่เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมจึงทำให้เจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมท้องถิ่น ขณะเดียวกันพันธุ์พืชท้องถิ่นหลายชนิดอาศัยปลูกตามริมรั้ว บางชนิดถูกโปรยในนาไร่ร่วมกับข้าวไร่ พร้อมกับความหลากหลายของพืชพรรณบางพื้นที่ร่วมกว่าร้อยชนิด
ตัวอย่างเมล็ดพันธุ์
ฟักทอง : พืชที่ปลูกตามริมรั้วบ้างปลูกในไร่เป็นพืชที่มีเถาเลื้อย
ข้าวโพด : พืชที่ปลูกหลังจากการเผาไร่ เช้าตรูที่ดินยังร้อนระอุจะรีบไปปลูก โดยเว้นระยะห่างพอสมควรเพื่อมิให้แย่งอาหารกัน เมื่อเก็บเกี่ยวผลที่สมบูรณ์จะถูกนำมาแกะเปลือกและห้อยไว้เหนือเตาไฟ
แตงไร่ : พืชที่ใช้เมล็ดผสมกับเมล็ดพันธุ์ข้าว หยอดลงในหลุมพร้อมกันเป็นพืชเลื้อยตามดิน จึงไม่เกี่ยวพันตามต้นไม้ ให้เกิดความยุ่งยากเวลาเกี่ยวข้าว
พริก : ส่วนใหญ่เป็นพริกกะเหรี่ยง ลักษณะเรียวยาว เมล็ดถูกหว่านพร้อมกับตอนปลูกข้าวไร่เมื่อเก็บผลผลิตในเดือนพฤศจิกายน ส่วนหนึ่งจะถูกเก็บเมล็ดพันธุ์จากต้นเดิมไว้ปลูกในปีต่อ ๆ ไป
กะเพราแดง (ห่อวอ) : นำมามัดติดปลายด้ามเสียม เวลาเฉาะหลุมเกิดการกระแทกสั่นสะเทือนลงดินทำให้เมล็ดปลิวไปและสามารถงอกขึ้นทั่วไร่ได้
ผักกาด : พืชที่ปลูกโดยใช้เมล็ดหว่านบริเวณใกล้ตอไม้หรือเศษไม้ที่ถูกเผาหรือบริเวณใกล้ดินจอมปลวก
อ้างอิง
-
Blog ประกอบสื่อ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. Infographic นักสะสมเมล็ดพันธุ์แห่งขุนเขา จาก ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ในประเทศไทย: https://www.sac.or.th/databases/ethnicredb/stat.php
-
ประเสริฐ ตระการศุภกร. (2557). รายงาน ความหลากหลายพันธุ์พืช ไร่หมุนเวียนและผู้หญิง ความเป็นหนึ่งที่สืบทอดความคงอยู่ของความหลากหลายพันธุ์พืช ภายใต้โครงการจัดการสิ่งแวดล้อมและไร่หมุนเวียน. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ค้นคืนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2563 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/research-item-search.php?ob_id=187
-
มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา. (2555). ภูมิปัญญาในการรักษาพืชพันธุ์อาหารและการจัดการทรัพยากรป่า 9 ชาติพันธุ์. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. ค้นคืนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2563 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ในประเทศไทย : https://www.sac.or.th/databases/ethnicredb/research_detail.php?id=2086
-
ประเสริฐ ตระการศุภกร. (2540). การสืบทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบการทำไร่หมุนเวียนของชุมชนเผ่ากะเหรี่ยง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาการศึกษานอกระบบ) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
|