พระอัจฉริยภาพด้านภาษาและวรรณศิลป์

         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตั้งแต่ชั้นประถมจนทรงจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยโลซานน์ ในสาขาวิชากฎหมายและวิชารัฐศาสตร์ ทรงรอบรู้ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาละตินเป็นอย่างดี

          พระองค์ทรงศึกษาภาษาไทยอย่างจริงจังเมื่อทรงเจริญวัยแล้ว และทรงใช้ภาษาไทยได้เป็นที่จับใจทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในงานด้านวรรณศิลป์ไม่น้อยไปกว่าศิลปะสาขาอื่น

พระราชนิพนธ์เรื่องแรกคือ พระราชานุกิจรัชการที่๘ ทรงพระราชนิพนธ์ตามคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล เพื่อให้มีพระราชานุกิจกรุงรัตนโกสินทร์ครบแปดรัชกาล พระราชานุกิจหมายความถึง พระราชกิจที่พระเจ้าแผ่นดินทรงปฏิบัติเป็นประจำทุกวันเป็นการส่วนพระองค์ ไม่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน พระราชนิพนธ์เรื่องนี้เรียบเรียงด้วยภาษาที่กระชับชัดเจนแและสละสลวย แสดงพระปรีชาชาญด้านภาษาไทยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และที่สำคัญยังทำให้ผู้อ่านได้รับทราบพระจริยวัตรอันงดงามของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างพระองค์กับสมเด็จฯพระบรมราชชนนีและสมเด็จพระราชอนุชาด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตีพิมพ์พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ พระราชทานในการพระราชกุศล ๑๐๐ วัน พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ณ วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๙

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์บทความบันทึกเรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิทเซอร์แลนด์” เพื่อพระราชทานแก่หนังสือ “วงวรรณคดี” เป็นพิเศษ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๐…

พระราชนิพนธ์อีกประเภทหนึ่งเป็นงานแปล แบ่งได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มหนึ่งเป็นบทความวิเคราะห์เศรษฐกิจและสังคม อีกกลุ่มหนึ่งเป็นประวัติบุคคลสำคัญ

รายชื่อพระราชนิพนธ์แปลบทวิเคราะห์เศรษฐกิจและสังคมมี ๑๑ เรื่องคือ

๑. “เศรษฐศาสตร์ตามนัยของพระพุทธศาสนา” บทที่ ๔ เล็กดีรสโต จาก Small is Beautiful โดย E.F. Schumacher หน้า ๕๖ – ๖๓.

๒. “ข่าวจากวิทยุเพื่อสันติภาพและความก้าวหน้า” จาก “Radio Peace and Progress” ในนิตยสาร Intelligence Digest ฉบับวันที่ ๑ เมษายน ค.ศ. ๑๙๗๕ (พ.ศ. ๒๕๑๘)

๓. “การคืบหน้าของมาร์กซิสต์” จาก “The Maxist Advance” Special Brief

๔. “รายงานตามนโยบายคอมมูนิสต์” จาก “Following the Communist Line”

๕. “รายงานจากลอนดอน” จาก “London Report” ในนิตยสาร Intelligence Digise : Weekly Review ฉบับวันที่ ๑๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๕

๖. “ประเทศจีนอยู่ยง” จาก “Eternal Chinese” ในนิตยสาร Intelligence Digise : Weekly Review ฉบับวันที่ ๑๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๗๕

๗. “ทัศนะน่าอัศจรรย์จากชิลีหลังสมัยอาล์เลนเด” จาก “Surprising View from a Post-Allende Chile”ในนิตยสาร Intelligence Digise : Weekly Review ฉบับวันที่ ๒๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๗๕

๘. “เขาว่าอย่างนั้น เราก็ว่าอย่างนั้น” จาก “Sauce of the Gender….” ในนิตยสาร Intelligence Digise : Weekly Review ฉบับวันที่ ๒๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๗๕

๙. “จีนแดง : ตั้วเฮียค้ายาเสพติดแห่งโลก” จาก “Red China : Drug Pushers to the World” จากนิตยสาร Intelligence Digise : Weekly Review ฉบับวันที่ ๒๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๗๕

๑๐ . “วีรบุรุษตามสมัยนิยม” จาก “Fashion in Heroes” โดย George F. Will ในนิตยสาร Newsweek ฉบับวันที่ ๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๗๙

๑๑. “ฝันร้ายไม่จำจะต้องเป็นจริง” จาก “No Need for Apocalypse” ในนิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๗๕

พระราชนิพนธ์ดังกล่าว มิได้พระราชทานให้พิมพ์เผยแพร่ ยกเว้นเรื่อง “ฝันร้ายไม่จำจะต้องเป็นจริง” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อัญเชิญลงพิมพ์ในหนังสือ “เพ็ญรพะพิริยะเกินจพรำพัน” ซึ่งสมาคมฯจัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ และพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก วันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ …

ส่วนพระราชนิพนธ์แปลเกี่ยวกับประวัติบุคคลสำคัญ มี ๒ เรื่อง คือ นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ และ ติโต

พระราชนิพนธ์เล่มสำคัญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือ พระมหาชนก ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเป็นของขวัญพระราชทานแก่ประชาชนเนื่องในโอกาสกาญจนาภิเษก โดยทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นจากมหาชนกชาดกในนิบาตชาดกในคัมภีร์พระไตรปิฎก …

พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่อง ทองแดง พิมพ์เผยแร่ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นสารคดีที่ทรงพระราชนิพนธ์เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษควบคู่กันไป มีภาพ ๔ สีประกอบทั้งเล่ม และต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ชัย ราชวัตร นำไปวาดเป็นภาพการ์ตูนเพื่อพิมพ์ฉบับการ์ตูนเผยแพร่ด้วย …

ศาสตราจารย์ ดร.รื่นฤทัย  สัจจพันธุ์ เรียบเรียง