Wednesday, 28 August 2013 12:24

กิจกรรมเสวนาภาพยนตร์ “Visualizing Culture: Ethnographic Film in Thailand and ASEAN Screening and Roundtable”

Rate this item
(0 votes)

 

 

กิจกรรมเสวนาภาพยนตร์

“Visualizing Culture: Ethnographic Film in Thailand and ASEAN Screening and Roundtable”

ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ระหว่างวันที่ 10-11 เมษายน 2556

 

          ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้จัดโครงการมานุษยวิทยาทัศนา (Visual Anthropology) ขึ้นเพื่อที่จะช่วยสร้างความเข้าใจ อนุรักษ์และส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรม และสร้างอัตลักษณ์ร่วมกันในภูมิภาค เพื่อเป็นการสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของศูนย์ฯ ซึ่งเน้นความสำคัญของความร่วมมือเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) โครงการมานุษยวิทยาทัศนา (Visual Anthropology) มีกิจกรรมหลากหลาย เช่น โครงการการอบรมผลิตภาพยนตร์ชาติพันธุ์ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ประเทศต่างๆในภูมิภาคอาเซียนมีร่วมกัน กิจกรรมเสวนาภาพยนตร์ “Visualizing Culture: Ethnographic Film in Thailand and ASEAN Screening and Roundtable” ซึ่งส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างเครือข่ายนักมานุษยวิทยาทัศนาและผู้ผลิตภาพยนตร์ชาติพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกิจกรรมการจัดฉายภาพยนตร์ชาติพันธุ์ทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศซึ่งเป็นการส่งเสริมฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ของทางศูนย์ฯให้เป็นที่รู้จักและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมผ่านทางภาพยนตร์ชาติพันธุ์

          ในระหว่างวันที่ 10-11 เมษายน 2556 ที่ผ่านมาศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้จัดงานเสวนาภาพยนตร์ “Visualizing Culture: Ethnographic Film in Thailand and ASEAN Screening and Roundtable” ขึ้น โดยในงานจะมีการฉายภาพยนตร์ที่สร้างโดยผู้เข้าร่วมการอบรม “2012 Visual Anthropology Workshop” ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์ฯเมื่อปีที่ผ่านมา จำนวน 3 เรื่อง ดังต่อไปนี้

1. หลังม่าน: วิถีชีวิตผู้หญิงในพื้นที่ชายแดนใต้ (Behind the Curtain: The Daily Life of Women in Thailand’s Southern Border Provinces) โดย คุณรอฮานี ดาโอ๊ะ

2. The Third Eye โดย ดร.อุณาโลม จันทร์รุ่งมณีกุล

3. พันปีผีแมน (Voices of the Spirit Cave) โดย คุณศุภร ชูทรงเดช

          นอกจากการฉายภาพยนตร์ทั้งสามเรื่องแล้ว ยังมีการบรรยายจากศาสตราจารย์ ปีเตอร์ ครอว์ฟอร์ด (Peter Crawford) จากมหาวิทยาลัยทรอมโซ (University of Tromsø) ประเทศนอร์เวย์ และอาจารย์แกรี่ คิลเด (Mr.Gary Kildea) จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) กิจกรรมฉายภาพยนตร์ชาติพันธุ์จากประเทศอาเซียน คือประเทศเวียดนามและประเทศเมียนมาร์ การเสวนาภาพยนตร์ชาติพันธุ์และการศึกษาทางด้านวัฒนธรรมทางสายตาในประเทศไทย การเสวนาเกี่ยวกับภาพยนตร์ชาติพันธุ์ในบริบทของอาเซียน และอนาคตของภาพยนตร์ชาติพันธุ์และความเป็นไปได้ที่จะสร้างเครือข่ายและความความร่วมมือระหว่างสถาบันต่างๆ ที่ดำเนินงานด้านมานุษยวิทยาทัศนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อภิปรายและเสวนาเกี่ยวกับการอบรมเชิงปฏิบัติการทางมานุษยวิทยาทัศนา หัวข้อ“ภาพยนตร์ชาติพันธุ์ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจวัฒนธรรมได้อย่างไร”

          กิจกรรมเสวนาแรกในหัวข้อ “ภาพยนตร์ชาติพันธุ์ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจวัฒนธรรมได้อย่างไร” โดยอาจารย์ปีเตอร์ ครอว์เฟิร์ด (Peter Crawford) จากมหาวิทยาลัยทรอมโซ ประเทศนอร์เวย์ และอาจารย์แกรี่ คิลเด (Mr.Gary Kildea) จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย อาจารย์ปีเตอร์ ครอว์เฟิร์ด และอาจารย์แกรี่ คิลเด ได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญของภาพยนตร์ชาติพันธุ์ในการเผยแพร่ความรู้ทางมานุษยวิทยาและการสร้างความเข้าใจระหว่างคนในวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่ก่อนอื่นก็ต้องหาตอบร่วมกันว่าภาพยนตร์ชาติพันธุ์นั้นคืออะไรกันแน่ แน่นอนที่สุดก็คือจะต้องเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับมนุษย์ กระบวนการการผลิตภาพยนตร์ชาติพันธุ์คือการลงไปสัมผัสและมีประสบการณ์ตรงกับคนและใช้เวลาในการสังเกตุและเรียนรู้วิถีชีวิตของพวกเขา นี่คือกระบวนการในการสร้างความเข้าใจวัฒนธรรม บันทึกและนำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แม้จะมีภาพยนตร์สารคดีหลายเรื่องที่มีการเขียนคริปต์อย่างละเอียด แต่ภาพยนตร์ชาติพันธุ์ควรจะมีการวางโครงเรื่องให้น้อยที่สุด เป็นการค้นหาความจริงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมากกว่าการบันทึกภาพเพียงอย่างเดียว

          ในปัจจุบันนี้สไตล์ของภาพยนตร์ชาติพันธุ์จะเป็นภาพยนตร์เชิงสังเกตการณ์ หรือ observational film ไม่ได้มีการพูดถึงสิ่งนามธรรม (abstraction) ใดๆ เช่น เราสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับวัฒนธรรม โดยไม่พูดถึงวัฒนธรรมโดยตรง แต่ใช้วิธีการดำเนินเรื่อง อารมณ์ ความรู้สึก และผัสสะ เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามไม่ง่ายเลยที่จะกำหนดขอบเขตชัดเจนว่าภาพยนตร์ใดเป็นภาพยนตร์ชาติพันธุ์หรือไม่เป็นและถ้าหากพยายามตีกรอบเพื่อหาความหมายมากเกินไปก็อาจจะจำกัดแนวความคิดใหม่ๆที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามการพิจารณาขึ้นพื้นฐานคือต้องคำนึงว่าหนังนี้ทำไปเพื่อใคร เพื่อวัตถุประสงค์อะไร และจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร ความเป็นภาพยนตร์นั้นไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถกำหนดและเอากล้องออกไปถ่ายภาพมา แต่มันคือขึ้นตอนทั้งหมดในการผลิตภาพยนตร์และคือสิ่งที่เราเรียนรู้ระหว่างและหลังจากที่ได้ชมภาพยนตร์นั้น

ภาพยนตร์ชาติพันธุ์ในเวียดนามและผลงานทางด้านมานุษยวิทยาทัศนาของสถาบันการศึกษาวัฒนธรรมและและศิลปะแห่งเวียดนาม (VICAS)

          ในประเทศเวียดนามเริ่มมีการสอนมานุษยวิทยาในมหาวิทยาลัยในปีพ.ศ. 2551 และมีการสอนหลักสูตรมานุษยวิทยาทัศนาใน 2 ปีให้หลังคือ พ.ศ. 2553 ในสถาบันการศึกษาบางแห่งในกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ ที่สถาบันการศึกษาวัฒนธรรมและศิลปะแห่งเวียดนาม (VICAS) นี้งานด้านมานุษยวิทยาทัศนาได้เริ่มขึ้นในช่วงพ.ศ. 2520 ก่อนในสถาบันการศึกษาอื่นๆคือเป็นการใช้กล้อง 16 มม.บันทึกการแสดง วัฒนธรรมประเพณีต่างๆของกลุ่มชาติพันธุ์ สำหรับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ทางมานุษยวิทยาของเวียดนามเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นปีที่เพื่อนชาวเยอรมันของดร. บุย กวัง ตัง (Dr. Bui Quang Thang) เข้ามาสอนภาพยนตร์ชาติพันธุ์ที่ Hanoi University of Theater and Cinema นอกจากนี้ในช่วงนั้นนักวิชาการ นักเรียนทุนมูลนิธิฟอร์ด และนิสิตนักศึกษาได้ไปเรียนจบทางด้านภาพยนตร์ชาติพันธุ์มาจากต่างประเทศและกลับมาทำงานในเวียดนาม

          ปัจจัยที่เอื้อให้พัฒนาการของมานุษยวิทยาทัศนาในประเทศเวียดนามรุดหน้าอย่างรวดเร็วอีกประการหนึ่งคือมูลนิธิฟอร์ดที่เข้ามาสนับสนุนให้ทุนนักภาพยนตร์ชาติพันธุ์และให้งบประมาณในการจัดการอบรมผลิตภาพยนตร์ชาติพันธุ์ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2552 นอกจากนี้มูลนิธิฟอร์ดยังร่วมมือกับมมาวิทยาลัยเทมเปิล (Temple University) เปิดหลักสูตรสอนการผลิตภาพยนตร์มาเป็นระยะเวลา 3 ปีแล้ว และแรงสนับสนุนจากภายนอกนี้เองที่ทำให้มานุษยวิทยาทัศนาในประเทศเวียดนามก้าวหน้าจนจัดงานภาพยนตร์นานาชาติที่นครโฮจิมินห์เมื่อปี 2555

          สำหรับอนาคตของภาพยนตร์ชาติพันธุ์ในประเทศเวียดนามนั้นหนังภาพยนตร์ชาติพันธุ์ที่เกี่ยวกับการรักษามรดกทางวัฒนธรรมหรือเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์มักจะได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาล ในขณะที่ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับประเด็นต่างๆในสังคมปัจจุบันจะหาทุนสนับสนุนได้ยากกว่าและเชื่อว่าถ้าหากมีความร่วมมือในระดับภูมิภาคจะทำให้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหรือองค์กรต่างๆ และจะทำให้การพัฒนาเป็นได้อย่างรวดเร็วขึ้น

โรงเรียนภาพยนตร์ย่างกุ้ง (The Yangon film school)

          โรงเรียนภาพยนตร์ย่างกุ้งก่อตั้งขึ้นในปี 2548 (ค.ศ. 2005) โดยคุณลินเซ่ เมอร์ริสัน (Ms. Lindsey Merrison) มีการจัดเทศกาลภาพยนตร์หมุนเวียน เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมจากพื้นที่ห่างไกล สอนการวิเคราะห์ฉาก การจัดไฟจัดแสงการตัดต่อ ตอนนี้มีนักเรียนที่จบหลักสูตรไปแล้วประมาณ 70 คน หลายคนได้รับทุนผลิตภาพยนตร์จากองค์กรไม่แสวงผลกำไรหลายแห่งในประเทศเมียนมาร์เพื่อผลิตภาพยนตร์เกี่ยวกับข้าว การจัดการป่าไม้และโรคเอดส์ ขณะนี้หลายองค์กรได้เข้ามาช่วยพัฒนามาตรฐานสถานีโทรทัศน์ในประเทศเมียนมาร์ และจ้างนักเรียนที่จบไปจากโรงเรียนภาพยนตร์ย่างกุ้งเพื่อผลิตภาพยนตร์สารคดีคุณภาพป้อนให้สถานีโทรทัศน์ ปัญหาหนึ่งของโรงเรียนภาพยนตร์ย่างกุ้งคือขณะนี้โรงเรียนยังไม่สามารถขยายกิจกรรมทั้งการจัดฉายภาพยนตร์หรือการจัดอบรมไปยังเด็กและผู้สนใจในหมู่บ้านห่างไกลได้ สิ่งที่น่าสนใจคือสังคมพม่ามีความเป็นชุมชนสูงมาก ดังนั้นแล้วภาพยนตร์ชาติพันธุ์ของประเทศเมียนมาร์จะช่วยสะท้อนความเป็นชุมชนและวัฒนธรรมรวมทั้งการปะทะกันทางวัฒนธรรมของโลกยุคเก่าและยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี

ภาพยนตร์ชาติพันธุ์และมานุษยวิทยาทัศนาในประเทศไทย

          ในประเทศไทยจะเริ่มต้นจากการเป็นภาพยนตร์สารคดีก่อนและจากนั้นจึงพัฒนาเป็นภาพยนตร์ชาติพันธุ์ และคนทำงานด้านนี้มีความชำนาญด้านสื่อแต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจทางมานุษยวิทยา และนักมานุษยวิทยาไม่มีความชำนาญด้านการผลิตสื่อและการสื่อสาร ดังนั้นการขาดความรู้ความเข้าใจไปคนละด้านทำให้การผลิตผลงานภาพยนตร์ชาติพันธุ์ไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

          ขณะนี้ยังไม่มีการเรียนการสอนทมานุษยวิทยาทัศนาในเต็มรูปแบบ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีสอนเป็นรายวิชามาเป็นเวลา 1 ปี ควบคู่ไปกับวิชาระเบียบวิธีวิจัย (Methodology) หลังจากนักเรียนได้เรียนวิชา สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามาแล้วในภาคเรียนที่ 1 เป้าหมายของการเรียนการสอนวิชานี้คือให้ความรู้ในการหาและเก็บข้อมูล การใช้สื่อภาพและเสียงในการถ่ายทอดความรู้ทางมานุษยวิทยา และการวิเคราะห์สื่อภาพยนตร์เพื่อที่จะทำให้เกิดความเข้าใจวัฒนธรรมและสังคม ซึงตอนนี้ก็เห็นได้ชัดเจนแล้วว่า การเรียนการสอนมานุษยวิทยานั้นจะขาดการใช้สื่อภาพและเสียงประกอบการสอนไม่ได้ อาจารย์อัมพร จิรัฐติกร ผู้สอนกำลังจะปรับปรุงการเรียนการสอนวิชานี้ต่อไป เท่าที่สรุปจากประสบการณ์การสอนวิชานี้คิดว่าจะต้องมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสายงานมาบรรยาย และส่งเสริมให้มีการเสริมสร้างเคริอข่ายและการทำงานร่วมกันกับองค์ความรู้อื่นๆ เช่น ช่างภาพ ผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีและรายการโทรทัศน์ต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้การสอนวิชามานุษยวิทยาทัศนาในสถาบันการศึกษาไม่ควรตั้งเป้าหมายที่การสร้างผลผลิต แต่อยากให้มองว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้มากกว่า

          นอกจากนี้อาจารย์อัมพรได้ฉายภาพยนตร์ที่ผลิตโดยนักเรียน ซึ่งไปเก็บข้อมูลที่ถนนฮาลาลแล้วเชื่อมโยงไปประเด็นการแต่งงานระหว่างคนต่างศาสนา มีความเห็นจากผู้ชมเช่น หนังดูมีการจัดฉากมากเกินไป และมีหลายอย่างที่ไม่ใช่เรื่องจริง เช่นตอนสุดท้ายน้องผู้หญิงที่เป็นหนึ่งในสองของตัวเอกของเรื่องไม่ได้แต่งงานกับชายมุสลิมแล้วเปลี่ยนศาสนาจริงๆ แต่เป็นเรื่องที่สร้างขึ้น ทำให้ผู้ชมดูแล้วเกิดคำถามว่าจะนิยามภาพยนตร์ชาติพันธุ์อย่างไร ถ้าเป็นในมุมมองของอาจารย์ปีเตอร์ ครอฟอร์ดก็คือการถ่ายทำภาพยนตร์ชาติพันธุ์นั้นคือการลงไปบันทึกชีวิตจริงๆของคน แล้วเล่าเรื่องจากชีวิตจริงนั้น แน่นอนว่าไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าภาพยนตร์ทุกเรื่องก็เป็นการสร้างเรื่องเช่นกัน แล้วแต่ว่าจะให้มีการสร้างมากน้อยเพียงใด

การสร้างเครือข่ายในระดับภูมิภาค

          วิทยาทุกท่านเสนอว่าอยากให้มีกิจกรรมที่เปิดกว้างให้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ามาร่วม นอกจากการอบรมแล้วก็มีกิจกรรมเทศกาลฉายภาพยนตร์ที่น่าสนใจ แต่คำถามสำคัญที่ต้องหาคำตอบให้ได้ก่อนคือภาพยนตร์ชาติพันธุ์จะช่วยให้เราเข้าใจวัฒนธรรมได้อย่างไร กลุ่มคนดูเป็นใคร วัตถุประสงค์ของความร่วมมือคืออะไร ถ้าวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจในวัฒนธรรมของแต่ละประเทศแล้วล่ะก็ สมควรที่จะขยายกลุ่มคนดูให้กว้างขึ้น แต่ก็ต้องคำนึงถึงด้วยว่าหากเราจะเอาภาพยนตร์เชิงมานุษยวิทยาออกเผยแพร่ในวงกว้าง เช่นนำไปฉายตามสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ภาพยนตร์นั้นก็อาจจะถูกตัดทอนให้สั้นลง และเพิ่มรายละเอียดบางอย่างเข้าไป ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วจะยังเป็นภาพยนตร์ชาติพันธุ์อีกหรือเปล่าก็ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป

          ทั้งนี้การอบรมและการสัมมนาเกี่ยวภาพยนตร์ชาติพันธุ์ในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นได้จัดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศเมียนมาร์ ไทย อินโดนีเชียและเวียดนาม ถึงเวลาแล้วที่ประเทศเหล่านี้จะร่วมมือกันและพัฒนาองค์ความรู้ต่อไป อย่างไรก็ดีก็ควรคิดถึงวิธีการที่จะสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งและยั่งยืน หากมีความร่วมมือในระดับภูมิภาคขึ้นจริงเพื่อเป็นการต่อยอดจากกิจกรรมนี้ ก่อนอื่นต้องหาจุดเด่นให้ได้ก่อนว่าความร่วมมือนี้มีจุดเด่นอะไรที่แตกต่างจากภาพยนตร์สารคดีทั่วๆไปที่มีอยู่มากมาย ความร่วมมือนี้ควรมุ่งไปที่สื่อภาพยนตร์ที่สร้างความเข้าใจทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศในภูมิภาคและการรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ในประเทศเวียดนามมีสถาบันการศึกษาวัฒนธรรมและและศิลปะแห่งเวียดนาม (VICAS) โรงเรียนภาพยนตร์ย่างกุ้งในประเทศเมียนมาร์ นอกจากนี้ก็มีองค์กรจากประเทศในอินโดนีเชีย และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรในประเทศไทย นอกจากนี้ความร่วมมือในระดับภูมิภาคจะช่วยให้การหาทุนสนับสนุนทำได้ง่ายขึ้นเนื่องจากภาพยนตร์ชาติพันธุ์มีลักษณะโดดเด่นแตกต่างจากภาพยนตร์สารคดีทั่วๆไป และแต่ละประเทศก็มีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่างกันและความร่วมมือจะช่วยทำให้งานด้านภาพยนตร์ชาติพันธุ์ก้าวหน้าต่อไปได้

        จากการสรุปกิจกรรมเสวนาภาพยนตร์“Visualizing Culture: Ethnographic Film in Thailand and ASEAN Screening and Roundtable” ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ระหว่างวันที่ 10-11 เมษายน 2556 ทางผู้จัดงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมนี้จะให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทชองภาพยนตร์ชาติพันธุ์และมานุษยวิทยาทัศนาในการเสริมสร้างความเข้าใจอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ประเทศต่างๆในภูมิภาคอาเซียนมีร่วมกัน และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างเครือข่ายนักมานุษยวิทยาทัศนาและผู้ผลิตภาพยนตร์ชาติพันธุ์ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป

 

รายงานสรุปกิจกรรมโดย นางสาวพิมลวรรณ บุนนาค (นักวิชาการ)

 

 

Read 936 times Last modified on Monday, 06 January 2014 16:45
SFbBox by EnterLogic