Tuesday, 24 September 2013 14:37

งานเสวนาภาพยนตร์ “พลวัตของแนวคิดชาตินิยมในอาเซียน: กรณีศึกษาอินโดนีเชียและมาเลเซีย”

Rate this item
(1 Vote)

          เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๖ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้จัดงานเสวนาภาพยนตร์ “พลวัตของแนวคิดชาตินิยมในอาเซียน: กรณีศึกษาอินโดนีเชียและมาเลเซีย” ซึ่งได้จัดฉายภาพยนตร์จากประเทศอินโดนีเซีย เรื่อง Tanah Surga Katanya ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) นำการเสวนาโดย รศ. ดร. กำจร หลุยยะพงศ์ จากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และอาจารย์สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ อาจารย์พิเศษ ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

           หลังจากการฉายภาพยนตร์เรื่อง Tanah Surga Katanya รศ. ดร. กำจร หลุยยะพงศ์ ได้เริ่มการเสวนา โดยแบ่งประเด็นออกเป็นสี่ประเด็นดังนี้

          ประเด็นแรก เนื่องจากภาพยนตร์เรื่อง “Tanah Surga Katanya” นั้น มีตัวละครเด็กเป็นตัวละครเอกของเรื่อง จึงถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ “หนังเด็ก” อีกเรื่องหนึ่ง ทั้งนี้หากมองในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับภาพยนตร์แล้ว เด็กกับภาพยนตร์จะมีความเหมือนกันอยู่หลายประการ ประการหนึ่งนั้นคือต่างเป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างทางสังคมเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ในสังคมตะวันตกก่อนศตวรรษที่ ๑๒ จะมีการให้นิยามเด็กว่าเป็นผู้ใหญ่ตัวเล็กที่แข็งแกร่งและอดทนเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ เด็กในสมัยนั้นจึงต้องไปทำงานในโรงงานและทำงานหนักแต่หลังจากศตวรรษที่ ๑๖ และ ๑๗ เป็นต้นมา นิยามของ “เด็ก” ได้เปลี่ยนไป เด็กถูกมองว่าอ่อนแอกว่าผู้ใหญ่และต้องการการปกป้องคุ้มครอง ดังนั้นการให้เด็กทำงานหนักในโรงงานจึงไม่เป็นที่ยอมรับอีกต่อไป ดังนั้นจะเห็นได้ว่านิยามของคำว่า “เด็กจึงเป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้น และมุมมองที่มีต่อเด็กในแต่ละสังคมยังแตกต่างกันไปอีกด้วย ดังนั้นหนังเด็กจึงมีอะไรมากกว่าความบันเทิงและมีเนื้อหาสาระที่ชวนขบคิด

          นักวิชาการทางด้านภาพยนตร์เด็กในช่วงปลายทศวรรษที่ ๘๐ เช่น Kathy Merlock Jackson เชื่อว่าภาพยนตร์ที่มีเด็กเป็นตัวดำเนินเรื่องจะมีพลังที่จะผลิตซ้ำอุดมการณ์บางอย่างให้กับสังคมได้ โดยจะแฝงอุดมการณ์ของผู้ใหญ่ที่กำหนดว่าเด็กควรจะประพฤติตนอย่างไร ภาพยนตร์เด็กของไทยและอินโดนีเซียนั้นไม่ได้สร้างโดยเด็กเพื่อสื่อสารกับเด็กด้วยกัน แต่สร้างโดยผู้ใหญ่ที่ใส่อุดมการณ์บางอย่างลงไปในภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ชาตินิยม เพศ หรือวัฒนธรรมครอบครัวที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า กลุ่มเป้าหมายของภาพยนตร์ประเภทนี้จริงๆ แล้วนั้นไม่ใช่เด็ก แต่เป็นผู้ใหญ่ โดยแทรกแนวคิดสอนผู้ใหญ่ว่าควรจะเป็นและทำตัวอย่างไร

          ประเด็นที่สอง เมื่อเปรียบเทียบภาพยนตร์เรื่อง “ผีเสื้อและดอกไม้และ “Tanah Surga Katanya” จะพบความเหมือนกันหลายประการ กล่าวคือทั้งสองเรื่องได้รับความนิยมและได้รางวัลในระดับประเทศ โดยเรื่อง “ผีเสื้อและดอกไม้” ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมรางวัลตุ๊กตาทองปี พ.. ๒๕๒๘ และรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากการประกวดภาพยนตร์นานาชาติครั้งที่ ๕ ปี ค.. ๑๙๘๖ ณ รัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนหนังเรื่อง “Tanah Surga Katanya” ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก “Festival Film Indonesia” ในปี ๒๐๑๒ และเมื่อพิจารณาถึงโครงเรื่องก็จะพบว่า ทั้งสองเรื่องเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับเด็กที่อยู่ตรงพรมแดน ระหว่างประเทศเหมือนกัน และมีประเด็นอุดมการณ์ชาตินิยมเหมือนกัน แต่การให้น้ำหนักในประเด็นต่างๆไม่เท่ากัน กล่าวคือ เรื่อง “Tanah Surga Kantaya” จะเน้นการปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยม ขณะที่เรื่อง “ผีเสื้อและดอกไม้” แม้จะมีอุดมการณ์ชาตินิยม แต่จะเน้นเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กชาย “ฮูหยัน” ที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคและต่อสู้ชีวิตในช่วงวัยที่กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่

          ประเด็นที่สาม วิเคราะห์ภาพยนตร์เรื่อง “Tanah Surga Kantaya” จากประเทศอินโดนีเซีย และอุดมการณ์ที่แฝงอยู่ เมื่อพิจารณาตัวละครเด็กชาย Salman ซึ่งเป็นตัวละครเอกของเรื่อง Salman เป็นเด็กชายชาวมุสลิมอาศัยอยู่บริเวณรัฐกาลิมันตันซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างประเทศอินโดนีเชียและมาเลเซีย ซึ่งประเทศมาเลเซียนั้นมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจดีกว่า ด้วยเหตุนี้พ่อของ Salman จึงเลือกไปทำงานที่มาเลเซียส่วนปู่ของเด็กชายนั้นเลือกที่จะอยู่ในอินโดนีเซียจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

          ภาพยนตร์อินโดนีเซียที่ผลิตในช่วงหลังปี ๑๙๙๘ นั้น จะวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสังคมอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การศึกษา และการพัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆ อาทิเช่น อาคารเรียน โรงพยาบาล การรักษาพยาบาล ไฟฟ้า และสัญญาณโทรทัศน์ เป็นต้น ซึ่งภาพยนตร์เรื่อง “Tanah Surga Katanya” ก็เป็นอีกเสียงหนึ่งที่ร่วมสะท้อนปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้แฝงไว้ด้วยอุดมการณ์ต่างๆ หลายประการ ดังนี้

          ประการแรกคือ อุดมการณ์ครอบครัวและเรื่องเพศ ในเรื่อง “Tanah Surga Kantaya” นั้นจะเห็นได้ว่าแม่ของ Salman และน้องสาวไม่ปรากฏในเรื่อง ซึ่งสื่อว่าครอบครัวสมัยใหม่ไม่จำเป็นต้องมีสมาชิกครบพ่อแม่ลูกและจะสังเกตว่าตัวละครเดินเรื่องเป็นผู้ชายทั้งหมด ภาพยนตร์เด็กนั้นมักมีตัวละครสำคัญเป็นเด็กผู้ชาย เรื่อง “Tanah Surga Kantaya” นี้ก็เช่นกัน เด็กชาย Salman มีบทบาทที่ต้องรับผิดชอบครอบครัว ต้องทำงานเพื่อนำเงินมารักษาคุณปู่ ส่วนตัวละครเด็กผู้หญิง เช่นน้องสาวของ Salman เป็นเด็กหญิงน่ารักสดใส ในประเทศตะวันตกก็เช่นกันเด็กผู้หญิงจะถูกนำเสนอจากอุดมการณ์แบบผู้ชาย เช่น นำเสนอให้เด็กหญิงหรือผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ ดังนั้นก็อาจตั้งคำถามได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้กำลังสะท้อนให้เห็นว่าสังคมอินโดนีเซียนั้นให้คุณค่าเพศชายมากกว่าเพศหญิงก็เป็นได้

          ประเด็นที่สาม อุดมการณ์ความเป็นชาติ หรือ Nationalism รศ. ดร. กำจร ได้กล่าวเปรียบเทียบอุดมการณ์ชาตินิยมในภาพยนตร์เอเชีย เช่นไทยและอินโดนีเซียกับภาพยนตร์ตะวันตกว่า ในปัจจุบันภาพยนตร์ตะวันตกไม่เน้นนำเสนออุดมการณ์ชาตินิยมแล้ว แต่ภาพยนตร์ไทยจำนวนไม่น้อยยังมีอุดมการณ์ชาตินิยมแฝงอยู่ เช่นเรื่องก้านกล้วย เป็นต้น ส่วนเรื่อง “Tanah Surga Kantaya” นี้จะเห็นอุดมการณ์ชาตินิยมตั้งแต่เริ่มเรื่อง โดยเริ่มจากภาพแผนที่ของแคว้นกาลิมันตัน ซึ่งเป็นพื้นที่ชายขอบของประเทศอินโดนีเซียและเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาน้อยมาก เด็กชาย Salmanเองก็เรียนรู้ความเป็นชาติผ่านปู่ รวมทั้งการผลิตซ้ำแนวคิดชาตินิยมในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการสอนร้องเพลงชาติ การแต่งกาย และการนำธงชาติอินโดนีเซียชักขึ้นเสาธงอีกครั้ง ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ผลิตซ้ำวิธีคิดนี้ตลอดทั้งเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ ในตอนจบนั้น ก่อนที่ปู่ของ Salman จะเสียชีวิตก็เลือกที่จะกล่าวย้ำให้หลานชายรักและภักดีต่อประเทศอินโดนีเซียตลอดไป

          ภาพยนตร์เรื่อง “Tanah Surga Kantaya” นี้สอดแทรกความคิดอุดมการณ์ให้คนรุ่นใหม่คือ เด็ก และคนรุ่นกลางคือคนรุ่นพ่อให้รักประเทศอินโดนีเซีย เป็นไปได้ว่าการที่ภาพยนตร์ทำหน้าที่นี้ แสดงว่าประชาชนอินโดนีเซียในปัจจุบันอาจจะรักแผ่นดินเกิดน้อยลง จึงต้องมีการเน้นย้ำความเป็นชาติในภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่องเพื่อให้คนรุ่นใหม่และรุ่นกลางยังรักแผ่นดินเกิดของตน

          รศ. ดร. กำจร หลุยยะพงศ์ สรุปว่าภาพยนตร์เด็กของไทยและอินโดนีเซียนั้น หากมองให้ลึกแล้วไม่ได้สร้างโดยเด็กเพื่อสื่อสารกับเด็กด้วยกัน แต่สร้างโดยผู้ใหญ่ที่ใส่อุดมการณ์บางอย่างลงไปในภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ชาตินิยม เพศ หรือวัฒนธรรมครอบครัวที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า กลุ่มเป้าหมายของภาพยนตร์ประเภทนี้จริงๆ แล้วนั้นไม่ใช่เด็ก แต่เป็นผู้ใหญ่ โดยแทรกแนวคิดสอนผู้ใหญ่ว่าควรจะเป็นและทำตัวอย่างไร

ส่วนที่สองของงานเสวนา โดย อาจารย์สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ

          ภาพยนตร์เรื่อง “Tanah Surga Kantaya” นั้นแปลเป็นไทยได้ว่า “แผ่นดินสวรรค์อย่างที่เขาว่ากัน”ตามประวัติศาสตร์ประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียเคยรบกันอย่างรุนแรงมาก ซึ่งตัวภาพยนตร์เองได้นำเสนอความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ อย่างชัดเจนในช่วงค.. ๑๙๖๒-๑๙๖๖ หรือที่เรียกว่าคอนฟอนตราซี (Konfrontasi) หรือ Confrontation ซึ่งปู่ของ Salman ได้ร่วมรบกับรัฐบาลอินโดนีเซียด้วย

          ตอนที่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งนั้นประเทศมาเลเซียเพิ่งได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษเพียงห้าปี ซึ่งส่วนพื้นที่ที่ได้รับเอกราชนั้นจะเป็นส่วนคาบสมุทรเท่านั้น ส่วนรัฐซาบาห์และรัฐซาราวักยังอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอังกฤษ ยังไม่ได้รวมกับมาเลเซีย ต่อมาในค.. ๑๙๖๓ รัฐซาบาห์และรัฐซาราวักถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมาเลเซียตามความต้องการของประเทศอังกฤษ ในทางประวัติศาสตร์มีการแบ่งเส้นเขตแดนระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซียมาก่อนที่ทั้งสองประเทศจะได้รับเอกราช โดยประเทศอาณานิคมดัชท์และอังกฤษได้ตกลงในสนธิสัญญา Anglo-Dutch เกิดการสู้รบอย่างรุนแรงระหว่างสองประเทศ ใน.. ๑๙๖๖ คอนฟอนตราซีสิ้นสุด ผลคืออินโดนีเซียแพ้อย่างไม่เป็นทางการ ทั้งสองประเทศเซ็นสัญญาในการลดกำลังทหารแล้วก็นำไปสู่การยุติการสู้รบในที่สุด ในปีต่อมาคือ ค.. ๑๙๖๗ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ได้ถือกำเนิดขึ้น นับว่าอาเซียนได้เกิดขึ้นหลังจากที่สองประเทศเลิกรบกันเพียงหนึ่งปีเท่านั้น

          ปัจจุบันความขัดแย้งในเชิงชาตินิยมระหว่างสองประเทศยังมีอยู่ในระดับบุคคล เนื่องจากประเทศมาเลเซียมีการพัฒนาด้านต่างๆที่ดีกว่า ทำให้คนอินโดนีเซียจำนวนไม่น้อยย้ายถิ่นเข้าไปทำงานในมาเลเซีย ด้วยเหตุนี้เองทำให้คนอินโดนีเซียและมาเลเซียมีปฏิสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลาจึงเกิดความขัดแย้งต่างๆในระดับบุคคลได้ง่าย ปัจจุบันนี้การจัดการความขัดแย้งระหว่างประเทศจะใช้วิธีเจรจาทางการทูตเท่านั้น อาจารย์สิทธาเสริมว่ากรณีความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชาเรื่องปราสาทเขาวิหารประเทศนั้น คนในอินโดนีเซียและมาเลเซียต่างประหลาดใจที่ไทยและกัมพูชาใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา ซึ่งสถานการณ์ในตอนนี้ที่ประเทศต่างๆในอาเซียนกำลังมุ่งไปสู่การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน นั้นไม่ควรใช้ความรุนแรงในการแก้ไขความขัดแย้งดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา

          ภาพยนตร์อินโดนีเซียในช่วงหลัง ๑๙๙๘ นั้นจะวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสังคมอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การศึกษา การพัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคารเรียน โรงพยาบาล การรักษาพยาบาล ไฟฟ้า และสัญญาณโทรทัศน์ ถ้ามีภาพยนตร์แนววิพากษ์เช่นนี้ในยุคการปกครองของซูฮาร์โตก็จะถูกระงับการฉายแน่นอน นอกจากนี้ภาพยนตร์ยังสะท้อนการศึกษาและแนวคิดชาตินิยมตลอดทั้งเรื่อง

          แนวคิดชาตินิยมในปัจจุบันนั้นแตกต่างจากสมัยก่อนโดยเป็นการแปรรูปความขัดแย้งมาเป็นกิจกรรมทางสังคมและความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นการแข่งกีฬาระหว่างสองประเทศ ซึ่งจะให้คนได้ปลดปล่อยความรู้สึกรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้ง และอีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ในฉากที่ Salman อ่านบทกวีที่ตนเองแต่ง ซึ่งสะท้อนว่าในประเทศอินโดนีเซียนั้นได้เปิดพื้นที่ให้คนได้พูดถึงข้อเรียกร้องของตน ประชาชนมีสิทธิประท้วงเป็นเรื่องปกติ โดยในอินโดนีเชียมีประท้วงทุกเดือน บ่อยและมากกว่าไทยหลายเท่า แต่คนอินโดนีเซียไม่ได้มองว่าการประท้วงเป็นปัญหาร้ายแรงและไม่มีการสลายการชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรงเช่นในประเทศไทย

สรุปเนื้อหาช่วงถามตอบ

. ในประเทศอินโดนีเซียพูดภาษาอะไรเป็นหลัก

  • ภาษาที่พูดในอินโดนีเซียเรียกว่า Bahasa Indonesia ซึ่งพัฒนามาจากBahasa Malayu ซึ่งเป็นภาษาที่เป็นรากของหลายๆ ภาษาในประเทศเพื่อนบ้าน ภาษาตากาล็อกก็มีรากคำมาจาก Bahasa Malayu ด้วย

. จากภาพยนตร์จะเห็นได้ว่าคนอินโดนีเซียอพยพเข้ามาทำงานในมาเลเซียและฝักใฝ่ประเทศมาเลเซียมากกว่า จริงๆแล้วเป็นเช่นนั้นหรือไม่

  • อินโดนีเซียเป็นประเทศใหญ่และมีประชากรเยอะ ส่วนประเทศมาเลเซียเองก็มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจดีกว่าและมีความต้องการแรงงานสูงมาก ทั้งนี้ในความเป็นจรืงคนอินโดนีเซียที่ย้ายไปทำงานหรืออยู่ในมาเลเซียนั้นไม่ได้อยากเปลี่ยนสัญชาติเป็นคนมาเลเซียและมีความเป็นชาตินิยมสูงมาก แต่เนื่องจากภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการเน้นอุดมการณ์ชาตินิยม จีงมีการสื่อสารแบบนี้ซึ่งก็ไม่ได้ตรงกับความเป็นจริงทั้งหมดนัก และมีภาพยนตร์อินโดนีเซียหลายเรื่องที่แฝงแนวคิดและอุดมการณ์ได้แนบเนียนกว่านี้

. ทำไมจึงเทียบเรื่อง “Tanah Surga Kantaya” กับ ผีเสื้อและดอกไม้

  • ภาพยนตร์เรื่อง “Tanah Surga Kantaya” กับเรื่อง “ผีเสื้อและดอกไม้” เหมือนกันตรงที่เป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงพรมแดนประเทศ มีอุดมการณ์ชาตินิยม และพูดถึงเด็กที่กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เหมือนกัน แต่การให้น้ำหนักในประเด็นต่างๆไม่เท่ากัน เรื่อง “Tanah Surga Kantaya” พูดถึงชาตินิยมแบบสูงโต่ง ขณะที่เรื่อง “ผีเสื้อและดอกไม้” จะมีอุดมการณ์ชาตินิยมเช่นกันแต่จะนำเสนอช่วงชีวิตของเด็กชายที่กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ว่าต้องฟันฝ่าอุปสรรคและต่อสู้อย่างไร ทั้งสองเรื่องจบคล้ายกัน แต่ต่างกันตรงที่ในเรื่อง “ผีเสื้อและดอกไม้” นั้น ตอนจบ “ฮูหยัน” เด็กชายมุสลิมเลิกขนข้าวสารออกนอกประเทศ เนื่องจากผู้ใหญ่บอกว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ส่วนเรื่อง “Tanah Surga Kantaya” นี้ก็ปลูกฝังว่า เป็นเด็กดีต้องรักชาติ แต่ถ้าจะถามว่าจริงๆแล้ว เด็กต้องการทำตามที่ผู้ใหญ่บอกให้ทำหรือไม่ก็ไม่สามารถรู้ได้

. หนังอินโดนีเซียและการผูกโยงกับศาสนา

  • ในฉากที่ปู่เสียชีวิตในเรื่องและมีการกล่าวคำพูดก่อนตายในนามของศาสนานั้น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าคนอินโดนีเซียไม่ได้ผูกโยงชาติเข้ากับศาสนาอิสลามอย่างเข้มข้นแบบในมาเลเซีย อินโดนีเซียไม่ได้สร้างรัฐจากการเอาศาสนาเป็นพื้นฐาน ซึ่งการสร้างรัฐลักษณะนี้จะเห็นได้ในตุรกีและอิยิปต์เช่นกัน แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะเป็นมุสลิมก็ตาม ดังนั้นความเป็นอินโดนีเซียไม่ได้เท่ากับการเป็นอิสลาม การเป็นอิสลามถูกทำให้เป็นเครื่องมือเพื่อควบคุมประชาชนมานานมาก ในขณะที่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยนั้นความเป็นมุสลิมกับความเป็นมาลายูแทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน แท้จริงแล้วคนมาลายูไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามแต่แรก คนที่อยู่ในดินแดนแถบนี้นับถือศาสนาพุทธและฮินดูมาก่อนที่ศาสนาอิสลามจะเริ่มเข้ามา การเผยแพร่ศาสนาอิสลามนั้นเข้ามาพร้อมกับการแผ่ขยายอำนาจของอาณาจักรศรีวิชัยจากสุมาตรามาถึ

  • ทางภาคใต้ของไทย

          ทั้งนี้ความขัดแย้งในระดับบุคคลระหว่างมาเลเซียและอินโดนีเซียยังมีอยู่ มีการอ้างว่าเป็นเจ้าของประเพณีวัฒนธรรม เช่น ผ้าบาติก ทั้งนี้เนื่องจากสองประเทศเป็นเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันและคนอินโดนีเซียเข้าไปทำงานในมาเลเซียเยอะทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลของประเทศทั้งสองไม่อาจใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาได้

          อุดมการณ์ชาตินิยมนั้นไม่มีทางหายไปและมีการนิยามคำว่า ‘ชาติ’ อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นไปของสังคม เช่น มีการผูกโยงเรื่องสิทธิพลเมือง และสิทธิมานุษยชน ในประเทศอินโดนีเซียหลังปี 1998 มีการนิยามคำว่า ชาติ’ ใหม่ ไม่ใช่สิ่งที่แช่แข็ง ต้องถูกนิยามใหม่ ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์กับกระบวนการเป็นประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน

. ตอนที่อาจารย์พูดถึงชาตินิยมอินโดและมาเลเซีย การขาดความเจริญทำให้ความเป็นชาตินิยมถูกปลุกหรือไม่

  • เมื่อชาติไม่ดูแลคน คนจึงต้องดิ้นรนต่อสู้ การที่ Salman หลานชายต้องข้ามไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียเพื่อเอาเงินริงกิตมาช่วยปู่นั้นสะท้อนปัญหาการพัฒนาที่ไม่ทั่วถึงและไม่เท่าเทียมของประเทศอินโดนีเซีย ส่วนแนวคิดชาตินิยมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอัตลักษณ์ในสังคมและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเท่านั้น

. ภาพยนตร์เรื่อง Tanah Surga Kantaya นี้นำเสนอแนวคิดชาตินิยมอย่างชัดเจน ถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่สวนกระแสการมุ่งสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนหรือเปล่า

  • จริงๆแล้วเศรษฐกิจเคลื่อนไหวเพราะคนข้ามพรมแดนไปมา ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ในประเทศไทยได้เกิดกระแส “อาเซียนฟีเวอร์” ค่อนข้างแรงมาก มีการโฆษณารณรงค์มากมายให้รู้จักข้อมูลประเทศในกลุ่มอาเซียนโดยผ่านทางสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือชุดประเทศในอาเซียน เป็นต้น ขณะที่ในประเทศอื่นไม่เน้นการโฆษณา แต่จะเน้นเตรียมการเชิงนโยบายมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมออกกฎหมายและแผนต่างๆ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีการเตรียมความพร้อมในเชิงนโยบายและกฎหมาย โดยเฉพาะหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและกฎหมายแรงงานระหว่างประเทศเพื่อรองรับการข้ามพรมแดนเสรีที่จะเกิดขึ้นภายในไม่กี่ปีข้างหน้านี้

. บทบาทของชุมชนมุสลิมที่ออกมาแสดงความไม่พอใจละครเรื่องฟ้าจรดทราย ต้องการใช้บรรทัดฐานทางจริยธรรมและศาสนามากำหนดสื่อ ในอินโดมีมาตรฐานความไม่เหมาะสมมาควบคุมสื่อหรือไม่

  • อาจารย์สิทธาตอบว่ามี เช่นมีการควบคุมละครหรือภาพยนตร์ที่พูดถึงการมีภรรยาหลายคน อย่างคอนเสิร์ต Lady Gaga ที่ยกเลิกไปก็เนื่องจากเหตุผลทางธุรกิจ จริงๆแล้วอินโดนีเซียมีพื้นที่ให้ทุกความคิด ประชาชนแสดงความเห็นได้อย่างเสรีและสังคมโดยรวมจะตัดสินเอง

สรุปงานเสวนาภาพยนตร์ “พลวัตของแนวคิดชาตินิยมในอาเซียน: กรณีศึกษาอินโดนีเชียและมาเลเซีย”

นั้นประสบความสำเร็จด้วยดี มีเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมงานว่าประเด็นน่าสนใจ และวิทยากรได้ถ่ายทอดความรู้และประเด็นเกี่ยวกับพลวัตของแนวคิดชาตินิยมได้เป็นอย่างดี ทำให้อยากเข้าร่วมกิจกรรมเสวนาภาพยนตร์และกิจกรรมอื่นๆที่จะจัดขึ้นที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรต่อไป

 

เรียบเรียงโดย นางสาวพิมลวรรณ บุนนาค (นักวิชาการ)

 

 

Read 3355 times Last modified on Tuesday, 24 September 2013 14:44
SFbBox by EnterLogic