ตรุษไทย แห่พระทางน้ำ

2072 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น :
เดือนที่จัดงาน : มีนาคม
เวลาทางจันทรคติ : แรม 13 ค่ำ เดือน 4 - ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5
สถานที่ : วัดพระยาญาติ
ภาค / จังหวัด : ภาคกลาง
: สมุทรสงคราม
ประเภท : ประเพณีตามเทศกาล หรือประเพณี 12 เดือน
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง :
คำสำคัญ : ตรุษไทย,วัดพระยาญาติ,อัมพวา,หลวงพ่อทอง,หลวงพ่อใจ
ผู้เขียน : ปณิตา สระวาสี
วันที่เผยแพร่ : 8 มิ.ย. 2561
วันที่อัพเดท : 8 มิ.ย. 2561

ประเพณีตรุษไทย แห่พระทางน้ำ วัดพระยาญาติ

“เทศกาลเนื่องในการสิ้นปี ตรุษไทยกำหนดตามจันทรคติ ตรงกับวันแรม 15 คํ่า เดือน 4” คือคำนิยามของตรุษไทย จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ปัจจุบันเทศกาลหรือประเพณีตรุษไทยในหลายพื้นที่ไม่ได้ให้ความสำคัญ โดยจะเน้นไปที่ประเพณีสงกรานต์แทนเนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน น่าสนใจว่าชุมชนวัดพระยาญาติ ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ยังคงสืบสานประเพณีตรุษไทย และมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากชุมชนอื่นคือ การแห่พระทางน้ำในเทศกาลตรุษไทย

ประวัติวัดพระยาญาติ

วัดพระยาญาติ ตั้งอยู่ริมจุดบรรจบระหว่าง 3 คลอง ได้แก่ คลองดาวดึงษ์ คลองวัดจุฬามณี และคลองอัมพวา ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงเรียกว่า “วัดปากง่าม”  วัดพระยาญาติเป็นวัดโบราณอายุกว่า 200 ปี เล่าสืบกันมาว่า เจ้าคุณบางช้าง(แก้ว) และสามี คือพระแม่กลองบุรี ได้มาปฏิสังขรณ์ไว้ครั้งหนึ่ง แต่ต่อมาวัดได้ทรุดโทรมลง  สมัยกรุงธนบุรีกรมขุนกษัตรานุชิตหรือเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ ร่วมกับพระญาติพระวงศ์ของท่านได้บูรณะขึ้นมาใหม่เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จตากสินมหาราช ภายในพระอุโบสถประดิษฐานประธานเก่าแก่ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง นอกจากนี้ยังมีธรรมมาสน์เก่าที่ศาลาการเปรียญ ซึ่งเดิมเป็นพระที่นั่งทรงธรรมในรัชกาลที่ 2 (หน่วยวิจัยการอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549)

ที่มาของประเพณีแห่พระทางน้ำ วัดพระยาญาติ

แต่เดิมประเพณีตรุษไทยของวัดพระยาญาติ ก็เหมือนกันชุมชนอื่นๆ คือ มีการทำบุญทำทานตักบาตร เพราะถือว่าเป็นวันสิ้นสุดปีและเตรียมรับปีใหม่  ส่วนประเพณีแห่งพระทางน้ำ ทางวัดและชุมชนเพิ่งจะริเริ่มจัดงานนี้คือราวปี พ.ศ. 2549 โดยเป็นการอัญเชิญพระที่ชาวบ้านเคารพนับถือคือหลวงพ่อวัดเขาตะเครา หรือหลวงพ่อทอง ที่ทางชุมชนจำลองมาจากวัดเขาตะเคราและนำมาประดิษฐานในวัดเมื่อปี พ.ศ. 2498  มาลงเรือแห่ทางน้ำ พร้อมกับท่านเจ้าอาวาสวัดพระยาญาติองค์ปัจจุบันคือหลวงพ่อใจ ฐิตาจาโรภิกขุ โดยมีขบวนเรือหางยาวติดตามแห่กว่า 50 ลำ แห่ไปตามลำคลองรอบเกาะอัมพวา มีเส้นทางผ่านวัดและสถานที่สำคัญ ได้แก่ วัดจุฬามณี วัดทรงธรรม วัดช่องลม วัดท้ายตลาด วัดบางกะพ้อม วัดแก้วฟ้า วัดนางวัง ตลาดน้ำอัมพวา และสิ้นสุดที่วัดพระยาญาติ

เหตุที่มีการแห่พระทางน้ำเมื่อปี พ.ศ. 2542 พระปลัดอนันต์ รองเจ้าอาวาสให้ความเห็นว่า เกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นของตลาดน้ำอัมพวาที่กลายเป็นสถานที่สำคัญและยอดนิยมของนักท่องเที่ยว ทางวัดต้องการเปิดโอกาสให้ญาติโยมสาธารณะชนได้มีโอกาสร่วมทำบุญกับวัดได้สะดวกมากขึ้น ทั้งคนท้องถิ่นที่ค้าขายในตลาดน้ำอัมพวาและคนนอกที่เป็นนักท่องเที่ยวและมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในหลวงพ่อเขาตะเครา พระอาจารย์ใจ ฐิตาจาโรภิกขุ (เจ้าอาวาส)

งานประเพณี 4 วัน 4 คืน

งานประเพณีตรุษไทย แห่พระทางน้ำ วัดพระยาญาติ เริ่มวันแรกคือ แรม 13 ค่ำ เดือน 4 เป็นวันที่อัญเชิญหลวงพ่อเขาตะเครา และท่านเจ้าอาวาสลงเรือแห่ทางน้ำ รอบเกาะอัมพวา และอีกสามวันที่เหลือ คือ แรม 14 ค่ำ และ 15 ค่ำ เดือน 4 และ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามลำดับ เป็นการปิดทอง รำแก้บน และนมัสการหลวงพ่อเขาตะเครา

วันแรกของประเพณีคือ แรม 13 ค่ำ เดือน 4 โดยในปี พ.ศ. 2561 นี้ตรงกับวันที่ 14 มีนาคม ทางวัดได้ตระเตรียมสถานที่มาตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม เช้าวันที่ 14 มีนาคม ทางวัดได้อัญเชิญหลวงพ่อเขาตะเครามาประดิษฐานไว้บนหอฉัน ใกล้กับกุฏิเจ้าอาวาสวัดหลังเดิมอันเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อเขาตะเครา เพื่อให้ญาติโยมที่ศรัทธานำสิ่งของมาบูชา ก่อนที่จะแห่ลงเรือ

เวลาใกล้เที่ยงบรรยากาศภายในวัดเริ่มคึกคัก วัดเปิดโรงทานให้คนที่มาเข้าร่วมงานทานอาหารได้ฟรี  บริเวณศาลาเอนกประสงค์ที่เป็นปะรำพิธี  มีพื้นที่สำหรับทำบุญ “ผ้าป่าลอยฟ้า” เปิดให้เช่าเหรียญปาดตาล หลวงพ่อใจ ฐิตาจาโรภิกขุ อายุ 71 ปี สร้างขึ้นเป็นที่ระลึก ครบรอบ 12 ปี แห่พระทางน้ำ ในงานประจำปีตรุษไทย วัดพระยาญาติ 2561 และทำบุญถวายประทัดเพื่อจุดก่อนแห่พระลงเรือ เพื่อนำเงินปัจจัยที่ได้ไปสมทบการสร้างกำแพงแก้ว รอบพระอุโบสถ แทนของเก่าที่ทรุดโทรม ได้รับความนิยมของคนที่มาร่วมงาน

เวลา 13.39 น. เป็นฤกษ์ที่ทางวัดเริ่มการแห่พระทางน้ำ ด้วยการจุดประทัดเสียงดังกึกก้องไปทั่วไป จากนั้นอัญเชิญหลวงพ่อเขาตะเคราและพระอาจารย์ใจ มาที่ท่าน้ำหน้าวัดและประดิษฐานบนเรือต่อเป็นเรือของชาวบ้านที่นำมาช่วยงาน เรือเป็นลักษณะเปิดโล่ง ด้านท้ายมีหลังคาโค้ง ประดับประดาด้วยดอกไม้ ฉัตรขาว และผ้าแพรสีรอบเรือ หลวงพ่อเขาตะเคราประดิษฐานอยู่หัวเรือ  ส่วนพระอาจารย์ใจนั่งอยู่ถัดมาด้านหลัง   

ทางวัดยังได้เตรียมเรือหางยาวสำหรับญาติโยมที่ต้องการนั่งเรือขบวนแห่พระอีกหลายสิบลำ โดยขบวนเรือติดตามมีทั้งเรือนางรำ เรือดนตรีไทย เรือกระตั๊วแทงเสือ เป็นอาทิ เนื่องจากการแห่ไปตามลำน้ำ ญาติโยมที่อยู่ตามชุมชนริมน้ำมีความต้องการทำบุญ ทางวัดจึงจัดเรือเจ็ตสกีเพื่ออำนวยความสะดวก เพื่อใช้ไปรับเงินปัจจัยจากญาติโยมถึงท่าน้ำของแต่วัดแต่ละบ้าน โดยไม่กระทบเส้นทางและเวลาของการเดินทางไปตามลำน้ำของขบวนเรือหลัก 

เนื่องจากวัดพระยาญาติอยู่ไม่ไกลกับตลาดน้ำอัมพวา หากแรม 13 ค่ำ เดือน 4 ซึ่งเป็นวันแห่พระ ตรงกับวันหยุดเสาร์อาทิตย์ การแห่เรือจะคึกคักมาก ท่าน้ำตลาดน้ำจะคราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวที่ต้องการทำบุญ ถ่ายภาพ และมีส่วนร่วมในงานประเพณี

เส้นทางเริ่มจากวัดพระญาติ ผ่านวัดสำคัญและสถานที่หลักดังนี้ วัดจุฬามณี วัดทรงธรรม วัดช่องลม วัดท้ายตลาด วัดบางกะพ้อม วัดแก้วฟ้า วัดนางวัง ตลาดน้ำอัมพวา และสิ้นสุดที่วัดพระยาญาติ ใช้เวลาทั้งสิ้นราว 3-4 ชั่วโมง จากนั้นจึงอัญเชิญหลวงพ่อเขาตะเคราขึ้นประดิษฐานในปะรำพิธี ด้านข้างศาลาการเปรียญ เพื่อให้ญาติโยมได้สักการะและปิดทอง และในตอนกลางคืนจะมีมหรสพทุกคนจวบจนวันสุดท้าย ส่วนสามวันที่เหลือ จะเป็นการปิดทอง นมัสการหลวงพ่อเขาตะเครา หรือกระทั่งแก้บนด้วยละครรำ ที่เป็นคณะละครรำท้องถิ่นของอัมพวา ตลอดทั้งวัน   ทั้งนี้เช้าวันแรม 15 ค่ำ จะมีการทำบุญตักบาตรเพื่อความเป็นสิริมงคลในวันสิ้นปีไทย  และในคืนสุดท้ายจะมีฤกษ์อัญเชิญหลวงพ่อเขาตะเคราขึ้นกลับไปประดิษฐานบนกุฏิเจ้าอาวาสดังเดิม โดยฤกษ์ในคืนวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปี 2561 คือเวลา 21.28 น.

ท่านรองเจ้าอาวาสเล่าเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้การจัดงานแห่พระทางน้ำของวัดได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น อบจ. และมีผู้ว่าราชการจังหวัดมาเปิดงาน แต่เนื่องจากสองสามปีที่ผ่านมานี้มีการเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองของประเทศ ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถสนับสนุนเงินได้ ทางวัดและลูกศิษย์ของพระอาจารย์ใจเป็นผู้จัดหาและจัดสรรงบประมาณในการจัดงานเองทั้งหมด จากเฟซบุ๊กศิษย์หลวงพ่อใจ วัดพระยาญาติ ให้ข้อมูลว่างานแห่พระปี 2561 มีรายรับ1,005,789 รายจ่าย 596,720 คงเหลือ 409,069 บาท

 

 


บรรณานุกรม

หน่วยวิจัยการอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2549. เที่ยวขุมชนอัมพวาและพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดสมุทรสงคราม. กรุงเทพฯ: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สัมภาษณ์พระอาจารย์ใจ วัดพระยาญาติ วันที่ 14 มีนาคม 2561.

สัมภาษณ์พระปลัดอนันต์ วัดพระยาญาติ วันที่ 13- 14 มีนาคม 2561.