สงกรานต์มอญ วัดเจ็ดริ้ว

1446 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น :
เดือนที่จัดงาน : เมษายน
เวลาทางจันทรคติ :
สถานที่ : วัดเจ็ดริ้ว อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร
ภาค / จังหวัด : ภาคกลาง
: สมุทรสาคร
ประเภท : ประเพณีตามเทศกาล หรือประเพณี 12 เดือน
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง :
คำสำคัญ : สงกรานต์,มอญ
ผู้เขียน : สมรักษ์ ชัยสิงห์กานานนท์ และจักรี โพธิมณี
วันที่เผยแพร่ : 26 ธ.ค. 2560
วันที่อัพเดท : 26 ธ.ค. 2560

สงกรานต์มอญ วัดเจ็ดริ้ว

เทศกาลงานสงกรานต์มอญที่วัดเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร จัดงานระหว่างวันที่ 13-16 เมษายน  ที่สำคัญคือมีการแห่หลวงพ่อดำ ซึ่งเป็นพระประธานของวัดเจ็ดริ้ว พร้อมทั้งอัญเชิญรูปเหมือนหลวงปู่จ้อน อดีตเจ้าอาวาสร่วมขบวนแห่ เพื่อให้ชาวเจ็ดริ้วได้สรงน้ำและทำบุญ โดยริเริ่มครั้งแรกเมื่อ 5 ปีก่อน

นอกจากนี้วันที่ 16 เมษายน ยังมีการแห่หลวงพ่อสัมฤทธิ์จากวัดจินดา คลองจินดา ซึ่งเป็นวัดไทย และมีขบวนแห่นางสงกรานต์ มายังบริเวณคลองพาดหมอน หมู่ 5 ตำบลเจ็ดริ้ว ในช่วงเช้า ชาวบ้านจะมาช่วยเตรียมงานภายในวัด บรรยากาศมีการลองเสียงเพลงของเครื่องขยายเสียงของวัดเพื่อรอการแห่ขบวนสงกรานต์ใหญ่ ที่จะมีนายอำเภอและหน่วยงานทางวัฒนธรรมมาร่วมการเป็นงานอย่างเป็นทางการ บริเวณหน้าเจดีย์มอญ มีการตั้งรูปเสมือนหลวงปู่จ้อนและพระพุทธรูปไว้เพื่อสักการะบูชา พื้นที่ของวัดมีอาณาเขตที่ใหญ่ มีงานหลายส่วนเกิดขึ้นพร้อมกัน รวมไปถึงหน้าวัด ที่มีการละเล่นสงกรานต์ สาดน้ำ เปิดเพลงอย่างสนุกสนานของวัยรุ่น และผู้ผ่านไปมาภายในวัด

ที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ บริเวณศาลประจำวัด ริมคลองเจ็ดริ้วด้านหลังเจดีย์ใหม่สีขาว จะเห็นชาวบ้านปักธงตามต้นไม้ใหญ่และศาล ลุงเกษม บ้านเกาะ ให้ข้อมูลว่า “การปักธง เป็นการไหว้เจ้าที่เจ้าทางและไหว้ศาลคล้ายจุดธูป มาไหว้เพื่อเป็นสิริมงคลในวันปีใหม่” ข้าง ๆ ศาลประจำวัดนั้น มีการตั้งเสาเอกและเสารองสำหรับเตรียมย้ายศาล จนถึงประมาณ 11 โมง ชาวบ้านเริ่มออกมารอถวายอาหารเพลบนศาลา จากนั้นกลุ่มเณรจะตั้งแถวบริเวณทางเดินก่อนขึ้นศาลา โดยมีเจ้าอาวาสและคณะสงฆ์เรียงตามลำดับค่อยๆ ขึ้นไปยังบนศาลา บรรยากาศภายในศาลา สำหรับที่นั่งของพระจะมีการเว้นที่นั่งไว้ 4 ที่นั่งนั้นคือที่นั่งของเจ้าอาวาสองค์ก่อนๆ ที่ล่วงลับไปแล้ว และถัดมาจะเป็นคล้ายๆ กับโต๊ะหมู่บูชาโดยจะมีรูปของเจ้าอาวาสองค์ก่อนๆ วางไว้ถัดมาอีกจึงจะเป็นเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันและตามด้วยพระลูกวัดและเณรตามลำดับ เบื้องล่างอาสนะ ด้านที่นั่งของสามเณรมีวงกลองยาวอยู่กลุ่มหนึ่ง ส่วนผู้ที่มาทำบุญต่างแต่กายสีสันสดใส ผู้หญิงหลายคนใส่สไบมอญ ลวดลายปักอย่างสวยงาม

เมื่อถึงเวลาสวดจะมีกลุ่มผู้ชายวัยชราเป็นผู้นำในการสวดเริ่มต้น จากนั้นก็จะเป็นพระสวด โดยภาษาสวดเป็น ไทย-บาลี-มอญ สามารถจับใจความได้บางส่วน เมื่อสวดจบชาวบ้านก็จะนำปิ่นโตขึ้นถวายอาหารเพลและมีวงดนตรีบรรเลงระหว่างฉันภัตตาหารเพล ได้มีการพูดคุยและสอบถามผู้ร่วมงานเป็นผู้หญิงวัยชรา คนหนึ่งกล่าวว่า “วันนี้คนมาร่วมงานน้อย ถ้าเป็นวันแรกคนจะล้นศาลาเลย” และได้สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับผมที่ผูกอยู่กับธงตะขาบได้ความว่า “เป็นผมคนจริงๆ เป็นผมของผู้หญิงสาวๆจะไว้ผมให้ยาวกัน แล้วตัดมาทำบุญ เชื่อว่า ชาติหน้าผมจะได้ผมยาวและผมสวย”

ป้าสำเนา ผาพุกสุข ผู้ใหญ่คนสำคัญของหมู่บ้านเล่าว่า “ขบวนจะผ่านหน้าบ้านทุกบ้าน และชาวบ้านจะร่วมกันสรงน้ำพระ ถวายผลไม้ที่ปลูกเองและจะมีการจุดประทัดต้อนรับ” ก่อนที่ขบวนรถจะมาถึงจะมีการเตรียมพืชผักผลไม้ที่เป็นผลผลิตของตัวเองไปถวาย และจุดธูปไหว้เจ้าที่ เมื่อใกล้ถึงเวลาที่ขบวนจะผ่านหน้าบ้าน จะมีรถนำขบวนพูดเรียกชาวบ้านออกมาต้อนรับขบวน

ขบวนประกอบด้วยรถหลวงพ่อสัมฤทธิ์, รถพระสงฆ์ และรถแห่นางสงกรานต์ ตามลำดับ เมื่อคันแรกมาถึง ก็จะจุดประทัดเป็นการต้อนรับและนำผลผลิตที่เตรียมไว้ขึ้นถวาย จากนั้นก็สรงน้ำองค์หลวงพ่อและไปสรงน้ำกับพรมน้ำมนต์จากพระสงฆ์ ชาวบ้านก็มีการสาดน้ำใส่นางสงกรานต์บ้าง

การตักบาตรหลวงพ่อสัมฤทธิ์ ในวันนี้มีบ้านใกล้เคียงมารวมอยู่กันเป็นจุด รวมไปถึงคนจากกรุงเทพที่เพิ่งมาแบ่งซื้อที่และอาศัยอยู่ตรงนั้นด้วย การใส่บาตรด้วยผลผลิตทางการเกษตรเชื่อว่า หลวงพ่อสัมฤทธิ์จะช่วยดลบันดาลให้ผลิตผลในปีใหม่นี้ของเจ้าของบ้านอุดมสมบูรณ์ ทำมาค้าขึ้น นับว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนมอญกับชุมชนคนไทยใกล้เคียง ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการทำกิจกรรมทางศาสนาและประเพณีแบบมอญเท่านั้น

เมื่อสิ้นสุดขบวนของหลวงพ่อสัมฤทธิ์ ป้าสำเนา และชาวเจ็ดริ้วคนอื่น ๆ ได้กลับบ้านเพื่อไปเตรียมตัวแต่งชุดประจำชาติมอญ (ไทยรามัญ) เพื่อร่วมขบวนแห่เข้าวัดเจ็ดริ้วประมาณบ่าย 2 โมง  โดยขบวนเริ่มจากป้ายขบวนกลุ่มนางรำและกลุ่มดนตรี รถหลวงพ่อดำ กลุ่มถือธงตะขาบขนาดใหญ่ กลุ่มถือธงตะขาบเป็นริ้ว กลุ่มถือกรงนก กลุ่มถือปลา และรถนางสงกรานต์ ของโรงเรียนวัดเจ็ดริ้ว วิทยาลัยการอาชีพบ้านแพ้ว โดยในขบวนมีแรงงานมอญนุ่งผ้าถุงแดง เสื้อยืดสีขาวถือธงตะขาบ และอีกกลุ่มหนึ่งประมาณ 5-6 คนรำอยู่หน้าขบวนหลังป้าย ขณะขบวนดำเนินไปนั้น มีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวก

กลุ่มวัยรุ่นที่เล่นน้ำกันอยู่กันหยุดให้ทางขบวนแห่เลี้ยวเข้าวัดไป จากนั้นได้ไปพูดคุยกับผู้ร่วมขบวน “ส่วนใหญ่จะถือของเป็นเลขคู่กัน นกจะนำไปปล่อย ปลาก็จะนำไปปล่อยลงน้ำ เป็นการทำบุญ” เมื่อขบวนเข้าไปถึงวัดก็จะมีผู้คนคอยต้อนรับ มีอาสนะของพระครูเจ้าอาวาสตั้งอยู่หน้าหอฉันด้านล่าง คอยพรมน้ำมนต์ให้กับทุกคนก่อนเริ่มงานให้แก่ผู้ที่มาร่วม ภายในซุ้มมีการตั้งร้านขายของกิน แต่ไม่มากเท่ากับตลาดนัดวันปกติ เมื่อมีพิธีการเปิดงานอย่างเป็นทางการแล้วนั้น ก็ได้มีการนำธงตะขาบขนาดใหญ่ขึ้นสู่ยอด และมีประธานมาร่วมพิธีมีการแสดงจากเด็กๆ โรงเรียนวัดเจ็ดริ้วท้าการแสดงการรำที่คิดค้นมาจากลักษณะของชุมชนไทยรามัญ ได้แก่ การรำสไบมอญ การรำเครื่องปั้นดินเผา การรำสะบ้า เป็นต้น

จากนั้นจึงมีการมอบของที่ระลึกเป็นพัดลมแก่นางสงกรานต์ ขณะที่พิธีทางการดำเนินไปนั้น ประมาณบ่าย 3 โมง เริ่มมีการอาบน้ำพระสงฆ์ โดยจะมีสร้างห้องอาบน้ำกั้นเป็นพื้นที่ประกอบกับท่อไผ่ลำเลียงน้ำอบจากชาวบ้านโดยการสรงน้ำในลักษณะนี้จะเป็นลักษณะเฉพาะของคนมอญเป็นหลัก ลำดับการสรงน้ำจะเริ่มจากเจ้าอาวาสรูปแรกตามลำดับศักดิ์ แต่เณรไม่ได้ร่วมด้วยจะร่วมแค่สรงน้ำที่มือ  และพิธีสุดท้ายประมาณ 4 โมงเย็นเป็นพิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่อายุในช่วง 70 ปีขึ้นไป ดูและจัดการโดยป้าสำเนา หัวหน้าชมรมผู้สูงอายุ


บรรณานุกรม

สมรักษ์ ชัยสิงห์กานานนท์ และจักรี โพธิมณี. รายงานวิจัย การปฏิสัมพันธ์ระหว่างชุมชนชาติพันธุ์ในอำเภอกระทุ่มแบนและอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2560.