ตานก๋วยสลาก

28346 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น : ตานข้าวสลาก,กิ๋นข้าวสลาก,กิ๋นสลาก,กิ๋นก๋วยสลาก
เดือนที่จัดงาน : กันยายน,ตุลาคม
เวลาทางจันทรคติ : วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เหนือ จนถึงวันแรม 14 ค่ำ เดือนเกี๋ยง
สถานที่ : วัดไหล่หิน ลำปาง
ภาค / จังหวัด : ภาคเหนือ
: ลำปาง
ประเภท : ประเพณีตามเทศกาล หรือประเพณี 12 เดือน
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง : สลากย้อม,สารทพวน,แซนโฎนตา
คำสำคัญ : ล้านนา,บรรพบุรุษ,สลากภัตร
ผู้เขียน : ปณิตา สระวาสี
วันที่เผยแพร่ : 16 ก.พ. 2559
วันที่อัพเดท : 8 พ.ย. 2559

ตานก๋วยสลาก วัดไหล่หินหลวง

ประเพณีตานก๋วยสลาก เป็นประเพณีของชาวล้านนา มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น กิ๋นก๋วยสลาก ตานข้าวสลาก กิ๋นข้าวสลาก  หรือ กิ๋นสลาก ลักษณะพิธีกรรมหรือรูปแบบตรงกับประเพณีถวายสลากภัตของภาคกลาง แต่มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกัน และแม้แต่ในล้านนาหรือภาคเหนือเองประเพณีตานก๋วยสลากก็อาจมีรายละเอียดผิดแผกแตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อยตามความนิยมในท้องถิ่น

ตานก๋วยสลากเป็นประเพณีเนื่องในพุทธศาสนา จัดในช่วงวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เหนือ (ราวเดือนกันยายน) จนถึงวันแรม 14 ค่ำ เดือนเกี๋ยงหรือวันเกี๋ยงดับ (ราวเดือนตุลาคม) ซึ่งเป็นช่วงเวลากลางพรรษา พระสงฆ์จำพรรษาอยู่อย่างพรักพร้อม และเป็นเวลาที่ชาวบ้านมีเวลาพักผ่อนช่วงสั้นๆ หลังจากปักดำเสร็จและรอข้าวเจริญเติบโต  และยังเป็นช่วงที่ผลไม้กำลังสุก  เป็นโอกาสทำบุญแด่พระสงฆ์และสงเคราะห์คนยากจน

ประเพณีตานก๋วยสลากปรากฏในพระธรรมบทขุททกนิกายว่า “พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญพระสาวกอรหันต์ของพระองค์คือ พระโกณฑธานเถระ ซึ่งเป็นผู้มีโชคดีในการจับสลากได้ที่หนึ่งทุกครั้ง แม้พระพุทธเจ้าก็สู้ท่านไม่ได้ พระสาวกทั้งหลายมีความมสงสัยว่า ทำไมท่านจึงโชคดีเช่นนั้น พระพุทธเจ้าตรัสรับบอกแก่ภิกษุสงฆ์ทั้งมวลว่า โกณฑธานปรารถนาว่าถ้าเลือกอะไร แข่งขันอะไร ขอให้ได้ที่หนึ่งเสมอ ดั้งนั้นในชาตินี้โกณฑธานจึงเป็นคนโชคดี”

ตานก๋วยสลากเป็นการนำภัตราหารมาถวายแด่พระสงฆ์ โดยใช้วิธีการจับสลากที่ถือเป็นหลักตามพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน “สลาก” หมายถึงวัตถุที่ใช้ในการเสี่ยงโชค รวมกับคำว่า “ภัต” หมายถึง อาหาร ข้าว สลากภัตจึงหมายถึง อาหารที่ถวายพระโดยการจับสลากหรือเสี่ยงโชค  ส่วนที่ล้านนาเรียกว่าตานก๋วยสลาก ก็เพราะว่าคนล้านนาใช้ “ก๋วย” ที่เป็นภาชนะสานจากไม้ไผ่ คล้ายชะลอมของภาคกลาง ใส่อาหารถวายพระสงฆ์ นั่นเอง

ในอดีตประเพณีตานก๋วยสลากถือเป็นประเพณีใหญ่และสำคัญของเกือบทุกวัดทางล้านนา มักจัดสลับปีกับประเพณีตั้งธรรมหลวง หากปีใดจัดตั้งธรรมหลวงแล้ว ปีนั้นจะไม่จัดตานก๋วยสลาก หรือหากปีใดจัดตานก๋วยสลาก ปีนั้นก็จะไม่จัดตั้งธรรมหลวง  ในอดีตการจัดงานตานก๋วยสลาก ต้องให้วัดสำคัญของเมืองจัดก่อน วัดเล็กจึงค่อยจัดขึ้นตามในภายหลัง โดยในเชียงใหม่ต้องให้วัดเชียงมั่นจัดก่อน  ลำพูนต้องให้วัดพระธาตุหริภุญไชยจัดก่อน ลำปางให้วัดปงยางคกจัดก่อน แต่ปัจจุบันบางจังหวัดก็จัดไปตามความสะดวกของแต่ละวัด  แต่ทางลำพูนยังคงยึดถือคตินี้อยู่

สำหรับประเพณีตานก๋วยสลาก ของบ้านไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง จัดขึ้นในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 12 เหนือ ซึ่งยังอยู่ในช่วงเข้าพรรษา พระสงฆ์จำพรรษาอยู่วัด และชาวไหล่หินเชื่อว่าตั้งแต่ขึ้น 1  ค่ำ ถึงแรม 15 ค่ำ เดือน 12 พญายมจะปล่อยวิญญาณทั้งหลายมาสู่โลกมนุษย์ ชาวบ้านจึงต้องจัดเตรียมสิ่งของที่จะนำมาทำบุญอุทิศให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว

ก่อนถึงวันตานก๋วยสลาก ที่เรียกว่าวันดาหรือวันสุกดิบ ทุกบ้านจะจัดเตรียมข้าวของและอุปกรณ์เครื่องใช้เพื่อนำมาแต่งใส่ก๋วยสลาก  จึงเป็นวันรวมญาติที่ต้องมาเตรียมก๋วยสลากด้วย ผู้ชายจะมีหน้าที่สานก๋วย เพื่อบรรจุอาหาร ของกินของใช้ อาทิ ข้าวสาร เนื้อแห้ง ปลาแห้ง หัวหอม กระเทียม หมากเมี่ยง บุหรี่ แหนมห่อใบตอง น้ำอ้อย พริกแห้ง เกลือ เป็นต้น ปัจจุบันอาจมีของสำเร็จรูปรวมไปด้วย เช่น ปลากระป๋อง  โดยก๋วยจะรองด้วยใบตอง เรียกว่า “ตองจี๋กุ๊ก” เมื่อรวบปากก๋วยแล้วมัดเรียบร้อยแล้ว จะใส่ไม้ไผ่เหล่าเป็นก้านเล็กๆ สำหรับเสียบธนบัตร กล่องไม้ขีดไฟ บุหรี่ จำนวนมากบ้างน้อยบ้างตามแต่กำลัง เพื่อทำเป็นยอดก๋วยสลาก ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้หรือใบไม้ที่หาได้ง่ายตามท้องถิ่น อย่างไรดีลักษณะของก๋วยสลากจะสะท้อนฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ทำทานสลากนั้นด้วย อาจแบ่งก๋วยสลากได้ 2 ลักษณะได้แก่

  1. ก๋วยน้อย เป็นก๋วยสลากขนาดเล็ก สำหรับถวายทานไปให้กับผู้ที่ล่วงลับ ไม่เพียงแต่ญาติพี่น้องอาจจะเป็นมิตรสหาย เจ้ากรรมนายเวร เจ้าแม่ธรณี ผีปู่ย่า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ที่นับถือ  หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงแสนรักหรือสัตว์ใช้งานที่เคยผูกพันหรือมีบุญคุณต่อกัน เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย สุนัข หรือถ้าไม่รู้ว่าจะถวายทานไปให้ใครก็ถวายทานเอาไว้ภายหน้าก็ได้
  2. ก๋วยใหญ่ เป็นก๋วยที่จัดทำขึ้นขนาดใหญ่เป็นพิเศษ บรรจุข้าวของได้มากขึ้น สำหรับคนที่มีกำลังศรัทธาและฐานะดี  อาจทำเป็นก๋วยโชคหรือสลากโชค ลักษณะเป็นต้นสลากใหญ่เล็กตามแต่ความสร้างสรรค์ของผู้เป็นเจ้าของ สามารถนำเอาข้าวของเครื่องใช้ปักหรือมัดกับต้นสลาก เช่น ผ้าห่ม ที่นอน หมอน หม้อนึ่ง ไหข้าว หม้อแกง ถ้วย ชาม ช้อน ร่ม เครื่องนุ่งห่ม อาหารแห้งต่างๆ และธนบัตร ต้นสลากจะได้รับการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม บางรายอาจใส่ของมีค่าเช่น สร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือ เข็มขัดเงินหรือนาค และมักทำขึ้นเพื่ออุทิศแด่บิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่ผู้ล่วงลับ

บางครอบครัวถวายเรือนเล็กๆ พร้อมของใช้เรียกว่า “เฮือนตาน”

อีกองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญคือ เส้นสลาก สำหรับที่บ้านไหล่หิน เส้นสลากจะทำมาจากใบลาน นำมาตัดทำเป็นเส้นยาว 1 เมตร กว้างราว 1 นิ้ว ผู้ชายของแต่ละบ้านจะเป็นคนทำหน้าที่เขียนชื่อญาติที่ล่วงลับที่ต้องการอุทิศส่วนกุศลไปให้ พร้อมเขียนบ้านเลขที่ของตน  ระบุสถานที่นัดหมาย ว่าตนจะรอพระสงฆ์มารับตาน(ทาน)ก๋วยสลากที่ตรงบริเวณใดของวัด เช่น

“หมายมีศรัทธานายทรงศักดิ์  แก้วมูล จักตานไปหาพ่อหลวงสม แก้วมูล ขอหื้อหน้าบุญนี้ไปรอด ไปเถิงจิ่มเต่อ (บ้านเลขที่ 143 อยู่ใต้ต้นศรี)”

(ได้มีศรัทธานายทรงศักดิ์  แก้วมูล ถวายทานไปหาพ่อหลวงสม แก้วมูล ขอให้บุญกุศลที่ได้ทำในครั้งนี้ไปถึงพ่อหลวงสมด้วยเทอญ)

ทั้งนี้จำนวนเส้นสลากจะต้องมีเท่ากับจำนวนก๋วยสลากที่เตรียมไว้ ห้ามขาดหรือเกิน เนื่องจากว่าจะมีผลต่อการตามหาเจ้าของสลากของพระภิกษุสงฆ์ กันเหตุการณ์ที่บางพระสงฆ์บางรูปได้เส้นสลากแต่ตามหาเจ้าของพบแล้วกลับไม่มีก๋วยให้ และเมื่อจัดก๋วยและเส้นสลากจากบ้านเรียบร้อยแล้ว

เมื่อถึงวันงานชาวบ้านจะนำก๋วยสลากและเส้นสลากมาที่วัดตั้งแต่เช้า แต่ละครอบครัวจะจับจองพื้นที่นั่งของตนตามจุดต่างๆ ของวัด ยกเว้นในพระวิหารและอุโบสถ พื้นที่ว่างของวัดจะถูกใช้อย่างเต็มที่ แน่นขนัดไปด้วยผู้คน เจ้าของสลากจะเขียนป้ายบอกบ้านเลขที่ของตนให้เห็นอย่างชัดเจน ส่วนผู้ชายจะนำเส้นสลากที่เขียนเตรียมไว้แล้ว ไปกองรวมกันไว้หน้าพระประธานในวิหารของวัด หรือศาลาวัด

ผู้ชายของแต่ละครอบครัวจะเข้าไปโปรยเส้นสลากของตนให้กระจายตัวออกไป เมื่อพระสงฆ์สวดมนต์และทำพิธีทางศาสนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการวัดจะนับจำนวนเส้นสลาก และประกาศให้กับคณะศรัทธาที่มารับทราบ จากนั้นจะทำการแบ่งเส้นเป็นมัดๆ เพื่อแบ่งสันปันส่วนให้กับพระสงฆ์และสามเณรที่มารูปละ 10-20 เส้น พระสงฆ์จะได้จำนวนเส้นมากกว่าสามเณร โดยพระสงฆ์และสามเณรจะนิมนต์มาจากวัดอื่นๆ ใกล้เคียงที่เป็นเครือข่ายกัน ชาวบ้านเรียกว่า “หัววัดเติงกัน” เส้นสลากส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งให้วัดไหล่หินซึ่งเป็นวัดเจ้าภาพเรียกว่า “เส้นพระเจ้า”

หลังจากพระสงฆ์และสามเณรได้เส้นสลากแล้ว จะนำเส้นสลากออกตามหาเจ้าของตามบ้านเลขที่และสถานที่นัดหมายที่เขียนไว้ในเส้นสลาก  ช่วงนี้จะเป็นช่วงเวลาสนุกสนาน โกลาหล เสียงตะโกนร้องหาบ้านเลขที่จะดังอึกทึกไปทั้งวัด พระผู้ใหญ่อาจจับได้ก๋วยเล็ก ขณะที่สามเณรอาจจับได้ต้นสลากใหญ่ๆ ซึ่งมักจะมีเสียงโห่ร้องแสดงความดีใจจากชาวบ้าน เรียกได้ว่าเป็นการเสี่ยงทายไม่จำเพาะเจาะจงว่าจะถวายให้แก่พระสงฆ์รูปใดเป็นพิเศษ

เมื่อพบบ้านเลขที่ที่ตรงกับเส้นสลากแล้ว เป็นขั้นตอนการถวายคล้ายๆ กับถวายสังฆทาน บางครอบครัวอาจเตรียมเขียนคำอ่านถวายอย่างไพเราะ เมื่อถวายของแล้วพระสงฆ์จะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับที่มีชื่อในก๋วยสลาก เจ้าของก๋วยสลากจะต้องนั่งรอให้เส้นสลากของตนได้รับการสวดอุทิศส่วนกุศลจนครบจำนวนที่เตรียมมา จึงเป็นอันเสร็จพิธี

ส่วนสิ่งของที่ได้นั้นพระสงฆ์และลูกศิษย์วัดจะช่วยกันขนกลับวัดของตนเอง สิ่งของหรูหราบางประเภทที่พระสงฆ์ใช้ไม่ได้หรือไม่มีสิทธิ์ใช้ ชาวบ้านสามารถไถ่บูชาคืนด้วยเงินตราเล็กน้อยแล้วนำกลับไปใช้ที่บ้านของตน เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องสำอาง เป็นต้น

ปัจจุบันข้าวของเครื่องใช้สำหรับทำทานได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เช่น ก๋วยสลากบางบ้านเปลี่ยนมาใช้ตะกร้าพลาสติกแทนเพราะหาซื้อง่าย หรือใช้ขันน้ำ ถังน้ำ ย่าม กระติกน้ำใส่ของแทนเพราะเชื่อว่าเป็นวัสดุที่นำไปใช้ในกิจของสงฆ์ต่อไปได้  อย่างไรก็ดีทางองค์การบริหารส่วนตำบลไหล่หินและพิพิธภัณฑ์วัดไหล่หินหลวงพยายามรณรงค์ให้ชาวบ้านใช้ก๋วยสลากแบบเดิมเนื่องจากเห็นว่าเป็นการประหยัดและอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน

อย่างไรก็ดีในภูมิภาคอื่นๆ จะมีประเพณีลักษณะคล้ายคลึงกันแต่แตกต่างกันด้วยรูปแบบพิธีกรรมและสิ่งของที่อุทิศ เช่น สลากภัต งานสารทไทย งานบุญเดือนสิบ งานสารทเขมรหรือแซนโฎนตา งานเทกระจาดของชาวจีน ที่เป็นเป็นการรำลึกถึงบุพการีและญาติพี่น้องที่ล่วงลับ เชื่อกันว่าในช่วงพรรษาพญายมจะปล่อยวิญญาณขึ้นมาพบลูกหลาน และจะกลับไปเมืองนรกในวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ดังนั้นเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที ญาติหรือครอบครัวจึงทำบุญแผ่ส่วนกุศลด้วยการถวายภัตราหารและข้าวของเครื่องใช้แด่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ

 


บรรณานุกรม

ทรงศักดิ์ แก้วมูล. (2549). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ การดำเนินการศึกษา รวบรวมข้อมูลและสังเคราะห์องค์ความรู้จากพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เป็นกรณีศึกษา "พิพิธภัณฑ์วัดไหล่หินหลวง ตำบลไหล่หิน อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง". กรุงเทพฯ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ(สพร.).

ทรงศักดิ์ แก้วมูล. (2551). รายงานฉบับสมบูรณ์ การวิจัย"ตัวตนจากเหมืองฝายของคนไหล่หิน". กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

มณี พยอมพงค์. (2543). ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย. เชียงใหม่: ส.ทรัพย์การพิมพ์.

วิถี พานิชพันธ์. (2548). วิถีล้านนา. เชียงใหม่: สำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม.