ในดินแดนล้านนานับตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน เป็นดินแดนที่มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่แต่ดั้งเดิมและที่ได้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน ทั้งจากความจำเป็นในการดำรงชีวิตและเหตุผลทางการเมือง ทั้งมาจากจีน เมียนมาร์ และลาว
กลุ่มชาติพันธุ์ในดินแดนล้านนา อาทิ ไทยวน ลัวะ ขมุ ไทลื้อ ไทใหญ่ จีนยูนนาน (จีนฮ่อ) ปกาเกอะญอ ลาหู เมี่ยน ม้ง อาข่า มลาบลี ปลัง เป็นต้น กลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวมีเอกลักษณ์ที่เป็นของตนเองแสดงออกในการดำเนินวิถีชีวิตประจำวัน ไม่ว่าอาหาร สถานที่อยู่อาศัย ประเพณีวัฒนธรรม ภาษา โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับนับได้ว่ามีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ ที่แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ได้สร้างสรรค์ดำรงรักษา และสืบทอดจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
นับตั้งแต่การปลูกฝ้าย การปลูกม่อน เลี้ยงไหม การเก็บฝ้ายและไหม การทำเส้นใย และการย้อมสีต่างๆ เพื่อนำไปทอเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ก็มีกรรมวิธีการปั้นฝ้าย การย้อม การทอ และการขึ้นลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง บ่งบอกถึงแนวคิด ความเชื่อถือศรัทธา และค่านิยมของตนเอง
นอกจากเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มแล้ว ยังมีความโดดเด่นในเรื่องเครื่องประดับ มีตั้งแต่ผ้าโพกหัว เครื่องประดับศีรษะ สร้อยคอ สร้อยข้อมือ ผ้าพันคอพันแขนพันขา ถุงย่าม เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรศึกษาค้นคว้ารวบรวมและนำมาเสนอให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ ในนิทรรศการได้นำเสนอข้อมูลผ้าและเครื่องแต่งกายของ 10 กลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ 1. เย้า 2. อาข่า 3. ลาหู่ 4. ขมุ 5. ลัวะ 6. ม้ง 7. ลีซู 8. ปกากะญอ 9. ลื้อ 10. จีนยูนาน