จ.สุพรรณบุรี
เทคนิคการเย็บผ้าของไทยทรงดำมีเทคนิคเฉพาะตัว เน้นการใช้งานได้ทั้งสองด้านและประณีต กระดูกหรือสันผ้ารอยต่อต่าง ๆ ต้องแน่น สันกระดูกรอยต่อต้องเล็กรอยเข็มเสมอกัน เพราะในอดีตเสื้อผ้ากางเกงที่จะใช้ในชีวิตประจำวันและเสื้อผ้าที่ใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ ต้องเย็บด้วยมือที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เทคนิคการเย็บก็มีเฉพาะตัวในแต่ละครอบครัว
งานปักเป็นอีกงานฝีมือที่ชาวไทยทรงดำมีความถนัดมาก งานปักของชาวไทยทรงดำมีทั้งปักแล้วใช้ได้สองด้านและด้านเดียว ที่ใช้ได้ทั้งสองด้าน เช่น ผ้าเปียวดอก ผ้าเปียวปัว เป็นการปักแล้วเหมือนกันทั้งสองด้าน ส่วนที่ปักแล้วใช้ได้ด้านเดียว เช่น ปักเอื้อ ปักขอกุดเสื้อฮี และเย็บปะผ้าที่เป็นการตัดผ้าปะตามลวดลายดอกไม้ต่าง ๆ ที่เราพบเห็นจนเป็นเอกลักษณ์
การย้อมผ้าด้วยวิธีการดั้งเดิมของชาวไทยทรงดำนั้น จะเน้นสีดำหรือที่รู้จักกันคือการย้อมนิล คือสีที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะเสื้อผ้าต่าง ๆ นิยมเป็นสีดำทั้งหมด ภูมิปัญญาเหล่านี้ถูกถ่ายทอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่เริ่มเลือนหายไปมากจนแทบจะไม่เหลือคนที่ทำ สีหลักที่ชาวไทยทรงดำใช้มีด้วยกัน 5 สี ได้แก่ ดำ แดง เหลือง เขียว ขาว สีเหล่านี้เป็นสีที่จะต้องใช้ในงานผ้าไทยทรงดำทั้งสิ้น แต่เดิมย้อมสีแบบธรรมชาติ ปัจจุบันใช้สีที่ย้อมด้วยสีเคมีทั้งหมด
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1474