จ.นครสวรรค์
เมืองโบราณจันเสนเป็นเมืองโบราณในสมัยทวารวดีตอนต้นที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในลุ่มแม่น้ำ เจ้าพระยา พัฒนาขึ้นมาจากชุมชนสมัยโลหะตอนปลาย มีอายุไม่ต่ำกว่า 2,000 ปี มาแล้ว ลักษณะการสร้างเมืองและวิถีชีวิตค่อนข้างผูกพันกับสายน้ำ มีการขุดคูน้ำล้อมรอบเมือง ขุดบึงไว้กักเก็บน้ำ ตัวเมืองอยู่ในลักษณะภูมิประเทศอันเป็นที่บรรจบกันระหว่างชายที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและที่ดินที่เป็นลอนลูกคลื่นและภูเขา ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 16 กิโลเมตร มีการพบร่องรอยการขุดคลองเชื่อมไปถึงแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านทางลำน้ำโพชัยเพื่อใช้ในการเดินทางและติดต่อค้าขายกับเมืองอื่น ๆ
ช่วงปลายสมัยทวารวดี ชาวบ้านย้ายถิ่นฐานออกไปไม่ทราบเวลาสิ้นสุดชัดเจน ทำให้เมืองโบราณจันเสนร้างไป ต่อมาจันเสนกลับมาเป็นชุมชนอีกครั้งหนึ่งเมื่อมีการสร้างเส้นทางรถไฟตัดผ่านในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้เริ่มมีผู้คนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน เช่น กลุ่มคนไทยที่อาศัยอยู่แถบลุ่มแม่น้ำ คนจีน คนลาว และคนอีสาน ทำให้เกิดการขยายตัวของชุมชน และเกิดการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์จันเสนขึ้น ในปี 2532 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้เยาวชนได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชุมชนจันเสน
จากหลักฐานทางโบราณคดีได้ค้นพบโบราณวัตถุที่ทำให้เห็นถึงวัฒนธรรมด้านการทอผ้า เช่น แวดินเผา (อุปกรณ์ที่ใช้ในการทอผ้า) ขันสำริดที่ก้นขันพบร่องรอยของเศษผ้า และการนุ่งห่มของตุ๊กตาดินเผา โบราณวัตถุเหล่านี้จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์จันเสน ต่อมาพระครูนิวิฐธรรมขันธ์ (เจ้าอาวาสวัดจันเสน) ได้จัดตั้งกลุ่มสตรีทอผ้าขึ้นโดยใช้วิธีการทอด้วยกี่กระตุก เป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจเพื่อเป็นการสืบสานภูมิปัญญาด้านการทอผ้าไว้ให้อยู่คู่กับชุมชนต่อไป
คนในชุมชนเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากธรรมชาตินำมาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ประกอบกับการค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คือลวดลายจักสานบนภาชนะดินเผา แสดงให้เห็นว่าคนในบริเวณนี้รู้จักการจักสาน และสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น คุณตาขุน ท่านได้อนุรักษ์ภูมิปัญญาด้านงานจักสานจากไม้ไผ่ นำมาทำเป็นเครื่องใช้และเครื่องมือในการจับสัตว์น้ำ ท่านได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาให้ลูกหลาน ปัจจุบันได้เกิดการจัดตั้งกลุ่มจักสานขึ้นเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านงานจักสาน ทำให้งานจักสานคงอยู่สืบต่อไปอย่างยั่งยืน
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/233