ศมส.ประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์

 |  ข่าวประชาสัมพันธ์
ผู้เข้าชม : 388

ศมส.ประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์

           วันที่ 8 สิงหาคม 2565 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จัดประชุมเครือข่ายองค์กรหารือแนวทางการจัดทำฐานข้อมูลด้านชาติพันธุ์ให้มีความชัดเจน โดยมีผู้แทนจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย, สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมั่นคงของมนุษย์ และสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์

           ในที่ประชุมได้มีการนำเสนอให้เห็นว่าปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยต่างเผชิญปัญหาในหลากหลายมิติ ทั้งในด้านอคติความไม่เข้าใจวิถีชีวิตวัฒนธรรมและภาพลักษณ์ที่ถูกนำเสนอให้เห็นว่าเป็นประชากรกลุ่มย่อยของสังคม การเข้าไม่ถึงทรัพยากรทำให้ขาดสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ทำให้ขาดความมั่นคงในการดำรงชีวิต และปัญหาการไม่ได้รับรองสถานะบุคคล ซึ่งยังเป็นปัญหาเรื้อรัง ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ขณะเดียวกันยังส่งผลต่อการสูญเสียอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และความภาคภูมิใจต่อวิถีชีวิต ภูมิปัญญาที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ

           จากสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาได้มีความพยายามพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ทั้งในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ออกแบบให้ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง เป็นกลไกในการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลประชากรทั้งในด้านจำนวนประชากร ขอบเขตสถานการณ์ และสภาพปัญหา ความต้องการ ซึ่งเป็นจุดเด่นสำคัญที่แสดงให้เห็นความใกล้ชิดกับชุมชนชาติพันธุ์ในระดับพื้นที่ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียที่ดำเนินงานด้านการศึกษาวิจัยและเก็บรวบรวมข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์โดยใช้แนวทางการพัฒนาและฟื้นฟูภาษาแม่ ซึ่งเป็นภาษาดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงาน ทำให้เกิดการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลของกลุ่มชาติพันธุ์ได้อย่างครอบคลุม รวมถึงสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำงานทั้งในด้านการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลและพัฒนาศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้มีฐานข้อมูลที่แสดงให้เห็นขอบเขตจำนวนประชากรกลุ่มชาติพันธุ์โดยเฉพาะประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลในพื้นที่ภาคใต้ และการส่งเสริมศักยภาพชุมชนชาติพันธุ์ให้สามารถจัดการตนเองได้บนฐานความรู้ ภูมิปัญญาและวิถีวัฒนธรรม ตลอดจนการดำเนินงานของสภาชนเผ่าพื้นเมืองที่ได้พัฒนาให้มีระบบการจัดเก็บข้อมูลประชากรกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสภา ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า ๔๐ กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ขณะเดียวกันยังได้มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์เปราะบางจำนวน ๑๐ กลุ่ม ซึ่งถือเป็นฐานข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลของกลุ่มชาติพันธุ์ในระดับพื้นที่ที่มีการเก็บรวบรวมและจัดการข้อมูลด้วยตัวเอง

           ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์การดำเนินด้านชาติพันธุ์ในปัจจุบันและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ชี้ให้เห็นว่าการกำหนดแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับความสนใจจากหลายภาคส่วน จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาและออกแบบฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ให้ความชัดเจน สามารถนำข้อมูลมาใช้เพื่อการวางแผนและออกแบบแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ที่ประชุมครั้งนี้จึงเสนอให้มีการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ในรูปแบบของคณะทำงานที่จะร่วมกันกำหนดทิศทางการศึกษาวิจัยและพัฒนาฐานข้อมูล ที่จะนำเสนอให้เห็นข้อมูลจำนวนประชากร ถิ่นที่อยู่อาศัย วิถีชีวิตวัฒนธรรม ภูมิปัญญา การติดตามสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งในด้านอคติและการรับรู้ของสังคม สิทธิการเข้าถึงทรัพยากร ความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ตลอดจนสิทธิขั้นพื้นฐานในด้านอื่น ๆ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ ให้สามารถจัดการและพึ่งพาตนเองได้บนฐานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของตน อย่างไรก็ดี ในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในรูปแบบของคณะทำงานที่จะเกิดขึ้นนั้น จะต้องมีการร่วมกันกำหนดขอบเขตและแนวทางในการพัฒนาฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีความชัดเจน เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อลดความซ้ำซ้อนของข้อมูลทั้งในด้านข้อมูลจำนวนประชากร ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีความถูกต้องชัดเจน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในทางวิชาการและขับเคลื่อนในระดับนโยบายร่วมกันต่อไป


ฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

Share